วาจาสุภาษิตหลักพื้นฐานของการพูด

วันที่ 12 พค. พ.ศ.2560

วาทศาสตร์ในพระไตรปิฎก
" วาจาสุภาษิตหลักพื้นฐานของการพูด "

 

GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก , วาทศาสตร์ในพระไตรปิฎก , วาทศาสตร์ , วาจาสุภาษิตหลักพื้นฐานของการพูด ,  วาจาสุภาษิต , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ในหัวข้อนี้กล่าวถึงอานุภาพแห่งพระดำรัสอันเป็นสุภาษิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งสามารถยังมหาชนให้หลุดพ้นจากความทุกข์และบรรลุพระนิพพานอันเกษมได้ กล่าวถึงองค์ 8 แห่งพระสุรเสียงของพระพุทธองค์อันเป็นผลที่เกิดจากการกล่าววาจาสุภาษิตมานับภพนับชาติ ไม่ถ้วน และประเด็นสุดท้าย คือ หลักการพื้นฐานของวาจาสุภาษิต


1. บรรดาชนผู้พูดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐ
     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในวุฏฐิสูตรว่า "บรรดาสิ่งที่งอกขึ้นความรู้เป็นประเสริฐบรรดาสิ่งที่ตกไปความไม่รู้เป็นประเสริฐ บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้าพระสงฆ์เป็นผู้ประเสริฐบรรดาชนผู้พูดพระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐ" ทั้งนี้เพราะในวัฏสงสารอันเต็มไปด้วยความระทมทุกข์ มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายต่างเวียนว่ายตายเกิดกันมายาวนาน หากนำกระดูกที่เกิดแล้วตายมากองรวมกันจะสูงเท่าภูเขาเหลากา ในบรรดามนุษย์และสัตว์เหล่านั้นไม่มีใครเลยที่จะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ได้ ยกเว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระดำรัสของพระองค์ยังมหาชนให้หลุดพ้นจากกิเลสอันเป็น ต้นตอของความทุกข์ได้ พระวังคี อรหันตสาวกกล่าวไว้ว่า "พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสพระวาจาใดอันเป็นวาจาเกษมเพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ วาจานั้นยอดเยี่ยมกว่าวาจาทั้งหลาย"

    มหาชนชาวชมพูทวีปที่ได้ฟังธรรมของพระองค์ต่างก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า "ภาษิตของพระองค์ไพเราะ แจ่มแจ้ง ชัดเจน เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ ผู้หลงทาง หรือ ตามประทีปในที่มืด" เมื่อได้ฟังพระสัทธรรมแล้วบางพวกก็ออกบวช บางพวกก็ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งไปตลอดชีวิต เขาเหล่านั้นพากันละทิ้งความเชื่อดั้งเดิมในลัทธิต่างๆ ที่สืบทอดกันมา เพราะได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธองค์ บางท่านเพียงแค่ได้ฟังธรรมโดยย่อบนถนนก็สามารถบรรลุอรหัตผลได้ เช่น พระพาหิยทารุจีริยะ เป็นต้น

   หญิงคนหนึ่งเคยเกือบจะเป็นบ้าเพราะความโศกอันเกิดจากการสูญเสีย บุตรสามีมารดา บิดาและ พี่ชายในเวลาไล่เลี่ยกัน เดินร้องไห้คร่ำครวญไปโดยไม่ได้นุ่งผ้าว่า "บุตรสองคนก็ตายสามีเราก็ตายเสียที่หนทาง มารดาบิดาและพี่ชาย เขาก็เผาที่เชิงตะกอนเดียวกัน" ต่อมาเมื่อนางได้ฟังพระดำรั ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า "จงกลับได้ ติเถิด น้องหญิง" เพราะสดับพระพุทธดำรัสเพียงแค่นี้ ติของนางก็กลับคืนมา ได้ผ้ามานุ่งแล้วตั้งใจฟังพระธรรมต่อไปจนบรรลุโสดาปัตติผล และได้ออกบวชปฏิบัติธรรมจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นเลิศกว่าภิกษุณีทั้งปวงในด้านพระวินัย ชาวพุทธทั้งหลายรู้จักพระนางในนามว่า "ปฏาจาราภิกษุณี" นี้คือตัวอย่างความมหัศจรรย์ในพระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อนึ่ง แม้ผู้ใดกล้ามาโต้วาทะกับพระพุทธองค์ก็จำต้องถอยทัพกลับไปอย่างไม่เป็นกระบวน บ้างก็ยอมตนเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น ปิโลติกปริพาชกซึ่งเป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนาก็ยังยืนยันถึงเรื่องนี้ดังคำกล่าวว่า

    "ข้าพเจ้าเห็นเหล่าบัณฑิตจำนวนมากในโลกนี้เป็นผู้โต้ตอบวาทะของผู้อื่นได้ประหนึ่งยิงขนเนื้อทราย พอได้สดับมาว่า "พระสมณโคดมจักเสด็จไปหมู่บ้านชื่อโน้น" ก็พากันผูกปัญหาด้วยตั้งใจว่า "พวกเราจักถามปัญหานี้ หากพระองค์จักตอบอย่างนี้ พวกเราจักค้านอย่างนี้" จากนั้นก็พากันไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม แต่เมื่อไปถึงพระพุทธองค์กลับทรงชี้แจงให้บัณฑิตเหล่านั้นเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา บัณฑิตเหล่านั้นจึงไม่ถามปัญหากับพระสมณโคดมอีกเลย แต่พากันยอมเป็นสาวกของพระสมณโคดมนั่นแล"


2. องค์ 8 แห่งพระสุรเสียงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    พระสุรเสียงที่เปล่งออกจากพระโอษฐ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นประกอบด้วยองค์ 8 ประการ บุคคลใดได้ฟังแล้วย่อมเกิดความเลื่อมใสศรัทธา มีจิตน้อมไปเพื่อการปฏิบัติตามคำสอนอันเป็นเหตุให้ตรัสรู้ธรรมตามพระพุทธองค์ได้ องค์ 8 แห่งพระสุรเสียงมีดังนี้คือ

1) เป็นเสียงไม่ขัดข้อง               คือ  ไม่แหบเครือ ไม่ติดขัด
2) เป็นเสียงผู้ฟังทราบได้ง่าย     คือ  ชัดเจน
3) เป็นเสียงไพเราะ                   คือ  อ่อนหวาน
4) เป็นเสียงน่าฟัง                     คือ  เสนาะ หรือ เพราะ
5) เป็นเสียงกลมกล่อม              คือ  เข้ากันพอดี
6) เป็นเสียงไม่แปร่ง                 คือ  ไม่พร่า
7) เป็นเสียงลึก                        คือ  ลึกซึ้ง
8) เป็นเสียงก้อง                      คือ  กังวานและแจ่มใส

    องค์ 8 แห่งพระสุรเสียงของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ เป็นผลที่เกิดจากการที่พระองค์กล่าว คำสุภาษิตมานับภพนับชาติไม่ถ้วน มีการเปรียบเทียบว่าพระสุรเสียงของพระองค์นั้นเป็นเช่นกับเสียงมหาพรหมบ้าง เพราะเป็นเสียงที่แจ่มใสเนื่องจากไม่ถูกดีและเสมหะพัวพันเสียงไม่ขาด และไม่แตก บ้างก็เปรียบว่าพระสุรเสียงของพระพุทธองค์ไพเราะดุจเสียงร้องของนกการเวก พระอรรถกถาจารย์บันทึกไว้ว่า เมื่อนกการเวกกระพือปีกร้อง บรรดาสัตว์ 4 เท้า แม้กำลังหาอาหารก็ทิ้งหญ้าที่เข้าไปในปากเพื่อฟังเสียงนั้น บรรดาเนื้อร้ายที่กำลังติดตามพวกเนื้อน้อยๆ ก็ไม่วางเท้าที่ยกขึ้นยืนนิ่งอยู่เหมือนตุ๊กตา และบรรดาเนื้อที่ถูกติดตามก็ละความกลัวตายยืนนิ่ง แม้บรรดานกกำลังบินไปบนอากาศก็เหยียดปีก ร่อนชะลออยู่เพื่อฟังเสียง แม้บรรดาปลาในน้ำก็หยุดฟังเสียงนั้น


3. ความหมายและองค์ประกอบของวาจาสุภาษิต
    มีคำกล่าวว่า "ปลามีชีวิตยืนยาวอยู่ได้ก็เพราะอาศัยปากเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็เพราะปากนั่นเอง ปลาจึงต้องติดเบ็ดเสียชีวิตโดยง่ายเช่นกัน คนเราจะประสบความสำเร็จ ได้รับความเจริญก้าวหน้าในชีวิต ก็เพราะอาศัยวาจาสุภาษิตจากปาก แต่ก็เพราะวาจาทุพภาษิตจากปากเพียงคำเดียว บางครั้งแม้แต่ชีวิตก็ยากจะรักษาไว้ได้" วาจาสุภาษิตนั้นถือเป็นหลักการพูดขั้นพื้นฐานซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในวาจาสูตร

1) วาจาสุภาษิต คือ อะไร

   วาจาสุภาษิต หมายถึง คำพูดที่ผู้พูดได้กลั่นกรองไว้ดีแล้ว มิใช่สักแต่พูด อวัยวะในร่างกายของคนเรานี้ก็แปลก

ตา      มีหน้าที่ดูอย่างเดียว             ธรรมชาติให้มา 2 ตา
หู        มีหน้าที่ฟังอย่างเดียว          ธรรมชาติให้มา  2 หู
จมูก    มีหน้าที่ดมกลิ่นอย่างเดียว    ธรรมชาติให้มา  2 รส

     แต่ปาก มีหน้าที่ถึง 2 อย่าง คือ ทั้งกินและพูด ธรรมชาติกลับให้ มาเพียงปากเดียวแสดงว่าธรรมชาติต้องการให้คนดูให้มาก ฟังให้มาก แต่พูดให้น้อยๆ ให้มีสติคอยระมัดระวังปากจะกินก็กินให้พอเหมาะ จะพูดก็พูด ให้พอดี ลักษณะคำพูดที่พอเหมาะพอดี เป็นคุณทั้งแก่ตัวผู้พูดและผู้ฟังเรียกว่า วาจาสุภาษิต

2) องค์ประกอบของวาจาสุภาษิต

(1) ต้องเป็นคำจริง ไม่ใช่คำพูดที่ปันแต่งขึ้น เป็นคำพูดที่ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่บิดเบือนจากความจริง ไม่เสริมความ ไม่อำความ ต้องเป็นเรื่องจริง จริง จริง

(2) ต้องเป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดไพเราะ ที่กลั่นออกมาจากน้ำใจที่บริสุทธิ์ ไม่เป็นคำหยาบ คำด่า คำประชดประชัน คำเสียดสี คำหยาบนั้นฟังก็ระคายหู แค่คิดถึงก็ระคายใจ

(3) พูดแล้วก่อให้เกิดประโยชน์ เกิดผลดีทั้งแก่คนพูดและคนฟัง ถึงแม้คำพูดนั้นจะจริงและเป็นคำสุภาพ แต่ถ้าพูดแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไร กลับจะทำให้เกิดโทษ ก็ไม่ควรพูด

(4) พูดด้วยจิตเมตตา พูดด้วยความปรารถนาดี อยากให้คนฟังมีความสุข มีความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ในข้อนี้หมายถึงว่า แม้จะพูดจริง เป็นคำสุภาพ พูดแล้วเกิดประโยชน์ แต่ถ้าจิตยังคิดโกรธมีความริษยาก็ยังไม่สมควรพูด เพราะผู้ฟังอาจรับไม่ได้

(5) พูดถูกกาลเทศะ แม้ใช้คำพูดที่ดี เป็นคำจริง เป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดที่มีประโยชน์และพูดด้วยจิตที่เมตตา แต่ถ้าผิดจังหวะ ไม่ถูกกาลเทศะ ผู้ฟังยังไม่พร้อมที่จะรับแล้ว จะก่อให้เกิดผลเสียได้ เช่น จะกลายเป็นประจานกันหรือจับผิดไป

- พูดถูกเวลา (กาล) คือ รู้ว่าเวลาไหนควรพูด เวลาไหนยังไม่ควรพูด ควรพูดนานเท่าไรต้องคาดผลที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย

- พูดถูกสถานที่ (เทศะ) คือรู้ว่าในสถานที่เช่นไร เหตุการณ์แวดล้อมเช่นไรจึงสมควรที่จะพูด หากพูดออกไปแล้วจะมีผลดีหรือผลเสียอย่างไร เช่น มีความหวังดีอยากเตือนเพื่อนไม่ให้ดื่มเหล้า แต่ไปเตือนขณะเพื่อนกำลังเมาอยู่ในหมู่เพื่อนฝูง ทำให้เขาเสียหน้า อย่างนี้นอกจากเขาจะไม่ฟังแล้ว เราเองอาจเจ็บตัวได้ คนฉลาดจึงไม่ใช่เป็นแต่พูดเท่านั้น ต้องนิ่งเป็นด้วย คนที่พูดเป็นนั้น ต้องรู้ในสิ่งที่ไม่ควรพูดให้ยิ่งกว่าสิ่งที่ควรพูด

    ส่วนวาจาทุพภาษิตก็มีองค์ประกอบ 5 ประการเช่นกันซึ่งตรงกันข้ามกับวาจาสุภาษิต คือ เป็นคำเท็จ เป็นคำหยาบ เป็นคำไร้ประโยชน์ พูดโดยไม่มีเมตตาจิต และพูดไม่ถูกกาลเทศะ

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.023840014139811 Mins