ยอมรับผิด ยกจิตให้สูงส่ง

วันที่ 08 ธค. พ.ศ.2558

ยอมรับผิด ยกจิตให้สูงส่ง

       สาเหตุที่ตรัสชาดก ณ กรุงราชคฤห์ ชาวบ้านเห็นเหล่าภิกษุเก็บสะสมของไว้มาก พากันโพทนาว่า สมณะเหล่านี้มักมาก เป็นผู้รักษาคลังภายใน พระทศพลจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ทรงติเตียนภิกษุว่าทำการสะสมอาหารไว้เพื่อประโยชน์แก่วันที่ 2 วันที่ 3 ชื่อว่าทำสิ่งที่ไม่สมควร แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้

       ในอดีตกาล มีมหานครใหญ่อยู่สองเมือง พระเจ้าคันธาระกับพระเจ้าวิเทหะทรงเป็นพระสหายต่างเมืองที่ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน วันหนึ่งพระเจ้าคันธาระทรงทอดพระเนตรราหูที่มาบดบังดวงจันทร์ แสงจันทร์ก็พลันอันตรธานไป ทรงย้อนดูพระองค์และสลดพระทัย ดำริว่า..

 

           "พระจันทร์ต้องอับแสงเพราะสิ่งเศร้าหมองคือราหูจรมาบดบัง แล้วตัวเราเองล่ะ! ราชสมบัติที่เรามีนี้มิใช่เป็นเครื่องเศร้าหมอง นำความข้องกังวลมาให้แก่เราดอกหรือ เราจะเป็นผู้หมดสง่าราศีเหมือนดวงจันทร์ถูกราหูยึดไว้ไปทำไม เราจะทิ้งราชสมบัติแล้วออกบวชเห็นจะดีกว่ามากนักทีเดียวเราจะเที่ยวไปให้เหมือนดวงจันทร์ที่โคจรในท้องฟ้าอันบริสุทธิ์ จะไม่ข้องด้วยตระกูลและหมู่ชนอีกและจะตักเตือนตนเองเท่านั้น เที่ยวไปตามที่ต่างๆ"

 

       พระองค์ทรงมอบราชสมบัติให้แก่เหล่าอำมาตย์ แล้วเสด็จออกผนวชเป็นบรรพชิตทันที ไม่นานก็ยังฌานและอภิญญาให้บังเกิดได้ ในวันแต่ละวัน ฤาษีได้เอิบอิ่มในฌานอย่างสุขล้น พำนักอยู่ในป่าใหญ่น่ารื่นรมย์ฝ่ายพระเจ้าวิเทหะทรงทราบว่าพระสหายออกผนวชแล้ว จึงทรงสละราชสมบัติบ้าง ทรง สละหมู่บ้าน 16,000 หมู่บ้าน และหญิงสวยสระคราญ 16,000 นาง แล้วไปตามทางของนักบวช เสด็จสู่ถิ่นหิมพานต์ออกผนวช เสวยผลาผลตามมีตามได้ อาศัยอยู่ไม่เป็นที่ เที่ยวจาริกเรื่อยไปจนมาพบฤาษีพระสหายโดยบังเอิญในป่าแห่งหนึ่ง เมื่อได้ไต่ถามซึ่งกันก็ทราบว่าเป็นพระสหายที่ไม่เคยเห็นกันนั่นเอง แต่นั้นมาสองฤาษีก็สมัครสมานกันอย่างยิ่ง..

 

     วันหนึ่ง ทั้งสองจาริกไปชนบท ชาวบ้านได้ถวายเกลือจำนวนมาก วิเทหฤาษีจึงเก็บเกลือไว้ใช้สำหรับวันที่ไม่มีเกลือ มาวันหนึ่ง อาหารมีรสจืดมาก วิเทหฤษีนำเกลือออกมากล่าวกับคันธารฤาษีว่า..

"ท่านอาจารย์ครับ! นิมนต์ท่านเอาเกลือไปฉันเถิดครับ" พร้อมยื่นเกลือให้
"วันนี้ญาติโยมไม่ได้ถวายเกลือ ท่านได้มาจากไหนรึ" คันธารฤาษีถาม
"วันก่อน ชาวบ้านถวายเกลือมามาก ผมจึงเก็บไว้ ตั้งใจว่าจะเอามาฉันในวันที่อาหารจืดน่ะขอรับ" วิเทหฤษีตอบคันธารฤษีเห็นว่าการสะสมอาหารช่างไม่สมควรแก่บรรพชิต ผู้ไม่ขวนขวายเรื่องทำมาหากินจึงติว่า..
"โมฆบุรุษ! ท่านเป็นกษัตริย์ทิ้งวิเทหรัฐขนาด 300 โยชน์ ทิ้งหมู่บ้าน 16,000 ทิ้งมเหสีอีก16,000 โดยไมอนาทรร้อนใจ แต่ตอนนี้มาเกิดความอยากกับแค่เกลือนะหรือ ทำไมยังเห็นแก่ชีวิต มัวมาสะสมอาหารอยู่อีก"

 

        วิเทหฤษีถูกตำหนิถึงเพียงนี้ ทนรับไม่ได้ กลายเป็นปฏิปักษ์ แย้งว่า..
"ท่านอาจารย์! ท่านไม่เห็นความผิดของตัวเองบ้างเลย เอาแต่โทษผมอย่างเดียว ท่านเคยคิดก่อนบวชมิใช่รึว่า เราจะเตือนตนเองเท่านั้น จึงได้ทิ้งราชสมบัติมาออกบวช แต่วันนี้เหตุไฉนท่านจึงมาตักเตือนผมอีกเล่า! ท่านหนีการปกครองในราชธานีมา ตอนนี้ยังจะมาปกครองผมในที่นี้อีกหรือ"คันธารฤาษีสงบใจฟังจนจบ แล้วกล่าวว่า.."ท่านวิเทหะ เรากล่าวเป็นธรรม กล่าวโดยความจริง เราไม่ชอบอธรรมและความไม่จริงเมื่อเรากล่าวคำเป็นธรรมอยู่ บาปไม่เปรอะเปื้อนเรา ผู้มีปัญญาคนใดชี้โทษพูดบำราบคน ควรมองคนนั้นเหมือนผู้บอกขุมทรัพย์ให้ ควรไว้ใจคบบัณฑิตเช่นนั้น เพราะมีแต่ดีไม่มีชั่ว คนควรตักเตือนพร่ำสอนกัน และควรห้ามจากคนพาล เขาจะเป็นที่รักของเหล่าบัณฑิตแต่จะไม่เป็นที่รักของหมู่คนพาล"วิเทหฤษีมิอยากเป็นพาล มีใจอ่อนลงบ้างแล้ว แต่ก็อดมิได้ จึงแย้งว่า.."ท่านอาจารย์ครับ จริงอยู่คนควรเตือนกันควรกล่าวคำอันเป็นประโยชน์ แต่ก็ไม่ควรกล่าว
กระทบเสียดแทงผู้อื่นขนาดนี้ ท่านกล่าวคำหยาบคายมากเหลือเกิน เหมือนโกนผมด้วยมีดโกนที่ไม่คมคนอื่นจะได้รับความแค้นเคืองเพราะคำพูดนั้น แม้คำนั้นจะมีประโยชน์ บัณฑิตก็ไม่ควรพูดนะขอรับ"คันธารฤาษีรับฟังสหาย แต่ก็อยากยืนยันว่าการเตือนกันเป็นสิ่งจำเป็น จึงกล่าวว่า.."หากสัตว์ใดไร้ปัญญา ทอดทิ้งระเบียบวินัย ก็จะเที่ยวไปเหมือนควายตาบอดส่วนธีรชนผู้มีวินัย ได้ศึกษามาอย่างดีจากอาจารย์ จะเป็นผู้กล้า มีจิตตั้งมั่นในทุกสถาน"วิเทหฤษียอมรับฟังเหตุผลแต่โดยดี เข้าไปไหว้ขอขมาอาจารย์ แล้วกล่าวว่า.."ท่านอาจารย์ แต่นี้ไป ขอท่านจงตักเตือนและพร่ำสอนเถิด ผมพูดไปก็เพราะไม่มีความยับยั้งชั่งใจ ขอท่านโปรดจงให้อภัยด้วยเถิด"

          พระฤาษีทั้งสองอยู่สมัครสมานกันแน่นแฟ้นยิ่งกว่าเก่าก่อน ได้พากันรอนแรมสู่ป่าหิมพานต์ต่อมาคันธารฤาษีบอกกสิณบริกรรมแก่วิเทหฤษี เพียงไม่นานเท่านั้น วิเทหฤาษีก็ทำอภิญญาและสมาบัติให้เกิดขึ้นมาได้ ในที่สุดแห่งอายุขัยก็ได้ไปพักที่พรหมโลกด้วยกัน

 

ประชุมชาดก
     พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า วิเทหราชาในครั้งนั้นได้มาเป็นพระอานนท์ส่วนคันธารราชามาเป็นตถาคตแลจากชาดกเรื่องนี้ เมื่อบุคคลอยู่ร่วมกันความเห็นอาจไม่ตรงกัน จึงทำให้เคร่งครัดในศีลไม่เท่ากัน ศีลข้อหลักมีถูกผิดชัดเจนควรรับปฏิบัติโดยพร้อมเพรียงและตักเตือนให้ประพฤติตรงกันได้ควรยอมให้เตือนกันโดยเห็นแก่ความงดงามถูกต้องของหมู่คณะ ดังพุทโธวาทที่ว่าความพร้อมเพรียงของหมู่ให้เกิดสุข ในเรื่อง ฤาษีศิษย์มิได้มีนิสัยทุศีล จึงยอมรับผิดเพื่อมุ่งเอาดีมากกว่าเอาชั่ว มีใจใฝ่สะอาดมากกว่าสกปรก ยอมคลายทิฏฐิได้แล้ว ใจก็ปลอดโปร่งสมาธิตั้งมั่นรวดเร็ว เมื่อไม่มีความคับแค้นใจก็ได้บรรลุฌานอย่างง่ายดายในเวลาไม่นานในทางกลับกัน ผู้มีปกติทุศีล เมื่อถูกให้สติแม้โดยอ้อมนิดหน่อยก็โกรธขัดเคือง เหมือนคนมีบาดแผลเหวอะเรื้อรัง แม้ถูกลมรำเพยเพียงนิดก็เจ็บแสบคัน ทั้งนี้เพราะมีจิตใจอ่อนแอปวกเปียกต่อสิ่งเย้ายวนต่างๆ นานา ใจที่อ่อนแอเช่นนี้จึงไม่มีพลังพอที่จะสามารถควบคุมกิเลส ในใจตนได้ เวลาถูกเตือนจึงมักโกรธเป็นปกติ บุคคลเช่นนี้หากอยู่หมู่คณะใด จะเป็นผู้มีนิสัยเห็นแก่ตัวฝังแน่นอยู่ในสันดาน เมื่อได้ตกลงใจมาร่วมสุขร่วมทุกข์กับทุกคนในหมู่คณะแล้วก็ยังไม่คำนึงถึงความงดงามและความเดือดร้อนร่วมกันของหมู่คณะคิดแต่ว่าเรื่องของตน ไม่เกี่ยวกับใคร โดยไม่คิดว่าหมู่คณะเสื่อมเสียอย่างไร และยิ่งไม่คิดว่าทุกคนในหมู่คณะจะเดือดร้อนและเสื่อมประโยชน์อย่างไรจากการกระทำของตน ผู้เช่นนี้จึงไม่คิดรับผิดชอบต่อหมู่คณะ พร้อมตลอดเวลาที่จะละทิ้งหมู่คณะ และทุกคนในคณะเมื่อภัยมาเพราะตอกย้ำอยู่แต่ว่าเป็นเรื่องของตน ไม่เกี่ยวกับใครผู้ไร้วินัยทำให้ผู้รักวินัยอยู่ไม่เป็นสุข ฉันใด ผู้ทุศีลก็เบียดเบียนผู้มีศีลให้อยู่ไม่เป็นสุข ฉันนั้นการมีศีลจึงช่วยป้องกันผู้รักศีลจากสิ่งอกุศลมารบกวนใจ และป้องกันอาสวะที่จะเกิดในหมู่คณะ"นิสัยรักความดี เห็นแก่ความดี, ยอมให้ตักเตือนแก้ไข, รังเกียจความสกปรกในใจ,รักธรรมวินัยยิ่งกว่าชีวิตตน และควบคุมจิตใจให้ดีงามได้" จึงนับเป็นนิสัยในวิถีนักสร้างบารมีที่นับเนื่องเข้าในศีลบารมี

-----------------------------------------------

SB 405 ชาดก วิถีนักสร้างบารมี

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.04509068330129 Mins