ความรู้พื้นฐานเรื่องเอกภพ

วันที่ 09 พค. พ.ศ.2560

ความรู้พื้นฐานเรื่องเอกภพ

GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก , เอกภพ , อวกาศ

1. ความหมายของเอกภพ
     เอกภพ (Universe) หมายถึง ระบบรวมของทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติ ตั้งแต่สิ่งที่เล็กที่สุดที่มองไม่เห็นด้วยตาเนื้อได้แก่ อะตอม อันประกอบด้วย โปรตอน, นิวตรอนและอิเล็กตรอน เป็นต้น จนถึงสิ่งที่ใหญ่โตมโหฬาร ได้แก่ กาแล็กซีต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในอวกาศอันกว้างใหญ่ไพศาล

       อวกาศ (Apace) หมายถึง พื้นที่ว่างทั้งมวลในเอกภพ โดยที่ทั้งโลก, ดาวเคราะห์, กาแลกซี และเทหวัตถุ ฟากฟ้าอื่นๆ ก็กำลังเคลื่อนที่อยู่ในอวกาศ ไม่ว่าเราจะเริ่มต้นเดินทางออกจากเทหวัตถุฟากฟ้าใดๆ ก็ตาม เราจะต้องออกเผชิญกับอวกาศตลอดเวลา

      นักดาราศาสตร์ประมาณกันว่า อาณาบริเวณทั้งหมดของเอกภพมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 28,000 ล้านปีแสง โดยไม่น่าจะมีโครงสร้างอื่นใดที่ใหญ่กว่านี้อีก แต่นั่นก็เป็นเพียงการคาดคะเนจากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน และจากข้อมูลเหล่านี้ทำให้พอจะคาดคะเนได้ว่า เอกภพน่าจะมีความกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

     นักดาราศาสตร์กลุ่มที่เสนอทฤษฎีเอกภพพองตัว (Inflation Theory) ระบุว่าเอกภพมีการขยายตัวเองตลอดเวลาและเอกภพไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว แต่มีความเชื่อมโยงกับสิ่งที่ใหญ่กว่าโดยเปรียบเทียบกับลูกโป่งที่มีจุดสีแต้มบนผิว เมื่อลูกโป่งขยายตัวออก จุดสีก็จะขยายขนาดด้วยเช่นกัน ในกรณีนี้เอกภพเป็นเพียงจุดสีไม่ใช่ตัวลูกโป่ง ที่ผิวลูกโป่งอาจมีจุดสีหลายจุด และขยายตัวแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของพื้นผิวลูกโป่งบริเวณนั้นๆ ซึ่งหมายความว่า เอกภพของเราไม่ได้เป็นหนึ่งเดียว แต่ยังมีเอกภพลักษณะอื่นๆ อีกมากเป็น "พหูภพ (Mutiverse)" เอกภพจึงเปรียบเสมือนเกาะเล็กๆ หลายเกาะที่กระจายกันอยู่ในมหาสมุทร

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.020304667949677 Mins