พระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธ“ความรวย”แต่..

วันที่ 01 มีค. พ.ศ.2559

 

 

พระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธ “ความรวย” ...แต่ “ความจน” ต่างหากคือศัตรู

           ......ศาสตราจารย์เกรกกอรี่ สโคเพ่น (Gregory Schopen) แห่งมหาวิทยาลัย UCLA ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำวิจัยคัมภีร์เชิงลึก ว่าด้วยชีวิตพระสงฆ์ยุคพุทธกาลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทรัพย์สิน การเงิน และการทำธุรกรรม เขาได้ข้อสรุปว่า พุทธศาสนามีความเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินและการเงินมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงเป็นนักบริหารจัดการเรื่องสมบัติสงฆ์ได้อย่างชาญฉลาด ไม่ว่าจะเป็น ทรัพย์สินบริจาค หรืออาคารที่พักที่สาธุชนถวายด้วยศรัทธา เป็นต้น

             หลักฐานในพระวินัยโดยเฉพาะนิกายมูลสรวาสติวาทนั้น ชี้ให้เห็นว่า ในบางกรณีพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้นำสมบัติสงฆ์ไปทำธุรกรรมได้ เช่น การทำสัญญาให้กู้ยืม เพื่อให้เกิดกำไรขึ้นมา ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่สงฆ์ทั้งปวง และเพื่อบุญกุศลของผู้ถวาย
พระสงฆ์โดยมากในสมัยพุทธกาลเป็นชนชั้นกลาง ตามพระวินัยนิกายมูลสรวาสติวาท พระสงฆ์จึงถูกคาดหวังด้วยซ้ำว่าค่อนข้างจะต้องมีฐานะ เพราะอาจต้องมีสินทรัพย์ที่จะใช้ชำระหนี้สินหรือจ่ายภาษีแก่รัฐ ดังนั้น พระสงฆ์จึงไม่จำเป็นต้องสละทรัพย์หรือมอบให้กับภิกษุอื่นเสมอไป ทั้งนี้ งานวิจัยของเขา ยังพบหลักฐานทางโบราณคดี จารึกข้อความที่ระบุว่า มีพระสงฆ์จำนวนมากบริจาคทรัพย์ของตนเพื่อสร้างศาสนสถานอุทิศให้บิดามารดาและหมู่ญาติ

            เมื่อมีผู้ถามศาสตราจารย์สโคเพ่นว่า ถ้ามองว่าพระพุทธเจ้าคล้ายกับนักธุรกิจแล้ว อะไรที่เป็นตัวหยุดพระพุทธองค์ไม่ให้เป็นผู้มักมาก เขาตอบว่า บางทีพระพุทธเจ้าอาจทรงมีพระปัญญาที่จะมองเห็นการณ์ล่วงหน้าถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับนักธุรกิจที่มีความโลภเช่นในปัจจุบัน ดังนั้น คำสอนเรื่อง "ทางสายกลาง" นั่นเอง จึงเป็นหลักการธุรกิจที่ดีที่สุดที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ พระสงฆ์เป็นชนชั้นกลางซึ่งมีอุดมคติทางศาสนาแบบทางสายกลาง มิใช่นักบำเพ็ญตบะเข้มงวด ดังนั้น จึงไม่ได้มีแนวคิดต่อต้านหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการสะสมทรัพย์สิน ศาสตราจารย์สโคเพ่นยืนยันว่า พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธเรื่องความร่ำรวยมั่งคั่ง ตรงข้ามกลับมองว่า ความจนต่างหากที่เป็นรากแห่งความเลวร้ายทั้งปวง หาใช่ตัวเงินไม่

          The Buddha’s life is a reminder that poverty, not money, is the root of all evil. In fact, modern research is making it increasingly clear that monks everywhere were overwhelmingly middle-class, and in early India, said Schopen, “the predominant ideology was not, in spite of representations in bad movies, particularly ascetic, and certainly not averse to the accumulation of wealth.” (Gregory Schopen)

            ผู้สนใจสามารถหาอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ได้ใน (1) หนังสือ Buddhist Monks and Business Matters และ (2) หนังสือ Buddhist Nuns, Monks, and Other Worldly Matters และยังบทความที่น่าสนใจ เช่น Doing Business for the Lord: Lending on Interest and Written Loan Contracts in the Mūlasarvāstivāda-vinaya.

 

 

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
http://newsroom.ucla.edu/…/two-cheers-for-the-buddha-astute…
https://www.youtube.com/watch?v=3GeZGFvbDzo

 ทิพย์ปัญญา 释聖達 @Wat_Benelux

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.031247083346049 Mins