ความตาย...ที่ไม่อาจหลีกพ้น

วันที่ 04 กพ. พ.ศ.2560

 
ความตาย...ที่ไม่อาจหลีกพ้น
 
 
ความตาย...ที่ไม่อาจหลีกพ้น,ที่นี่มีคำตอบ ฉบับ มินิ เล่ม 4 รักนี้สีอะไร,บทความประจำวัน
 
 
                 ไปเยี่ยมป้าเงินครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๓๒ รุ่งขึ้นวันที่ ๑๗ มีผู้หญิงคนหนึ่งมาหาที่วัด เธอชื่อ นุจรีย์ วิกัยนภากุล อายุคงราว ๓๐ ปี แจ้งความตั้งใจทําบุญเรื่องโน้นเรื่องนี้ ดูเธอมีศรัทธาและกระตือรือร้นผิดคนวัยเดียวกัน เมื่อสนทนากัน เธอจึงเล่าว่าเคยตายไปถึง ๒ วัน ข้าพเจ้าใคร่รู้ความทุกข์ของเธอตอนตาย เธอจึงเล่าให้ฟังว่า

              “หนูไม่ได้เจ็บไข้อะไรเลยค่ะ อาบน้ำเสร็จ นุ่งผ้าเช็ดตัวออกมา พอพ้นห้องน้ำก็รู้สึกอ่อนเพลียอย่างกะทันหัน ไม่มีแรง จึงทรุดนั่งเอาศีรษะวางเกยไว้บนมือที่พาดอยู่กับขอบเตียง แล้วก็วูบไปเหมือนนอนหลับค่ะ” เล่าแล้วเธอก็ทําอาการนั่งซบศีรษะกับขอบเตียงให้ข้าพเจ้าดู

               “หนูเห็นผู้ชายสองคนเดินเข้ามาในห้องค่ะ ไม่รู้เข้ามาได้ยังไง ห้องก็ปิดประตู”

             “เล่าลักษณะผู้ชายสองคนนั่นให้ป้าฟังหน่อย” ข้าพเจ้าอยากรู้ว่าใช่ยมฑูตหรือไม่ เพราะดูลักษณะแล้วเธอผู้นี้จะต้องไม่เคยเรียนปริยัติมาก่อน ต้องเห็นยมทูตตามจริง ไม่ใช่ตามที่คิดเอาจากตําราและก็เป็นจริงตามที่คาดเดาเอาไว้ เธอเล่าว่า

           “เขาตัวสูงใหญ่มากค่ะ นุ่งผ้าแดงแบบหยักรั้ง เสื้อไม่ใส่”  เธอตอบ ตรงกับที่หลายคนเคยเห็น

          “สูงขนาดไหน ลองเทียบให้ฟังหน่อยค่ะ”

                 “ก็ขนาดเวลาหนูวิ่งหนี หนูลอดใต้ขาเขาได้สบายเลยค่ะ วิ่งหนีลอดไปลอดมาใต้หว่างขาของเขานั่นแหละค่ะ ก็คิดดูเถอะเขาตัวสูงขนาดไหน

                  แล้วไงต่อ” ข้าพเจ้าถามเพิ่ม “หนูนุ่งผ้าเช็ดตัวยังงั้นเหรอ วิ่งหนีน่ะ”

                “ไม่ใช่ค่ะ ตอนวิ่งหนีเนี่ย หนูแต่งตัวเรียบร้อย วิ่งหนีเท่าไหร่ คนสองคนก็ไม่ลดละ ไล่ตามจับหนู หนูวิ่งไปถึงศาลาใหญ่มากแห่งหนึ่ง มีคนอยู่เต็มศาลา ก็รีบวิ่งเข้าไป ส่งเสียงร้องให้เขาช่วยหนูด้วย ในศาลามีแต่คนแก้ผ้าทั้งนั้น มีทุกวัยเลย เด็กบ้างผู้ใหญ่บ้าง นั่งๆ นอนๆ ไม่มีใครสนใจคิดช่วยอะไรหนู ไม่มีใครพูดด้วยเลย วิ่งเข้าไปข้างในหน่อยหนึ่ง  ก็มีบางคนเอามุ้งมาปิดบ้าง เอาเสื่อมาปิดให้บ้าง ไม่ให้สองคนนั่นมองเห็น แต่หนูก็ทนไม่ไหว เสื่อนั่นมุ้งนั่นเหม็นสาบ เหม็นอับ หายใจไม่ออก หนูต้องเผ่นหนีออกมาจากที่ปิด สองคนเห็นหนูอีก ก็ไล่ตามจับ หนูวิ่งไปที่ถนนอีกฟากหนึ่ง แปลกนะคะ เพียงห่างกันคนละฟากถนน แต่ผู้คนผิดกัน ในศาลามีแต่คนแก้ผ้า รูปร่างโทรมๆ แต่ที่ฟากถนนตรงข้าม คนแต่งตัวสวยงาม มีเสื้อผ้าสวยๆ ใส่ นั่งอยู่ในบ้านสวยๆ แต่อยู่กันหลังละคนเดียว ไม่เห็นมีใครอยู่ด้วย หนูก็รีบวิ่งพรวดพราดเข้าไป ร้องให้เขาช่วยหนูอีก ทุกคนทุกบ้านพากันนั่งเฉย ไม่สนใจหนูเลย

           หนูวิ่งจนเหนื่อยอ่อน ล้ากําลังเข้า วิ่งต่อไม่ไหว เลยนึกในใจว่า ไม่หนีแล้ว จะจับตัวไปไหนก็ช่างเถอะ ก็พอดีมีคนแต่งตัวสวยมากเป็นชุดสีขาว นั่งรถเทียมม้าสีขาวสองตัวมาจอดรับ บอกให้หนูขึ้นรถแล้วก็บอกคนที่ไล่จับนั่นว่า ผิดตัว พอหนูขึ้นรถได้ เขาก็ขับมาส่ง ก่อนให้หนูลงจากรถเขาบอกว่า ต่อจากนี้ ให้อยู่อย่างเทพสิทธา แล้วหนูก็ตื่น มีเสียงเคาะประตูเป็นการใหญ่ เพราะคุณป้าข้างห้องสงสัยว่า ทําไมไม่ออกจากห้องถึงสองวันแล้ว เปิดไฟทิ้งทั้งวันทั้งคืน ปืนดูทางช่องลมก็เห็นนั่งฟุบอยู่ท่าเดียว จึงต้องเคาะประตูกันวันละหลายๆ ครั้ง

         ตอนท้ายเธอถามข้าพเจ้าว่า

        “หนูเข้าใจว่า คนที่มาส่งพูดว่า ให้อยู่อย่างเทพสิทธา แปลว่าให้หนูเปลี่ยนนามสกุล ใช่ไหมคะ

      ข้าพเจ้าอธิบายให้เธอฟังย่อความไปเล็กน้อยว่า  “ให้อยู่เหมือนเทวดา”  ไม่ใช่ให้เปลี่ยนนามสกุล และข้าพเจ้าก็อธิบายว่าเทวดามีคุณธรรมอะไรบ้าง

        “เทวดาต้องมีคุณธรรม คือมีศีล ๕ ข้อบริสุทธิ์ และมีหิริโอตตัปปะ หิริแปลว่าความละอายบาป คือ ละอายใจที่จะทําบาป โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวบาป กลัวบาปกรรมตามให้ผล”

              ข้าพเจ้ามิได้อธิบายอีกคําหนึ่ง คือ สิทธา ซึ่งแปลว่ ฤาษี ผู้มาส่งนุจรีย์ด้วยรถเทียมม้าสีขาวนั้น ขอให้เธอประพฤติตัวเหมือนเทวดาหรือเหมือนฤาษี ฤาษี แปลว่า นักบวช เวลานี้ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าจะพบนุจรีย์อีกหรือไม่ถ้านุจรีย์อ่านพบหรือมีใครรู้จักเธอ ช่วยบอกเธอแทนข้าพเจ้าด้วยว่า ผู้มาส่งเธอนั้นเป็นเทวดาชั้นต้น เขาสั่งให้เธอประพฤติตัวเหมือนเทวดาก็ได้เหมือนนักบวชก็ได้ คือถือเพศเป็นอุบาสิกา (ไม่จําเป็นต้องโกนศีรษะ) ถือศีล ๘ ก็เหมือนฤๅษี (ฤๅษีประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีคู่ครอง บําเพ็ญตบะ) พร้อมทั้งเจริญภาวนา ก็นับเป็นการบําเพ็ญตบะเหมือนกัน ตบะคือการบําเพ็ญเพียรเผากิเลส การภาวนาก็เพื่อกำจัดกิเลสโดยตรงอยู่แล้ว

           จากคำบอกเล่านี้ เราคงจะเข้าใจความทุกข์ของคนที่ตายไปหน่อยหนึ่งคนนี้ได้ดีที่สุด นึกถึงว่าถ้าเป็นเราถูกคนตัวโตขนาดเราสูงแค่ขาของเขาไล่กวดจับน่ะ เราจะทุกข์ด้วยความกลัวแค่ไหน คุณนุจรีย์เล่าถึงศาลามีคนแก้ผ้า ทําให้นึกถึงภาพเขียนในเรื่องพระมาลัย คนที่ตายแล้วถูกยมฑูตจับตัวไป ล้วนแต่แก้ผ้ากันทั้งหญิงชาย คนเหล่านี้คงไม่ได้ทําบุญด้วยผ้าไว้ในสมัยเป็นมนุษย์ รูปในภาพตรงกันกับที่สตรีผู้นี้ตายไปเห็น นับว่าเป็นเรื่องยืนยันคัมภีร์โบราณเล่มนั้นเป็นอย่างดี

          กายที่วิ่งหนีได้ของนุจรีย์ คือกายมนุษย์ละเอียด หรือเรียกว่ากายฝัน หรือกายไปเกิดมาเกิด มันเหนื่อยได้เหมือนกายมนุษย์ บางทีกายมนุษย์เสียอีก เมื่อมีอารมณ์ตื่นเต้นสุดขีดกลับมีแรงเป็นอัศจรรย์ อย่างรายป้าเงินในเรื่องที่แล้วซึ่งปกติได้แต่นั่งบ้างนอนบ้าง ลุกไปไหนเองไม่ได้ แต่พอโกรธผู้หญิงลาวในกรรมนิมิต กลับลุกขึ้นไปวิ่งไล่เขาตัวตรงไม่มีลักษณะคนหมดแรง ข้าพเจ้าคิดว่าอาจจะเป็นต่อมบางอย่างในร่างกายผลิตสารฉีดออกมา ทําให้มีกําลังผิดมนุษย์ธรรมดา เช่น คนที่ตกใจเมื่อไฟไหม้บ้าน แบกตุ่มใส่น้ำเต็มปรี่คนเดียวไหว เป็นต้น

        ข้าพเจ้าคุยเรื่องความทุกข์จากความตายให้ท่านผู้อ่านฟัง ไม่ใช่เรื่องของคนอื่นหรอกนะคะ เป็นเรื่องของตัวเราเองทุกๆ คน เพราะจะต้องประสบเหตุการณ์เรื่องนี้แน่นอนอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ ทุกคนต้องตาย ไม่มีสิ่งใดป้องกันให้พ้นได้ จะแอบซ่อนอยู่ที่ไหนก็ไม่มีหนทางพ้นจากความตายเลย

       วิธีที่ดีที่สุดที่ควรทํา คือ ทําอย่างไรจึงจะได้สภาพการตายดีๆ ให้มีทุกข์น้อยที่สุด หรือไม่ทุกข์เลย การให้ตายชนิดมีทุกข์น้อย ทําได้ด้วยการประกอบกุศลกรรมให้มากๆ เข้าไว้ในขณะที่มีชีวิตอยู่ ทำแต่คุณงามความดีอย่างเดียว ความชั่วแม้น้อยนิดเพียงใดก็ไม่ทํา อย่างนี้เมื่อใกล้ตายฟิล์มชีวิตจะกรอไปค้างอยู่ที่ภาพใด ก็จะเห็นแต่ภาพดีงาม ใจก็จะผ่องใสไปสู่สุคติ

        ถ้าจะตายโดยไม่ให้ทุกข์ ก็ต้องหัดเจริญภาวนา ให้เห็น กายในกายเข้าไป ถอดกายให้เป็น

     ถอดกาย” หมายถึง ย้ายเอาความรู้สึกนึกคิดทั้งปวง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เข้าไปใช้ในกายใหม่ที่จะเห็น จะเป็นกายฝัน (กายมนุษย์ละเอียดหรือกายไปเกิดมาเกิด) กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม กายธรรม แล้วแต่จะทําได้ ทิ้งกายมนุษย์หยาบ คือ ร่างที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ ให้ทิ้งเหมือนถอดเสื้อที่เปรอะเปื้อน หรือเสื้อที่กําลังถูกไฟไหม้ออกโยนทิ้ง ฉะนั้นถ้าทําได้ดังนี้ก็จะไม่มีทุกข์ในการตาย เพราะรีบเปลี่ยนร่างให้เสร็จทันก่อนความทุกข์จากความตายจะมาถึง

    การถอดกายจะทําได้ผลดี ต้องฝึกหัดไว้ให้คล่องแคล่วตลอดเวลาในขณะที่ร่างกายยังมีสุขภาพเป็นปกติ เรียกว่า หัดตายให้เป็นเสียก่อนความตายจริงๆ จะมาถึง จะรอถอดกายเอาตอนเจ็บหนักใกล้ตายไม่ได้ เพราะเวลานั้นสุขภาพร่างกายไม่ปกติ อาจจะมีทุกขเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรุมเข้ามา เช่น ปวดท้อง ปวดในกระดูก ตัวร้อนจัด แน่นหน้าอก ฯลฯ ความทุกข์กายที่แรงกล้าจะทําให้ไม่สามารถกําหนดใจลงไปถึงจุดที่สามารถถอดกาย แต่ถ้าหากหัดเตรียมตัวตายไว้ในเวลาปกติจนคล่องแคล่ว เมื่อถึงเวลาคับขันก็สามารถตั้งสติมั่นกระทําได้ทันที เหมือนผู้คนในที่อาศัยที่เป็นตึกหลายสิบชั้นซ้อมหนีไฟไหม้อยู่เสมอๆ ครั้นพอที่นั่นเกิดไฟไหม้จริงขึ้นมา ก็สามารถหนีกันได้โดยปลอดภัย ไม่เหยียบกันตาย หรือขาดสติกระโดดลงมาตาย เป็นต้น

   เวลานี้ข้าพเจ้ากําลังเตรียมตัวตายอยู่ทั้งสองแบบ คือพยายามบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา อปจายนะ เวยยาวัจจะ ปัตติทานะ อนุโมทนะ ธัมมเทศนา ธัมมัสสวนะ และทิฏฐุชุกัมมะ ให้ได้ บันทึกภาพยนตร์ดีๆ ไว้ในฟิล์มของจิต เวลาก่อนตาย เครื่องฉายเสียจะได้ไปค้างอยู่ตามภาพดีๆ ส่วนการภาวนาเพื่อให้เห็นกายในกายก็พยายามไม่ท้อถอย ฝึกหัดพากเพียรไปเรื่อยๆ ทําควบไปกับประการแรก นั่นแหละใครที่รู้จักข้าพเจ้าจึงมักเห็นความ “งก” บุญของข้าพเจ้าอยู่เสมอ เดี๋ยวทำเรื่องนั้น เรื่องโน้น เรื่องนี้ ไม่มีหยุด พร้อมกับปฏิบัติธรรม รวมทั้งชักชวนผู้คนต่างๆ อยู่เรื่อยไป

     ท่านเล่าคะ จะเริ่มทดลองกระทําบ้างหรือยัง ใครทําแล้ว ข้าพเจ้าขออนุโมทนาสาธุการด้วยเป็นอย่างยิ่ง ถ้าใครยังมิได้ทํา โปรดทําเดี๋ยวนี้เถอะค่ะ เวลาที่หมดไปทุกวินาที ก็เหมือนเราเดินเข้าไปสู่ความตายที่ละก้าวๆ หนีไปทางอื่นไม่ได้ ทางหนีไม่มีเลย ใครจะรู้ เราอาจตายในขณะที่อ่านหนังสือเล่มนี้ยังไม่ทันจบด้วยซ้ำไป อย่าประมาทเลยนะคะ

     เมื่อใดเราถอดกายที่เป็นขันธ์ ๕ หรือเบญจขันธ์ทิ้งไปได้ ให้เหลือแต่ธรรมขันธ์ในธรรมกาย เมื่อนั้นเราก็หนีความตายพ้น ดังที่พระบรมศาสดาตรัสกับพระสาวกรูปหนึ่งที่ชื่อโมฆราชว่า

    ดูก่อนโมฆราช เธอจงเห็นโลกนี้โดยความเป็นของว่างแล้วถอนอัตตานุทิฏฐิ (ความตามเห็นว่าเป็นตัวตน) ออกเสีย ก็จะพ้นจากความตาย

      ก่อนจบ ขอนําข้อคิดเกี่ยวกับความตายมาฝากท่านดังนี้

     ความตายไม่ใช่จะเกิดแก่เราคนเดียว สัตว์ทุกชีวิตต้องตายด้วยกันทั้งนั้น ตายจากภพก่อนมาเกิดในภพนี้ แล้วจะตายย้ายจากภพนี้ไปภพใหม่ต่อไป หนีความตายไม่พ้นด้วยกันทั้งสิ้น คนที่เก่งกว่าเราอย่างเทียบกันไม่ได้ก็ยังต้องตายทั้งนั้น เช่น พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น

      - ใครก็ตามที่เกิดอยู่ในครรภ์ของแม่ในเวลาใด มีแต่จะบ่ายหน้าไปหาความตาย ไม่มีการกลับหลัง

   - จะเป็นคนวัยหนุ่มสาวก็ดี วัยชราก็ดี มีปัญญาก็ดี โง่ก็ดี รวยก็ดี จนก็ดี ทั้งหมดล้วนมีความตายเป็นที่สุด ไม่ต่างกัน

   - สัตว์ทั้งหลายต้องประสบภัยคือความตายอย่างแน่นอน เหมือนผลไม้ที่สุกงอม ต้องหล่นอย่างแน่แท้

   - อายุของเราน้อยเหลือเกิน เหมือนน้ำค้างบนใบหญ้าถูกแสงอาทิตย์เข้าก็จะเหือดแห้งไปพลัน

  - สัตว์มีความตายเป็นของเที่ยงแท้แน่นอน จักตาย กําลังตาย และเคยตายด้วยกันทั้งสิ้น อย่าสงสัย

 - ที่สุดของความมีชีวิตคือความตาย ที่สุดของความไม่มีโรค คือความมีโรค ที่สุดของความเป็นหนุ่มสาวคือความแก่ชรา

 - ผู้มีกําลัง หรือพระราชามีกําลังกาย กําลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์มากมาย เอาชนะศัตรูได้ แต่เอาชนะความแก่ ความตายไม่สําเร็จ

 - ห้วงน้ำใหญ่ ผืนแผ่นดิน ภูเขา ราวป่า จะตั้งอยู่นานเท่าใด ก็ต้องเสื่อมสลาย นับประสาอะไรกับชีวิตเรา

 - มัจจุราชไม่มีอาลัยไยดีว่า ผู้นี้เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ คนรวย คนแข็งแรง คนมีเดชานุภาพ

        - แพทย์ผู้มีความสามารถยอดเยี่ยม รักษาโรคอะไรๆ ก็หายแน่ แต่ตนเองนอนตายอยู่รักษาไม่ได้
(จากคัมภีร์วิสุทธิมรรค และจากพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เล่ม ๒๗ หน้า ๔๔๕ อำนาจมัจจุราช)

      -จะอยู่ในอากาศ อยู่กลางมหาสมุทร แอบในหลืบเขา ก็ไม่พ้นความตาย ไม่มีดินแดนไหนพ้นการรุกรานของความตาย

        -ผู้เลี้ยงโค ต้อนฝูงโคไปสู่ที่หากินด้วยไม้พลองฉันใด ความแก่ตาย ย่อมต้อนอายุของสัตว์มีชีวิตไปฉันนั้น

       -ภาชนะดินที่ช่างหม้อทำเสร็จแล้ว ล้วนมีความแตกเป็นที่สุดฉันใด... ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น

  -ห้วงนําที่เต็มฝั่ง พึงพัดต้นไม้ริมตลิ่งไปฉันใด สัตว์มีชีวิตทั้งปวงย่อมถูกความแก่และความตายพัดไปฉันนั้น (จากพุทธศาสนสุภาษิต เล่ม ๒ หน้า ๕๓-๕๕)


 
 
 
 
 
 
ชื่อเรื่องเดิม อยู่อย่างเทพสิทธา
Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล 
จากความทรงจำ เล่ม4
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.01617081562678 Mins