สรรพศาสตร์ในทางโลก "วิทยาศาสตร์"

วันที่ 08 พค. พ.ศ.2560

สรรพศาสตร์ในทางโลก 
วิทยาศาสตร์

GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก , วิทยาศาสตร์

1.) ความหมายของวิทยาศาสตร์
  คำว่า "วิทยาศาสตร์" มาจากคำศัพท์ในภาษาอังกฤษว่า "Science" ซึ่งคำนี้มาจากภาษาลาตินว่า "Scientia" มีความหมายว่า รู้เห็นได้อย่างชัดเจนด้วยปัญญา หรือเห็นความแตกต่างของสิ่งต่างๆ พจนานุกรม Webter's New World Dictionary of the American Language  ให้ความหมายคำว่า Science ไว้ดังนี้

       (1) ภาพที่เป็นข้อเท็จจริงของความรู้

  (2) ความรู้ที่เป็นระบบซึ่งได้จากการสังเกต ศึกษาและทดลองเพื่อให้รู้ธรรมชาติหรือหลักเกณฑ์ของสิ่งที่ทำการศึกษาสิ่งนั้นๆ

      (3) สาขาหนึ่งของวิทยาการหรือการศึกษา โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการสร้างและจัดการระบบข้อเท็จจริง หลักเกณฑ์และวิธีการซึ่งมีการตั้งสมมติฐานและทดสอบโดยการทดลอง


2.) วิธีการทางวิทยาศาสตร์
      วิธีการทางวิทยาศาสตร์แบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอนด้วยกัน คือ การสังเกต การกำหนดปัญหา การตั้งสมมติฐาน การทดลอง และ การสร้างทฤษฎี

      (1) การสังเกต คือ การใช้ประสาทสัมผัสอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวกาย เข้าไปสัมผัสโดยตรงกับวัตถุหรือปรากฏการณ์ โดยมีวัตถุประ งค์ที่จะหาข้อมูลซึ่งเป็นรายละเอียดของสิ่งนั้นๆ

     (2) การกำหนดปัญหา จากข้อมูลที่ได้จากการสังเกตว่า ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ โดยปัญหาจะต้องตรงประเด็นและสามารถทดสอบได้

     (3) การตั้งสมมติฐาน เมื่อได้คำถามที่เหมาะสมแล้ว นักวิทยาศาสตร์จะลองเดาคำตอบว่าควรจะเป็นอย่างไร การเดาหรือการคาดการณ์คำตอบนั้นไม่ใช่เป็นการเดาสุ่ม แต่เป็นการเดาโดยใช้เหตุผลจากข้อมูลที่ได้จากการสังเกต

      (4) การทดลอง เมื่อได้สมมติฐานแล้ว นักวิทยาศาสตร์จะทำการทดลอง เพื่อพิสูจน์สมมติฐานนั้นว่าถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้องก็จะตั้งสมมติฐานใหม่

    (5) การสร้างทฤษฎี นักวิทยาศาสตร์จะอาศัยหลักฐานจากการทดลองเป็นพื้นฐานในการสร้างทฤษฎีต่างๆ ขึ้น ทฤษฎีที่สร้างขึ้นนี้สามารถใช้ทำนายปรากฏการณ์ได้ การทำนายจะไม่บอกว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่จะบอกเป็นอัตราส่วนของความเป็นไปได้


3.) ประเภทความรู้ทางวิทยาศาสตร์
     ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สามารถแบ่งออกเป็น 6 ประเภท คือ ข้อเท็จจริงสมโนคติหลักการสมมติฐาน ทฤษฎี และ กฎ

    (1) ข้อเท็จจริง เป็นความรู้ที่ได้จากการสังเกต ข้อเท็จจริงนั้นจะคงความเป็นจริงอย่างนั้นเสมอคือสามารถทดสอบได้ผลเหมือนเดิมทุกครั้ง เช่น น้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ เป็นต้น

     (2) มโนคติ มาจากภาษาอังกฤษว่า "concept" แปลว่า ความคิดรวบยอด หรือ มโนทัศน์ ซึ่งเป็นความรู้ที่เกิดจากความคิดโดย รุปของบุคคลที่มีต่อวัตถุหรือปรากฏการณ์หลังจากมีประสบการณ์ตรงกับสิ่งนั้น ด้วยการนำข้อเท็จจริงมาผสมผสานกัน

     (3) หลักการ เป็นความรู้ที่ผ มผสานมโนคติตั้งแต่ 2 มโนคติเข้าด้วยกันและสามารถใช้เป็นหลักในการอ้างอิงได้ เช่น หลักการที่ว่า "แม่เหล็กขั้วเดียวกันจะผลักกัน ขั้วต่างกันจะดูดกัน"มาจากมโนคติที่ว่า แม่เหล็กขั้วบวกจะผลักกับแม่เหล็กขั้วบวก และ มโนคติที่ว่า แม่เหล็กขั้วบวกจะดูดกับแม่เหล็กขั้วลบ เป็นต้น

   (4) สมมติฐาน เป็นความรู้ที่เกิดจากการคาดคะเนคำตอบของปัญหาที่กำลังศึกษาอยู่โดยอาศัยความรู้เดิมเป็นพื้นฐานในการคาดคะเน เช่น "โลกและดวงจันทร์กำเนิดมาพร้อมๆ กัน"

    (5) ทฤษฎี เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ประเภทหนึ่งที่มีลักษณะเป็นข้อความใช้อธิบายหลักการ กฎ หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในการแสวงหาความจริงนั้นนักวิทยาศาสตร์ใช้การสังเกต การสรุปรวบรวมข้อมูลการคาดคะเน ซึ่งทำให้เกิดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ตั้งแต่ข้อเท็จจริง มโนคติ หลักการสมมติฐาน และกฎ แต่การจะรู้เพียงแต่ว่า ข้อเท็จจริงหรือหลักการเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็น อย่างนั้นยังไม่พอ นักวิทยาศาสตร์จะต้องสามารถอธิบายข้อเท็จจริงหรือหลักการนั้นได้ด้วยว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงพยายามสร้างแบบจำลอง (Model) ขึ้น เขียนหลักการอย่างกว้างๆ เกี่ยวกับสิ่งนั้นขึ้น โดยที่คิดว่า แบบจำลองที่สร้างขึ้นนั้นจะใช้อธิบายข้อเท็จจริงย่อยๆ ในขอบเขตที่เกี่ยวข้องนั้นได้ และสามารถทำนายปรากฏการณ์ที่ยังไม่เคยพบในขอบเขตของแบบจำลองนั้นได้ เราเรียกแบบจำลองที่สร้างขึ้นนี้ว่า ทฤษฎี ในการสร้างทฤษฎีนั้น นักวิทยาศาสตร์อาจทำได้ 2 วิธี คือ

        5.1) สร้างโดยการศึกษาข้อมูลที่ได้จากการสังเกตหรือการทดลองเสียก่อนแล้วจึงใช้วิธีการอุปมาน รวมกับการสร้างจินตนาการสร้างเป็นแบบจำลองหรือข้อความที่ใช้อธิบายผล การสังเกตนั้นให้ได้

    5.2) สร้างทฤษฎีโดยอาศัยความคิดสร้างสรรค์แต่เพียงอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่ได้จากการสังเกตหรือการทดลอง

    (6) กฎ เป็นหลักการอย่างหนึ่ง แต่เป็นหลักการที่มักจะเน้นความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล ซึ่งอาจเขียนสมการแทนได้ กฎมีความเป็นจริงในตัวของมันเองสามารถทดสอบได้ผลตรงกันทุกครั้ง แต่ถ้ามีการทดลองใดที่ได้ผลขัดแย้งกับกฎแล้ว กฎนั้นจะต้องยกเลิกไปนอกจากนี้ กฎจะต้องอาศัยทฤษฎี ซึ่งเป็นข้อความสำหรับอธิบายให้เข้าใจว่า ทำไมความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผลของกฎนั้นจึงเป็นเช่นนั้น


4.) เจตคติทางวิทยาศาสตร์
      เจตคติ หมายถึง ท่าทีหรือความรู้สึกของบุคคลต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในที่นี้หมายถึง ท่าทีหรือความรู้สึกของนักวิทยาศาสตร์ที่มีต่อสิ่งต่างๆ ในโลกหรือสิ่งที่กำลังศึกษาค้นคว้า ซึ่งโดยทั่วไปนักวิทยาศาสตร์จะมีเจตคติดังต่อไปนี้

     (1) ตระหนักในความไม่แน่นอนของสรรพสิ่ง เชื่อแน่ว่าไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ใดๆ เป็นความรู้สุดยอดไม่มีการเปลี่ยนแปลงชั่วนิรันดร์

      (2) ยึดมั่นในความจริงและข้อเท็จจริง

    (3) ยึดมั่นในอิสระเสรีภาพทางความคิดพร้อมที่จะยืนยันและต่อสู้ป้องกันความคิดเห็นของตนเองไม่เชื่อตามความเชื่อที่สืบทอดกันมาโดยไม่มีเหตุผล

    (4) อดทนต่อการรอคอยเพื่อความรู้ที่ถูกต้อง อดทนต่อการถูกคัดค้าน อดทนต่อความผิดพลาดและพร้อมที่จะแสวงหาแนวทางใหม่เพื่อให้ได้ความรู้ที่ถูกต้อง

   (5) ใฝ่หาเหตุผลตามธรรมชาติของสิ่งต่างๆ ไม่เชื่อในไสยศาสตร์และเวทมนตร์ต่างๆ เชื่อว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะลึกลับเพียงใดก็สามารถอธิบายด้วยเหตุและผลเสมอ

     (6) เชื่อว่าสัจธรรมไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่ความคิดเห็นว่าอะไรจริงหรือไม่จริงเปลี่ยนแปลงได้เสมอ

    (7) มีความกระตือรือร้นสนใจและจริงจังต่อสิ่งที่ตนกำลังสังเกต เช่น จะถามปัญหาอะไร ทำไม อย่างไร ในปรากฏการณ์ที่กำลังสังเกตเสมอ และไม่พอใจในคำตอบใดๆ ที่คลุมเครือ

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012073477109273 Mins