นิสัยปัจจัยสร้างกรรมอย่างต่อเนื่อง
นิสัย หมายถึง ความประพฤติที่เคยชินคนที่มีนิสัยอย่างไรก็จะทำอย่างนั้นบ่อยๆ เช่น มีนิสัยรักการให้ทาน ก็จะให้ทานอยู่บ่อยๆ มีนิสัยชอบนินทาคนอื่น ก็จะนินทาคนอื่นอยู่บ่อยๆ เป็นต้น นิสัยนั้นไม่ว่าจะเป็น "นิสัยดี" หรือ "นิสัยไม่ดี" หากเราไม่ปรับเปลี่ยนก็จะติดตัวเราไปตลอดชีวิตและจะติดตัวข้ามชาติอีกด้วย ในบางครั้งเราจะได้ยินคำว่า "อุปนิสัย" ซึ่งหมายถึงความประพฤติที่เคยชินเป็นพื้นมาในสันดาน1 หรือติดตัวมาข้ามชาตินั่นเอง
ในพระไตรปิฎกมีตัวอย่างเรื่องอุปนิสัยที่ติดตัวมาข้ามชาติมากมาย เช่น พระปิลินทวัจฉเถระ เป็นต้น แม้จะเป็นพระอรหันต์แล้วแต่ท่านยังพูดกับผู้อื่นด้วยคำว่า "เจ้าถ่อย" เสมอ ซึ่งเป็นเพราะความเคยตัวที่ติดมาจากภพอื่น การสร้างบารมี 30 ทัศ ได้แก่ ทานบารมี เป็นต้นของพระโพธิสัตว์และพระสาวกก็เหมือนกัน ต้องทำจนเป็นนิสัยจนบารมีเต็มเปียมจึงตรัสรู้ธรรมได้
1. ความสำคัญของนิสัย
นิสัยมีความสำคัญตรงที่เป็นเหตุให้เราสร้างกรรมบางอย่างอยู่เป็นประจำหรือต่อเนื่องกล่าวคือ ถ้ามีนิสัยดีก็จะสร้างกรรมดีอยู่เป็นประจำ ถ้ามีนิสัยไม่ดีก็จะสร้างกรรมชั่วอยู่เป็นประจำผลที่เกิดขึ้นคือ หากเรามีนิสัยที่ดีเราก็จะทำกรรมดีอย่างต่อเนื่องและจะได้บุญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน แต่ถ้าเรามีนิสัยไม่ดีเราก็จะทำกรรมชั่วอย่างต่อเนื่องและจะได้บาปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย
หลวงพ่อทัตตชีโว กล่าวไว้ว่า "นิสัยสำคัญกว่าความรู้" ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า "ความรู้ท่วมหัวแต่เอาตัวไม่รอด" และ "ดีชั่วรู้หมดแต่อดไม่ได้" กล่าวคือ แม้เราจะมีความรู้มากทั้งความรู้ทางโลกและทางธรรม แต่ถ้าเราไม่ปรับปรุงนิสัยให้ดี เราเองก็จะทำชั่วอยู่เรื่อยๆ ตามนิสัยไม่ดีของเรา เหมือนคนที่มีนิสัยชอบดูดบุหรี่ ชอบเที่ยวและใช้บริการหญิงโสเภณี เขาก็รู้อยู่เต็มอกว่าตนเองอาจเป็นโรคร้ายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ ถึงกระนั้นเขาก็ยังทำสิ่งนั้นอยู่เป็นประจำ บุหรี่และ ถานบริการทางเพศจึงเป็นธุรกิจที่ยังทำกำไรได้มากในเกือบทุกประเทศ ในขณะเดียวกันผู้ติดเชื้อเอดส์และเป็นโรคระบบทางเดินหายใจก็เพิ่มขึ้นทั่วโลกเช่นกัน
2. นิสัยเกิดขึ้นได้อย่างไร
นิสัย คือ ความประพฤติที่เคยชิน ด้วยเหตุนี้นิสัยจึงเกิดขึ้นจากการที่เราคิด พูด และทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่บ่อยๆ อย่างต่อเนื่องด้วยระยะเวลาหนึ่ง ดังทฤษฎีของนายแพทย์ชาวตะวันตกท่านหนึ่งชื่อ แม็กซ์เวลล์ ที่ว่า "หากทำอะไรก็ตามต่อเนื่องกัน 21 วันก็จะเกิดเป็นนิสัย"
3. ห้าห้องแหล่งบ่มเพาะนิสัย
หลวงพ่อทัตตชีโวได้ศึกษาพระไตรปิฎกอย่างละเอียดลึกซึ้งและนำมาใช้ฝึกอบรมศิษยานุศิษย์นับล้านคนตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ท่านได้สรุปไว้ว่า แหล่งบ่มเพาะนิสัย คือ สถานที่ที่เราใช้อยู่เป็นประจำในชีวิตประจำวันซึ่งมีอยู่ 5 แห่ง หรือ 5 ห้อง คือ ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องแต่งตัว และห้องทำงาน โดยห้องทำงานนั้นขึ้นอยู่กับเพศภาวะ อาชีพ และวัย กล่าวคือ หากเป็นนักเรียนห้องทำงานก็คือห้องเรียนส่วนผู้ใหญ่ก็มีห้องทำงานแตกต่างกันตามอาชีพ เช่น ชาวนามีห้องทำงานคือท้องนาฟ้าโล่ง นักธุรกิจมีห้องทำงานคือห้องแอร์เย็นๆ ส่วนห้องทำงานของนักสร้างบารมีคือวัดหรือแหล่งบุญอื่นๆ
วงจรชีวิตของมนุษย์ทุกคนจะหมุนเวียนอยู่ในห้องทั้ง 5 นี้ทุกวัน คือ ตื่นเช้าขึ้นมาจากห้องนอน ก็เข้าไปล้างหน้าล้างตาและขับถ่ายในห้องน้ำ จากนั้นก็เข้าไปรับประทานอาหารในห้องครัว เสร็จแล้วก็แต่งเนื้อแต่งตัวในห้องแต่งตัว แล้วก็นั่งรถออกจากบ้านเพื่อไปห้องทำงานตกเย็นก็กลับเข้าห้องนอน ซึ่งจะหมุนเวียนเป็นวัฏจักรเช่นนี้ไปตลอดชีวิต ด้วยเหตุนี้นิสัยทั้งดีและไม่ดีจึงเกิดขึ้นจาก 5 ห้องนี้เป็นหลักเพราะเราใช้อยู่เป็นประจำ
4. หลักการบ่มเพาะนิสัยที่ดี
เมื่อเรารู้แล้วว่า 5 ห้องดังกล่าวข้างต้นเป็นแหล่งบ่มเพาะนิสัยทั้งดีและไม่ดีกับเราด้วยเหตุนี้เราจึงต้องบริหารจัดการห้องทั้ง 5 นี้เสียใหม่เพื่อให้เป็นไปเพื่อบ่มเพาะนิสัยที่ดีล้วนๆ ถามว่าทำไมต้องทำถึงขนาดนี้ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติไม่ได้หรือ เรื่องนี้พระเดชพระคุณหลวงพ่อทัตตชีโว ได้ให้ข้อคิดไว้ว่า "ของดีต้องปลูกส่วนของไม่ดีไม่จำเป็นต้องปลูกมันงอกขึ้นเองตามธรรมชาติ " เช่น หญ้าเราไม่จำเป็นต้องปลูกมันขึ้นของมันเองส่วนข้าวเราต้องปลูกจึงจะได้กินหากไม่ปลูกก็ไม่มีให้กิน นิสัยไม่ดีก็เช่นกันเราไม่ต้องปลูกมันจะเกิดขึ้นเองจากการดำเนินชีวิตแต่ละวันของเรา ลำพังเพียงการตามกำจัดก็หนักแรงอยู่แล้ว ในทางตรงข้ามคือ นิสัยที่ดีหากเราไม่ตั้งใจปลูก มันมักจะไม่เกิดเหมือนกับข้าวอย่างไรอย่างนั้น
การบริหารจัดการห้องทั้ง 5 ให้เป็นไปเพื่อการบ่มเพาะนิสัยที่ดีมีหลักการว่า "ต้องจัดทำสิ่งแวดล้อมในห้องทั้ง 5 ให้ดีและต้องมีวิธีการใช้ห้องที่ถูกต้อง"สิ่งแวดล้อมในที่นี้ คือ รูปแบบห้อง อุปกรณ์ และ บุคคลส่วนวิธีการใช้ห้อง คือ วิธีการใช้ที่ทำให้เกิดนิสัยที่ดีขึ้นนั่นเอง
(1) รูปแบบห้อง เราต้องคิดว่า รูปแบบของห้องแต่ละห้องที่เป็นไปเพื่อการบ่มเพาะนิสัยที่ดีให้เกิดขึ้นกับเราและคนในครอบครัวควรจะเป็นอย่างไร เช่น ห้องนอน ถ้าเราต้องการให้ลูกของเรามีนิสัยที่ดี คือสวดมนต์ไหว้พระและนั่งสมาธิก่อนนอนทุกคืน เราก็ต้องออกแบบห้องให้เหมาะกับการสวดมนต์ไหว้พระและนั่งสมาธิ กล่าวคือ ห้องจะต้องป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกได้ดี อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ร้อน และควรมีพื้นที่สำหรับวางชุดโต๊ะหมู่เล็กๆไว้ในห้องเป็นต้นส่วนรูปแบบของห้องอื่นๆ ก็เช่นกันคือ ต้องเกื้อหนุนต่อการบ่มเพาะนิสัยที่ดี
(2) อุปกรณ์ในห้อง อุปกรณ์ทุกอย่างที่ใช้ในห้องแต่ละห้องก็ต้องเกื้อหนุนต่อการบ่มเพาะนิสัยที่ดี อุปกรณ์ใดที่จะทำให้นิสัยไม่ดีเกิดขึ้นต้องนำออกไป โดยห้องนอนควรมีอุปกรณ์ดังนี้ เช่น ภาพองค์พระ หรือ ชุดโต๊ะหมู่เล็กๆสำหรับกราบก่อนนอน, แฟ้มภาพการสั่ง มบุญสำหรับเอาไว้ดูเพื่อนึกถึงบุญจะได้หลับในอู่ทะเลบุญ, เตียงนอนก็ไม่ควรเป็นเตียงที่นุ่มมากไปเพราะทำให้นอนสบายจนเกินไปเป็นเหตุให้ตื่นสาย เป็นต้นส่วนอุปกรณ์ที่ไม่ควรมีในห้องนอน เช่น คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ เพราะจะทำให้เราดูหนังดูละครเพลิน อันเป็นเหตุให้นอนดึกและตื่นสายจนเป็นนิสัย และการดูหนังบางเรื่องที่มีเนื้อหารุนแรงก็จะบ่มเพาะนิสัยไม่ดีให้เราได้เช่นกัน ภาพที่ไม่เหมาะสมก็ไม่ควรติดไว้ในห้องนอน เช่น ภาพดารา ภาพโป๊ เป็นต้นส่วนอุปกรณ์ในห้องอื่นๆ ก็มีหลักการเช่นเดียวกัน คือ ต้องเกื้อหนุนต่อการบ่มเพาะนิสัยที่ดี
(3) บุคคลในห้อง บุคคลนั้นเป็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญมาก เป็นต้นแบบหลักแห่งนิสัยดีและไม่ดีของมนุษย์ บุคคลในที่นี้คือ ทิศ 6 หมายถึง ผู้ที่อยู่แวดล้อมของมนุษย์ทุกคน ทิศเบื้องหน้าคือบิดามารดา ทิศเบื้องหลังคือบุตรภรรยา ทิศเบื้องขวาคือครูอาจารย์ ทิศเบื้องซ้ายคือมิตรสหาย ทิศเบื้องบนคือพระภิกษุส่วนทิศเบื้องล่างคือลูกน้องพนักงาน
บุคคลในทิศทั้ง 6 นี้มนุษย์ทุกคนจะต้องเจอต้องพูดต้องคุยกันเกือบทุกวันตามห้องต่างๆ ทั้ง 5 ห้องดังกล่าวมาแล้ว ถ้าคนทั้ง 6 ทิศที่แวดล้อมเราอยู่นี้ส่วนใหญ่เป็นคนดี เราก็จะเห็นต้นแบบที่ดีอยู่เป็นประจำ ทำให้เราคิดถึงสิ่งที่ดีพูดถึงสิ่งที่ดีที่ได้เห็นนั้นเป็นประจำ และในที่สุดเราก็จะทำสิ่งที่ดีนั้นเป็นประจำด้วย นั่นหมายถึงเราติดนิสัยที่ดีจากทิศทั้ง 6 นั้นมาแล้ว ในทางตรงข้ามหากบุคคลที่อยู่แวดล้อมเราส่วนใหญ่เป็นคนไม่ดี เราก็จะเห็นต้นแบบที่ไม่ดีอยู่เป็นประจำเมื่อเราเห็นเป็นประจำก็เป็นเหตุให้เราคิดถึงสิ่งที่ไม่ดี พูดถึงสิ่งที่ไม่ดีที่ได้เห็นนั้นเป็นประจำและในที่สุดเราก็จะทำสิ่งที่ไม่ดีนั้นเป็นประจำด้วย นั่นหมายถึงเราติดนิสัยที่ไม่ดีจากทิศทั้ง 6 นั้นมาแล้ว
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสอนว่า "บุคคลคบคนเช่นใดย่อมเป็นเหมือนคนเช่นนั้น"ด้วยเหตุนี้จึงควรคบแต่คนดีและหลีกหนีให้ห่างไกลจากคนพาล ถามว่าหากคนพาลนั้นเป็นคนที่มีพระคุณต่อเราหรือเป็นคนที่เราจำเป็นต้องอยู่ด้วย จะทำอย่างไร เช่น บิดามารดา เป็นต้น หากเป็นเช่นนี้เราคงหลีกหนีไม่ได้ แต่ให้เราอยู่กับท่านอย่างมี ติ ไม่รับนิสัยไม่ดีต่างๆ มาสู่เราและอดทนคอยเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ท่าน เช่น ชวนบิดามารดามาทำบุญและฟังธรรมที่วัดในโอกาสต่างๆ เมื่อท่านได้ทำบุญและฟังธรรมบ่อยๆ นิสัยไม่ดีในตัวท่านก็จะลดลงเอง
(4) วิธีการใช้ห้อง วิธีการใช้ห้องที่ถูกต้องนั้นมีหลักการสำคัญเช่นเดียวกันคือ "ต้องใช้แล้วก่อให้เกิดนิสัยที่ดีแก่เรา" เช่น ห้องนอนควรมีวิธีการใช้ห้องตอนก่อนนอน ขณะนอน และหลังจากตื่นนอนดังต่อไปนี้
1.) เข้าห้องนอนไม่ควรเกิน 4 ทุ่ม
2.) สวดมนต์ไหว้พระก่อนนอน
3.) นั่งสมาธิและแผ่เมตตาก่อนนอน
4.) นึกถึงบุญและอธิษฐานจิตก่อนนอน
5.) นอนในอู่แห่งทะเลบุญคือ จรดจิตไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 และนึกถึงองค์พระหรือดวงแก้วไปจนกว่าจะหลับ ถ้าหากทำได้ควรนอนตะแคงขวาหรือสำเร็จสีหไสยาสน์ เพราะเป็นท่านอนที่ทำให้มีสติและส่งผลดีต่อสุขภาพมากที่สุด
6.) ตื่นนอนแต่เช้า
7.) เมื่อตื่นนอนก็ให้ตื่นในอู่แห่งทะเลบุญ คือ เมื่อตื่นก็ให้นำใจไปจรดไว้ที่ศูนย์กลางกายแล้วนึกว่า "เราโชคดีที่รอดมาได้อีกหนึ่งวัน ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีความสุข อันตัวเรานั้นตายแน่ตายแน่" จะได้ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิตตลอดทั้งวัน
8.) เก็บที่นอนพับให้เรียบร้อย
ฯลฯ
เมื่อเราปฏิบัติตามวิธีการใช้ห้องนอนเช่นนี้ จะทำให้เราเป็นคนตรงต่อเวลา รักในการสั่งสมบุญ มีจิตเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นคนไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต และ เป็นคนรักความเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่มักง่าย เป็นต้น และที่สำคัญบุญกุศลก็จะเกิดขึ้นกับเราทุกคืนทุกวันอย่างต่อเนื่อง เมื่อละโลกไปแล้วเราก็จะมีสุคติโลก สวรรค์เป็นที่ไป วิธีการใช้ห้องอื่นใดที่เคยทำมาแล้วส่งผลให้เกิดนิสัยไม่ดี เช่น ดูหนังจนดึก ทำให้ต้องนอนดึก และนอนอย่างไม่มีสติ ตื่นก็สาย ตื่นแล้วก็ไม่เก็บที่นอนให้เรียบร้อย เป็นต้น ก็ให้เลิกเสียส่วนวิธีการใช้ห้องอื่นๆ ก็เช่นกัน คือ ต้องเป็นวิธีที่เกื้อหนุนต่อการบ่มเพาะนิสัยที่ดีให้เกิดขึ้น
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา