กล้ารับผิดแม้ชีวิตต้องตาย

วันที่ 09 มค. พ.ศ.2559

กล้ารับผิดแม้ชีวิตต้องตาย

 

    สาเหตุที่ตรัสชาดกสมัยนั้น ภิกษุพวกฉัพพัคคีย์นั่งบนอาสนะต่ำแสดงธรรมแก่ผู้นั่งบนอาสนะสูง พระทศพลให้เรียกภิกษุฉัพพัคคีย์มา ทรงติเตียนภิกษุเหล่านั้นแล้วตรัสว่า การที่พวกเธอไม่กระทำความเคารพในธรรมของเราไม่สมควร แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาสาธกดังนี้..

    กาลครั้งหนึ่ง ณ หมู่บ้านจัณฑาล มีชายผู้หนึ่งขยันทำมาหากินจนตั้งตัวได้ ขอหญิงคนหนึ่งมาแต่งงาน อยู่มาวันหนึ่งภรรยาตั้งครรภ์ เกิดแพ้ท้องอยากกินมะม่วง ได้อ้อนวอนสามีให้หามาให้สามีกล่าวอย่างจนใจว่า..

 

"ฤดูกาลนี้ไม่มีมะม่วงนะน้องเอ๋ย"
แต่ภรรยาทนความอยากไม่ไหว กล่าวต่อสามีว่า..
"หากน้องไม่ได้มะม่วงมากินแล้ว ชีวิตน้องคงต้องตายแน่ๆ"

 

    หนุ่มจัณฑาลคิดหาหนทางว่าจะไปหาที่ไหนดี พลันคิดได้ว่า ในพระราชอุทยานมีต้นมะม่วงที่ให้ผลได้ตลอดทั้งปี ดังนั้นพอตกดึก หนุ่มจัณฑาลแอบเข้าไปในราชอุทยาน รีบปีนขึ้นไปซ่อนอยู่บนต้นมะม่วงรอดูคนผ่านมา พลางสอดส่องสายตามองหาผลดกๆ อยู่ แต่ก็มองไม่ชัดถนัดใจจึงนั่งรออยู่บนคาคบจนเช้า เมื่อหาผลที่ต้องการได้แล้วใคร่จะลงจากต้นเกิดคิดว่า..


"หากลงตอนนี้มีหวังถูกคนเฝ้าสวนจับได้แน่ๆ เรารอให้มืดก่อนแล้วค่อยลงดีกว่า"

    ชายหนุ่มจึงทนรออยู่ต่ออีกหลายชั่วยาม ขณะรออยู่นั้นเอง พระราชาเสด็จมาใต้ต้นมะม่วงนี้พอดี พระองค์ทรงถูกพระทัยร่มไม้ต้นนี้เพราะแผ่กิ่งก้านร่มรื่นดีจริง ต้นมะม่วงต้นนี้กลับเป็นต้นที่พระองค์ทรงใช้ประทับศึกษาหาความรู้เล่าเรียนมนตราอยู่เป็นประจำ ดูเหมือนหนุ่มจัณฑาลโชคไม่ดีเอาเสียเลย เพราะต้นมะม่วงมีอยู่เต็มสวนแต่กลับมาเลือกเอาต้นนี้พอดี! ชายหนุ่มมองลงจากข้างบนเห็นพระราชาท่องมนต์อยู่กับชายอีกคนหนึ่ง เมื่อเพ่งพินิจชัดๆ จึงพบว่าเป็นปุโรหิตนั่งอยู่บนพื้นดินกำลังสอนมนต์ให้กับพระราชาอยู่ส่วนพระราชาประทับอยู่บนบัลลังก์เรียนมนต์จากปุโรหิตชายหนุ่ม คิดว่า..

 

    "พระราชาพระองค์นี้นั่งบนบัลลังก์ร่ำเรียนวิชาหาได้มีความเคารพในธรรมไม่เลยส่วนปุโรหิตเองก็ไม่เคารพในธรรมเช่นกัน เป็นผู้ให้วิชาแต่กลับมานั่งสอนบนที่ต่ำ นับว่าดูหมิ่นธรรมที่ตนแสดง เมื่อเห็นโทษของทั้งสองแล้ว หนุ่มจัณฑาลพลันมองสะท้อนตัว ฉุกคิดได้ว่า แล้วเราล่ะ! ตัวเรานั้นก็เสี่ยงตายมาลักขโมยมะม่วงเพราะมัวห่วงหลงใหลในอิตถีสตรี จะชื่อว่าเคารพธรรมได้ไฉน"

 

ว่าแล้วชายหนุ่มก็จับกิ่งห้อยโหน กระโจนพรวดลงมากลางวงตรงระหว่างพระราชากับปุโรหิตพอดี กราบทูลว่า..
"ข้าพระบาทฉิบหาย!ส่วนพระองค์โง่เขลา! ปุโรหิตนี้เล่าเจ้าตายแล้ว!"พระราชายังไม่ทันหายงง เพราะจู่ๆ ก็มีคนหล่นพรวดลงมา ยิ่งเจอคำพูดที่ให้พิศวงงงงวยหนักเข้าไปอีก จึงตรัสถามอย่างฉงนว่า..
"นี่มันเรื่องอะไรกันรึ"
บุรุษจัณฑาลกล่าวตอบว่า..


"การกระทำของเราทั้ง 3 ล้วนสกปรก! ข้าพระบาทมาลักขโมยมะม่วง ชื่อว่าทำตนให้ฉิบหายฝ่าพระบาทเป็นศิษย์นั่งอาสนะสูงเรียนวิชาไม่นอบน้อมต่อธรรม พระองค์จะเป็นคนโง่เขลาส่วนปุโรหิตตั้งตนในฐานะอาจารย์เขา แต่กลับนั่งอาสนะต่ำสอนธรรม ไม่ยกย่องเทิดทูนธรรมที่ตนนำมาแสดง กลับดูหมิ่นธรรม นับว่าเป็นคนตายแล้ว ทั้งสองมิเคารพในธรรมจะเห็นธรรมได้หรือ"

 

ปุโรหิตแย้งขึ้นว่า..
"อันตัวเรานั้นก็ทานข้าวสุกของพระราชาอยู่ เราจึงเป็นผู้สอนพระองค์ตอบแทน ไฉนจะต้องมากแบบแผนตามเจ้าว่า เราไม่ต้องการทำตามพวกที่คิดแบบนั้น"


บุรุษจัณฑาลกล่าวว่า..
"ถ้าอย่างนั้น ท่านก็จงไปหากินที่อื่นเสียเถอะ! เพราะคนอื่นๆ ทั่วชมพูทวีปก็หุงต้มหาข้าวให้ท่านกินได้ มิใช่มีแต่พระราชาองค์เดียวเท่านั้น ท่านไม่ยอมไปที่อื่นแล้วยังมาทำตัวอย่างไม่ดีในที่นี้อีก อธรรมที่ท่านประพฤติอย่าได้มาทำลายท่านเสียเลย เราติเตียนการได้ลาภสักการะ ยศตำแหน่งและการเลี้ยงชีวิตด้วยการทำตนให้มัวหมองตกต่ำ หรือประพฤติไม่เป็นธรรมทำให้ต้องตกไปอบาย"พระราชาฟังบุรุษหนุ่มจัณฑาล เกิดเลื่อมใสยิ่งนัก ทรงเห็นจริงตามนั้นทุกประการ ได้ตรัสถามว่าชายหนุ่มว่า..

"ท่านผู้มีปัญญา ท่านเป็นใคร มาจากไหน อยู่ในตระกูลใดหรือ"ข้าพระองค์เป็นคนจัณฑาล พระเจ้าข้า" บุรุษหนุ่มตอบอย่างองอาจ ไม่เขินอาย
"โอ้ ท่านผู้มีปัญญา! หากท่านมิได้เกิดเป็นคนจัณฑาลแล้วไซร้ เราจะยกราชสมบัติให้แก่ท่านทีเดียว เพราะเราต้องการบูชาธรรมแก่ท่าน แต่เอาเถิด! ตั้งแต่นี้ไป เราจะขอให้ท่านเป็นพระราชาช่วยปกครองบ้านเมืองในตอนกลางคืนส่วนเราจะเฝ้าราชสมบัติผลัดกันปกครองในตอนกลางวันก็แล้วกัน"

 

    จากนั้น พระราชาทรงประทานเครื่องอิสริยยศให้แก่บุรุษหนุ่มผู้กล้าหาญที่กระโจนลงมาประกาศความถูกต้อง ณ กลางวง แล้วยกให้เป็นอาจารย์แทนปุโรหิต จำเดิมแต่นั้นมาพระราชาก็ทรงนั่งอาสนะต่ำร่ำเรียนธรรมจากหนุ่มจัณฑาลด้วยความเคารพยิ่งทิวาราตรีผันผ่าน กษัตริย์ทิวาเรียนธรรมจากราชารัตติกาลทุกค่ำคืน ทั้งสองช่วยกันบริหารบ้านเมืองจนไพร่ฟ้าหน้าใสจิตใจเบิกบานกันถ้วนหน้าพระราชาทิวาวารทรงดำรงอยู่ในโอวาทของรัตติกาลราชา ทรงยึดมั่นในความถูกต้องไปจนตลอดชีวิต ทั้งสองพร้อมทั้งชาวเมืองละโลกแล้วก็ไปพักที่สวรรค์กันถ้วนหน้า..ส่วนภรรยาจัณฑาลนั้นได้เสวยมะม่วงสมพระทัย!


ประชุมชาดก
        พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า ราชาครั้งนั้นมาเป็นพระอานนท์ บุรุษจัณฑาลมาเป็นตถาคตแล

        จากชาดกเรื่องนี้ บุรุษจัณฑาลเห็นเหตุการณ์ผิดจากธรรม ก็นึกถึงธรรมแล้วย้อนดูตัว เกิดสลดใจที่ตนเองก็ประพฤติชั่ว ไม่มัวจมอยู่กับบาป รีบตัดใจเลิกชั่วนั้นทันที เพราะมีธรรมอยู่ในน้ำใจ มีชนเป็นอันมาก มีปัญญาพอที่จะล่วงรู้ข้อผิดพลาดของตนได้ แต่ไม่มีปัญญาพอที่จะหักใจเลิกจากสิ่งไม่ดีนั้นได้ เหมือนนกกระเรียนที่พอใจในเปอกตม ยังอาลัยในเปอกตม หากินอยู่กับเปอกตมนั้น ไม่อาจหักใจบินจากไป จนต้องจมเปอกตมจนตาย เหตุนี้ บัณฑิตกับคนพาลจึงมีอัธยาศัยต่างกัน บัณฑิตมีธรรมเป็นใหญ่กว่าตนส่วนคนพาลเอาตนเป็นใหญ่กว่าธรรม แม้ตนจะนึกถึงธรรมได้แต่ก็ไม่ยึดถือธรรมบัณฑิตกล้ารับผิด ไม่กลัวเสียหน้า แต่คนพาลกลัวเสียหน้า ไม่กล้ารับผิด บัณฑิตปฏิเสธความชั่วไม่กลัวลำบาก แต่คนพาลกลัวลำบาก จึงทำชั่ว บัณฑิต ละชีวิตเพื่อรักษาธรรม แต่คนพาลทิ้งธรรมเพื่อรักษาชีวิต

 

"นิสัยกล้ารับผิด ไม่กลัวเสียหน้า, กล้าปฏิเสธความชั่ว อย่างไม่กลัวเกรง, ชอบแก้ไขตนเอง ไม่กลัวลำบาก, มีธรรมเป็นชีวิตจิตใจ ไม่กลัวตาย, แข็งใจเลิกจากบาป, กล้าตัดใจไม่ทำชั่วแม้ต้องทรมานใจ และขวนขวายประพฤติธรรม" ทั้งหมดนี้จึงนับเป็นนิสัยในวิถีนักสร้างบารมีที่นับเนื่องเข้าในวิริยบารมี

-----------------------------------------------

SB 405 ชาดก วิถีนักสร้างบารมี

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.023242616653442 Mins