กระบวนการเกิดขึ้นของนิสัย
ดังได้กล่าวแล้วว่า นิสัย คือ พฤติกรรมที่คนเราทำซ้ำๆกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งการคิด การพูด และการทำซ้ำๆกัน แท้ที่จริงแล้วการคิด การพูด และการกระทำเป็นกระบวนการต่อเนื่อง มาจากการทำงานของอายตนะภายในหรืออินทรีย์ทั้ง 6 ประการของเรา ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ กล่าวคือเมื่อตาเราได้เห็นสิ่งใดบ่อยๆ ใจย่อมรับรู้ แล้วใจก็คิดถึงสิ่งนั้นบ่อยๆ เมื่อหูได้ฟังเรื่องอะไรบ่อยๆ ใจย่อมรับรู้ แล้วใจก็คิดถึงเรื่องนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เมื่อจมูกดมกลิ่นของสิ่งใดบ่อยๆ ใจย่อมรับรู้ แล้วใจก็คิดถึงสิ่งนั้นบ่อยๆ เมื่อลิ้นลิ้มรสอาหารหรือ เครื่องดื่มอย่างใดบ่อยๆ ใจย่อมรับรู้ แล้วใจก็คิดถึงสิ่งนั้นบ่อยๆ
โดยสรุปก็คือ เมื่อคนเราได้เห็นรูป ได้ฟังเสียง ได้ดมกลิ่น ได้ลิ้มรส ได้จับต้องสิ่งใดบ่อยๆ ใจของเราย่อมจดจำไว้ ขณะเดียวกัน ก็จะมีความต่อเนื่องเป็นกระบวนการ ให้คิดถึงสิ่งนั้นบ่อยๆพูดถึงสิ่งนั้นบ่อยๆ รวมทั้งทำสิ่งนั้นบ่อยๆอีกด้วยในที่สุดก็จะเกิดเป็นความเคยชินและกลายเป็นนิสัยตลอดไป
ถ้าการคิด การพูด และการกระทำบ่อยๆ ซ้ำๆ นั้นเป็นเรื่องดีมีคุณประโยชน์ นิสัยที่ดีก็จะถูกพัฒนาขึ้นประจำจิตใจคนเรา เช่น การเจริญสมาธิภาวนาเป็นนิสัย ซึ่งจะเป็นทางนำความสุขความกระฉับกระเฉง กระชุ่มกระชวยมาสู่ชีวิตของเรา อันจะเป็นเหตุให้คนเราตั้งใจประกอบสัมมาทิฏฐิให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก
ในทางกลับกัน ถ้าการคิด การพูด และการกระทำบ่อยๆ ซ้ำๆ นั้นเป็นเรื่องชั่ว มีโทษภัย เช่น การเสพสุราและสิ่งเสพติดนิสัยที่ไม่ดีก็จะฝังแน่นตราตรึงอยู่ในจิตใจของคนเรา อันเป็นเหตุให้เกิดการกระทบกระทั่งกันในครอบครัว เกิดเป็นศัตรูอาฆาตมาดร้ายกันในหมู่เพื่อนฝูง ขณะเดียวกันความเห็นผิดเป็นชอบหรือมิจฉาทิฏฐิก็จะทวีขึ้นเรื่อยๆ จิตใจของเราก็จะยิ่งเศร้าหมองเพิ่มขึ้น จิตใจยิ่งเศร้าหมองมากเพียงใด โอกาศที่จะไปสู่ทุคติเมื่อวาระสุดท้ายแห่งชีวิตมาถึงก็มากขึ้นเพียงนั้น
เนื่องจากอายตนะหรืออินทรีย์ของเราต้องทำงานตลอดเวลาที่เราตื่นอยู่ เราจึงจำเป็นต้องรู้จักปกป้องจิตใจของเรามิใหห้เกิดกระบวนการที่จะก่อให้เกิดนิสัยไม่ดีด้วยประการต่างๆ แล้วพยายามสอนใจตนเอง ให้สร้างแต่กระบวนการที่จะก่อให้เกิดนิสัยดีทุกลมหายใจ ถ้าทำได้เช่นนี้ชีวิตก็จะประสบแต่ความสุข ดังธรรมภาษิตที่ว่า
“จิตที่คุ้มครองไว้ได้แล้ว นำความสุขมาให้”
จากหนังสือ 5 ห้องชีวิต ฉบับทางก้าวหน้า