นิติศาสตร์ในพระไตรปิฎก
"องค์ประกอบของสิกขาบท"
สิกขาบทนั้นมีองค์ประกอบ 5 ประการด้วยกันดังนี้
1.) ต้นบัญญัติ หมายถึง เรื่องเล่าของผู้ที่ประพฤติเสียหายในกรณีต่างๆ เป็นรายแรกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอ้างถึงเพื่อบัญญัติสิกขาบทในข้อต่างๆ เช่น พระสุทินน์ เป็นต้นบัญญัติปาราชิกสิกขาบทที่ 1 เป็นต้น
2.) พระบัญญัติ หมายถึงสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติเป็นข้อห้ามมิให้ภิกษุล่วงละเมิด มีบทกำหนดโทษหรือปรับอาบัติผู้ล่วงละเมิด
ถ้าเป็นการบัญญัติสิกขาบทในครั้งแรกเรียกว่า "มูลบัญญัติ" ส่วนการบัญญัติเพิ่มเติมในภายหลังเพื่อให้รัดกุมมากขึ้นเรียกว่า "อนุบัญญัติ" ดังตัวอย่างต่อไปนี้
มูลบัญญัติของปาราชิกสิกขาบทที่ 3 ว่า "ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตราอันจะพรากกายมนุษย์นั้น แม้ภิกษุนี้เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้"
อนุบัญญัติของปาราชิกสิกขาบทที่ 3 ว่า "อนึ่งภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิตหรือแสวงหาศัสตราอันจะพรากกายมนุษย์นั้น พูดพรรณนาคุณความตายหรือชักชวนเพื่อให้ตายว่า ท่านผู้เจริญจะมีชีวิตลำบากยากเข็ญนี้ไปทำไม ท่านตายเสียดีกว่า ดังนี้ เธอมีจิตอย่างนี้มีดำริในใจอย่างนี้ พูดพรรณนาคุณความตายหรือชักชวนเพื่อความตายโดยประการต่างๆ แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิกหาสังวาสมิได้"
3.)สิกขาบทวิภังค์และบทภาชนีย์ คำว่าสิกขาบทวิภังค์ หมายถึง การจำแนกความสิกขาบท เป็นการอธิบายความหมายของศัพท์หรือข้อความในพระบัญญัติ เช่น ในสิกขาบทวิภังค์แห่งปาราชิกสิกขาบทที่ 1 ท่านอธิบายความหมายของคำว่า "ภิกษุ" ว่ามีความหมาย 12 นัยคือ ผู้ขอ, ผู้อาศัยการเที่ยวขอ, ผู้ใช้ผืนผ้าที่ถูกทำให้เสียราคา, ผู้ที่ถูกตั้งชื่ออย่างนั้นผู้ปฏิญาณตนอย่างนั้น, ผู้ที่พระพุทธเจ้าบวชให้,ผู้บวชด้วยวิธีรับไตร รณะ, ผู้เจริญ, ผู้มีแก่นสารผู้ยังต้องศึกษา, ผู้ไม่ต้องศึกษา (หมายถึงผู้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว) และ ผู้ที่สงฆ์บวชให้ด้วยญัตติจตุตถกรรม แล้วชี้เฉพาะความหมายที่ประสงค์ว่า คำว่า "ภิกษุ" ในสิกขาบทนี้หมายถึงผู้ที่สงฆ์บวชให้ด้วยญัตติจตุตถกรรม
คำว่า บทภาชนีย์ แปลว่า การจำแนกแยกแยะความหมายของบท เป็นการนำเอาบทหรือคำในสิกขาบทวิภังค์มาขยายความเพิ่มเติมอีก เช่น ในปาราชิกสิกขาบทที่ 2 สิกขาบทวิภังค์ให้นิยามคำว่า "ทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้" ไว้แล้ว บทภาชนีย์ก็ขยายความเพิ่มเติมอีกว่า "ทรัพย์ ที่อยู่ในแผ่นดิน ทรัพย์ที่อยู่บนบก ทรัพย์ที่อยู่ในอากาศ ทรัพย์ที่อยู่ในที่แจ้ง ทรัพย์ที่อยู่ในน้ำ ทรัพย์ที่อยู่ในเรือ ทรัพย์ที่อยู่ในยาน ทรัพย์ที่นำติดตัวไปได้ เป็นต้น" จากนั้นก็อธิบายตัวสิกขาบทอย่างละเอียดทุกคำพร้อมยกตัวอย่างประกอบ
4.) อนาปัตติวาร ว่าด้วยข้อยกเว้นสำหรับบุคคลผู้ล่วงละเมิดสิกขาบทโดยไม่ต้องอาบัติ เช่น ปาราชิกสิกขาบทที่ 3 มีข้อยกเว้นไม่ปรับอาบัติปาราชิกแก่ภิกษุผู้ฆ่ามนุษย์ในกรณีต่อไปนี้ คือ ภิกษุไม่มีเจตนา, ภิกษุไม่รู้, ภิกษุไม่ประสงค์จะฆ่า, ภิกษุวิกลจริต, ภิกษุมีจิตฟุ้งซ่าน, ภิกษุมีจิตกระสับกระส่ายเพราะทุกขเวทนา และ ภิกษุต้นบัญญัติ
5.) วินีตวัตถุ ว่าด้วยเรื่องต่างๆ ของภิกษุผู้กระทำการบางอย่างอันอยู่ในขอบข่ายของสิกขาบทนั้นๆ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงไต่ วนเอง แล้วทรงวินิจฉัยชี้ขาดว่าต้องอาบัติใดหรือไม่ เช่น ในปาราชิกสิกขาบทที่ 3 มีเรื่องที่ทรงวินิจฉัยชี้ขาดรวม 103 เรื่อง เมื่อเปรียบกับกฎหมายทางโลกแล้ว ก็เป็นเสมือนคือพิพากษาศาลฎีกา อันเป็นแนวทางการพิจารณาว่า การกระทำใดผิดหรือไม่ชัดเจนยิ่งขึ้น
จะเห็นว่าสิกขาบทแต่ละข้อที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติขึ้นนั้น มีการแจกแจงรายละเอียดชัดเจนมาก ทั้งนี้เพื่อให้พระภิกษุทุกรูปเข้าใจแจ่มแจ้งในทุกแง่มุม ไม่มีความคลุมเครือส่งผลให้ปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องเสมอเหมือนกันทั้งหมู่คณะ
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา