การมีสมาธิกับการรักษาศีลข้อ ๕ 

วันที่ 24 พค. พ.ศ.2559

การมีสมาธิกับการรักษาศีลข้อ ๕

การมีสมาธิกับการรักษาศีลข้อ ๕

ศีลข้อ ๕ มีองค์ของศีลอยู่ ๔ ประการ คือ

๑. น้ำที่ดื่มเป็นน้ำเมา
๒. มีจิตคิดจะดื่ม
๓. พยายามดื่ม
๔. น้ำเมานั้นล่วงพ้นลำคอลงไป

       การงดเว้นจากการเสพสิ่งเสพติดต่างๆ เช่น ฝิ่น กัญชา ยาบ้า ยาไอซ์ เฮโรอีน รวมถึงวัตถุทุกชนิด ที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาท ก่อให้เกิดความมึนเมา ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนได้ ก็รวมอยู่ในศีลข้อนี้เช่นกัน

     จากนิสัยที่เป็นคนสกปรก  ไม่มีระเบียบ ไม่สำรวมระวัง    โกหกบ่อยๆจนกลายเป็นคนหมดความมั่นใจในตนเอง สมองต้องจำแต่เรื่องที่โกหกไว้ ทำให้ใจไม่เป็นสมาธิ เลื่อนลอย หาทางออกให้ตัวเองไม่ได้ พอไปเจอคนเหมือนๆกันก็ชวนกันไปเที่ยว ไปกิน ไปเสพยา ไปเล่นการพนัน ไปทางเสื่อมทั้งหลายจนติดเป็นนิสัย เย็นลงอยู่บ้านไม่ติด ต้องออกไปกับเพื่อนทุกวัน พออาการมึนเมาเกิด อาการโลภโกรธหลงจากอบายมุขก็เกิด อาการเสื่อมทางสมอง ทางร่างกายเกิดจากการเสพบุหรี่ เสพยาเสพติด ผิดศีลข้อ ๕

      ร่างกายที่หมดสภาพความสมบูรณ์ทั้งกายและจิต จะบังคับตัวเองให้มีอาการเหมือนคนปกติยังยาก เพราะใจจะเกิดความเครียด จะคิดฟุ้งซ่าน เกิดอาการเบื่อบ้าน เบื่องานที่ทำอยู่ เบื่อคู่ครอง

      ถ้ายังอยู่ในวัยเรียนก็เริ่มเบื่อเรียน หนีเรียน ไปซ่องสุมอยู่ตามก๊วน เพื่อนที่กิน เที่ยว เสพ เหมือนๆกัน เริ่มหมดอนาคตเพราะการเรียนตกต่ำ ถูกลงโทษ โดนพ่อแม่ด่าว่า

     ถ้าเป็นผู้ใหญ่ประสิทธิภาพการทำงานลดน้อยถอยลง ชีวิตคู่เริ่มเกิดการทะเลาะเบาะแว้ง นานวันเข้า บ้านแตกสาแหรกขาด เงินที่เคยมีเริ่มชักหน้าไม่ถึงหลัง เพราะนำเงินไปใช้ผิดประเภท ทั้งดื่ม ทั้งเที่ยว เล่นการพนัน เสพยา เครดิตก็ไม่มี จะเดินทางไปไหน ขับขี่รถยนต์ หรือเดินข้ามถนน หรือประกอบกิจส่วนตัว อาจประสบอุบัติเหตุได้ง่ายเพราะเกิดอาการจิตหลอน สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ การตัดสินใจผิดพลาด ทำร้ายร่างกายและข้าวของให้เสียหายโดยไม่รู้สึกผิด

    ถึงภาวะนี้เริ่มหนีปัญหา ไม่ชอบอยู่ร่วมกับคนปกติในสังคม นำไปสู่การผิดศีลครบทุกข้อ ตั้งแต่การทำร้ายร่างกาย การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การฆ่าชิงทรัพย์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การพูดโกหก จิตใจที่หยาบกระด้าง ร่างกายที่เริ่มอ่อนแอลง สมองจะถูกทำลาย ความรู้สึกนึกคิดที่ดีไปกับน้ำเมา บุหรี่ ยาเสพติด การพนัน อบายมุข การเที่ยวกลางคืน การคบเพื่อนชั่ว สภาวะจิตนั้นจะไปรู้ผิดชอบชั่วดี จะไปบังคับจิตให้ตั้งมั่นในบุญ ทำจิตให้นิ่งจนเกิดสมาธิได้อย่างไร

โทษของการดื่มสุรา เมรัย ๖

๑. เสื่อมทรัพย์ทันตาเห็น
๒. ก่อการทะเลาะวิวาท
๓. เป็นเหตุให้เสียสุขภาพ
๔. เป็นเหตุให้เสียชื่อเสียง
๕. เป็นเหตุให้ไม่รู้จักอาย
๖. เป็นเหตุบั่นทอนกำลังปัญญา

        "ไม่ปฏิบัติหน้าที่ - การงาน ทรัพย์จึงเสื่อมไป"

    ถ้าเรารักษาศีล ๕ เป็นประจำ อาการคนพาล คนหลงไม่เกิด สภาพร่างกายและจิตใจจะสมบูรณ์ เหมือนภาชนะที่หงายพร้อมปฏิบัติธรรมะด้วยใจที่ปีติอิ่มในบุญตลอดเวลา หมั่นฝึกตนทำสมาธิเป็นประจำ จิตที่ถูกฝึกหัดมาดีแล้ว จะสามารถตั้งมั่นอยู่ในสมาธิสร้างปัญญาให้เกิดได้ไม่ยากนัก


สรุป
     - การไม่มีสมาธิ หรือมีสมาธิสั้น เพราะเกิดจากจิตใจฟุ้งซ่าน ความเครียด เบื่อบ้าน เบื่องาน เบื่อเรียน เบื่อคู่ครอง เป็นต้น

     - เมื่อเกิดจิตใจฟุ้งซ่าน ความเครียด เบื่อบ้าน เบื่องาน เบื่อเรียน เบื่อคู่ครอง ทำให้ต้องเกิดปัญหา

   - เมื่อต้องการหนีปัญหา ทำให้ไปเที่ยวกลางคืนดื่มน้ำเมา เสพยา อบายมุขเข้าครอบงำ และคบเพื่อนไม่ดี ผิดศีลข้อ ๕

  - เมื่อเที่ยวกลางคืนดื่มน้ำเมา เสพยา อบายมุขเข้าครอบงำ และคบเพื่อนไม่ดี ทำให้จิตใจหยาบกระด้าง เป็นคนสกปรกไม่มีระเบียบ ไม่สุภาพ ไม่ตรงต่อเวลา นำไปสู่การผิดศีลข้อ ๑ - ๔

    - เมื่อเบื่อคนใกล้ตัว เช่น บุตรหลาน คนในครอบครัวเพื่อนหรือลูกน้องที่ทำงาน ต้องสัมผัสกับการกลับบ้านดึกไปทำงานสาย มีอาการมึนเมามีอาการติดยา ติดอบายมุข และการคบหาเพื่อนที่นิสัยไม่ดี ย่อมทำให้เกิดปัญหาครอบครัว ปัญหาในการทำงาน ปัญหาทางสุขภาพกายและสุขภาพจิต คนในครอบครัวหาทางออกผิดๆ กลายเป็นปัญหาสังคมต่อไป

   - หลายคนสงสัย ดื่มไวน์ ดื่มเหล้า ดื่มเบียร์คนเดียวยามครึ้มใจ การดื่มอ้างว่าเป็นยา ไม่ได้ไปทำร้ายใครดื่มเสร็จแล้วก็นอน ทำไมต้องผิดศีล แก้ข้อสงสัย ความจริงถามว่าผิดศีลไหม ยังถือว่าตอบง่ายเพราะครบองค์แห่งการผิดศีลข้อที่ห้าชัดเจนอยู่แล้ว และเมื่อดื่มเข้าไปแล้วสติสัมปะชัญญะขาด ย่อมเป็นเหตุให้ผิดศีลได้ทุกข้ออีกด้วย ถ้าจะถามให้ยากหน่อย ก็ควรถามว่าบาปไหม ? เพราะไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ตอบว่าบาปเพราะ ๑.ขาดสติสัมปชัญญะ อันเป็นองค์แห่งกุศลศีล เพราะไม่เห็นโทษในการดื่ม ๒.เบียดเบียนตนให้ลำบาก เพราะเป็นการทำลายสุขภาพตน ๓.เบียดเบียนครอบครัวหรือคนรอบข้าง เพราะทำให้ครอบครัวเสียทรัพย์หรือขาดรายได้โดยใช่เหตุ และก่อความรำคาญให้ผู้อื่น เพราะกลิ่นสุรา

การมีสมาธิกับการรักษาศีลข้อ ๕

 

บทสรุป
ความสัมพันธ์ของความดีสากล ๕ กับการรักษาศีล ๕

การมีสมาธิกับการรักษาศีลข้อ ๕

ความดีสากล ๕ เป็นต้นทางของศีล ๕
   - ความสะอาด ทำให้เป็นคนไม่มักง่าย ไม่มักโกรธ อารมณ์ดีเป็นนิจ เมื่อมีความสะอาดก็ปราศจากสัตว์ที่เข้าไปกัดกินเศษซากความสกปรกต่างๆ การฆ่าก็ไม่เกิด ไม่ต้องซื้อยาฆ่าแมลง เมื่อไม่มีโอกาสจะฆ่าจนคุ้น ก็จะไม่คุ้นกับการฆ่า จิตใจจะอ่อนโยน แม่มีโอกาสก็ไม่กล้าฆ่า

     - ความมีระเบียบ   ทำให้เป็นคนไม่คิดสับสน เพราะจัดข้าวของอุปกรณ์ทุกอย่างเป็นระเบียบ รู้จักประมาณตนในการบริโภค รู้จักประมาณในการจับจ่ายใช้สอยทรัพย์ตามความจำเป็น การลักขโมยย่อมไม่เกิด 

   - ความสุภาพ ทำให้เป็นคนไม่เอาเปรียบผู้อื่น ไม่กีดกันแข่งดีแข่งได้เพื่อมุ่งเอาชนะ เห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ถนอมน้ำใจกัน ไม่โป๊ไม่เปลือย กิริยาวาจาอ่อนโยนไม่ยั่วยวน ไม่ขุดบ่อล่อธารา การประพฤติผิดในกามย่อมไม่เกิด

   - การตรงต่อเวลา ทำให้เป็นคนหมั่นวิเคราะห์ตนเอง ทำให้มองตนเองออก บอกเตือนตนเองได้ มีความตั้งใจที่จะปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น การพูดเท็จย่อมไม่เกิด

    - การมีสมาธิ จิตตั้งมั่น ทำให้เป็นคนงดเว้นจากอบายมุขทุกชนิด จิตสงบย่อมเป็นสุข มีจิตโล่งโปร่งสบาย มุ่งทำแต่ความดี การเสพสุราย่อมไม่เกิดขึ้น

 

 

................................................................................................................
จากหนังสือ ความดีสากล
โดย  พระราชภาวนาจารย์   วิ.(เผด็จ ทตฺตชีโว)

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.036180865764618 Mins