การประชุมทบทวนสิกขาบททุกกึ่งเดือน

วันที่ 11 พค. พ.ศ.2560

นิติศาสตร์ในพระไตรปิฎก
"การประชุมทบทวนสิกขาบททุกกึ่งเดือน"


GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก , นิติศาสตร์ในพระไตรปิฎก , การประชุมทบทวนสิกขาบท , พระปาฏิโมกข์

       พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบทหลักๆสำหรับพระภิกษุไว้ 227 ข้อ ซึ่งถือว่ามากอยู่พอสมควร จำเป็นที่พระภิกษุทุกรูปจะต้องศึกษาสิกขาบททั้งหมดให้แตกฉานและจดจำได้อย่างแม่นยำ ด้วยเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงกำหนดให้มีการประชุมทบทวนสิกขาบททุกกึ่งเดือนหรือที่เรียกว่า "ทำอุโบสถ หมายถึง การฟังสวดพระปาฏิโมกข์" โดยจะมีตัวแทนของพระภิกษุหนึ่งรูปซึ่งสามารถจดจำสิกขาบททั้ง 227 ข้อได้อย่างแม่นยำ ขึ้น วดสิกขาบทตั้งแต่ข้อ 1 ถึงข้อที่ 227 ให้ภิกษุทั้งหลายฟัง เพื่อให้แต่ละรูปทบทวนว่าสิกขาบททั้งหมดมีอะไรบ้าง และให้พิจารณาตรวจตราตนเองว่า รักษาศีลได้บริสุทธิ์หรือไม่อย่างไร มีศีลข้อไหนด่างพร้อยไปบ้าง จะได้แก้ไขและสำรวมระวังต่อไป

          ในการฟังสวดพระปาฏิโมกข์นั้น ภิกษุในอาวาสเดียวกันจะต้องมาฟังสวดที่เดียวกันห้ามแยกสวดโดยเด็ดขาดเพื่อความสามัคคี ครั้งหนึ่งพระฉัพพัคคีย์เคยแยกสวดกันเอง เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบจึงตรัสห้ามและบัญญัติว่า ภิกษุใดสวดพระปาฏิโมกข์แยกจากสงฆ์หมู่ใหญ่ต้องอาบัติทุกกฏ หากภิกษุใดมาร่วมฟังสวดพระปาฏิโมกข์ไม่ได้เพราะอาพาธ เป็นต้น พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้มอบปาริสุทธิได้ หมายถึง การบอกแก่เพื่อนสหธรรมิกไปว่าตลอด 15 วันที่ผ่านมาตนเองรักษาศีลได้บริสุทธิ์ แต่ถ้าภิกษุอาพาธหนักไม่สามารถมอบปาริสุทธิได้ พระพุทธองค์ตรัสว่า "...พึงใช้เตียงหรือตั่งหามภิกษุอาพาธนั้น มาในท่ามกลางสงฆ์แล้วทำอุโบสถ...ถ้าพวกภิกษุผู้พยาบาลไข้คิดอย่างนี้ว่า...อาพาธจักกำเริบหนักหรือมิฉะนั้นก็จักถึงมรณภาพ ไม่พึงย้ายภิกษุอาพาธสงฆ์พึงไปทำอุโบสถในสำนักภิกษุอาพาธนั้นแต่สงฆ์เป็นวรรค ไม่พึงทำอุโบสถเลย ถ้าขืนทำต้องอาบัติทุกกฏ"

         จากพระดำรัสนี้แสดงให้เห็นว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับการประชุมฟังสวดพระปาฏิโมกข์มาก ทั้งนี้เพื่อให้ภิกษุแต่ละรูปทบทวนศีลตนเองอยู่เสมอ และเพื่อความสามัคคีกัน แม้เป็นพระอรหันต์ผู้มีศีลบริสุทธิ์ 100 แล้วก็ยังต้องมาทำอุโบสถทุกครั้งดังเช่นเรื่องราวของพระมหากัปปินะดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

       การประชุมทบทวนสิกขาบทอยู่เป็นประจำของพระภิกษุนั้น มีความแตกต่างกันมากกับกฎหมายในทางโลก เพราะรัฐมีการให้ความรู้เรื่องกฎหมายแก่ประชาชนค่อนข้างน้อย ไม่ต้องกล่าวถึงการทบทวนกันเป็นประจำทุก 15 วันเหมือนของบรรพชิต ทั้งๆ ที่กฎหมายเกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคน คนที่รู้กฎหมายจึงมีน้อยมาก แม้แต่คนมีการศึกษาแล้วส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยรู้กฎหมายเท่าที่ควร โดยมากจะใช้สามัญสำนึกว่าสิ่งนี้น่าจะผิดกฎหมายสิ่งนี้น่าจะไม่ผิดกฎหมาย แต่ไม่ได้ศึกษากันอย่างจริงจังและต่อเนื่องอย่างพระภิกษุ

       รัฐบาลถือว่ากฎหมายทุกข้อเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่ต้องรู้ ต้องศึกษา หากทำผิดจะบอกว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ คนทำผิดเพราะไม่รู้กฎหมายก็มีโทษเท่ากับคนทำผิดที่รู้กฎหมาย ทั้งๆ ที่รัฐบาลไม่ค่อยได้ช่วยเหลือในการให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่ประชาชนสักเท่าไร มักจะปล่อยให้เป็นความรับผิดชอบส่วนตัวของประชาชนไป ซึ่งไม่ต่างอะไรกับพ่อแม่บางคนที่ปล่อยให้ลูกรับผิดชอบตนเองเพราะคิดว่า เป็นหน้าที่ของเจ้าที่เกิดมาแล้วต้องศึกษาเรียนรู้โลก จะมาโทษพ่อแม่ไม่ได้ว่าไม่ได้ส่งเสริมการศึกษาแก่ลูก องค์ความรู้เรื่องกฎหมายทางโลกจึงจำกัดอยู่แค่นักกฎหมายหรือผู้ที่ศึกษามาด้านนี้โดยตรงเท่านั้น ซึ่งต่างกันอย่างมากกับองค์กรสงฆ์ที่มีระบบเอื้อให้นักบวชทุกรูปเข้าถึงองค์ความรู้เรื่องสิกขาบททุกข้ออย่างเท่าเทียมกัน

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.027118682861328 Mins