สรรพศาสตร์ในทางโลก "รัฐศาสตร์"

วันที่ 08 พค. พ.ศ.2560

สรรพศาสตร์ในทางโลก
รัฐศาสตร์

GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก , รัฐศาสตร์

1.) ความหมายของรัฐศาสตร์
      รัฐศาสตร์เป็นสาขาหนึ่งในหมวดสังคมศาสตร์ ศึกษาเกี่ยวกับปรากฏการณ์และพฤติกรรมของสังคมทางด้านการเมืองและการปกครอง คำว่า "รัฐศาสตร์" ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า "Political science" มีรากศัพท์มาจากภาษาเยอรมันว่า "staatswissenschaft" (สตาตวิเซนชาฟต์) แปลตามตัวอักษรได้ว่า "ศาสตร์แห่งรัฐ"

        คำว่า "รัฐ" เป็นองค์การทางการเมืองอย่างหนึ่ง หมายถึง กลุ่มคนหรือชุมชนทางการเมืองซึ่งอาศัยอยู่รวมกันอย่างเป็นระเบียบในดินแดนหรืออาณาเขตแน่นอน มีรัฐบาลและอำนาจอธิปไตยของตนเองสามารถบริหารกิจการทั้งหลายทั้งภายในและภายนอกรัฐโดยอิสระพ้นจากการควบคุมของรัฐภายนอก

        "รัฐ" เป็นองค์การทางการเมืองสูงสุดและสำคัญที่สุด ไม่มีองค์การใดเทียบเท่าคำว่ารัฐในทางรัฐศาสตร์ หมายถึง ประเทศหรือชาติ แต่เมื่อกล่าวถึงคำว่า "ประเทศ" เรามักจะเน้น ในเรื่อง ภาพทางภูมิศาสตร์ เมื่อใช้คำว่า "ชาติ" เรามักจะเน้นในเรื่องของคน เช่น เชื้อชาติ เป็นต้น ส่วนเมื่อพูดถึงคำว่า "รัฐ" เรามักจะเน้นถึงสภาวะทางการเมืองคำว่าประเทศและชาติจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของรัฐเท่านั้น

          รัฐศาสตร์ จึงหมายถึง ศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องการเมืองและการปกครองนั่นเอง


2.) องค์ประกอบของรัฐ
       "รัฐ" ในทางรัฐศาสตร์จะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ประการคือ ประชากร อาณาเขตหรือดินแดนที่แน่นอน รัฐบาล และอำนาจอธิปไตย

        2.1) ประชากร คำว่า ประชากรในที่นี้ หมายถึง ประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัฐใดรัฐหนึ่งและมีถิ่นฐานที่ทำมาหากินอยู่ในรัฐนั้นเป็นผู้ถือสัญชาติของรัฐนั้นนอกจากนี้ยังรวมถึงคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในรัฐนั้นด้วย

         2.2) อาณาเขต หรือ ดินแดนที่แน่นอน เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของรัฐหากมีแต่กลุ่มคนแต่ไม่มีดินแดนอาศัยเป็นของตนเองแล้วก็ไม่อาจถือเป็นรัฐได้

   2.3) รัฐบาล เป็นองค์กรปกครองของรัฐที่มีอำนาจบริหารประเทศ ตามปกติรัฐบาลประกอบด้วยฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ และจะมีหน่วยงานย่อยลงไปเรียกว่าหน่วยงานทางการปกครอง รัฐบาลมี 2 ระดับ คือ ระดับนโยบาย ได้แก่ คณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาลและระดับปฏิบัติการ ได้แก่ กระทรวง ทบวง กรมและหน่วยงานปกครองย่อยลงไป

       2.4) อำนาจอธิปไตย เป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศสำหรับใช้ในการดำเนินงานของรัฐทั้งกิจการภายในและภายนอกโดยอิสระ เช่น อำนาจในการบังคับบัญชาประชาชนของตนและพลเมืองของรัฐอื่นที่เข้ามาในดินแดนของตน การใช้อำนาจอธิปไตยนี้มักจะออกมาในรูปของกระบวนการทางกฎหมาย ในรัฐๆ หนึ่งจะมีอำนาจอธิปไตยเพียง "หน่วยเดียว" การแบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็น อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และ อำนาจตุลาการ เป็นการแบ่งเพื่อความสะดวกว่า องค์กรใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยส่วนไหนเท่านั้น

        "อำนาจนิติบัญญัติ" นั้นเป็นอำนาจในการบัญญัติกฎหมาย โดยมี "รัฐสภา" อันประกอบด้วยสมาชิก ภาซึ่งได้รับเลือกตั้งจากประชาชนให้เข้ามาทำหน้าที่บัญญัติกฎหมาย "อำนาจบริหาร" เป็นอำนาจในการบริหารประเทศตามกรอบของกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติจัดทำขึ้นผู้ใช้อำนาจนี้ ได้แก่ "คณะรัฐมนตรี" และ "ข้าราชการประจำ"ส่วน "อำนาจตุลาการ" นั้นเป็นอำนาจในการตัดสินคดีกรณีที่มีการทำผิดกฎหมายและมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นซึ่งจะประกอบด้วยศาลต่างๆ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ, ศาลยุติธรรม, ศาลปกครอง และศาลทหาร


3.) ระบอบการเมืองการปกครอง
    หลังจากที่มนุษย์ได้สละสภาพการมีชีวิตอยู่ตามธรรมชาติแล้วเข้ามาอยู่รวมกันเป็นสังคมและได้จัดตั้งองค์การทางการเมืองขึ้น มนุษย์ทั้งหลายก็ได้ร่วมกันกำหนดกฎเกณฑ์และวางแนวปฏิบัติเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองการปกครอง ชุมชนทางการเมืองที่เป็นระบบนี้เรียกว่า ระบอบการเมืองการปกครอง (Political System) การศึกษาระบอบการเมืองการปกครองนั้นได้มีมาเป็นเวลานับพันปีแล้ว เมื่อเวลาได้ล่วงเลยมาถึงปัจจุบันระบอบการเมือง การปกครองก็ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้

3.1) ระบอบการเมืองการปกครองในอดีต
       ระบอบการเมืองการปกครองในอดีตตามแนวคิดของเพลโตและอริสโตเติลแบ่งเป็น 3 แบบ คือ การปกครองโดยคนคนเดียว การปกครองโดยคณะบุคคลจำนวนน้อย และการปกครองโดยคนส่วนใหญ่หรือคนทั้งหมด

         การปกครองโดยคนคนเดียว คือ ราชาธิปไตย หมายถึง การปกครองที่อำนาจในการปกครองอยู่ที่คนเพียงคนเดียวคือกษัตริย์ เพลโตและอริสโตเติลเห็นว่า ราชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดถ้าหากสามารถหากษัตริย์ที่ดีได้ แต่ถ้าหากเป็นการปกครองโดยกษัตริย์ที่ไม่ดี ก็จะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง

          การปกครองโดยคณะบุคคลจำนวนน้อย คือ ระบอบอภิชนาธิปไตย หรือคณาธิปไตยเป็นการปกครองโดยคณะบุคคลจำนวนน้อยซึ่งมีความรู้ความสามารถ หรือมีฐานะดีในสังคมอาจมีจุดมุ่งหมายการปกครองเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทั้งหมด หรือปกครองโดยคำนึงถึงประโยชน์ของตนเองและพรรคพวกของตนเป็นสำคัญ

           การปกครองโดยคนส่วนใหญ่หรือคนทั้งหมด เพลโตเรียกระบอบการปกครองแบบมีอำนาจปกครองอยู่ที่คนส่วนใหญ่ในรัฐที่ใช้กฎหมายเป็นหลักในการปกครองว่า ประชาธิปไตยในขณะที่อริ โตเติลเห็นว่า การปกครองที่เขาเรียกว่าประชาธิปไตยนั้นเป็นการปกครองที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ของผู้ปกครองคือ ฝ่ายข้างมาก เป็นการปกครองโดยคนส่วนใหญ่เพื่อคนส่วนใหญ่

3.2) ระบอบการเมืองการปกครองในปัจจุบัน
      ระบอบการเมืองการปกครองตามแนวคิดของเพลโตและอริสโตเติลนี้ใช้กันมาเป็นเวลานานหลายสิบศตวรรษ แต่ในปัจจุบันนิยมแบ่งการเมืองการปกครองเป็น 2 ระบอบใหญ่ๆ คือ ระบอบประชาธิปไตย และ ระบอบเผด็จการ

ระบอบประชาธิปไตย
         คำว่า ประชาธิปไตย ในภาษาไทยมาจากคำว่า ประชา หมายถึง ประชาชน กับคำว่าอธิปไตย หมายถึง อำนาจสูงสุด คำว่าประชาธิปไตยตรงกับคำว่า Democracy ในภาษาอังกฤษซึ่งมีความหมายว่า การปกครองที่อำนาจสูงสุดในการปกครองเป็นของประชาชน

หลักการของระบอบประชาธิปไตย
      (1) หลักเหตุผล ระบอบนี้เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีปัญญาและเหตุผลของตนเอง จึงมีการวางหลักให้มีการประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นกันและใช้เหตุผลในการตัดสินใจปัญหาต่างๆ

        (2) หลักเสรีภาพ ระบอบนี้ถือว่าเสรีภาพเป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นสิ่งเกื้อกูลให้มนุษย์สามารถใช้สติปัญญาความสามารถและเหตุผลอย่างเต็มที

         (3) หลักความเสมอภาค ซึ่งเป็นความเสมอภาคในทางการเมืองและกฎหมาย โดยทางการเมืองนั้นทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการออกเสียงเลือกตั้ง ในทางกฎหมายนั้นจะมีการคุ้มครองประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

        (4) หลักความยินยอม หมายถึง การที่ประชาชนยินยอมให้ผู้แทนที่ตนได้ลงคะแนนเลือกเข้าไปทำหน้าที่บัญญัติกฎหมายและบริหารประเทศ แต่ถ้าผู้แทนนั้นๆ ไม่ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของประชาชน ประชาชนก็มีสิทธิ์ถอดถอนและสับเปลี่ยนรัฐบาลได้

       (5) หลักเสียงข้างมาก โดยอุดมคติแล้วในการตัดสินปัญหาใดๆ ระบอบนี้ต้องการสร้างความเห็นพ้องต้องกัน แต่ในทางปฏิบัติการอาศัยเสียงเป็นเอกฉันท์อาจทำไม่ได้ ระบอบนี้จึงยอมรับความเห็นของเสียงข้างมากเป็นแนวทางในการตัดสินใจ

      (6) หลักการปกครองโดยยึดกฎหมาย กล่าวคือ มีการวางหลักและกฎเกณฑ์ต่างๆในรูปของตัวบทกฎหมายไว้เป็นที่แน่นอน เพื่อใช้เป็นหลักในการบริหารประเทศ

ระบอบเผด็จการ
      แนวคิดแบบเผด็จการมีลักษณะตรงข้ามกับประชาธิปไตย เช่น ไม่ศรัทธาและเชื่อมั่นในสติปัญญา เหตุผลและความสามารถของมนุษย์ในการแก้ปัญหาของตนเอง ไม่ยอมรับเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันของมนุษย์ เชื่อว่าอำนาจในการปกครองเป็นเรื่องของผู้ปกครอง ประชาชนทั่วไปมีหน้าที่ปฏิบัติตามเท่านั้น ปรัชญาเผด็จการถือว่า อำนาจคือธรรม

หลักการของระบอบเผด็จการ
            (1) จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

             (2) รวมอำนาจไว้ในมือของตนคนเดียวหรือคณะเดียว ยึดหลัก "ผู้นำนิยม"

             (3) ใช้ระบบป้องกันและควบคุมสังคมอย่างเข้มงวดกวดขัน

     (4) กำหนดให้มีศูนย์อำนาจในการปกครองเพียงองค์กรเดียวคือรวมอำนาจทั้งนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการไว้กับอำนาจบริหาร

          (5) ใช้อำนาจรุนแรงในการขจัดปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ในกรณีที่มีกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดไม่เห็นด้วยกับกลุ่มที่ครองอำนาจอยู่ กลุ่มเหล่านั้นก็จะต้องถูกกวาดล้างอย่างเด็ดขาดและรุนแรง

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.01647721529007 Mins