นิติศาสตร์ในพระไตรปิฎก "ความเป็นมาของกฎหมายในพระไตรปิฎก"

วันที่ 11 พค. พ.ศ.2560

นิติศาสตร์ในพระไตรปิฎก
"ความเป็นมาของกฎหมายในพระไตรปิฎก"

GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก , นิติศาสตร์ในพระไตรปิฎก , กฎหมายในพระไตรปิฎก

    ในยุคแรกที่มนุษย์บังเกิดขึ้นบนโลกนั้นยังไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์ใดๆ เพราะมนุษย์ยุคนั้นมีบุญมากเพิ่งจุติลงมาจากพรหมโลก รู้ว่าอะไรควรทำและอะไรไม่ควรทำ จึงอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

   เมื่อกาลเวลาผ่านไปยาวนาน มนุษย์ที่มีกิเลสมากเริ่มมาบังเกิดขึ้นประกอบกับสิ่งแวดล้อมบนโลกกระตุ้นให้กิเลสที่มีอยู่ในใจของแต่ละคนฟูขึ้น เป็นเหตุให้มีการทำอกุศลกรรมต่างๆส่งผลให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมและทำให้คนอื่นๆ ในสังคมเดือดร้อน เมื่อเป็นเช่นนี้มนุษย์เหล่านั้นจึงประชุมกันวางกฎระเบียบต่างๆ ขึ้น เช่น ปักปันเขตแดนที่ทำกินกัน ไม่ล่วงล้ำเขตแดนของกันและกัน มีการแต่งตั้งผู้ปกครองคือกษัตริย์ให้เป็นใหญ่ในที่ทำกินทั้งปวง ให้ทำหน้าที่ตัดสินลงโทษคนกระทำผิดกฎระเบียบที่หมู่คณะตกลงกันไว้ กฎระเบียบที่กล่าวมานี้ถือว่าเป็นกฎหมายในสังคมมนุษย์ยุคแรกๆ ซึ่งต่อมาก็ค่อยๆ วิวัฒนาการมาตามลำดับ และมีกฎระเบียบต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

    นอกจากนี้ในจักกวัตติสูตรและมหาสุทัสนสูตรมีการกล่าวถึง กุศลกรรมบถ 10 และศีล 5 ว่าเป็นกฎระเบียบของคนในสังคมด้วย แต่ศีล 5 และ กุศลกรรมบถ 10 นั้นไม่มีใครบัญญัติขึ้นเป็น "มนุษยธรรม" ที่มีมาแต่เดิม ซึ่งมนุษย์ผู้มีบุญจะรู้ว่าเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติตาม หากล่วงละเมิดจะเกิดความเสื่อม แม้ในอัคคัญญสูตรจะไม่ได้กล่าวถึงมนุษยธรรมโดยตรง แต่ถึงกระนั้นมนุษย์ยุคแรกก็มีสิ่งนี้ประจำใจ จึงทำให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ต่อมาเมื่อคนมีกิเลสมากขึ้นและได้ล่วงละเมิดมนุษยธรรมเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องออกกฎระเบียบอื่นๆ เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นกรอบกติกาควบคุมคนในสังคมให้อยู่ร่วมกันด้วยความสงบเรียบร้อย คล้ายๆ กับยุคปัจจุบันซึ่งคนมีกิเลสมากจึงต้องมีกฎหมายต่างๆ มากมายช่วยบังคับควบคุม จะอาศัยเพียงศีล 5 และกุศลกรรมบถ 10 นั้นไม่เพียงพอแล้ว

    กฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ จึงเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาสังคม เกิดขึ้นเพื่อปราบปรามคนพาลอภิบาลคนดี เป็นกรอบให้คนในสังคมปฏิบัติตาม การบังเกิดขึ้นของพระวินัยสิกขาบทต่างๆ ของพระภิกษุในพระพุทธศาสนาก็มีลักษณะเดียวกันนี้ส่วนสังคมใดที่มีคนดีมีคุณธรรมมากหรือเป็นสังคมของคนมีบุญมากสังคมนั้นก็ไม่มีความจำเป็นต้องบัญญัติกฎหมายต่างๆ ขึ้นเพราะคนจะรู้ว่าสิ่งใดควรทำและไม่ควรทำ จะอยู่ร่วมกันอย่าง งบสุขโดยอัตโนมัติ

    จากที่กล่าวมานี้เป็นความเป็นมาของกฎหมายซึ่งปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกสำหรับรายละเอียดในประเด็นอื่นๆ ของนิติศาสตร์นั้น จะกล่าวถึงเรื่องพระวินัยของพระภิกษุเป็นหลักเพราะมีข้อมูลที่ละเอียดชัดเจนสะท้อนให้เห็นถึงหลักนิติศาสตร์ในพระไตรปิฎกได้เป็นอย่างดี

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012808640797933 Mins