เห็นอริยสัจ

วันที่ 07 มค. พ.ศ.2559

เห็นอริยสัจ

       พระพุทธองค์ทรงพบว่า พื้นฐานตามความจริงของชีวิตแล้วชีวิตของทุกคนเป็นทุกข์ แต่ไม่รู้ เหมือนคนพิการหมดเมือง เลยไม่ทราบว่า คนที่สมบูรณ์นั้นเป็นอย่างไร มหาบุรุษเป็นอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามคนมีปัญญายิ่งอายุมากยิ่งรู้ตัวว่าเป็นทุกข์ ซึ่งได้เพียงรู้แต่ไม่ทันเห็น จึงไม่รู้จะแก้อย่างไร


ทุกข์มี 2 ลักษณะ 
1. สภาวทุกข์ ได้แก่ ความทุกข์อันเป็นสภาพธรรมดาของสัตว์ซึ่งเมื่อเกิดแล้วต้องมีทุกข์ คือทุกข์เพราะเกิด แก่ เจ็บ ตาย
2. ปกิณณกทุกข์ คือทุกข์จร อันเกิดจากจิตใจหย่อนสมรรถภาพ ไม่อดทนต่อการกระทบกระทั่งของเหตุภายนอก ซึ่งมีอาการ 8 อย่างด้วยกัน 
(1)โสกะ คือ ความโศกเศร้า แห้งใจ
(2)ปริเทวะ คือ ความคร่ำครวญรำพัน
(3)ทุกขะ คือ ความทุกข์กาย
(4)โทมนัส คือ น้อยใจ
(5)อุปยสะ คือ ความท้อใจ ตรอมใจกลุ้มใจ
(6)อัปปิเยหิ สัมปโยคะ คือ ความประสบสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ชังหน้า
(7)ปิเยหิวิปปโยคะ คือ ความพรัดพรากจากสิ่งที่รักและเป็นห่วง
(8)อาลภะ คือ ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้ตามนั้น

 

       พระพุทธองค์ทรงรู้วิธีแก้ไขทุกข์ทุกอย่าง จึงทรงสั่งสอนอบรม เคี่ยวเข็ญให้เราทำตามมงคลชีวิตมาเป็นขั้นๆ เพื่อกำจัดทุกข์อันเกิดจากกิเลสมาเป็นลำดับ ผลจากการบำเพ็ญตะบะเพื่อเผากิเลสในรูปแบบต่างๆ ลงไปด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ เช่น งดเสพเมถุน บรรพชา บำเพ็ญเพียรสมาธิต่อเนื่องกันตลอดชีวิตและปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 ในที่สุด ผลแห่งความเพียรก็ออก คือ เห็นอริยสัจ พ้นทุกข์ ก้าวเข้าสู่ความสุขอันแท้จริงตามพระบรมศาสดา อริยสัจ แปลได้หลายนัย คือ
(1)ความจริงอันประเสริฐ
(2)ความจริงของท่านผู้ประเสริฐ
(3)ความจริงอันทำให้บุคคลเป็นผู้ประเสริฐ

 

       ความหมายของเห็นอริยสัจ ก็คือ เห็นความจริงอันประเสริฐที่ทำให้ผู้นั้นพ้นทุกข์ได้ ได้แก่ เห็นทุกขอริยสัจ สมุทัย อริยสัจ นิโรธอริยสัจ และมรรคอริยสัจ อริยสัจ 4 ประการ เป็นหัวใจ หรือแม่บทของพระพุทธศาสนา เพราะเมื่อเห็น-รู้อริยสัจแล้ว จึงเป็นเหตุให้รู้อย่างอื่นตามมา
 

-----------------------------------------------------------------

หนังสือ " เปิดไปอ่านความสุข "

ส. ผ่องสวัสดิ์

ชมรมนักคิดนักเขียนเพื่อสันติภาพโลกและมูลนิธิพัฒนาเยาวชนต้นแบบศีลธรรม

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.04755764802297 Mins