เศรษฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก
" เศรษฐศาสตร์ระดับมหภาคในพระไตรปิฎก "
เศรษฐศาสตร์มหภาค คือ การศึกษาเศรษฐกิจทั้งระบบ หรือศึกษาภาพรวมเศรษฐกิจทั้งประเทศนั่นเอง ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่โดยตรงในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐศาสตร์มหภาคในพระไตรปิฎกนั้นปรากฎอยู่ในรูปการบริหารเศรษฐกิจของกษัตริย์หรือคณะผู้ปกครองแคว้นต่างๆ ในอดีต เช่น พระเจ้าจักรพรรดิ กษัตริย์ และคณะเจ้าต่างๆ เป็นต้น
จากที่กล่าวถึงสาเหตุแห่งความร่ำรวยในหัวข้อเศรษฐศาสตร์จุลภาคว่า เกิดจากอริยทรัพย์คือบุญและการขวนขวายสร้างฐานะตามหลักหัวใจเศรษฐี ได้แก่ ความขยันทำมาหากินรู้จักเก็บรักษาทรัพย์ คบมิตรดี และใช้จ่ายอย่างพอดีส่วนความยากจนก็เกิดจากการไม่สั่งสมอริยทรัพย์คือบุญและไม่ขวนขวายสร้างฐานะ
เบื้องหลังของเศรษฐกิจในระดับประเทศก็เกิดจากสาเหตุ 2 ประการดังกล่าว คือ บุญโดยรวมของคนทั้งประเทศ และ การขวนขวายสร้างฐานะของคนทั้งประเทศ หากประเทศใดที่บุญโดยรวมของคนทั้งประเทศมีมาก และประชาชนโดยส่วนใหญ่ขวนขวายในการสร้างฐานะสภาพเศรษฐกิจของประเทศนั้นก็จะดีอยู่ในระดับแถวหน้าของโลกส่วนประเทศใดที่บุญโดยรวมของคนทั้งประเทศมีน้อยและประชาชนโดยส่วนใหญ่ก็ไม่ขวนขวายสร้างฐานะสภาพเศรษฐกิจของประเทศนั้นก็จะไม่ดี
อย่างไรก็ตามรัฐบาลหรือคณะผู้ปกครองแต่ละประเทศก็มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารจัดการเศรษฐกิจของประเทศ โดยหลักการบริหารนั้นจะต้องส่งเสริมประชาชนในสิ่งที่สำคัญ 2 ประการ คือ
1) ส่งเสริมประชาชนให้มีความเข้าใจเรื่องบุญและสั่งสมบุญมากๆ
2) ส่งเสริมประชาชนให้ขวนขวายสร้างฐานะด้วยหลักหัวใจเศรษฐี อันหมายรวมถึงการส่งเสริมประชาชนให้ประกอบอาชีพที่ไม่ผิดศีลธรรม เช่น มิจฉาวณิชชา และควบคุมกำจัดแหล่งอบายมุขทั้งหลาย
หากประเทศใดผู้ปกครองปฏิบัติตามหลักการทั้ง 2 ประการนี้ จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศดี เติบโตอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่งมั่นคง
วิธีการบริหารเศรษฐกิจในระดับมหภาคของกษัตริย์หรือคณะผู้ปกครองแคว้นต่างๆ ในพระไตรปิฎกนั้น ปรากฎชัดเจนในกูฏทันตสูตรว่าด้วยการบริหารเศรษฐกิจของพระเจ้ามหาวิชิตราช ซึ่งกล่าวไว้แล้วในบทที่ 6 เรื่องรัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎกสำหรับบทนี้จะกล่าวถึงอีกครั้งโดยเน้นเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ และจะกล่าวเสริมวิธีการบริหารเศรษฐกิจในสมัยพุทธกาลด้วย
การบริหารเศรษฐกิจของพระเจ้ามหาวิชิตราช
จากเนื้อหาในกูฏทันตสูตรซึ่งกล่าวไว้ว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงทำสงครามแผ่ขยายอาณาจักรออกไปกว้างขวาง ผลของสงครามทำให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ จนเกิดปัญหาโจรปล้นบ้านปล้นเมือง โจรเหล่านี้เป็นโจรเพราะความยากจนบีบคั้น ไม่ได้เป็นโจรเพราะสันดานคือความโลภบีบคั้น พระโพธิสัตว์ในฐานะเป็นปุโรหิตมองเห็นปัญหานี้ได้ทะลุปรุโปร่งจึงถวายคำแนะนำพระราชาให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมประชาชนให้ขวนขวายทำมาหากินโดยช่วยเหลือคนระดับล่าง 3 กลุ่มซึ่งขยันทำมาหากินดังนี้
1) เพิ่มข้าวปลูกและข้าวกินให้แก่เกษตรกรที่ขยันทำงานในโอกาสอันสมควร
2) เพิ่มทุนให้แก่พ่อค้าที่ขยันทำงานในโอกาสอันสมควร
3) พระราชทานเบี้ยเลี้ยง และพระราชทานเงินเดือนให้แก่ข้าราชการที่ขยันทำงานในโอกาสอันสมควร
การที่พระเจ้ามหาวิชิตราชช่วยเหลือคนระดับล่าง 3 กลุ่มที่ขยันทำมาหากินนี้ เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเหล่านี้ขยันทำงานยิ่งๆ ขึ้นไป วิธีการบริหารเศรษฐกิจแบบนี้จึงตรงกับหลักหัวใจเศรษฐีข้อที่ 1 คือ อุฏฐานสัมปทา หรือ ขยันหาทรัพย์ แต่เป็นการส่งเสริมอุฏฐานสัมปทานี้ให้ขยายวงกว้างออกไปทั่วประเทศ ทำให้คนที่ขยันได้รับการสนับสนุน มีโอกาสใช้ความเพียรและความสามารถของตนได้อย่างเต็มที่ และทรัพย์เมื่อให้กับคนที่ขยันแล้วก็จะทำให้เกิด การงอกงามสูง เศรษฐกิจจะเกิดการไหลเวียนสะพัดส่งผลไปถึงคนอื่นในสังคมด้วย และรัฐเองก็จะได้รับภาษีอากรกลับคืนมาจำนวนมาก หากบริหารดีๆ รายรับที่เพิ่มขึ้นของรัฐจะมากกว่าเงินช่วยเหลือที่ให้ไปเสียอีก ทำให้รัฐมีกำลังที่จะช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสมากยิ่งขึ้น ขอเพียงเลือกช่วยเหลือคนให้ถูกเท่านั้น นอกจากนั้นการให้รางวัล ให้โอกาสกับคนขยันยังทำให้คนทั้งประเทศเห็นว่า คนที่ขยันทำมาหากินจะได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลต้นแบบ และจะได้รับการช่วยเหลือจากพระราชา เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่เกียจคร้านก็จะหันมาขยันทำงานบ้าง จึงเท่ากับได้ขยายเครือข่ายคนขยันทำงานให้ขยายวงกว้างออกไป ซึ่ง อดคล้องกับหลักหัวใจเศรษฐีข้อที่ 3 คือกัลยาณมิตตตา หรือ การสร้างเครือข่ายคนดี คนดีในที่นี้คือ คนที่ขยันทำมาหากิน
นอกจากคนดีจะต้องเป็นคนที่ขยันทำงานแล้ว พราหมณ์ปุโรหิตยังถวายคำแนะนำพระราชาเรื่องมาตรฐานคนดีเพิ่มเติมอีก คือ กุศลกรรมบถ 10 ซึ่งเนื้อหาโดยรวมเป็นเรื่องการรักษาศีลนั่นเอง ศีลนั้นก็เป็นอริยทรัพย์หรือบุญอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นทางมาแห่งโภคทรัพย์ด้วย ดังภาษาบาลีที่ว่า "สีเลนโภคสัมปทา แปลว่า ศีลเป็นทางมาแห่งโภคทรัพย์" กุศลกรรมบถ 10 และความขยัน จึงเป็นคุณสมบัติของคนดีหรือกัลยาณมิตรที่สำคัญ ซึ่งเป็นเป้าหมายในการพัฒนาคนของพระเจ้ามหาวิชิตราช
นอกจากนี้ พระเจ้ามหาวิชิตราชก็ยังลดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยด้วยการจัดพิธีบูชามหายัญหรือการบริจาคทานครั้งใหญ่ โดยพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงเป็นประธานในการบริจาคทานเอง และพระองค์ยังชักชวนคนระดับบน 4 กลุ่มที่มีฐานะร่ำรวยให้ช่วยกันแจกทานแก่คนจนด้วย นั่นคือ กษัตริย์ประเทศราช ข้าราชการผู้ใหญ่ พราหมณ์มหาศาล และคฤหบดีมหาศาลด้วยเหตุนี้ ถานะทางเศรษฐกิจในอาณาจักรของพระเจ้ามหาวิชิตราชจึงแข็งแกร่ง คนทั้งประเทศอยู่ดีมีสุข และสังคมมีเอกภาพ มีความปรองดองระหว่างชนชั้นเพราะมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่เป็นในลักษณะที่ว่ามือใครยาวสาวได้สาวเอา แต่คนรวยซึ่งมีทรัพย์เหลือเฟืออยู่แล้ว ก็นำทรัพย์ส่วนเกินนั้นมาช่วยเหลือคนจน
บุญจากการให้ทานนี้ก็ย่อมส่งผลให้คนรวยๆ ยิ่งๆ ขึ้นไปส่วนคนจนเมื่อเห็นแบบการให้ทานของคนรวยแล้วก็ย่อมให้ทานเองบ้าง และบุญนี้ก็จะค่อยๆ เกื้อกูลคนจนเหล่านี้ให้ค่อยๆ มีฐานะที่ดีขึ้นตามลำดับ ในสมัยพุทธกาลมีตัวอย่างคนจนหลายท่านที่ตระหนักว่าสาเหตุที่ตนเกิดมายากจนก็เพราะในอดีตชาติไม่ได้สั่ง มบุญด้วยการให้ทาน เป็นต้น เมื่อตระหนักเช่นนี้แล้วจึงเริ่มขวนขวายสั่งสมบุญและพากเพียรทำการงาน และผลบุญที่ทำนั้นก็ส่งผลให้มีฐานะดีขึ้นกว่าเดิม บางท่านถึงกับได้เป็นเศรษฐีเลยทีเดียว เช่น ปุณณเศรษฐี เป็นต้น ซึ่งเมื่อก่อนเป็นคนงานในบ้านของสุมนเศรษฐี ต่อมาได้ทำบุญกับพระสารีบุตรเถระ ผลบุญนั้นจึงส่งผลให้ท่านเป็นเศรษฐี
การทำให้เศรษฐกิจระดับมหภาคแข็งแกร่งตามหลักการในพระไตรปิฎกนั้น นอกจากคนรวยจะช่วยเหลือคนจนด้วยการให้ทานดังกล่าวแล้ว ที่สำคัญที่สุดคือ มหาเศรษฐีในสมัยพุทธกาลยังใช้ทรัพย์ส่วนเกินให้ทานบำรุงพระพุทธศาสนาด้วย ซึ่งเป็นการสั่งสมบุญในแหล่งเนื้อนาบุญที่จะส่งผลให้มหาเศรษฐีเหล่านั้นร่ำรวยยิ่งๆ ขึ้นไป วัฒนธรรมอย่างหนึ่งของมหาเศรษฐียุคนั้น คือ นิยมสร้างวัดเพื่อเป็นแหล่งสั่งสมบุญของคนในแคว้น การสร้างวัดนี้เองเป็นการทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีอย่างเป็นรูปธรรมวิธีหนึ่ง เพราะก่อให้เกิดการจ้างงาน การซื้อขายวัสดุอุปกรณ์เพื่อนำไปสร้างวัด ยิ่งวัดที่สร้างมีขนาดใหญ่เท่าไรก็ยิ่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้เฟื่องฟูได้มากเท่านั้น เช่น การสร้างวัดพระเชตวันของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นต้น
วัดพระเชตวันนั้นเป็นวัดใหญ่เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาลรองรับพระภิกษุได้หลายพันรูป อนาถบิณฑิกเศรษฐีซื้ออารามจากเจ้าเชตเพื่อสร้างเป็นวัดด้วยเงิน 18 โกฏิ ใช้เงินอีก 18 โกฏิสร้างเสนาสนะทั้งหมดภายในวัด ได้แก่ ซุ้มประตู หอฉัน โรงไฟ กุฎี ห้องน้ำ โรงจงกรม บ่อน้ำ เรือนไฟ สระโบกขรณี เป็นต้น และใช้เงินอีก 18 โกฏิ เพื่อฉลองวัดเมื่อสร้างเสร็จแล้ว การสร้างวัดใหญ่ขนาดนี้ทำให้มีการผลิตซื้อขายวัสดุอุปกรณ์เพื่อนำไปสร้างวัด และจะทำให้เกิดการจ้างงานอย่างต่อเนื่องจำนวนเป็นมาก
วัดวาอารามในสมัยพุทธกาล
วัดวาอารามในสมัยพุทธกาลมีจำนวนมากในที่นี้จะยกตัวอย่างวัดวาอารามจำนวน 10 แห่งที่ปรากฏชื่ออยู่บ่อยครั้งในพระไตรปิฎกดังนี้
ลำดับ | วัด/อาราม/วิหาร | เมือง | ผู้สร้าง/ผู้ถวาย |
1 | วัดเวฬุวัน | เมืองราชคฤห์ | พระเจ้าพิมพิสาร |
2 | วัดพระเชตวัน | สาวัตถี | อนาถบิณฑิกเศรษฐี |
3 | วัดบุพพาราม | สาวัตถี | มหาอุบาสิกาวิสาขา |
4 | นิโครธาราม | กบิลพัสดุ์ | เจ้าศากยะ |
5 | วัดโฆสิตาราม | โกสัมพี | โฆสิตเศรษฐี |
6 | กุกกุฏาราม | โกสัมพี | กุกกุฏเศรษฐ |
7 | ปาวาริกัมพวัน | โกสัมพี | ปาวาริกเศรษฐี |
8 | ชีวกัมพวัน | เมืองราชคฤห์ | ชีวกโกมารภัจจ์ |
9 | อัมพาฏกวัน | มัจฉิกาสัณฑนคร | จิตตคฤหบดี |
10 | สวนอัมพวัน | เมืองเวสาลี | นางอัมพปาลี |
จากที่กล่าวถึงการบริหารเศรษฐกิจของพระเจ้ามหาวิชิตราช และการบริหารเศรษฐกิจของเมืองและแคว้นต่างๆ ในสมัยพุทธกาลจะเห็นว่า มีการปฏิบัติตามหลักการทั้ง 2 ประการ คือส่งเสริมประชาชนให้มีความเข้าใจเรื่องบุญและสั่งสมบุญมากๆ และส่งเสริมประชาชนให้ขวนขวายสร้างฐานะด้วยหลักหัวใจเศรษฐี
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา