รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฏก "ตัวอย่างการปกครองของพระเจ้ามหาวิชิตราช"

วันที่ 09 พค. พ.ศ.2560

รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฏก
"ตัวอย่างการปกครองของพระเจ้ามหาวิชิตราช"

GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก , รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก , รัฐศาสตร์ , เศรษฐกิจ , พระเจ้ามหาวิชิตราช

   ตัวอย่างการปกครองของพระเจ้ามหาวิชิตราช ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้ แสดงให้เห็นถึงการนำหลักธรรมาธิปไตยมาใช้ในการปกครอง ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจอันเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลกระทบต่อการปกครองโดยตรง จึงอาจจะเรียกว่าเป็น "เศรษฐศาสตร์การเมือง" ยุคโบราณก็ว่าได้ เพราะเป็นการปกครองที่เริ่มต้นจากการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดีเป็นลำดับแรก แต่ทั้งนี้ก็ไม่ลืมพัฒนาศีลธรรมอันเป็นหัวใจสำคัญของการปกครองประเทศ

       เนื้อหาในหัวข้อนี้อ้างอิงจาก "กูฏทันตสูตร" ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบูชามหายัญของพระองค์ แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบการปกครองได้เป็นอย่างดี พระสูตรนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสให้กูฏทันตพราหมณ์ฟัง โดยครั้งหนึ่ง กูฏทันตพราหมณ์ผู้ปกครองบ้านชื่อ "ขาณุมัต" ประสงค์จะบูชายัญด้วยการฆ่าสัตว์ เป็นต้น แต่มีความสงสัยในเรื่องพิธีกรรมอยู่หลายประการจึงได้เข้าไปกราบทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงวิธีการบูชายัญที่ถูกต้อง

         พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสเล่าถึงตัวอย่างการบูชายัญที่ถูกต้องดังนี้ ในอดีตกาลมีพระราชาพระองค์หนึ่งพระนามว่า พระเจ้ามหาวิชิตราช เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก วันหนึ่ง ทรงดำริว่า เราได้ครอบครองสมบัติมนุษย์อย่างไพบูลย์แล้ว ได้ชนะข้าศึกและปกครองดินแดนมากมาย เราพึงบูชามหายัญที่จะเป็นประโยชน์และความสุขแก่เราตลอดกาลนาน จากนั้นพระองค์จึงรับสั่งให้เรียกพราหมณ์ปุโรหิตมาแล้วตรัสว่า เราจะบูชามหายัญ ขอท่านจงชี้แจงวิธีบูชามหายัญแก่เรา

          พราหมณ์ปุโรหิตซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์กราบทูลว่า ชนบทของพระองค์ยังมีเสี้ยนหนามยังมีการเบียดเบียนกัน โจรปล้นบ้านก็ดี ปล้นนิคมก็ดี ปล้นเมืองก็ดี โจรทำร้ายในหนทางเปลี่ยวก็ดี ยังปรากฏอยู่ พระองค์ควรจะปราบโจรผู้ร้าย เพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยเสียก่อน แล้วค่อยบูชามหายัญ แต่การปราบปรามโจรด้วยการประหาร จองจำ ปรับไหม ตำหนิ หรือ เนรเทศ วิธีเช่นนี้ ไม่ชื่อว่าเป็นการปราบปรามโดยชอบ เพราะว่าโจรบางพวกที่เหลือจากการถูกกำจัดจักยังมีอยู่ โจรเหล่านั้นก็จักเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ได้


การปราบโจรที่ต้นเหตุคือเศรษฐกิจ
     จากนั้นพราหมณ์ปุโรหิตจึงกราบทูลวิธีการปราบโจรโดยชอบ ด้วยการแก้ปัญหาความยากจนหรือปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหา โดยปุโรหิตได้ถวายคำแนะนำพระราชาว่า ให้ช่วยเหลือคนระดับล่าง 3 กลุ่มซึ่งขยันทำมาหากิน ดังนี้

        (1) เกษตรกรคนใด ขยันทำงาน ขอพระองค์จงเพิ่มข้าวปลูกและข้าวกินให้แก่พวกเขาในโอกาสอันสมควร

        (2) พ่อค้าคนใด ขยันทำงาน ขอพระองค์จงเพิ่มทุนให้แก่พวกเขาในโอกาสอันสมควร

     (3) ข้าราชการคนใด ขยันทำงาน ขอพระองค์จงพระราชทานเบี้ยเลี้ยง และ พระราชทานเงินเดือนให้แก่พวกเขาในโอกาสอันสมควร

        ปุโรหิตกราบทูลอีกว่า หากพระองค์ทำอย่างนี้ พลเมืองเหล่านั้นจักเป็นผู้ขวนขวายในการงานของตนๆ จักไม่เบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ กองพระราชทรัพย์อันเกิดจากภาษีอากรจำนวนมากจักเกิดแก่พระองค์ บ้านเมืองก็จะตั้งมั่นอยู่ในความเกษม ไม่มีการเบียดเบียนกันพลเมืองจักไม่ต้องปิดประตูเรือนอยู่ ต่อมาเมื่อพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงทำตามคำแนะนำของพราหมณ์ปุโรหิตแล้ว ก็ปรากฏว่าได้ผลเช่นนั้นจริง

 
การขอความร่วมมือกลุ่มคนระดับบน

      หลังจากที่บ้านเมืองสงบเรียบร้อยแล้ว เมื่อเศรษฐกิจฟนตัวดีแล้ว พระเจ้ามหาวิชิตราชจึงตรัสถามวิธีบูชามหายัญกับพราหมณ์ปุโรหิตๆ จึงกราบทูลให้พระราชาขอความเห็นชอบ และขอความร่วมมือเรื่องการบูชามหายัญจากคนระดับบน 4 กลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลมากต่อการเมืองการปกครองเพื่อเป็นบริวารของยัญ ดังนี้

        (1) อนุยนตกษัตริย์ หมายถึง กษัตริย์ประเทศราช

        (2) อำมาตย์ราชบริพาร หมายถึง ข้าราชการผู้ใหญ่

        (3) พราหมณ์มหาศาล หมายถึง พราหมณ์ที่มีฐานะร่ำรวย

        (4) คหบดีผู้มั่งคั่ง หมายถึง พวกพ่อค้าที่มีฐานะร่ำรวย

    พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลให้พระราชาเรียกชนทั้ง 4 กลุ่มนี้ ซึ่งเป็นชาวเมืองและชาวชนบทในพระราชอาณาเขตของพระองค์มาปรึกษาว่า เราปรารถนาจะบูชายัญ ขอท่านจงร่วมมือกับเรา เมื่อพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงทำอย่างนั้น ชนทั้ง 4 เหล่านั้น กราบทูลว่า ขอพระองค์จงบูชายัญเถิด บัดนี้เป็นการสมควรที่จะบูชายัญ


คุณสมบัติของผู้ปกครองประเทศ
       นอกจากนี้ พราหมณ์ปุโรหิตยังได้กล่าวถึงคุณสมบัติของพระเจ้าวิชิตราช 8 ประการว่าจัดเป็นบริวารของยัญด้วย โดยคุณสมบัติเหล่านี้ ถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้นำหรือผู้ปกครองประเทศ

        (1) ทรงมีชาติตระกูลดี ไม่มีใครติเตียนได้

        (2) ทรงมีบุคลิกดีคือ มีพระรูปงาม มีพระฉวีวรรณและพระรูปคล้ายพรหม น่าดู น่าชม

        (3) ทรงมั่งคั่งมีทรัพย์มาก

        (4) ทรงสมบูรณ์ด้วยกองทัพทั้ง 4 เหล่า ที่มีวินัยเคร่งครัด

       (5) ทรงมีพระราชศรัทธา เป็นทายก เป็นทานบดี เป็นดุจบ่อที่ลงดื่มของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก และยาจก

        (6) ทรงศึกษามามาก

        (7) ทรงแตกฉานในความรู้ที่ได้ศึกษามานั้น

        (8) ทรงเป็นบัณฑิต เฉียบแหลม ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงพระราชดำริถึงเหตุการณ์ในอดีต อนาคต และปัจจุบันได้


คุณสมบัติของที่ปรึกษาผู้นำประเทศ
       ในขณะเดียวกัน พราหมณ์ปุโรหิตก็ยังได้กล่าวถึง คุณสมบัติของตน 4 ประการว่าจัดเป็นบริวารของยัญเช่นกัน โดยคุณสมบัติเหล่านี้ ถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของผู้นำประเทศ

        (1) มีชาติตระกูลดี ไม่มีใครติเตียนได้

        (2) เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนต์ได้มาก แตกฉานในคัมภีร์ทั้งปวงของพราหมณ์และชำนาญในคัมภีร์มหาปุริสลักษณะ

         (3) เป็นผู้มีศีลอันมั่นคง

         (4) เป็นบัณฑิต เฉียบแหลม มีปัญญามาก


วิธีบูชายัญเพื่อให้บังเกิดผลไพบูลย์
        หลังจากนั้น พราหมณ์ปุโรหิตก็ได้แสดงยัญวิธี 3 ประการ อันเป็นข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการรักษาใจให้ผ่องใสปราศจากวิปฏิสารคือความเดือนร้อนใจ กังวลใจ เพราะเสียดายทรัพย์ในขณะที่พระราชาบูชายัญ โดยยัญในที่นี้หมายถึง "การให้ทานแก่ประชาชน"

     (1) เมื่อทรงบูชายัญคือให้ทานอยู่ ความเดือดร้อนใจว่า กองโภคสมบัติใหญ่จักหมดเปลือง อย่าพึงมีแก่พระองค์

       (2) เมื่อทรงบูชายัญคือให้ทานอยู่ ความเดือดร้อนใจว่า กองโภคสมบัติใหญ่กำลังหมดเปลืองไปอยู่ อย่าพึงมีแก่พระองค์

        (3) เมื่อทรงบูชายัญคือให้ทานอยู่ ความเดือดร้อนใจว่า กองโภคสมบัติใหญ่ได้หมดเปลืองไปแล้ว อย่าพึงมีแก่พระองค์


กุศลกรรมบถคือคุณสมบัติของคนดี
      นอกจากนี้ พราหมณ์ปุโรหิตยังได้กำจัดความเดือดร้อนใจ อันจะเกิดขึ้นแก่พระราชาว่าทั้งคนดีและคนไม่ดี ต่างก็จักมาสู่ยัญพิธีหรือโรงทานของพระองค์ พวกคนที่ไม่ดีจักได้รับผล เพราะกรรมของเขาเอง ขอทรงตั้งพระทัยเจาะจงให้เฉพาะคนที่ดีเท่านั้น และทรงทำพระทัยให้ผ่องใสเถิด คนดีในที่นี้หมายถึง คนที่ประกอบกุศลกรรมบถ 10 ซึ่งได้อธิบายไว้แล้วในหัวข้อ "หลักธรรมสำคัญในการปกครอง"


ยัญพิธีสำเร็จด้วยการให้ทานเว้นการฆ่าสัตว์
       ในยัญพิธีนั้น แตกต่างจากยัญพิธีของพราหมณ์เหล่าอื่นในยุคนั้นคือ ไม่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่สุกร และสัตว์นานาชนิด ไม่ต้องตัดต้นไม้มาทำเป็นหลักยัญ ชนที่เป็นทา เป็นคนใช้เป็นกรรมกร ก็มิได้ถูกอาญาคุกคาม มิได้มีหน้านองด้วยน้ำตา ร้องไห้กระทำการงาน คนที่ปรารถนาจะกระทำจึงกระทำ ไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องกระทำ ปรารถนาจะกระทำการงานใดก็กระทำการงานนั้น ไม่ปรารถนาจะกระทำการงานใด ก็ไม่ต้องทำการงานนั้น ยัญนั้นได้สำเร็จแล้วด้วยการให้วัตถุเป็นทาน คือ เนยใส น้ำมัน เนยข้น นม ส้ม น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เท่านั้น

กลุ่มคนระดับบนช่วยพระราชาบริจาคทาน
      เมื่อพระเจ้าวิชิตราชทรงบูชามหายัญ คือการบริจาคทานอยู่ พวกกษัตริย์ประเทศราชพวกอำมาตย์ราชบริพาร พวกพราหมณ์มหาศาล พวกคหบดีผู้มั่งคั่ง ซึ่งเป็นชาวเมืองและชาวชนบท ต่างก็พากันนำทรัพย์มากมายมาเข้าเฝ้าแล้วกราบทูลว่า พวกข้าพระพุทธเจ้าได้นำทรัพย์มาถวายเฉพาะพระองค์ พระเจ้ามหาวิชิตราชตรัสว่า อย่าเลย แม้ทรัพย์เป็นอันมากนี้ของข้าพเจ้า ก็ได้รวบรวมมาแล้วจากภาษีอากรที่เป็นธรรม พวกท่านจงนำทรัพย์จากที่นี้เพิ่มไปอีก

        กษัตริย์ประเทศราชเป็นต้นเหล่านั้น เมื่อถูกพระราชาปฏิเสธ ต่างคิดร่วมกันว่า การที่พวกเราจะรับทรัพย์เหล่านี้กลับคืนไป ไม่ มควรเลย พระเจ้ามหาวิชิตราชกำลังทรงบูชามหายัญอยู่ พวกเรามาบูชายัญตามเสด็จพระองค์บ้าง ด้วยเหตุนี้ พวกอนุยนตกษัตริย์ ก็ได้บำเพ็ญทานทางทิศตะวันออกแห่งหลุมยัญ พวกอำมาตย์ราชบริพารได้บำเพ็ญทานทางทิศใต้แห่งหลุมยัญพวกพราหมณ์มหาศาลได้บำเพ็ญทานทางทิศตะวันตกแห่งหลุมยัญ และพวกคหบดีผู้มั่งคั่งได้บำเพ็ญทานทางทิศเหนือแห่งหลุมยัญ

        เมื่อพระเจ้าวิชิตราชแก้ปัญหาสังคมและปกครองบ้านเมืองด้วยวิธีการอย่างนี้ จึงทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป พลเมืองเป็นผู้ขวนขวายในการงานของตนๆ ไม่เบียดเบียนกันและกัน ทำให้กองพระราชทรัพย์อันเกิดจากภาษีอากรมีจำนวนมาก บ้านเมืองก็ตั้งมั่นอยู่ในความเกษม หาเสี้ยนหนามมิได้ ประชาชนชื่นชมยินดีต่อกันไม่ต้องปิดประตูเรือนอย

 


*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.029255533218384 Mins