ลักษณะของความรู้ในพระไตรปิฎก

วันที่ 12 พค. พ.ศ.2560

วิทยาศาสตร์ในพระไตรปิฎก
" ลักษณะของความรู้ในพระไตรปิฎก "


GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก , วิทยาศาสตร์ในพระไตรปิฎก , วิทยาศาสตร์ , ลักษณะของความรู้ในพระไตรปิฎก ,  อุปติสสปริพาชก , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , พระอัสสชิ

    ลักษณะของความรู้ที่สำคัญในพระไตรปิฎก คือ เป็นความรู้ที่ตั้งอยู่บนหลักเหตุและผลดังที่พระอัสสชิได้แสดงธรรมโดยย่อเรื่อง อริยสัจ 4 ซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาแก่อุปติสสปริพาชกว่า "ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติทรงสั่งสอนอย่างนี้"

      ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ หมายถึง ความทุกข์เกิดจากเหตุ คือ ตัณหา พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น หมายถึง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งทุกข์ คือ ตัณหา และทรงแสดงความดับแห่งทุกข์ คือ นิโรธ ซึ่งหมายรวมถึง มรรคมีองค์ 8 อันเป็นหนทางแห่งความดับทุกข์ด้วย

     อริยสัจ 4 นี้ครอบคลุมคำสอนทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอัสสชิจึงกล่าวกับอุปติสสปริพาชกว่า พระมหาสมณะมีปกติทรงสั่งสอนอย่างนี้ กล่าวคือ ปกติพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอนเรื่องอริยสัจ 4 ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องของการขยายความเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจมากขึ้นเพราะบางคนมีปัญญาน้อย ฟังธรรมโดยย่อเพียง 2 บรรทัด ดังที่พระอั ชิกล่าวแก่อุปติสสปริพาชกไม่อาจเข้าใจได้ส่วนอุปติ ปริพาชกนั้นมีปัญญามากฟังธรรมเพียงแค่นั้นก็เข้าใจและได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อท่านอุปสมบทแล้วชาวพุทธรู้จักท่านในนามพระสารีบุตรเถระ

   การที่ความรู้ในพระไตรปิฎกตั้งอยู่บนหลักเหตุและผลนี้สอดคล้องกับลักษณะของความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง นักวิทยาศาสตร์พยายามศึกษาธรรมชาติเพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดผลคือปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ ขึ้น เมื่อรู้แล้วก็ตั้งเป็นทฤษฎีหรือกฎขึ้นมา และนำกฎหรือทฤษฎีเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน นำมาพัฒนาเป็นเทคโนโลยีต่างๆ เป็นเหตุให้โลกมีความเจริญก้าวหน้า แต่ความรู้ที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบนั้นยังเป็นความรู้ทางโลกิยะ ไม่อาจช่วยให้ผู้ศึกษาพ้นทุกข์ได้ ต่างกับความรู้ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าค้นพบคืออริยสัจ 4 ซึ่งเป็นความรู้ทางโลกุตตระสามารถช่วยให้ผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติพ้นจากทุกข์ได้

    แต่ทั้งนี้ก็มีทฤษฎีที่สำคัญบางทฤษฎีที่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าไม่เป็นไปตามกฎแห่งเหตุผลคือ "ทฤษฎีควอนตัม" ซึ่งมีหลักการว่า ในโลกของสารที่มีขนาดเล็กไม่มีความคงที่สม่ำเสมอ ไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนสิ่งที่สามารถพยากรณ์ได้ในโลกแห่งอนุภาคมีเพียงความน่าจะเป็นเท่านั้น ไอน์สไตน์เองก็กังวลว่า ควอนตัมฟิสิกส์เติบโตโดยไม่เคารพกฎการเรียงลำดับเหตุ (cause) ไปสู่ผล (effect) ไอน์สไตน์มีความเชื่อมั่นว่า ทฤษฎีควอนตัม ยังไม่สมบูรณ์ต้องมีความผิดพลาดบางประการ แต่เขาเองก็อธิบายไม่ได้ว่าทฤษฎีนี้มีความผิดพลาดตรงไหน ซึ่งต้องรอนักฟิสิกส์ในปัจจุบันช่วยกันศึกษาค้นคว้าเพื่อให้เกิดความกระจ่างในเรื่องนี้ต่อไป

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.029144116242727 Mins