วิธีการแสวงหาความรู้ในพระไตรปิฎก

วันที่ 12 พค. พ.ศ.2560

วิทยาศาสตร์ในพระไตรปิฎก
วิธีการแสวงหาความรู้ในพระไตรปิฎก "


GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก , วิทยาศาสตร์ในพระไตรปิฎก , วิทยาศาสตร์ , วิธีการแสวงหาความรู้ในพระไตรปิฎก ,  สุตมยปัญญา , จินตามยปัญญา , ภาวนามยปัญญา

     ในพระไตรปิฎกได้กล่าวไว้ถึงวิธีการแสวงหาความรู้หรือปัญญาไว้ 3 ประการ คือ สุตมยปัญญา, จินตามยปัญญา และ ภาวนามยปัญญา โดยแต่ละประการมีความหมายดังนี้

1. สุตมยปัญญา : ปัญญาอันเกิดจากการฟัง
     สุตมยปัญญา มาจากสุต (ฟัง) + มย (สำเร็จด้วย) + ปฺญา (ปัญญา) หมายถึง ปัญญาอันสำเร็จด้วยการฟัง หรือ ความรู้อันเกิดจากการฟัง แต่ในปัจจุบันยังหมายรวมไปถึงการอ่าน, การดู, การชม ฯลฯ ด้วย ใน มัยพุทธกาลยังไม่มีหนังสือให้อ่าน ยังไม่มีสื่อต่างๆ ให้ดูการเรียนรู้สิ่งต่างๆ จะใช้การฟังจากครูเป็นหลัก แต่ปัจจุบันช่องทางการเรียนรู้มีมาก ไม่จำเป็นต้องฟังจาก ครูโดยตรงสามารถอ่านได้จากหนังสือที่ครูหรือผู้รู้ท่านต่างๆ เขียนเอาไว้สามารถดูได้จากสื่อการเรียนรู้ต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย

   หัวใจหลักของสุตมยปัญญา คือ การจับประเด็น ให้ได้ว่า ผู้พูดๆ ถึงเรื่องอะไรบ้างประเด็นใหญ่คืออะไร ประเด็นย่อยมีอะไรบ้าง จับประเด็นให้ได้ว่า หนังสือที่อ่านกล่าวถึงเรื่องอะไร หากไม่รู้จักจับประเด็น เราจะได้ประโยชน์จากการฟังหรือการอ่านน้อยมาก เพราะเมื่อฟังหรืออ่านหนังสือจบแล้ว จะจำอะไรแทบไม่ได้เลย แต่ถ้าจับประเด็นได้ อย่างน้อยๆ เราจะจำประเด็นได้ เมื่อจำประเด็นได้จะสามารถเชื่อมโยงไปสู่รายละเอียดได้ ความรู้ที่ได้จากสุตมยปัญญาจึงเป็นความรู้ประเภท ความรู้จำ


2. จินตามยปัญญา : ปัญญาอันเกิดจากการคิด
      จินตามยปัญญา มาจาก จินฺต (ความคิด) + มย (สำเร็จด้วย) + ปฺญฺญา (ปัญญา) หมายถึง ปัญญาอันสำเร็จด้วยความคิด หรือ ความรู้อันเกิดจากความคิด กล่าวคือ เมื่อจับประเด็นในสิ่งที่ฟังหรืออ่านได้แล้ว ก็ต้องนำความรู้นั้นมาไตร่ตรองเพื่อให้เข้าใจ เพราะหากเพียงแค่จำได้แต่ ไม่นำมาไตร่ตรองให้เข้าใจ ตัวเราเองก็จะไม่ต่างอะไรกับ "Hard disk" เก็บข้อมูลเท่านั้นกล่าวคือ "Hard disk" จำข้อมูลได้มากมายแต่มันไม่ได้เข้าใจในข้อมูลนั้นเลย

      หลักในการไตร่ตรองนั้น เราจะต้องสาวไปหาเหตุด้วยการตั้งคำถามว่า ทำไมผู้พูดจึงกล่าวอย่างนั้น ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ทำไมไม่เป็นอย่างนี้ เมื่อเรารู้จักตั้งคำถาม ทำไม กับสิ่งที่ศึกษาบ่อยๆ แล้ว เราจะเข้าใจในสิ่งนั้นๆ ได้อย่างลึกซึ้ง และสามารถประยุกต์ใช้ได้ ความเจริญของโลกโดยเฉพาะทางด้านวัตถุในปัจจุบันก็เจริญขึ้นมาได้ด้วยการรู้จักตั้งคำถามว่า   ... ของนักวิทยาศาสตร์ต่อธรรมชาติรอบตัว เมื่อตั้งคำถามแล้วก็พยายามหาคำตอบจนได้ค้นพบหลักการของธรรมชาติ แล้วนำหลักการนั้นมาประยุกต์สร้างเป็นเทคโนโลยีต่างๆ ขึ้น

    ความรู้ที่ได้จากการไตร่ตรองด้วยเหตุผลและรู้จักหาหลักฐานอ้างอิงอย่างเป็นระบบจนค้นพบคำตอบที่ถูกต้องนั้น จึงเป็นความรู้ประเภท ความรู้คิด


3. ภาวนามยปัญญา : ปัญญาอันเกิดจากการปฏิบัติ
      ภาวนามยปัญญา มาจาก ภาวนา (การทำสมาธิภาวนา)  มย (สำเร็จด้วย)  ปฺญา (ปัญญา) หมายถึง ปัญญาอันสำเร็จด้วย หรือ ความรู้อันเกิดจากการทำสมาธิภาวนา

     ภาวนามยปัญญา เป็นความรู้ที่เกิดจากการเห็น คือ เห็นด้วยญาณทัสนะว่าสิ่งต่างๆแท้จริงเป็นอย่างไร เมื่อเราปฏิบัติธรรมจนใจหยุดนิ่งและเข้าถึงพระธรรมกายแล้ว จะน้อมใจไปในเรื่องอะไรก็จะเห็นแจ้งและรู้แจ้งในเรื่องนั้นๆ ได้ เป็นความรู้ที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้ความรู้อันเกิดจากเจริญสมาธิภาวนาจึงเป็นความรู้ประเภท ความรู้แจ้ง

     หลักการของสมาธินั้นก็คือ การหยุดคิด ทำใจให้หยุดนิ่ง อย่างสบายๆ และต่อเนื่อง โดยการนำใจของเราไปจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงสิ่งเดียว ไม่วอกแวกไปนึกถึงสิ่งอื่น หรือ อาจจะทำสมาธิโดยการทำใจให้ว่าง ไม่นึกคิดอะไรเลยก็ได้ การทำสมาธินั้นสามารถทำได้หลายลักษณะ คือ อาจจะใช้วิธีนั่งสมาธิโดยตรงก็ได้ หรือ อาจจะทำสมาธิโดยอ้อมด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเอาใจจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น นี้ก็ถือได้ว่าเป็นการทำสมาธิเช่นเดียวกัน

    ในเรื่องภาวนามยปัญญานี้คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูงเคยสอนวิศวกรก่อสร้างท่านหนึ่งว่า เวลาเราคิดอะไรไม่ออก ให้หลบไปเงียบๆ ไปนั่งสมาธิ เอาใจรวมเข้าไปในตัว แล้วรวมงานทั้งหมดของเราเข้าไปไว้ในตัวด้วย เราจะคิดออก เราจะจัดแผนงานของเราออกว่าจะต้องทำอะไร ทำยังไง จะเห็นชัด นั่งสมาธิทำให้เกิดปัญญา ยายยังใช้วิธีนี้เหมือนกัน งานในครัวมีปัญหาตรงไหน ยายจะกลับเข้าไปในกุฏิ นั่งเงียบๆสักพัก ก็จะคิดวางแผนออก ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร หลวงพ่อธัมมชโยก็สอนเช่นเดียวกันว่า เวลาคิดอะไรไม่ออกก็ให้ออกจากความคิด ทำจิตให้สงบแล้วจะพบทางออก

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.006879734992981 Mins