หลักการตอบปัญหาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

วันที่ 12 พค. พ.ศ.2560

วาทศาสตร์ในพระไตรปิฎก
หลักการตอบปัญหาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า "


GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก , วาทศาสตร์ในพระไตรปิฎก , วาทศาสตร์ , หลักการตอบปัญหาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ,  แสดงธรรม , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตอบปัญหาต่างๆ ก็เพื่ออนุเคราะห์ผู้ถามและพุทธบริษัททั้ง 4 ที่ฟังธรรมอยู่ด้วย คำตอบของพระองค์ทำให้ผู้ถามแจ่มแจ้ง เปรียบเสมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือเหมือนส่องประทีปในที่มืด ก่อนที่พระองค์จะทรงตอบคำถามใดก็ตาม จะทรงตรวจดูสาเหตุการถามปัญหาของผู้ถามก่อนว่าสาเหตุหรือจุดประสงค์หลักของผู้ถามคืออะไร เพราะเมื่อทราบสาเหตุแล้วจึงทำให้พระองค์ตอบปัญหาต่างๆ ได้ตรงใจผู้ถามสำหรับสาเหตุแห่งการถามปัญหาของคนในโลกนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ 5 ประการดังนี้

1. สาเหตุการถามปัญหา 5 ประการ

1) ถามปัญหาเพราะโง่เขลาและหลงลืม
2) ถามปัญหาเพราะมีความปรารถนาลามก
3) ถามปัญหาเพราะความดูหมิ่น
4) ถามปัญหาเพราะประสงค์จะรู้
5) ถามปัญหาเพราะคิดว่า ถ้าผู้ตอบสามารถตอบคำถามได้ถูกต้องก็เป็นการดี แต่ถ้าตอบไม่ถูกต้อง ผู้ถามก็ตั้งใจว่าจะอธิบายคำตอบที่ถูกต้องให้เขาทราบ แต่ไม่ได้มีความประสงค์ดูหมิ่นหรือทดลองภูมิรู้ผู้ตอบ

      ความปรารถนาลามก หมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นคิดว่าตนเองมีความดีอย่างนั้นอย่างนี้ทั้งๆ ที่ตนไม่ได้มีความดีเช่นนั้นจริง กรณีผู้ถามปัญหาเพราะมีความปรารถนาลามก ได้แก่ ปรารถนาให้ผู้ตอบหรือผู้ฟัง รรเสริญว่า ผู้ถามเป็นคนใคร่ในการศึกษา ทั้งที่ความจริง ผู้ถามไม่ได้เป็นคนเช่นนั้น เป็นต้น

     การถามปัญหาเพราะความดูหมิ่น หมายถึง ผู้ถามรู้สึกดูถูกดูหมิ่นภูมิรู้ภูมิธรรมของผู้แสดงธรรม จึงพยายามถามปัญหายากๆ เพื่อให้เขาตอบไม่ได้ จะได้เขินอายและเสียหน้า ทั้งๆที่ผู้ถามอาจจะรู้คำตอบนั้นอยู่แล้ว แต่ต้องการถามเพื่อทดลองภูมิรู้ผู้แสดงธรรมเท่านั้น

    สำหรับวิธีการตอบปัญหาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเรียกว่า "ปัญหาพยากรณ์" คำว่า "พยากรณ์ แปลว่า ตอบปัญหา" นั่นเอง ซึ่งปัญหาพยากรณ์มี 4 ประการดังนี้


2. ปัญหาพยากรณ์ 4 ประการ

1) เอกังสพยากรณียปัญหา        ปัญหาที่พึงตอบโดยนัยเดียว
2) ปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา    ปัญหาที่พึงย้อนถามแล้วจึงตอบ
3) วิภัชชพยากรณียปัญหา        ปัญหาที่พึงจำแนกแล้วจึงตอบ
4) ฐปนียปัญหา                       ปัญหาที่พึงงดตอบ

      เอกังสกรณียปัญหา ได้แก่ ถ้าถูกถามว่าดวงตาไม่เที่ยงหรือ ก็จะตอบโดยนัยเดียวว่าไม่เที่ยง เมื่อถูกถามว่าจมูกไม่เที่ยงหรือ ก็จะตอบโดยนัยเดียวว่าไม่เที่ยง เป็นต้น

      ปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา ได้แก่ ถ้าถูกถามว่า "ดวงตา" ฉันใด "หู" ก็ฉันนั้นหรือ และ "หู" ฉันใด "ดวงตา" ก็ฉันนั้นหรือ ปัญหานี้ต้องย้อนถามว่าผู้ถาม ถามโดยมุ่งหมายถึงอะไรเมื่อเขาตอบว่าถามโดยมุ่งหมายถึงคุณสมบัติในการ "เห็น" ก็ต้องตอบว่า ไม่ใช่ เพราะ "หู" ไม่มีคุณสมบัติเช่นนั้น แต่ถ้าเขามุ่งหมายถึงความ "ไม่เที่ยง" ก็ต้องตอบว่า ใช่ เพราะทั้ง "ดวงตา" และ "หู" เป็นของไม่เที่ยงเหมือนกัน

     วิภัชชพยากรณียปัญหา ได้แก่ ถ้าถูกถามว่า ดวงตาหรือชื่อว่าไม่เที่ยง คำถามนี้จะต้องจำแนกแล้วตอบอย่างนี้ว่า ไม่ใช่เฉพาะดวงตาเท่านั้นที่ไม่เที่ยง แม้แต่ หู จมูก ลิ้น และทุกส่วนของร่างกายก็ไม่เที่ยงเช่นเดียวกัน

     ฐปนียปัญหา คือ ปัญหาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้างดตอบ เป็น ปัญหาที่ไม่มีประโยชน์ไม่เป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน ได้แก่ ปัญหาที่ว่าโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง เป็นต้น เพราะแม้พระองค์จะตอบว่า "โลกเที่ยง" หรือ "โลกไม่เที่ยง" ก็ไม่มีผลต่อการบรรลุมรรคผลนิพพานของคนถาม

    หากพระพุทธองค์ทรงตอบคำถามที่ไม่มีประโยชน์เหล่านี้ครั้งหนึ่งแล้ว ชาวโลกก็จะพากันมาถามปัญหาไร้สาระอีกมากมาย ทำให้พระองค์ต้องเสียเวลากับการตอบคำถามเหล่านี้ไปเป็นอันมาก เวลาสำหรับแ ดงธรรมเพื่อโปรดคนให้พ้นทุกข์ก็จะน้อยลงด้วย พระพุทธองค์จึงตัดปัญหานี้ด้วยการงดตอบคำถามต่างๆ ที่ไม่เกื้อกูลต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน


3. ตัวอย่างปัญหาพยากรณ์ 4 ประการ
  ตัวอย่างการตอบปัญหาทั้ง 4 ประการของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพุทธบริษัทนั้นมีปรากฎอยู่ในพระไตรปิฎกจำนวนมาก ในที่นี้จะยกตัวอย่างกรณีละ 1 เรื่องพอให้นักศึกษาได้เห็นเป็นแนวทางในการตอบปัญหาธรรมะแก่ผู้ใคร่ในการศึกษาทั้งหลาย

1) ตัวอย่างเอกังสพยากรณียปัญหา
     ครั้งหนึ่ง พระ วิฏฐะและพระมหาโกฏฐิตะเข้าไปหาพระสารีบุตรและได้ นทนาปราศรัยกัน พระสารีบุตรกล่าวกับทั้งสองท่านว่า บุคคล 3 จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก คือ

    จำพวกที่ 1 คือ "กายสักขีบุคคล" หมายถึง พระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลขึ้นไปเป็นผู้เห็นประจักษ์กับตัวสัมผัสวิโมกข์ 8 ด้วยกายแล้วทำให้แจ้งพระนิพพานภายหลังได้

    จำพวกที่ 2 คือ "ทิฏฐิปัตตบุคคล" หมายถึง พระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลขึ้นไปบรรลุสัมมาทิฏฐิเข้าใจอริยสัจได้ถูกต้อง

   จำพวกที่ 3 คือ "สัทธาวิมุตตบุคคล" หมายถึง พระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลขึ้นไปผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา

   บุคคล 3 จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก บรรดาบุคคล 3 จำพวกนี้ ท่านชอบใจบุคคลจำพวกไหนซึ่งดียิ่งกว่าและประณีตกว่า

    คำถามนี้เป็น เอกังสพยากรณียปัญหา คือ เป็นปัญหาที่ต้องตอบโดยนัยเดียว กล่าวคือจะต้องเลือกตอบอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวในบรรดาบุคคล 3 จำพวกที่กล่าวมา

    พระสวิฏฐะตอบว่า ผมชอบใจสัทธาวิมุตตบุคคลซึ่งดียิ่งกว่าและประณีตกว่า เพราะสัทธินทรีย์(อินทรีย์คือศรัทธา)ของบุคคลนี้แก่กล้ายิ่งนัก

     พระมหาโกฏฐิตะตอบว่า ผมชอบใจกายสักขีบุคคลซึ่งดียิ่งกว่าและประณีตกว่า เพราะว่าสมาธินทรีย์(อินทรีย์คือสมาธิ)ของบุคคลนี้แก่กล้ายิ่งนัก

   ส่วนพระสารีบุตรกล่าวว่า ผมชอบใจทิฏฐิปัตตบุคคลซึ่งดียิ่งกว่าและประณีตกว่า เพราะว่าปัญญินทรีย์(อินทรีย์คือปัญญา)ของบุคคลนี้แก่กล้ายิ่งนัก

    จากนั้นพระสารีบุตรได้กล่าวกับพระ วิฏฐะและพระมหาโกฏฐิตะว่า "พวกเรา ต่างตอบปัญหาตามปฏิภาณของตน มาไปด้วยกันเถิด เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ากราบทูลข้อความนี้ เราจักทรงจำข้อความตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสตอบแก่เรา"

    เมื่อทั้งสามท่านเข้าไปกราบทูลเรื่องนี้แก่พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ในเรื่องนี้ การตอบปัญหาโดยนัยเดียวว่า บรรดาบุคคล 3 จำพวกนี้ บุคคลนี้ดียิ่งกว่าและประณีตกว่า ไม่ใช่จะทำได้ง่าย เพราะอาจเป็นไปได้ว่าสัทธาวิมุตตบุคคลบางคนเป็นผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค แต่กายสักขีบุคคลและทิฏฐิปัตตบุคคลบางคนยังเป็นสกทาคามีหรืออนาคามีอยู่

    รวมทั้งอาจเป็นไปได้ว่า กายสักขีบุคคลบางคนเป็นผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรคส่วนสัทธาวิมุตตบุคคลและทิฏฐิปัตตบุคคลบางคนยังเป็น กทาคามีหรืออนาคามีอยู่ ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นไปได้ว่า ทิฏฐิปัตตบุคคลบางคนเป็นผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรคส่วนสัทธาวิมุตตบุคคลและกายสักขีบุคคลบางคนยังเป็น กทาคามีหรืออนาคามีอยู่

    ในเรื่องนี้ การตอบปัญหาโดยนัยเดียวว่า บรรดาบุคคล 3 จำพวกนี้ บุคคลนี้ดียิ่งกว่าและประณีตกว่า ไม่ใช่จะทำได้ง่าย เพราะบางครั้งบุคคลทั้ง 3 จำพวกไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะสามารถเปรียบเทียบกันได้ เนื่องจากมีภูมิธรรมต่างกันนั่นเอง

2) ตัวอย่างปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา
    ครั้งหนึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วได้ทูลถามสามัญญผลคือ ผลของความเป็น สมณะที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันว่ามีอยู่หรือไม่

     พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มหาบพิตร ตถาคตจะขอย้อนถามก่อน โปรดตรัสตอบตามที่พอพระทัยสมมติว่า มีบุรุษผู้เป็นทา ของพระองค์ ซึ่งคอยปรนนิบัติรับใช้พระองค์เป็นอย่างดีต่อมาทา ผู้นั้นได้ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อเขาบวชแล้วมหาบพิตรจะยังให้เขากลับมาเป็นทาสคอยฟังพระบัญชาอีกหรือไม่

     อ.(พระเจ้าอชาตศัตรู) จะเป็นเช่นนั้นไม่ได้เลย พระเจ้าข้า อันที่จริงข้าพระองค์เสียอีกควรจะไหว้เขา ควรจะลุก รับเขา ควรจะเชื้อเชิญให้เขานั่ง ควรจะบำรุงเขาด้วยจีวร บิณฑบาตเสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ควรคุ้มครองเขาอย่างเป็นธรรม

      ภ.(พระผู้มีพระภาคเจ้า) มหาบพิตร ถ้าเมื่อเป็นเช่นนั้นสามัญญผลที่เห็นประจักษ์จะมีหรือไม่

      อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้นสามัญญผลที่เห็นประจักษ์มีอยู่อย่างแน่แท้

      ภ. มหาบพิตร นี้แหละสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันประการแรก

    อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์อาจทำให้รู้สามัญญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันแม้ข้ออื่นให้เหมือนอย่างนั้นได้หรือไม่

  ภ. อาจอยู่มหาบพิตร แต่ตถาคตจักขอย้อนถามก่อนโปรดตรัสตอบตามที่พอพระทัยสมมติว่า ชาวนาหรือคฤหบดีบางคนซึ่งเสียภาษีอากรให้แก่พระองค์อยู่เป็นประจำ ต่อมาเขาได้ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วเป็นผู้สำรวมกายสำรวมวาจา และสำรวมใจอยู่ มหาบพิตรจะพึงตรัสั่งให้เขาเสียภาษีอากรให้แก่พระองค์อีกหรือไม่

    อ. จะเป็นเช่นนั้นไม่ได้เลย พระเจ้าข้า อันที่จริงหม่อมฉันเสียอีก ควรจะไหว้เขา ควรลุกรับเขา ควรจะเชื้อเชิญเขาให้นั่ง ควรจะบำรุงเขาด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ควรคุ้มครองเขาอย่างเป็นธรรม

     ภ. มหาบพิตร ถ้าเมื่อเป็นเช่นนั้นสามัญญผลที่เห็นประจักษ์จะมีหรือไม่

     อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้นสามัญญผลที่เห็นประจักษ์มีอยู่อย่างแน่แท้

     ภ. มหาบพิตร นี้แหละสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันประการที่สอง

    จากนั้นพระเจ้าอชาตศัตรูทรงทูลถามสามัญญผลยิ่งๆ ขึ้นไป พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงสามัญญผลไปตามลำดับ ตั้งแต่เรื่องศีลสมาธิ และปัญญาจนถึงการได้บรรลุธรรมเป็น พระอรหันต์ เมื่อทรงแสดงธรรมจบแล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ไพเราะจับใจยิ่งนัก เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะและปฏิญาณตนว่าเป็นอุบาสก ผู้ขอถึงพระรัตนตรัยไปตลอดชีวิต

    การแสดงธรรมด้วยการย้อนถามนี้ เป็นการเปิดโอกาสการให้ผู้ฟังได้มีส่วนร่วม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ฟังตั้งใจฟังมากขึ้น เพราะผู้ฟังจะต้องตรองคำถามและคิดหาคำตอบอยู่ตลอดเวลา จะเป็นผลให้ ผู้ฟังเข้าใจธรรมะได้ดีกว่านั่งฟังเพียงอย่างเดียว เนื่องจากมีอยู่บ่อยครั้งเมื่อผู้ฟังนั่งฟังเฉยๆ ก็จะ ไม่ได้ตรองตามธรรมะที่กำลังฟังอยู่นั้น ผลที่ตามมาก็คือฟังไม่รู้เรื่องทำให้เบื่อหน่ายบางคนก็นั่งหลับไปเลยก็มี

3) ตัวอย่างวิภัชชพยากรณียปัญหา
     ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ควงไม้สะเดา เขตเมืองเวรัญชา เวรัญชพราหมณ์ได้ไปเข้าเฝ้าและทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าพเจ้าได้ทราบมาว่า พระสมณโคดมไม่ไหว้ ไม่ลุกรับพวกพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า การที่ท่านกระทำอย่างนั้นไม่ มควรเลย

     พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ ในโลก ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทพ และมนุษย์ เราไม่เล็งเห็นบุคคลที่เราควรไหว้ ควรลุกรับเพราะว่า เมื่อตถาคตไหว้ หรือ ลุกรับ ศีรษะของบุคคลนั้นก็จะพึงขาดตกไปจากนั้นเวรัญชพราหมณ์และพระผู้มีพระภาคเจ้าได้สนทนาโต้ตอบกันดังนี้

      ว.(เวรัญชพราหมณ์) ท่านพระโคดมมีปกติไม่ไยดี

    ภ.(พระผู้มีพระภาคเจ้า) มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า มีปกติไม่ไยดี ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะความไยดีในรูป เสียง กลิ่น เป็นต้น ตถาคตละได้แล้ว แต่ไม่ใช่ไม่ไยดีในสิ่งที่ท่านมุ่งกล่าว ฯลฯ

      ว. ท่านพระโคดมช่างรังเกียจ

     ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า ช่างรังเกียจ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรารังเกียจกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต แต่ไม่ได้รังเกียจในสิ่งที่ท่านมุ่งกล่าว

     ว. ท่านพระโคดมช่างกำจัด

   ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า ช่างกำจัด ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเราแสดงธรรมเพื่อกำจัด ราคะ โทสะ และโมหะ แต่ไม่ใช่ช่างกำจัดในสิ่งที่ท่านมุ่งกล่าว

     ว. ท่านพระโคดมช่างเผาผลาญ

    ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า ช่างเผาผลาญ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรากล่าวธรรมที่เป็นบาปอกุศลว่า เป็นธรรมที่ควรเผาผลาญ และบาปอกุศลนั้นตถาคตละได้แล้วตัดรากขาดแล้ว แต่เราไม่ได้เผาผลาญในสิ่งที่ท่านมุ่งกล่าว

     ว. ท่านพระโคดมไม่ผุดเกิด

    ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า ไม่ผุดเกิด ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะการเกิดในภพใหม่ ตถาคตละได้แล้ว แต่ไม่ใช่ "ไม่ผุดเกิด" ดังที่ท่านมุ่งกล่าว

     จากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ เปรียบเหมือนฟองไก่ 8 ฟอง 10 ฟอง หรือ 12 ฟอง ฟองไก่เหล่านั้นแม่ไก่กกดีแล้ว ลูกไก่ตัวใดทำลายกระเปาะฟองด้วยจงอยปาก ออกมาได้โดยสวัสดีก่อนกว่าเขา ลูกไก่ตัวนั้นควรเรียกว่ากระไร จะเรียกว่าพี่หรือน้อง

     เวรัญชพราหมณ์กล่าวตอบว่า ควรเรียกว่าพี่ เพราะมันแก่กว่าเขา

    หลังจากนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงเปรียบเทียบว่า พระองค์เป็นผู้ทำลายอวิชชาสู่ความรู้แจ้งก่อนบุคคลอื่น จึงเป็นเสมือนไก่ตัวพี่ และทรงอธิบายเรื่อง ฌาน สี่และวิชชาสาม เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงธรรมจบแล้ว เวรัญชพราหมณ์กราบทูลว่า ท่านพระโคดมเป็นผู้เจริญที่สุด ท่านพระโคดมเป็นผู้ประเสริฐที่สุด ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดข้าพเจ้านี้ขอถึงท่านพระโคดม พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึง รณะตลอดชีวิตจำเดิมแต่วันนี้ 

    เรื่องราวที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นวิภัชชพยากรณียปัญหา หรือ ปัญหาที่จะต้องจำแนกแล้วจึงตอบเช่นกัน เพราะความหมายของแต่ละคำที่อยู่ในคำถามนั้นตีความได้หลายนัย ด้วยเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสตอบโดยจำแนกเอานัยที่ถูกต้องมาแสดงให้พราหมณ์ฟังส่วนนัยที่ไม่ถูกต้องก็ละเอาไว้

4) ตัวอย่างฐปนียปัญหา
  เรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นตัวอย่างกรณีที่มีภิกษุเข้าไปถามปัญหาในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการบรรลุมรรคผลนิพพานกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งพระพุทธองค์ก็ไม่ทรงตอบและได้อธิบายถึงเหตุผลที่ไม่ทรงตอบปัญหาเหล่านี้ดังนี้

   ครั้งหนึ่ง พระมาลุงกยบุตรเกิดความคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ เรื่องโลกเที่ยงหรือโลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุดหรือโลกไม่มีที่สุด เป็นต้น การที่พระองค์ไม่ทรงพยากรณ์เรื่องเหล่านี้ เราไม่ชอบใจเลย เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทูลถามเรื่องนี้อีกครั้งถ้าพระองค์ทรงพยากรณ์แก่เรา เราจักประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระองค์ แต่ถ้าไม่ทรงพยากรณ์เราก็จักลาสิกขาเป็นคฤหัสถ์

   จากนั้นพระมาลุงกยบุตรก็เข้าไปกราบทูลเรื่องนี้แก่พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมทั้งกราบทูลว่า ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงทราบว่า โลกเที่ยงหรือโลกไม่เที่ยง เป็นต้น ก็ขอจงตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ ไม่เห็น แต่ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบ ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิด ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ข้าพระองค์ก็จักประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป แต่ถ้าไม่ทรงพยากรณ์ข้าพระองค์ก็จักลาสิกขา

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนมาลุงกยบุตร เราได้พูดไว้กับเธอหรือว่า เธอจงมาประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของเราเถิด เราจักพยากรณ์เรื่องเหล่านี้แก่เธอ

      ม.(มาลุงกยบุตร) ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า

  ภ.(พระผู้มีพระภาคเจ้า) ท่านได้พูดไว้กับเราหรือว่า ท่านจักประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักเรา ถ้าหากเราพยากรณ์เรื่องเหล่านี้แก่ท่าน

      ม. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า

     ภ. ดูก่อนมาลุงกยบุตร เมื่อเรามิได้พูดเรื่องนี้ไว้กับเธอ แม้เธอก็มิได้พูดเรื่องนี้กับเราดูก่อนโมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอเป็นอะไร เธอจะมาทวงอะไรกับเรา

   ภ. ดูก่อนมาลุงกยบุตร เปรียบเหมือนบุรุษถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ ญาติของบุรุษนั้นไปหานายแพทย์มาเพื่อให้ช่วยผ่าตัด แต่บุรุษผู้นั้นกล่าวว่า ถ้าเรายังไม่รู้จักบุรุษผู้ยิงเราว่าเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ หรือศูทร... มีชื่อว่าอย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้...สูงต่ำหรือปานกลาง...ดำขาวหรือผิวสองสี... อยู่บ้าน นิคม หรือนครโน้น เพียงใด เราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้น...

    ดูก่อนมาลุงกยบุตร บุรุษนั้นจะรู้เรื่องนั้นไม่ได้เลย เพราะเขาจะตายเสียก่อนฉันใดบุคคลใดที่กล่าวว่า หากพระผู้มีพระภาคเจ้าจักไม่ทรงพยากรณ์เรื่องโลกเที่ยงหรือโลกไม่เที่ยง...แก่เราเพียงใด เราจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้าเพียงนั้น ต่อให้บุคคลนั้นตายไปตถาคตก็ไม่ตอบเรื่องนั้นฉันนั้น

    ภ. เหตุที่เราไม่พยากรณ์เรื่องเหล่านั้นเพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน แล้วอะไรเล่าที่เราพยากรณ์ ดูก่อนมาลุงกยบุตร ความเห็นว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์สิ่งเหล่านี้เราพยากรณ์เพราะเรื่องเหล่านี้มีประโยชน์ เป็นไปเพื่อความตรัสรู้และเพื่อนิพพาน

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.01287856499354 Mins