นิติศาสตร์ในพระไตรปิฎก
"พระวินัยคือกฎหมายในพระไตรปิฎก"
ในพระพุทธศาสนา กฎหมายคืออะไร คำที่ใกล้ที่สุด ตรงที่สุด ก็คือคำว่า "วินัย" หรือ "ศีล" หรือถ้าเรียกเป็นข้อๆ ก็คือสิกขาบท คำว่า วินัย หมายถึง "กฎสำหรับฝึกอบรมกายวาจา"(วินยนโต เจว กายวาจานํ) เพราะเป็นเครื่องป้องกันความประพฤติที่ไม่เหมาะสมทางกายและทางวาจา เรื่องวินัยในพระพุทธศาสนานั้นถือว่าเป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญมาก เพราะเป็น 1 ใน 3 ของพระไตรปิฎกทีเดียวนั่น คือ พระวินัยปิฎก
จริงๆ แล้วคำว่า พระไตรปิฎกก็ดี คำว่าพระพุทธศาสนาก็ดี ที่เราเรียกกันปัจจุบันนี้ เป็นคำใหม่ซึ่งเกิดขึ้นในยุคหลัง ศัพท์เดิมที่ใช้ในสมัยพุทธกาล คือ คำว่า "ธรรมวินัย" ธรรมวินัยมาจากคำคู่คือ ธรรม กับ วินัย แล้วรวมกันเป็นเอกพจน์ คือ องอย่างแต่รวมเป็นอันเดียว นี้คือตัวของพระพุทธศาสนา เราจะต้องมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่าง 2 คำนี้ แล้วจะเห็นหลักการของพระพุทธศาสนาทั้งหมด
ธรรม หมายถึง ความจริงที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ ดังพระดำรัสว่า พระตถาคตทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่เสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุอันนั้น คือ ธัมมฐิติ ธัมมนิยาม อิทัปปัจจัย ก็ยังดำรงอยู่ พระตถาคตย่อมตรัสรู้ ย่อมตรัสรู้ทั่วถึงธาตุอันนั้น ครั้นแล้วย่อมตรัสบอก ทรงแสดงบัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้น และตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงดู ดังนี้
ธรรมเป็นความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาของมัน เราอาจจะแปลได้หลายอย่าง เช่น แปลว่า ธรรมชาติ กฎธรรมชาติ ความเป็นจริง เป็นต้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมด้วยการเข้าถึงพระธรรมกายภายใน จึงได้รู้แจ้งความจริงต่างๆ ในธรรมชาติด้วยพระธรรมกายนั้น
หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้วก็เสด็จจาริกสั่งสอนชาวโลก แต่การที่จะสั่งสอนธรรมให้บังเกิดประโยชน์แก่คนหมู่มากและเกิดระบบการสอนธรรม สืบต่อไปอย่างต่อเนื่องยาวนานแม้พระองค์จะปรินิพพานไปแล้วนั้น พระองค์ไม่อาจจะที่จะทำเพียงลำพังได้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดตั้ง "องค์กร" ขึ้นมา เพื่อรองรับงานเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระองค์ องค์กรในที่นี้คือ "สังฆะ" หรือ "สงฆ์"สังฆะไม่ใช่บุคคล ในภาษาไทยเรามองคำว่าสงฆ์นี้เป็นตัวพระภิกษุไป คำว่าสงฆ์ หมายถึง หมู่ หรือ ชุมชน หมายความว่าต้องมีคนจำนวนหนึ่งมารวมตัวกัน ไม่ใช่คนเดียว แต่สงฆ์เป็นชุมชนที่จัดตั้งขึ้นมา
เมื่อตั้งสังฆะ หรือ ชุมชนขึ้นมาแล้ว เมื่อมีคนมารวมกันแล้ว ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกฎระเบียบ จะต้องมีการจัดวางระบบแบบแผน เพื่อให้สมาชิกทุกคนปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน จะเป็นเหตุให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
วินัย จึงถูกบัญญัติขึ้นเพื่อเป็นกรอบความประพฤติทางกายและวาจาของคนในสังฆะที่จัดตั้งขึ้น เพื่อเอื้อให้สมาชิกทุกคนในสังฆะอยู่รวมกันอย่างเป็นสุข จะได้ศึกษาและเผยแผ่ "ธรรม" อันเป็นเป้าหมายของการเข้ามาอยู่ในสังฆะได้อย่างเต็มที่ และเมื่อตรัสรู้ธรรมแล้วก็จะได้ช่วยกันเผยแผ่ธรรมที่ตนได้ตรัสรู้สืบต่อไป ความจริงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสวัตถุประสงค์ของการบัญญัติพระวินัยไว้ 10 ประการ2 แต่โดยภาพรวมแล้วทั้ง 10 ประการนั้นก็มีจุดมุ่งหมายหลักดังที่ได้กล่าวมานี้
สรุปว่าเดิมนั้นมีธรรม แต่เพื่อให้คนหมู่ใหญ่ได้ประโยชน์จากธรรม จึงมีวินัยขึ้นมาจัดสรรความเป็นอยู่ของหมู่มนุษย์ ให้เกิดโอกาสอันดีที่สุด ที่จะใช้ธรรมให้เป็นประโยชน์หรือได้ประโยชน์จากธรรมนั้น ถ้าจัดตั้งวางระบบแบบแผนโดยไม่มีธรรมคือความจริงที่แท้เป็นฐานแล้ว การจัดตั้งนั้นก็ไร้ความหมาย ดังนั้น วินัยคือการจัดตั้งของมนุษย์จึงต้องตั้งอยู่บนฐานของธรรม คือตัวความจริงแท้ ธรรมจึงสูงสุดในโลก ธรรมสูงสุดในสังคมมนุษย์ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ทรงเคารพธรรม ธรรมจึงเป็นฐานของวินัย และเป็นทั้งจุดหมายของวินัย
ธรรมเป็นเรื่องของความจริงแท้ในธรรมชาติส่วนวินัยถูกบัญญัติขึ้นเพื่อหนุนธรรม ในพระพุทธศาสนา เมื่อพูดถึง ธรรม เราจะใช้คำว่า แสดง เพราะธรรมเป็นความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา เราเพียงแต่ไปรู้และแสดงมัน แต่ถ้าพูดถึง วินัย จะใช้คำว่า บัญญัติ เพราะเป็นเรื่องที่จัดตั้งหรือทำขึ้นมา เพราะฉะนั้นเราจึงพูดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า "ทรงแสดงธรรม" และพูดว่า "ทรงบัญญัติวินัย" พระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัตินี้หมายเอาศีล 227 ข้อของพระภิกษุ อย่างไรก็ตามพระวินัยหรือศีลที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติขึ้นก็มี ได้แก่ ศีล 5,ศีลที่อยู่ในมรรคมีองค์ 8 ได้แก่สัมมาวาจาสัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ ซึ่งเป็นศีลที่มีมาแต่เดิมอยู่ในธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้
แต่องค์กรสงฆ์ยุคแรกซึ่งมีเฉพาะพระอริยเจ้านั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ได้บัญญัติวินัยคือศีล 227 ข้อขึ้นแม้แต่ข้อเดียว ทั้งนี้เพราะพระอริยเจ้าทั้งหลายนั้นเป็นผู้มีกิเลสเบาบาง มีวินัยในตัวเองคือ มีสัมมาวาจา มีสัมมากัมมันตะ และมีสัมมาอาชีวะ ปกครองตนเองได้ รู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ จึงไม่จำเป็นต้องบัญญัติพระวินัยเพิ่มอีก นอกจากนี้ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบางพระองค์ เช่น พระวิปัสสี พระสิขี และ พระเวสภู เป็นต้น ก็ไม่มีการบัญญัติพระวินัยคือ 227 ข้อเลยแม้แต่ข้อเดียวตราบจนแต่ละพระองค์ปรินิพพาน เพราะพระภิกษุในยุคนั้นเป็นผู้ไม่มีโทษ กล่าวคือ กิเลสเบาบาง รู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ จึงไม่ทำในสิ่งที่ผิดคือเป็นโทษ เพราะฉะนั้นวินัยก็ดี กฎหมายก็ดีที่บัญญัติเพิ่มขึ้นมานั้นจึงจำเป็นเฉพาะยุคที่คนมีกิเลสมากเท่านั้น
วินัย 227 ข้อของพระภิกษุนั้น แต่ละข้อจะเรียกว่าสิกขาบท คำว่าสิกขาบท มาจากสิกขา บท "บท" คือ ข้อ และ "สิกขา" คือ ศึกษาสิกขาบทจึงแปลว่า ข้อศึกษา หรือ ข้อฝึกสิกขาบทแต่ละข้อที่บัญญัติขึ้นมาในวินัยจึงเป็นข้อศึกษาทั้งสิ้น ถ้าพระภิกษุเรียนรู้พระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง จะต้องมองสิกขาบทต่างๆ ว่าไม่ใช่ข้อบังคับ แต่เป็นข้อฝึกตน หรือ ข้อศึกษา เป็นแบบฝึกหัด และตอนที่บุคคลใดๆ เข้ามาบวชเป็นภิกษุนั้น ก็มาบวชด้วยความ มัครใจของตนเองไม่มีใครบังคับ เมื่อบวชแล้วอยู่ได้ จะลาสิกขาไปก็ไม่มีใครห้าม ดังนั้นสิกขาบทแต่ละข้อจึงเป็นข้อศึกษา เป็นบทฝึกตน ไม่ใช่ข้อบังคับ แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อไม่เป็นข้อบังคับแสดงว่าไม่จำเป็นต้องทำตามก็ได้ เมื่อบวชแล้วก็ต้องทำตามกิจและข้อวัตรปฏิบัติของนักบวชให้สมบูรณ์จึงจะได้ชื่อว่าเป็นนักบวช และจะบรรลุวัตถุประสงค์ของการบวชได้
1.สิกขาบทเป็นเหตุให้พระศาสนาตั้งอยู่ได้นาน
วันหนึ่งพระสารีบุตรได้มีความคิดสงสัยเกิดขึ้นว่า ศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใดไม่ดำรงอยู่นาน ของพระองค์ใดดำรงอยู่นาน ท่านจึงเข้าไปกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าๆ ตรัสตอบว่า ดูก่อนสารีบุตร ศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสภู ไม่ดำรงอยู่นาน ศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะดำรงอยู่นาน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ศาสนาดำรงอยู่ไม่นานมี 3 ประการดังนี้
(1) พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามวิปัสสี พระนามสิขีและพระนามเวสภู ไม่ทรงแสดงธรรมโดยพิสดารคือกว้างขวางละเอียดลออแก่สาวกทั้งหลาย จึงทำให้พระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งสามพระองค์นั้นมีน้อย
(2)สิกขาบทก็มิได้ทรงบัญญัติสิกขาบทในที่นี้คือสิกขาบท 227 ข้อของพระภิกษุ
(3) ปาฏิโมกข์ก็มิได้ทรงแสดงแก่สาวก ปาฏิโมกข์ในที่นี้คือสิกขาบทข้อต่างๆส่วนการแสดงปาฏิโมกข์คือ การยกสิกขาบททุกข้อที่บัญญัติไว้แสดงในที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน เพื่อให้พระภิกษุได้ทบทวนศีลของตน แต่เมื่อไม่มีการบัญญัติสิกขาบทจึงไม่มีการแสดงปาฏิโมกข์ไปโดยปริยายด้วย
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้นและสาวกยุคแรกผู้ตรัสรู้ตามปรินิพพานไปแล้วสาวกยุคหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงยังพระศาสนานั้นให้อันตรธานโดยฉับพลัน เปรียบเสมือนดอกไม้ต่างพรรณที่เขากองไว้บนพื้นกระดาน ยังไม่ได้ร้อยด้วยด้าย ลมย่อมพัดให้ดอกไม้เหล่านั้นกระจัดกระจายได้ ฉันนั้นสำหรับสาเหตุที่ทำให้ศาสนาดำรงอยู่นานนั้นมี 3 ประการเช่นกันดังนี้
(1) พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะทรงแสดงธรรมโดยพิสดาร คือ กว้างขวางละเอียดลออแก่สาวกทั้งหลาย จึงทำให้พระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งสามพระองค์นั้นมีมาก
(2)สิกขาบทก็ทรงบัญญัติ
(3) ปาฏิโมกข์ก็ทรงแสดงแก่สาวก
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้นและสาวกยุคแรกผู้ตรัสรู้ตามจะปรินิพพานไปแล้ว แต่สาวกยุคหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน ก็ดำรงพระศาสนานั้นไว้ได้ยาวนาน เปรียบเสมือนดอกไม้ต่างพรรณที่เขากองไว้บนพื้นกระดาน ร้อยดีแล้วด้วยด้ายลมย่อมกระจายไม่ได้ ขจัดไม่ได้ กำจัดไม่ได้ฉันนั้น
พระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายสาเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามวิปัสสี พระนามสิขีและพระนามเวสภู ไม่ทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลายไว้ว่า ในกาลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น คนมีอายุยืน มีกิเลสเบาบาง แค่ได้ฟังอริยสัจ 4 เพียงพระคาถาเดียวย่อมบรรลุธรรมได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นจึงไม่ทรงแสดงธรรมโดยพิสดาร จึงทำให้พระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งสามพระองค์นั้นมีน้อย
เหมือนกับกรณีพระสารีบุตรในสมัยที่ยังเป็นอุปติ ปริพาชกซึ่งเป็นผู้มีกิเลสเบาบางมีปัญญามาก เพียงแค่ได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิเถระเรื่องอริยสัจ 4 เพียงคาถาเดียวว่า "ธรรมเหล่าใด มีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และเหตุแห่งความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้" ธรรมในที่นี้คือทุกข์ มีเหตุคือตัณหาเป็นแดนเกิด ความดับแห่งทุกข์คือนิโรธ และการจะดับทุกข์คือขจัดตัณหาได้ก็ต้องปฏิบัติมรรคมีองค์แปดอุปติ ปริพาชกได้ฟังเพียงแค่นี้ก็เข้าใจแจ่มแจ้ง และได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน
นักศึกษาลองคิดดูว่า หากพระสาวกและพระสาวิกาทุกรูปของพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้ามีปัญญามากอย่างพระสารีบุตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่ได้แสดงธรรมโดยพิสดารเลย เพราะแสดงเพียงแค่คาถาเดียวก็บรรลุธรรมแล้ว จะมีพระธรรมคำสอนตกทอดมาถึงพวกเราเพียงแค่ 1 คาถานี้ และโอวาทปฏิโมกข์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์จะต้องแสดงเท่านั้น ซึ่งแม้พวกเราจะฟังกี่ร้อยกี่พันครั้งก็ยังไม่บรรลุธรรมเสียที เนื่องจากเรายังมีกิเลสมาก และมีปัญญาน้อยอยู่นั่นเอง
ความดำรงอยู่นานของศาสนา 2 ประเภท
ความดำรงอยู่นานของพระศาสนานั้นมี 2 ประเภทคือ ดำรงอยู่นานโดยนับจำนวนปี และดำรงอยู่นานโดยนับช่วงอายุคน พระผู้มีพระภาคเจ้าวิปัสสีมีพระชนมายุ 80,000 ปี แม้สาวกในยุคของพระองค์ก็อายุประมาณนั้น ศาสนาของพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งอยู่ได้ 160,000 ปีสำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิขีมีพระชนมายุ 70,000 ปี ศาสนาของพระองค์ตั้งอยู่ได้ 140,000 ปีส่วนพระเว ภูสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระชนมายุ 60,000 ปี ศา นาของพระองค์ตั้งอยู่ได้ตลอด 120,000 ปี จริงๆ แล้วถ้านับจำนวนปีพระศาสนาของพระผู้พระภาคเจ้าทั้ง 3 พระองค์นี้มีอายุยืนนานมาก แต่ถ้านับโดยช่วงอายุคนแล้วจะเห็นว่า ศาสนาตั้งอยู่ได้เพียง 2 ช่วงอายุคนเท่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าไม่ดำรงอยู่นาน
ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากกุสันธะมีพระชนมายุ 40,000 ปี พระโกนาคมน์ มีพระชนมายุ 30,000 ปี พระกั ปะ มีพระชนมายุ 20,000 ปี แม้พระสาวกในยุคของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นก็มีอายุประมาณนั้น ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคทั้ง 3 พระองค์นี้มีการบัญญัติสิกขาบท มีการแสดงปาฏิโมกข์ และมีพระธรรมคำสอนมาก ด้วยเหตุนี้ศาสนาของพระผู้มีพระภาคทั้ง 3 พระองค์จึงดำรงอยู่นานโดยนับจำนวนปีด้วย และดำรงอยู่นานโดยนับยุคของคนด้วย2สำหรับศาสนาในยุคของเราตั้งอยู่มาได้ 2,500 กว่าปีแล้ว ถ้านับจำนวนปีถือว่ายังน้อยมาก แต่ถ้านับโดยช่วงอายุคนจะได้หลายช่วงอายุคน เพราะคนยุคของเรามีอายุน้อย กล่าวคือ ใน มัยพุทธกาลคนมีอายุประมาณ 100 ปี หากนำตัวเลขนี้ไปคำนวณก็จะได้อายุพระศาสนาถึง 30 ช่วงอายุคนแล้ว และจะดำรงอยู่ต่อไปได้ตราบเท่าที่พุทธบริษัทยังรักการศึกษาและปฏิบัติธรรม
2. กาลเวลาแห่งการบัญญัติสิกขาบท
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสความสำคัญของสิกขาบทในฐานะที่จะทำให้พระพุทธศาสนามีอายุยืนนานแล้ว พระสารีบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ถึงเวลาแล้วพระพุทธเจ้าข้า ที่จะทรงบัญญัติสิกขาบท ถึงเวลาแล้วที่จะทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่สาวก อันจะเป็นเหตุให้พระศาสนานี้ดำรงอยู่ได้นาน
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "จงรอก่อนสารีบุตร ตถาคตผู้เดียวจักรู้กาลในกรณีนั้น ก็บรรดาภิกษุ 500 รูปนี้ภิกษุที่ทรงคุณธรรมอย่างต่ำ ก็เป็นโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดาเป็นผู้เที่ยงเป็นผู้ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า" กล่าวคือ พระภิกษุทั้ง 500 รูปนั้นต่างก็เป็นพระอริยบุคคล จึงรู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ไม่ทำในสิ่งที่ผิดพลาดให้เกิดความเสื่อมเสีย จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องบัญญัติพระวินัยในตอนนั้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงกาลแห่งการบัญญัติสิกขาบทและแ ดงปาฏิโมกข์ว่าจะกระทำเมื่อ "มีอา วัฏฐานิยธรรม คือ ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะ เช่น การเสพเมถุน การลักทรัพย์ การอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน เป็นต้น เกิดขึ้นในสงฆ์หรือในศาสนานี้" เมื่อใดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นปรากฏขึ้น เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาฏิโมกข์แก่สาวก เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น
การที่อาสวัฏฐานิยธรรมจะปรากฏในสงฆ์หรือในศาสนานั้น มีเหตุอยู่ 3 ประการ
(1)สงฆ์เป็นหมู่ใหญ่โดยภิกษุผู้บวชนานแล้ว หมายถึง เป็นหมู่ใหญ่เพราะมีภิกษุเถระซึ่งบวชมานานจำนวนมาก เพราะจะมีเหตุให้พระพุทธองค์บัญญัติสิกขาบทเกี่ยวกับพระเถระ เช่น พระเถระรูปใดโง่เขลาไม่พึงให้อุปสมบท เป็นต้น
(2)สงฆ์เป็นหมู่ใหญ่โดยแพร่หลายแล้ว หมายถึง มีแพร่หลายทั้งพระเถระ พระภิกษุปานกลาง และพระภิกษุบวชใหม่ เพราะจะมีเหตุให้พระพุทธองค์บัญญัติสิกขาบทเกี่ยวกับการวางตัวระหว่างภิกษุที่ต่างพรรษากัน
(3)สงฆ์เป็นหมู่ใหญ่เลิศโดยลาภแล้ว เพราะจะมีเหตุให้พระพุทธองค์บัญญัติสิกขาบทเกี่ยวกับเรื่องลาภสักการะ เช่น ภิกษุใดให้ของควรเคี้ยวหรือของควรบริโภคด้วยมือของตนแก่นักบวชเปลือยก็ดี แก่ปริพาชกก็ดี แก่ปริพาชิกาก็ดี ภิกษุนั้นต้องปาจิตตีย์ เป็นต้น
พระอรรถกถาจารย์ยังได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะยังไม่มีปรากฏในสงฆ์เพียงใด พระศาสดาจะไม่ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลายเพียงนั้นเพราะถ้าบัญญัติ พระศาสดาจะถูกค่อนขอด จะถูกคัดค้าน และจะถูกติเตียน
เหล่าชนบางพวกจะค่อนขอด จะคัดค้านและติเตียนว่า พระสมณโคดมจักผูกมัดด้วยสิกขาบททั้งหลาย จักบัญญัติปาราชิกเพื่อให้ภิกษุสงฆ์ยอมตามเรา ทำตามคำของเรากุลบุตร เหล่านี้ละกองโภคะใหญ่ละเครือญาติใหญ่ บางพวกละแม้ราชสมบัติอันอยู่ในเงื้อมมือเพื่อออกบวช เป็นผู้สันโดษด้วยความเป็นผู้มีอาหารและเครื่องนุ่งห่มเป็นอย่างยิ่ง มีความเคารพในสิกขา ไม่ห่วงใยในร่างกายและชีวิตมิใช่หรือ ในกุลบุตรเหล่านั้น ใครเล่า จักเสพเมถุนหรือจักลักของๆ ผู้อื่น หรือจักฆ่าผู้อื่น หรือจักเลี้ยงชีวิตด้วยการอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน ชนทั้งหลายที่ไม่ทราบกำลังแห่งพระตถาคต จะทำให้สิกขาบทที่บัญญัติไว้กำเริบคือไม่คงอยู่ใน ถานเดิม
การบัญญัติสิกขาบทไว้ก่อนที่จะมีอาสวัฏฐานิยธรรม เช่น การเสพเมถุน การลักทรัพย์การอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน เป็นต้น เกิดขึ้นนั้น เปรียบเสมือนแพทย์ผู้ไม่ฉลาดเรียกบุรุษบางคนซึ่งหัวฝียังไม่เกิดขึ้นมาแล้วบอกว่า พ่อมหาจำเริญ หัวฝีใหญ่จักเกิดขึ้นในสรีระตรงนี้ของท่านท่านจงรีบให้หมอเยียวยามันเสียเถิด บุรุษนั้นบอกว่า ท่านจงเยียวยามันเถิด แพทย์นั้นจึงผ่าสรีระของบุรุษนั้น เอายาทาและพอกแล้วบอกว่า โรคใหญ่ของท่าน เราได้เยียวยาแล้ว ท่านจงให้รางวัลแก่เรา บุรุษนั้นจะค่อนขอด คัดค้าน และติเตียนนายแพทย์ว่า หมอโง่นี่พูดอะไร หมอโง่นี้ทำทุกข์ให้เกิดแก่เรา และทำให้เราต้องเสียเลือดไปมิใช่หรือ แต่ถ้านายแพทย์ผู้ฉลาดเยียวยาหัวฝีที่เกิดขึ้นแล้วด้วยการผ่าตัดพอกยาและพันแผล ก็จะไม่ถูกค่อนขอดคัดค้านและติเตียน และจะได้รางวัลตอบแทนเป็นอันมาก
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา