วิทยาศาสตร์ในพระไตรปิฎก
" เจตคติต่อความรู้ในพระไตรปิฎก "
เจตคติต่อความรู้ที่สำคัญในพระไตรปิฎกซึ่ง สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ คือ อย่าด่วนเชื่ออะไรง่ายๆ โดยที่ยังไม่ได้พิสูจน์ด้วยตนเอง โดยสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เมื่อเสด็จถึงตำบลของพวกกาลามะ ชื่อว่าเกสปุตตนิคม พวกกาลามะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าและได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคม ได้ประกาศว่าลัทธิของตนเท่านั้นที่น่าเชื่อถือ และได้กระทบกระเทียบ ดูหมิ่น ลัทธิของผู้อื่นว่าไม่น่าเชื่อถือ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคม ได้ประกาศว่าลัทธิของตนเท่านั้นที่น่าเชื่อถือ และได้กระทบกระเทียบ ดูหมิ่น ลัทธิของผู้อื่นว่าไม่น่าเชื่อถือ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความสงสัยลังเลใจในสมณพราหมณ์เหล่านั้นว่า "บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ"
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็สมควรที่ท่านทั้งหลายจะสงสัยสมควรที่จะลังเลใจ ท่านทั้งหลายเกิดความสงสัยลังเลใจในสิ่งที่ควรสงสัย จากนั้นพระพุทธองค์ได้ให้หลักอันเป็นเจตคติต่อความรู้ต่างๆ ที่ได้ยินได้ฟังหรือได้ศึกษาไว้ 10 ประการ คือ
1) อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
2) อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบๆ กันมา
3) อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
4) อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
5) อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ คือ การคิดเอาเอง
6) อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน คือ คาดคะเนตามหลักเหตุผล
7) อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
8) อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
9) อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้
10) อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่า ท่านผู้นี้เป็นครูของเรา
จากนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เน้นย้ำว่า "กาลามะทั้งหลาย เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองเท่านั้นว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูลเพื่อทุกข์ เมื่อนั้นท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย"
จากพระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าข้างต้นสรุปได้ว่า อย่าปลงใจเชื่อโดยง่ายไม่ว่าธรรมหรือความรู้ที่ได้ยินได้ฟังนั้นจะน่าเชื่อถือด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม อย่าปลงใจเชื่อจนกว่าเราจะพึงรู้ได้ด้วยตนเองหรือจนกว่าจะได้ทดลองพิสูจน์จนรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมนี้หรือความรู้นี้เป็นกุศลหรืออกุศล มีโทษหรือไม่มีโทษ เมื่อรู้ได้ด้วยตนเองแล้วก็ให้ละธรรมที่มีโทษและปฏิบัติเฉพาะธรรมที่ไม่มีโทษแต่เพียงอย่างเดียว
พระอริยสาวกทั้งหลายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เจริญรอยตามพระดำรัสนี้ เช่น พระสารีบุตร เป็นต้น มัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกพระสารีบุตรมาแล้วตรัสว่า ดูก่อนสารีบุตร เธอเชื่อหรือว่าสัทธินทรีย์ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะมีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด วิริยินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด
พระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ไม่ถึงความเชื่อต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าสัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วย่อมหยั่งลงสู่อมตะมีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด ... ก็อมตะนั้น ข้าพระองค์รู้แล้ว เห็นแล้ว ทราบแล้ว กระทำให้แจ้งแล้ว พิจารณาเห็นแล้วด้วยปัญญา ข้าพระองค์จึงหมดความเคลือบแคลงสงสัยในอมตะนั้นว่าสัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด2
โดยสรุปคือ หากยังไม่ได้เข้าถึงไม่บรรลุด้วยตนเอง ก็เพียงแต่รับฟังไว้ ต่อเมื่อปฏิบัติจนเข้าถึงด้วยตนเองแล้วจึงปักใจเชื่อ โดยปราศจากความเคลือบแคลงสงสัย
เมื่อพระสารีบุตรกล่าวจบ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงตรัสสรรเสริญพระสารีบุตร
กระต่ายตื่นตูมอุทาหรณ์การเชื่อโดยไม่ได้พิสูจน์
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดราชสีห์ อาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง ในสมัยนั้น มีดงตาลปนกับต้นมะตูมอยู่ในที่ใกล้กับทะเล วันหนึ่ง กระต่ายตัวหนึ่งมานอนอยู่ใต้ใบตาล และคิดว่า ถ้าแผ่นดินนี้ถล่ม เราจักไปที่ไหน ขณะนั้นเอง ผลมะตูมสุกผลหนึ่งหล่นลงบนใบตาลนั้น
เพราะเสียงใบตาลนั้นกระต่ายนั้นจึงคิดว่า แผ่นดินถล่มแน่ จึงกระโดดหนีไปไม่เหลียวหลัง กระต่ายตัวอื่นจึงถามว่า ท่านกลัวอะไร กระต่ายตัวนั้นกล่าวว่า แผ่นดินถล่มที่นั่น คราวนั้นกระต่าย 1,000 ตัวได้ร่วมกันหนีตามไป และยังมีสัตว์อื่นๆ อีกจำนวนมากตลอดพื้นที่ 16 กิโลเมตรหนีตามไปด้วยเพราะเชื่อว่าแผ่นดินถล่มจริงๆ
พระโพธิสัตว์เห็นสัตว์เหล่านั้นกำลังหนีอยู่ จึงถามว่า นี่อะไรกัน เมื่อได้ฟังว่า ที่นั่นแผ่นดินถล่ม จึงคิดว่า ธรรมดาแผ่นดินถล่ม ย่อมไม่มีในกาลไหนๆสัตว์เหล่านั้นจักเห็นอะไรบางอย่างเป็นแน่ ถ้าเราไม่ช่วยสัตว์ทั้งปวงจักพินาศ พระโพธิสัตว์จึงวิ่งยังเชิงเขาแล้วบันลือสีหนาทขึ้น 3 ครั้ง ด้วยความกลัวราชสีห์สัตว์เหล่านั้นจึงหยุดวิ่ง ยืนรวมกันอยู่เป็นกลุ่มๆ
ราชสีห์ถามว่า พวกท่านหนีเพื่ออะไรสัตว์เหล่านั้นกล่าวว่า แผ่นดินถล่ม ราชสีห์ถามว่า ใครเห็นแผ่นดินถล่มสัตว์เหล่านั้นกล่าวว่า ช้างรู้ ช้างกล่าวว่า พวกข้าพเจ้าไม่รู้ พวกสีหะรู้ สีหะก็กล่าวว่า พวกข้าพเจ้าไม่รู้ พยัคฆ์รู้ แรด... โค... กระบือ... โคลาน...สุกร... มฤค... พวกมฤคก็กล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่รู้ พวกกระต่ายรู้ พวกกระต่ายจึงบอกว่า กระต่ายตัวนั้นพูด
พระโพธิสัตว์จึงสอบถามกระต่ายตัวนั้น และพาไปดูที่เกิดเหตุไม่เห็นแผ่นดินถล่มแต่พบลูกตาลสุกตกอยู่บนใบตาล จึงบอกเรื่องทั้งหมดให้สัตว์ทั้งหลายทราบ ในกาลนั้น ถ้าพระโพธิสัตว์ไม่ช่วยไว้สัตว์เหล่านั้นจะวิ่งลงสู่ทะเลพากันตายทั้งหมด เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมจบแล้วทรงประชุมชาดกว่า ราชสีห์ในครั้งนั้น คือ เราตถาคต
จากเรื่องกระต่ายตื่นตูมที่กล่าวมานี้จะเห็นว่า การเชื่อโดยไม่ได้พิสูจน์ด้วยตนเองเป็นอันตราย และไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง เจตคติอันนี้เป็นหลักการที่สำคัญอันหนึ่งในพระพุทธศา นาซึ่งเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ อนให้คนเชื่ออย่างงมงาย แต่ทรงสอนให้คนรู้จักใช้ปัญญาในการพิจารณา อนให้รู้จักการพิสูจน์ด้วยตนเอง แต่ทั้งนี้การทดลองพิสูจน์นั้นต้องแยกแยะว่าสิ่งไหนควรพิสูจน์สิ่งไหนไม่ควร เช่น เรื่องยาเสพติด เป็นสิ่งที่ไม่ควรทดลองพิสูจน์ว่ามันไม่ดีอย่างไร เพราะโทษของมันเราเห็นได้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา