ธุลีแปลว่า ฝุ่นละอองที่ละเอียดมากๆ เกือบมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่เมื่อมันปลิวมาเกาะที่ของใสสะอาด เช่นกระจกเงา แล้วจึงเห็น แต่ถ้ายังเกาะไม่มากนัก ก็ยังไม่เห็น ที่เห็นมันได้เพราะมันทำให้ความผุดผ่อง ความใสสะอาดเสียไป จิตมีธุลี คือ จิตที่มีกิเลสอย่างละเอียด เข้าไปแทรกซึม เกาะอยู่เต็ม ทำให้จิตเศร้าหมอง หมดรัศมี หมดความกระจ่าง หมดประกาย เสียประสิทธิภาพในแง่อื่นๆ ตามมา เช่น คิดได้ช้า คิดได้แต่เรื่องร้ายๆ
คิดอะไรไม่ออก จิตหมดธุลี คือ จิตที่หมดกิเลสแล้วทั้งหยาบและละเอียดทำให้จิตสะอาด ผ่องใส นุ่มนวลควรแก่การงาน (งานของจิต คือ คิด)ได้แก่จิตของพระอรหันต์ ธุลีในจิต ได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ
ราคะ คือ ความกำหนัดยินดี เป็นกิเลสอย่างละเอียดฝังอยู่ในจิตใจคนเรา ได้แก่ ความรู้สึกชอบใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสและอารมณ์ กิเลสชนิดนี้ไม่เป็นบาปกรรม หรือเป็นความชั่วร้ายสำหรับสามัญชนทั่วไป แต่ถ้าไม่ควบคุมจิตไว้ให้ได้ราคะจะกำเริบขึ้น กลายเป็นกิเลสที่หยาบมากขึ้น จนถึงกับทำให้ตัดสินใจทำบาปกรรม เพราะลุอำนาจแห่งความกำหนัดยินดีนั้น
โทสะ คือ ความคิดร้าย ได้แก่ ความคิดทำลายผู้ที่ทำให้ตนโกรธ เช่น คิดจะด่า คิดจะฆ่า คิดจะเตะ คิดจะเผาบ้าน คิดจะทำให้อาย ฯลฯ
โมหะ คือ ความหลง เป็นอาการที่จิตมืดมน ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ไม่รู้จักบุญบาป ส่วนความไม่รู้วิทยาการต่างๆ ไม่ใช่โมหะแต่คนที่มีความรู้วิทยาการมากมายเพียงใด แต่จิตใจไม่รู้บุญบาปคุณโทษ ก็ชื่อว่าตกอยู่ในโมหะ
ความแตกต่างของราคะ โทสะ โมหะ คือ
ราคะ-มีโทษน้อย แต่คลายช้า
โทสะ-มีโทษมาก แต่คลายเร็ว
โมหะ-มีโทษมาก และคลายยาก
-----------------------------------------------------------------
หนังสือ " เปิดไปอ่านความสุข "
ส. ผ่องสวัสดิ์
ชมรมนักคิดนักเขียนเพื่อสันติภาพโลกและมูลนิธิพัฒนาเยาวชนต้นแบบศีลธรรม