อธิกรณ์ในพระไตรปิฎก

วันที่ 12 พค. พ.ศ.2560

นิติศาสตร์ในพระไตรปิฎก
"อธิกรณ์ในพระไตรปิฎก"

GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก , นิติศาสตร์ในพระไตรปิฎก , อธิกรณ์ในพระไตรปิฎก , อธิกรณ์

     คำว่า อธิกรณ์ หมายถึง เรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว จะต้องจัดทำ คือ เรื่องที่สงฆ์จะต้องดำเนินการซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็น "คดี" คือ เป็นปัญหาข้อขัดแย้ง และส่วนที่เป็นกิจธุระต่างๆ อธิกรณ์นั้นมี 4 ประการ คือ วิวาทาธิกรณ์  วิวาทกันเรื่องพระธรรมวินัย, อนุวาทาธิกรณ์  การโจทกันด้วยอาบัติ,อาปัตตาธิกรณ์  อาบัติและการแก้ไขอาบัติ และกิจจาธิกรณ์  กิจที่สงฆ์พึงทำ

1. วิวาทาธิกรณ์  วิวาทกันเรื่องพระธรรมวินัย
     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงวิวาทาธิกรณ์ว่า เป็นเรื่องที่ภิกษุทั้งหลายวิวาทกันด้วยเรื่องธรรมวินัย 9 ประการนี้คือ

(1) นี้เป็นธรรม นี้ไม่เป็นธรรม
(2) นี้เป็นวินัย นี้ไม่เป็นวินัย
(3) นี้พระตถาคตเจ้าตรัสไว้ นี้พระตถาคตเจ้าไม่ได้ตรัสไว้
(4) นี้พระตถาคตเจ้าทรงประพฤติมา นี้พระตถาคตเจ้าไม่ได้ทรงประพฤติมา
(5) นี้พระตถาคตเจ้าทรงบัญญัติไว้ นี้พระตถาคตเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติไว้
(6) นี้เป็นอาบัติ นี้ไม่เป็นอาบัติ
(7) นี้เป็นอาบัติเบา นี้เป็นอาบัติหนัก
(8) นี้เป็นอาบัติมีส่วนเหลือ คือ ต้องเข้าแล้วยังไม่ขาดจากความเป็นภิกษุ นี้เป็นอาบัติหาส่วนเหลือมิได้ คือ ต้องเข้าแล้วขาดจากความเป็นภิกษุ
(9) นี้เป็นอาบัติชั่วหยาบ นี้เป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ

     เมื่อภิกษุทั้งหลายวิวาทกันด้วยเหตุ 9 ประการนี้แล้ว ทำให้เกิดความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความทุ่มเถียง และ การกล่าวเพื่อความกลัดกลุ้มใจ เป็นต้น

  มูลเหตุหรือสาเหตุในระดับรากเหง้าที่ทำให้เกิดวิวาทาธิกรณ์เหล่านี้ขึ้นนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าคือ กิเลสทั้ง 3 ตระกูล คือ โลภ โกรธ หลง อันแสดงออกมาในรูปของความมักโกรธ ความลบหลู่ ตีเสมอ อิสาคือความหึงหวงและความชิงชัง ความตระหนี่ ความอวดดีเจ้ามายา ความปรารถนาลามก มีความเห็นผิด และการเป็นผู้ถือความเห็นของตนอย่างแน่นแฟ้นภิกษุรูปใดที่เป็นเช่นนี้ จะเป็นเหตุให้ไม่มีความเคารพยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ และย่อมไม่มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม จะยังการวิวาทให้เกิดในสงฆ์

     นอกจากกิเลสทั้ง 3 ตระกูล คือ โลภ โกรธ หลง ดังกล่าวแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังตรัสว่า การวิวาทกันในเรื่องธรรมวินัยนั้น บางครั้งเกิดขึ้นจากจิตที่เป็นกุศลคือ จิตที่ไม่โลภ ไม่โกรธ และไม่หลง กล่าวคือ การวิวาทในลักษณะนี้อาจจะเริ่มต้นด้วยการ นทนาธรรมกันตามปกติ แต่เมื่อเกิดความเห็นขัดแย้งกันจึงนำไปสู่การวิวาทกันได้


2. อนุวาทาธิกรณ์  การโจทกันด้วยอาบัติ
    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ย่อมโจทคือฟ้องร้องภิกษุด้วยศีลวิบัติหรืออาบัติคือการผิดศีล, อาจารวิบัติคือมารยาทเสื่อมเสีย, ทิฐิวิบัติคือความเห็นผิด, อาชีววิบัติคือการเลี้ยงชีพในทางที่ผิด เช่น การใบ้หวย การเป็นหมอดู การเป็นหมอรักษาโรคการประกอบอาชีพอย่างฆราวาสอื่นๆ เป็นต้น นี้เรียกว่าอนุวาทาธิกรณ์

   มูลเหตุแห่งอนุวาทาธิกรณ์นั้นมีอย่างน้อย 4 ประการ ใน 2 ประการแรก คือ เหมือนกับมูลเหตุแห่งวิวาทาธิกรณ์คือ กิเลสทั้ง 3 ตระกูลคือ โลภ โกรธ หลง อันแสดงออกมาในรูปของความมักโกรธ ความลบหลู่ ตีเสมอ ฯลฯ เป็นเหตุให้จ้องเอาผิดกันแล้วจึงโจทด้วยอาบัติ เป็นต้นและ มูลเหตุเกิดขึ้นจากจิตที่เป็นกุศล กล่าวคือ โจทด้วยความหวังดี เพื่อให้ผู้ที่ถูกโจทปรับปรุงตัวจะได้มีความเจริญรุ่งเรืองในพระธรรมวินัย

    ส่วนมูลเหตุแห่งอนุวาทาธิกรณ์อีก 2 ประการ คือ ร่างกาย และวาจา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุบางรูปเป็นผู้มีผิวพรรณน่ารังเกียจ ไม่น่าดู มีรูปร่างเล็ก มีอาพาธมาก เป็นคนบอด ง่อย กระจอก หรือ อัมพาต อันจะเป็นเหตุให้มีความประพฤติบางอย่างไม่เหมาะสมเพราะความบกพร่องของร่างกายดังกล่าว เพื่อนสหธรรมิกที่ไม่เข้าใจอาจจะโจทท่านได้ส่วนเรื่องวาจานั้น คือ ภิกษุบางรูปเป็นคนพูดไม่ดี พูดไม่ชัด พูดระราน ภิกษุทั้งหลายย่อมโจทภิกษุนั้นด้วยวาจาคือคำพูดไม่ดีของท่านได้


3. อาปัตตาธิกรณ์  อาบัติและการแก้ไขอาบัติ
   อาปัตตาธิกรณ์ คำว่า "อาบัติ" หมายถึง การล่วงละเมิดสิกขาบทหรือศีลที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้ โดยมีชื่อ 7 กอง คือ ปาราชิกสังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ และ ทุพภาษิต

  อาบัติปาราชิก อาบัติสังฆาทิเสสสอาบัติปาจิตตีย์ และอาบัติปาฏิเทสนียะนั้นเป็นอาบัติที่มีชื่อตรงกับชื่อสิกขาบท โดยสิกขาบทนิสัคคิยปาจิตตีย์กับสิกขาบทปาจิตตีย์นั้น มีชื่ออาบัติว่า "ปาจิตตีย์" เหมือนกัน

      สำหรับ "ถุลลัจจัย" แปลว่า ความล่วงละเมิดที่หยาบ เป็นอาบัติที่หนักรองลงมาจากสังฆาทิเสส ถุลลัจจัยนั้นเป็นอาบัติที่มีวัตถุเดียวกันกับอาบัติปาราชิก และ อาบัติสังฆาทิเสส ดังตัวอย่างต่อไปนี้

     ภิกษุจงใจจะอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน แล้วได้กล่าวเท็จว่า ข้าพเจ้าเป็นพระอรหันต์หากคนที่ฟังอยู่เข้าใจจะต้อง "อาบัติปาราชิก" แต่ถ้าคนฟังไม่เข้าใจจะต้อง "อาบัติถุลลัจจัย"

     ภิกษุเห็น ตรีคนหนึ่งและรู้ว่าเป็นสตรี มีความกำหนัดแล้วจับต้อง "ของเนื่องด้วยกาย" ได้แก่ เสื้อผ้าของสตรีคนนั้น กรณีนี้ภิกษุจะต้อง "อาบัติถุลลัจจัย" แต่ถ้าจับต้อง "ร่างกาย"ส่วนใดส่วนหนึ่งของ ตรีนั้นโดยตรงจะต้อง "อาบัติสังฆาทิเสส"

    คำว่า "ทุกกฏ" แปลว่า "ทำไม่ดี" เป็นอาบัติที่มีโทษเบารองจากอาบัติปาฏิเท นียะ โดยสิกขาบทในหมวดเสขิยวัตรทั้งหมดรวมทั้งพระบัญญัติเกี่ยวกับมารยาทอื่นๆ นอกปาฏิโมกข์สังวรศีล หากภิกษุล่วงละเมิดจะต้องอาบัติทุกกฏ

      คำว่า "ทุพภาษิต" แปลว่า "พูดไม่ดี" เป็นอาบัติที่มีโทษเบาที่สุดคือมีโทษเบากว่าทุกกฏ แต่มีความก้ำกึ่งกับทุกกฏพอสมควร เช่น ภิกษุตั้งใจ "จะด่า" เพื่อนภิกษุด้วยกันด้วยการกล่าวกระทบเรื่องผิวพรรณว่า ท่านเป็นคนสูงนัก ท่านเป็นคนต่ำนัก ท่านเป็นคนดำนัก เป็นต้น จะต้อง "อาบัติทุกกฏ" ทุกๆ คำพูด แต่ถ้าไม่ได้คิดจะด่าเพียงแต่ต้องการ "ล้อเล่น" แล้วพูดคำดังกล่าว จะต้อง "อาบัติทุพภาษิต" ทุกๆ คำพูดอาบัติทั้ง 7 กองนี้จัดเป็น 2 ประเภท คือ ครุกาบัติ และลหุกาบัติ

     ครุกาบัติ หมายถึง อาบัติหนัก จัดเป็นอาบัติชั่วหยาบที่เรียกว่า "ทุฏุลลาบัติ"หรืออาบัติที่เป็นโทษล่ำ ได้แก่ ปาราชิก และสังฆาทิเสส ปาราชิกนั้นเป็นอาบัติหนักขั้น "อเตกิจฉา" คือเยียวยาแก้ไขไม่ได้ ซึ่งทำให้ภิกษุผู้ต้องมีโทษถึงที่สุดคือขาดจากความเป็นภิกษุส่วนสังฆาทิเสสเป็นอาบัติหนักขั้น " เตกิจฉา" พอเยียวยาแก้ไขให้กลับเป็นภิกษุปกติได้ด้วย "วุฏฐานคามินี" คือจะพ้นได้ด้วยการอยู่ปริวาสหรืออยู่กรรม

     ลหุกาบัติ หมายถึง อาบัติเบา จัดเป็น "อทุฏุลลาบัติ" คืออาบัติไม่ชั่วหยาบ ได้แก่ อาบัติ 5 กองที่เหลือ ตั้งแต่ถุลลัจจัยลงมา ซึ่งจะแก้ไขได้หรือระงับได้ด้วย "เทสนาคามินี" คือการแสดงหมายถึงเปิดเผยความผิดของตนต่อหน้าพระภิกษุหรือหมู่พระภิกษุคือสงฆ์


4. กิจจาธิกรณ์  กิจที่สงฆ์จะพึงกระทำ
     กิจจาธิกรณ์ หมายถึง กิจที่สงฆ์จะพึงกระทำมี 4 ประการ คือ อปโลกนกรรม ญัตติกรรมญัตติทุติยกรรม และญัตติจตุตถกรรม

   อปโลกนกรรม หมายถึง กรรมคือการบอกเล่ากันในที่ประชุมสงฆ์เพื่อขอความเห็นชอบร่วมกัน เพื่อทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การอปโลกน์กฐิน คือ การที่ตัวแทนสงฆ์แจ้งให้สงฆ์ทราบว่าจะยกผ้ากฐินให้กับพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะสงฆ์ในพิธีกรรมทอดกฐินประจำปี หากพระภิกษุทุกรูปในที่ประชุมสงฆ์เห็นพ้องกันหรือมีมติร่วมกันไม่มีใครคัดค้านพระภิกษุรูปที่ได้รับการเสนอชื่อนั้นก็จะได้ผ้ากฐินนั้นมาใช้สอย

   ญัตติกรรม คำว่า "ญัตติ" แปลว่า คำเผดียงสงฆ์ หมายถึง การประกาศให้สงฆ์ทราบเพื่อทำกิจร่วมกัน ญัตติกรรม หมายถึง กรรมอันกระทำด้วยการตั้งญัตติเพียงอย่างเดียว คือ เพียงแต่ประกาศให้สงฆ์ทราบว่าจะทำกิจนั้นๆ เท่านั้น ไม่มีการขอมติจากคณะสงฆ์เหมือนอปโลกนกรรม เช่น การทำอุโบสถหรือพิธีฟังสวดพระปาฏิโมกข์ เป็นต้น

    ญัตติทุติยกรรม แปลว่า กรรมที่มีญัตติเป็นที่สอง หมายถึง กรรมที่มีวาจาหรือการกล่าวครบ 2 รวมทั้งญัตติ กล่าวคือ เมื่อมีการสวดตั้งญัตติแล้ว จะมีการสวดอนุสาวนา คือ คำสวดประกาศขอมติจากสงฆ์อีกหนึ่งครั้งรวมเป็นสองจึงชื่อว่าญัตติทุติยกรรม เช่น การทำสังคายนาพระไตรปิฎก การสมมติสีมา เป็นต้น

   ญัตติจตุตถกรรม แปลว่า กรรมที่มีญัตติเป็นที่สี่ หมายถึง กรรมที่มีวาจาหรือการกล่าวครบ 4 รวมทั้งญัตติ กล่าวคือ เมื่อมีการ วดตั้งญัตติแล้ว จะมีการ วดอนุสาวนาคือคำสวดประกาศขอมติจากสงฆ์อีก 3 ครั้งรวมเป็นสี่จึงชื่อว่าญัตติจตุตถกรรม ทั้งนี้เพื่อให้คณะสงฆ์มีเวลาพิจารณาหลายเที่ยวว่า จะอนุมัติหรือไม่ ญัตติจตุตถกรรมใช้กับพิธีกรรมที่มีความสำคัญ เช่น การอุปสมบท นิคหกรรม เป็นต้น

    คำว่า "นิคหกรรม" อ่านว่า นิกคะหะกำ มาจากคำว่า "นิคหะ  กรรม" นิคหะ แปลว่า การข่มหรือการลงโทษส่วนกรรม แปลว่า การกระทำ คำว่า นิคหกรรม จึงแปลว่า การกระทำการข่มหรือการกระทำการลงโทษ

    นิคหกรรม เป็นมาตรการลงโทษขั้นที่ 2 หลังจากปรับอาบัติผู้ที่ละเมิดสิกขาบทหรือกฎข้อห้ามอื่นๆ แล้ว นิคหกรรมใช้ในกรณีความผิดที่ร้ายแรง เช่น ก่อการทะเลาะวิวาทบาดหมางทำความอื้อฉาว มีศีลวิบัติ ติเตียนพระรัตนตรัย เล่นคะนอง ประพฤติอนาจาร ลบล้างพระบัญญัติประกอบมิจฉาชีพ เป็นต้น

     สำหรับมูลเหตุแห่งกิจจาธิกรณ์นั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า "สงฆ์เป็นมูลอันหนึ่งแห่งกิจจาธิกรณ์" ทั้งนี้เพราะกิจจาธิกรณ์ หมายถึง กิจที่ "สงฆ์" จะพึงกระทำ ดังนั้นสงฆ์เท่านั้นที่จะให้มีกิจจาธิกรณ์ต่างๆ เกิดขึ้นได้ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเพียงรูปเดียวหรือภิกษุมากกว่าหนึ่งรูปแต่ไม่ครบองค์สงฆ์คือตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปไม่อาจจะทำกิจจาธิกรณ์ได้

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.026080465316772 Mins