สรรพศาสตร์ในทางโลก "แพทยศาสตร์"

วันที่ 09 พค. พ.ศ.2560

สรรพศาสตร์ในทางโลก 
แพทยศาสตร์

GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก , แพทยศาสตร์

1.) ความหมายของแพทยศาสตร์
    แพทยศาสตร์ หมายถึง วิชาการป้องกันและบำบัดโรค ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและเยียวยารักษาโรค แพทยศาสตร์มีศาสตร์เฉพาะทางมากมาย เช่น อายุรกรรม, ศัลยกรรม,สูติกรรม ฯลฯ ในแต่ละสาขายังแบ่งเป็นสาขาย่อยลงไปอีก

      แพทยศาสตร์ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าเป็น "การแพทย์แผนปัจจุบัน" หรือการแพทย์แผนตะวันตก ซึ่งมีการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยอย่างเป็นระบบนอกจากนี้ยังมีการแพทย์อีกแผนหนึ่งซึ่งคงอยู่คู่โลกมานานเป็นที่รู้จักกันในนาม "การแพทย์ทางเลือก" อันได้แก่ การแพทย์แผนจีน แผนอินเดีย และการแพทย์แผนไทย เป็นต้น


2.) การแพทย์แผนปัจจุบัน
       ตามทัศนะของเลอเดอร์มาน มุมมองหรือกระบวนทัศน์ของนักวิทยาศาสตร์การแพทย์แผนปัจจุบัน แบ่งเป็น 2 ทัศนะ คือ วัตถุนิยมเชิงจักรกล และ ทัศนะว่าด้วยองค์รวม

2.1) วัตถุนิยมเชิงจักรกล (Mechanical Meterialism)
 ทัศนะนี้มองมนุษย์เป็นเหมือนเครื่องยนต์กลไกสามารถอธิบายให้เข้าใจได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติโดยเฉพาะฟิสิกส์และเคมี ชีวิตมนุษย์ถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ ให้เห็นคล้ายสารเพื่อการศึกษาวิจัยและทำการบำบัดรักษา

           นักชีวฟิสิกส์เชื่อว่า มนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เป็นส่วนผสมหรือการรวมตัวกันของพลังงานสุขภาพจะดีได้ก็ต่อเมื่อมีการหมุนเวียนแลกเปลี่ยนพลังงานที่ได้สัดส่วนกันระหว่างเซลล์ต่างๆความเจ็บป่วยจะเกิดขึ้นเมื่อการหมุนเวียนแลกเปลี่ยนพลังงานไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นการบำบัดรักษาจึงต้องทำให้พลังงานหมุนเวียนแลกเปลี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

        ทัศนะนี้แบ่งมนุษย์ออกเป็น 2 ส่วน คือ ร่างกายกับจิตใจ ซึ่งส่วนแรกจะเป็นเนื้อหาสาระสำคัญของชีววิทยาส่วนหลังเป็นขอบเขตของจิตวิทยา แต่ละส่วนของร่างกายและจิตใจก็ยังต้องมีศาสตร์เฉพาะสาขาแยกย่อยลงไปอีก เช่น ตา หู จมูก หัวใจ เป็นต้น ทัศนะนี้เน้นความชำนาญเฉพาะด้านในลักษณะที่แยกชีวิตออกเป็นเสี่ยงๆ

      แม้ทัศนะนี้จะมองว่ามนุษย์ประกอบด้วยส่วนที่เป็นจิตใจด้วย ถึงกระนั้นก็ยังมองว่าเป็นจิตใจแบบหุ่นยนต์ กล่าวคือ ปราศจากความรู้สึกนึกคิด เจตนา และจุดประสงค์ เมื่อชำรุดหรือสึกหรอก็จะถูกแยกส่วนออกมาซ่อมให้กลับคืนสู่ภาวะปกติเฉพาะส่วนนั้นๆ อย่างไรก็ตามกระบวนทัศน์นี้ได้มีส่วนช่วยให้วิทยาศาสตร์สุขภาพเจริญรุดหน้าไปมาก

2.2) ทัศนะว่าด้วยองค์รวม (Holism)
       ทัศนะนี้เชื่อว่า ชีวิตมนุษย์ประกอบด้วย 2ส่วนเช่นกัน คือ ร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นของเนื่องด้วยกันมิได้แยกเป็นอิสระจากกัน การแยกก็เพื่อสะดวกในทางปฏิบัติ แต่หลังจากแยกแล้วจะมีการโยงส่วนต่างๆเข้าหากัน ทัศนะนี้มองว่าชีวิตมิอาจเข้าใจและอธิบายได้ด้วยวิธีการทางฟิสิกส์เคมีเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยหลักการที่เรียกว่า องค์รวม ซึ่งมองชีวิตมนุษย์เป็นระบบชีวิต คือ ชีวิตทั้งหมดทั้งร่างกายและจิตใจที่มีความสัมพันธ์กันอยู่เป็นอันเดียวกัน

      ทัศนะนี้ยังรวมเอาปัจจัยหรือเงื่อนไขด้านสังคม วัฒนธรรม และ นิเวศวิทยาเข้าไว้ด้วยสาเหตุของโรค อาจจะเกิดจากเงื่อนไข ทางร่างกาย จิตใจสังคม วัฒนธรรม และระบบนิเวศน์ที่ไม่สมดุล ดังนั้นการบำบัดโรคและรักษาคนไข้ จะต้องคำนึงถึงสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และนิเวศวิทยาเข้ามาเชื่อมโยงด้วย จึงเป็นต้นเหตุให้เกิดศาสตร์สาขาต่างๆสัมพันธ์กับการแพทย์ เช่นสังคมวิทยาการแพทย์ มนุษยวิทยาการแพทย์ เศรษฐศาสตร์การแพทย์ และจริยศาสตร์ทางการแพทย์ เป็นต้น

      โดยสรุปมุมมองของทัศนะนี้เน้นองค์รวมครอบคลุมแทบทุกด้าน เชื่อมโยงประสานเหตุปัจจัยต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อทำความเข้าใจและแก้ปัญหาสุขภาพของชีวิตทั้งระบบ ดังนั้นทัศนะนี้จึงเน้นความสัมพันธ์การแพทย์เชื่อมโยงกับปัญหาจริยธรรมสังคมและวันธรรมทั้งระบบ


3.) การแพทย์ทางเลือก
       คำว่า "ทางเลือก" หมายถึง เป็นทางอีกทางหนึ่ง ที่นำมาเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจส่วนทางหลักคือทางที่คนส่วนใหญ่ใช้กันความหมายของการแพทย์ทางเลือกมีความแตกต่างกันไปตามเวลาและสถานที่สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน การแพทย์ทางเลือก คือ การแพทย์ที่ไม่ใช่การแพทย์แผนปัจจุบัน ได้แก่ การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์อื่นๆ ที่เหลือถือเป็นการแพทย์ทางเลือกทั้งหมด

      หน่วยงานของ National Center of Complementary and Alternative Medicine (NCCAM) ในสหรัฐอเมริกา ได้จำแนกการแพทย์ทางเลือกออกเป็น 5 กลุ่มดังนี้

       (1)  Alternative Medical System  คือ การแพทย์ทางเลือกที่มีวิธีการตรวจรักษาวินิจฉัยและการบำบัดรักษาหลากหลายวิธีการ ทั้งด้านการให้ยา การใช้เครื่องมือมาช่วยในการบำบัดรักษาและหัตถการต่างๆ เช่น การแพทย์แผนโบราณของจีน (Traditional Chinese Medicibe) การแพทย์แบบอายุรเวชของอินเดีย เป็นต้น

        (2) Mine-Body Interventions คือ วิธีการบำบัดรักษาแบบใช้กายและใจ เช่น การใช้สมาธิบำบัด โยคะ ชี่กง เป็นต้น

       (3) Biologically Based Therapies   คือ วิธีการบำบัดรักษาโดยการใช้สารชีวภาพสารเคมีต่างๆ เช่น มุนไพร วิตามิน Chelation Therapy, OZone Therapy  หรือแม้กระทั่ง
อาหารสุขภาพ เป็นต้น

       (4)  Manipulation and Body-Based Methods คือ วิธีการบำบัดรักษาโดยการใช้หัตถการต่างๆ เช่น การนวด การดัด การจัดกระดูก Osteophthy, Chiropractic เป็นต้น

       (5) Energy Therapies  คือ วิธีการบำบัดรักษาที่ใช้พลังงานที่สามารถวัดได้และไม่สามารถวัดได้ เช่น การสวดมนต์บำบัด พลังกายทิพย์ พลังจักรวาล เรกิ โยเร เป็นต้น

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.026959915955861 Mins