หลักธรรมสำคัญในพระไตรปิฎก
ในบทนี้จะกล่าวถึงหลักธรรมสำคัญในพระไตรปิฎกโดยย่อ เพื่อใช้ในการอ้างอิงข้อมูลสำหรับศาสตร์ต่างๆ ในบทอื่นๆ ต่อไป ความจริงหลักธรรมต่างๆ ที่จะกล่าวถึงนี้ นักศึกษาคงได้เรียนกันมาพอสมควรแล้ว การกล่าวถึงอีกครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความสะดวก ในการเชื่อมโยงความรู้จากหลักธรรมเหล่านี้กับบทอื่นๆ เนื่องจากหลักธรรมที่นักศึกษาได้เรียนมาก่อนหน้านี้กระจัดกระจายอยู่ในวิชาต่างๆ จึงไม่สะดวกต่อการนำมาค้นคว้าเปรียบเทียบกับศาสตร์ต่างๆ ในวิชานี้ และบางวิชานักศึกษาก็เรียนมานานแล้ว จึงอาจจะลืมไปบ้างแล้ว การกล่าวถึงหลักธรรมเหล่านั้นอีกครั้งถือเป็นการทบทวนความรู้ และเป็นการตอกย้ำเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นด้วย
1. ภาพรวมหลักธรรมสำคัญในพระไตรปิฎก
หลวงพ่อทัตตชีโว ได้ให้ภาพรวมหลักธรรมสำคัญในพระไตรปิฎกไว้อย่างชัดเจน ดังภาพที่แสดงไว้ในหน้าที่ผ่านมา จะเห็นว่าหลักธรรมทั้งหมดในพระไตรปิฎก มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ปฏิบัติบรรลุ "นิพพาน" อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย
สำหรับหลักธรรมต่างๆ ในพระไตรปิฎกอันเป็นหลักปฏิบัติเพื่อไปสู่นิพพานนั้น เป็นหลักธรรมที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทุกหมวด ไม่มีความขัดแย้งกันสามารถย่อได้และขยายได้หากย่อจนถึงที่สุดก็จะเหลือเพียงข้อเดียวคือ "ความไม่ประมาท" หากขยายความแล้วก็จะได้มากถึง "84,000 ข้อ หรือ พระธรรมขันธ์" แบ่งเป็นพระวินัย 21,000 ข้อ พระสูตร 21,000 ข้อ และพระอภิธรรม 42,000 ข้อ
นอกจากนี้ หลักธรรมทั้งหมดในพระไตรปิฎกอาจจะแบ่งให้เหลือ 3 ข้อก็ได้ คือ ละชั่วทำดี และทำใจให้ผ่องใสหลักธรรม 3 ข้อนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ไตรสิกขา คือ ศีลสิกขาจิตสิกขา และปัญญาสิกขา หากจะขยายจาก 3 ข้อนี้ ให้เป็น 8 ข้อ ก็ได้เรียกว่า มรรคมีองค์ 8 อันประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิสัมมาสังกัปปะสัมมาวาจาสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ โดยสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ จัดอยู่ในปัญญา สิกขาสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ จัดอยู่ในศีลสิกขาสัมมาวายามะสัมมาสติ และสัมมาสมาธิจัดอยู่ในจิตสิกขาหลักธรรมในแต่ละหมวดมีรายละเอียดโดยย่อดังต่อไปนี้
2. นิพพาน
นิพพาน หมายถึง การดับกิเลส และกองทุกข์ทั้งปวง นิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแบ่งนิพพานออกเป็น 2 ประการ คืออุปาทิเสสนิพพาน และ อนุปาทิเสสนิพพาน
1) อุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ มีสังโยชน์ในภพนี้สิ้นรอบแล้วหลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ เป็นผู้มีราคะ โทสะ และโมหะสูญสิ้นแล้ว แต่ยังเป็นผู้เสวยอารมณ์ทั้งที่พึงใจและไม่พึงใจ ยังเสวยสุขและทุกข์อยู่ เพราะความที่อินทรีย์ 5 ยังไม่บุบสลาย
หลวงพ่อทัตตชีโว อธิบาย อุปาทิเสสนิพพานไว้ว่า เป็นพระนิพพานในตัวบางครั้งก็เรียกว่า "นิพพานเป็น" หมายความว่า ในขณะที่อา วะกิเลสูญสิ้นไปหมดแล้ว แต่ยังมีชีวิตอยู่ ยังมีขันธ์ 5 อยู่ มีธรรมกายปรากฏอยู่ในตัว ทำให้รู้สึกเป็นสุขเหมือนอยู่ในอายตนนิพพานอย่างแท้จริง เพียงแต่ยังอาศัยกายมนุษย์อยู่เท่านั้น
2) อนุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ มีสังโยชน์ในภพนี้สิ้นรอบแล้วหลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ เวทนาทั้งปวงในอัตภาพนี้ของภิกษุนั้นเป็น ภาพที่กิเลส มีตัณหา เป็นต้น ครอบงำไม่ได้อีก
หลวงพ่อทัตตชีโว อธิบายอนุปาทิเสสนิพพานไว้ว่า เป็นนิพพานที่อยู่นอกตัว บางครั้งก็เรียกว่า "นิพพานตาย" หมายความว่าเมื่อขันธ์ 5 แตกดับสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษแล้ว ธรรมกายที่อยู่ใน อุปาทิเสสนิพพาน จึงตกศูนย์เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน ณ จุดนี้เองที่เรียกว่า "อายตนนิพพาน" ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายตั้งจิตปรารถนาจะไปถึง
3. ความไม่ประมาท
ความไม่ประมาท หมายถึง ความไม่เลินเล่อ ไม่พลั้ง ไม่เผลอ มีสติเสมอส่วนความประมาท คือ การขาดสติ ความพลั้งเผลอ ความไม่ประมาทเป็นหลักธรรมใหญ่ ซึ่งรวมธรรมทั้งหมดในพระไตรปิฎกไว้ในข้อนี้เพียงข้อเดียว
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในปทสูตรว่า รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมถึงความประชุมลงในรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้าง บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่ารอยเท้าสัตว์เหล่านั้น เพราะเป็นรอยใหญ่ แม้ฉันใด กุศลธรรมทั้งหมดนั้นมีความไม่ประมาทเป็นมูล รวมลงในความไม่ประมาทความไม่ประมาทบัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่ากุศลธรรมเหล่านั้น ฉันนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่ประมาทพึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคมีองค์ 8
ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพานนั้น พระองค์ก็ได้ตรัสพระปัจฉิมวาจาไว้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่าสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด" พระดำรัสนี้ ถือว่าเป็นการสรุปหลักธรรมทั้งหมด ที่พระองค์ตรัสสอนมาตลอด 45 พรรษาให้เหลือเพียงข้อเดียวคือ ความไม่ประมาทเท่านั้น
พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้อธิบายขยายความเรื่องความไม่ประมาท ไว้ในกัณฑ์ที่ว่าด้วยเรื่องปัจฉิมวาจาว่า
ความประมาท คือ เผลอไป ความไม่ประมาท คือ ความไม่เผลอ ไม่เผลอละใจจดใจจ่อทีเดียว...ท่านจึงได้อุปมาไว้ ไม่ประมาท ไม่เผลอในความเสื่อมไปในปัจฉิมวาจา นึกถึงความเสื่อมอยู่เสมอ นึกหนักเข้าๆ แล้วใจหาย นี่เรามาคนเดียวหรือ นี่เราก็ตายคนเดียว บุรพชนต้นตระกูลของเราไปไหนหมด ตายหมด เราล่ะก็ตายแบบเดียวกัน ตกใจละคราวนี้ ทำชั่วก็เลิกละทันที รีบทำความดีโดยกะทันหันทีเดียว เพราะไปเห็นอ้ายความเสื่อมเข้า ถ้าไม่เห็นความเสื่อมละก็ กล้าหาญนักทำชั่วก็ได้ ด่าว่าผู้หลักผู้ใหญ่ได้ตามชอบใจ
4. ละชั่วทำดีทำใจให้ผ่องใส
หลักธรรมทั้งหมดในพระไตรปิฎก นอกจากจะรวมลงในความไม่ประมาทเพียงข้อเดียวแล้ว ยังสามารถขยายออกเป็น 3 ข้อได้ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในมหาปทานสูตรเรื่องโอวาทปาฏิโมกข์ว่า
(1) การไม่ทำบาปทั้งสิ้น (ละชั่ว)
(2) การยังกุศลให้ถึงพร้อม (ทำดี)
(3) การทำจิตของตนให้ผ่องใส(ทำใจให้ผ่องใส)
นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
(1) การไม่ทำบาปทั้งสิ้น มาจากภาษาบาลีว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ หมายถึง ไม่ทำชั่วด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ สพฺพปาปสฺส อกรณํ นี้ ครอบคลุมพระวินัยปิฎกทั้งหมด หากจัดเข้าในไตรสิกขาก็จะตรงกับ "ศีลสิกขา"
(2) การยังกุศลให้ถึงพร้อม มาจากภาษาบาลีว่า กุสลสฺสูปสมฺปทา หมายถึง ทำความดีให้มีขึ้นด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ กุสลสฺสูปสมฺปทา นี้ ครอบคลุมพระสุตตันตปิฎกทั้งหมดหากจัดเข้าในไตรสิกขาก็จะตรงกับ "จิตสิกขา"
(3) การทำจิตของตนให้ผ่องใสมาจากภาษาบาลีว่า สจิตฺตปริโยทปนํ หมายถึง ทำจิตใจของตนให้ผ่องใส สจิตฺตปริโยทปนํ นี้ ครอบคลุมพระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด หากจัดเข้าในไตรสิกขาก็จะตรงกับ "ปัญญาสิกขา"
5. มรรคมีองค์ 8
มรรค แปลว่า ทาง, หนทาง มรรคมีองค์ 8 จึงหมายถึง หนทางปฏิบัติหรือข้อปฏิบัติ 8 ประการ เพื่อให้ถึงความดับทุกข์ นั่นคือการได้บรรลุนิพพานนั่นเองมรรคมีองค์ 8 เป็นธรรมข้อหนึ่งในอริยสัจ 4 ซึ่งประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย (เหตุแห่งทุกข์คือตัณหา) นิโรธ (ความดับทุกข์) และมรรคคือหนทางดับทุกข์ เมื่อกล่าวถึงมรรคเพียงข้อเดียวแต่ก็มีความหมายเชื่อมโยงไปถึงอริยสัจอีก 3 ข้อที่เหลือด้วย เพราะธรรมทั้ง 4 ข้อมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสมรรคมีองค์ 8 ไว้ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งเป็นพระปฐมเทศนาหรือเทศนาครั้งแรกของพระองค์ พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ ได้สรุปมรรคมีองค์ 8 ไว้ด้วยภาษาที่เข้าใจได้ง่ายดังนี้
(1)สัมมาทิฏฐิ คือ ความเข้าใจถูก โดยสามารถตัดสินได้อย่างถูกต้องว่า อะไรถูกผิดอะไรดีชั่ว อะไรบุญบาป อะไรควรไม่ควรทำ
(2)สัมมาสังกัปปะ คือ ความคิดถูก โดยเลือกคิดเฉพาะในสิ่งที่เกิดบุญ ไม่เกิดบาป
(3)สัมมาวาจา คือ การพูดถูก โดยเลือกพูดเฉพาะในสิ่งที่เกิดบุญ ไม่เกิดบาป
(4)สัมมากัมมันตะ คือ การทำถูก โดยเลือกทำแต่ในสิ่งที่เกิดบุญ ไม่เกิดบาป
(5)สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพถูก โดยเลือกประกอบอาชีพที่เกิดบุญ ไม่เกิดบาป
(6)สัมมาวายามะ คือ การเพียรพยายามถูก โดยเพียรละเว้นความชั่ว เพียรทำความดีและเพียรกลั่นใจให้ผ่องใส
(7)สัมมาสติ คือ ความระลึกถูก โดยพยายามรักษาใจให้มีความสะอาดบริสุทธิ์ในการคิด พูด และทำอยู่เป็นปกติ
(8)สัมมาสมาธิ คือ ความตั้งมั่นถูก โดยพยายามประคับประคองในขณะทำภาวนาให้หยุดนิ่ง ณ ศูนย์กลางกายอย่างต่อเนื่องถูกส่วนเป็นปกติ จนกระทั่งเกิดความ ว่างขึ้นในใจที่นำไปสู่การเห็นธรรมะที่เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์อยู่ในตัว
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในปริกขารสูตรว่า องค์แห่งมรรค 7 ประการคือ ตั้งแต่สัมมาทิฏฐิถึงสัมมาสติ เป็นองค์ประกอบของสัมมาสมาธิ หรือประชุมลงในสัมมาสมาธิ ดังพระดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายสองค์แห่งสมาธิ 7 ประการ คือสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะสัมมาสติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เอกัคคตาจิต(ความมีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว หรือ การที่จิตเป็นสมาธิ) ประกอบด้วยองค์ 7 ประการนี้เรียกว่าอริยสมาธิ...
พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ก็เคยกล่าวไว้เช่นกันว่า "มรรคทั้ง 7 ประการจะประชุมรวมกันลงในสัมมาสมาธินี้" ด้วยเหตุนี้สัมมาสมาธิจึงมีความสำคัญสูงสุดในบรรดามรรคทั้งปวง ทำนองเดียวกับความไม่ประมาทที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะการที่บุคคลจะเป็นผู้ "ไม่ประมาท" ได้อย่างสมบูรณ์ บุคคลผู้นั้นจะต้องมีสติกำกับตนเองอยู่ตลอดเวลา การที่บุคคลนั้นๆ จะมีสติกำกับตนเองอยู่ตลอดเวลา เขาจะต้องฝึกสัมมาสมาธิมาอย่างดีแล้ว จนใจของเขาจรดนิ่งอยู่ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ตลอดเวลา
6. ไตรสิกขา
ไตรสิกขา หมายถึง ข้อปฏิบัติที่ต้องศึกษา 3 ประการ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงไตรสิกขาไว้ในภาวสูตรว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไตรสิกขาเป็นไฉน ไตรสิกขา คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา เมื่อใด เธอเป็นผู้มีสิกขาอันได้ศึกษาแล้วในไตรสิกขานี้ เมื่อนั้นภิกษุนี้เรากล่าวว่า ได้ตัดตัณหาขาดแล้ว คลายสังโยชน์ได้แล้ว ได้ทำที่สุดทุกข์เพราะละมานะได้โดยชอบฯ
พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺท โร) ได้อธิบายขยายความเรื่องไตรสิกขาไว้ว่ามี 2 ระดับ คือ ระดับปกติหรือระดับต้น และระดับสูงหรือเกินระดับปกติขึ้นไป
ไตรสิกขาระดับต้นนั้น จะเรียกว่า ศีล จิต(สมาธิ) และ ปัญญา หรือเรียกว่า ศีลสิกขาจิตสิกขา (สมาธิสิกขา) และปัญญาสิกขา ไตรสิกขาระดับต้นนี้ เป็นไตรสิกขาในระดับ "รู้" หมายถึง รู้ว่าไตรสิกขามีอะไรบ้างเมื่อรู้แล้วก็ปฏิบัติตามหลักไตรสิกขานั้นเมื่อปฏิบัติแล้วก็จะเป็นเหตุให้เข้าถึงไตรสิกขาระดับสูงต่อไป
ไตรสิกขาระดับสูงหรือเกินระดับปกติขึ้นไปจะเรียกว่า อธิศีล อธิจิต และ อธิปัญญา หรือ เรียกว่า อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา ไตรสิกขาระดับสูงนี้ เป็นไตรสิกขาในระดับ "เห็น" หมายถึง ได้ปฏิบัติสมาธิจนสามารถ "เห็น" ได้ด้วยตนเองว่าไตรสิกขาในตัวเรามีอะไรบ้าง กล่าวคือ ได้ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ในตัวที่ละเอียดเป็นชั้นๆ เข้าไปนั่นเอง
คำว่า "อธิ" ในคำว่า อธิศีล เป็นต้น แปลว่า ยิ่ง เกิน หรือ ล่วง หมายถึง ไตรสิกขา ที่ยิ่งกว่า หรือเกินกว่า หรือล่วงพ้นจากไตรสิกขาในระดับต้น
7. พระไตรปิฎก
พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อขยายความแล้วจะได้มากถึง 84,000 ข้อ หรือ 84,000 พระธรรมขันธ์ โดยจัดอยู่ในพระวินัยปิฎก 21,000 ข้อ จัดอยู่ในพระสุตตันตปิฎก 21,000 ข้อ และจัดอยู่ในพระอภิธรรมปิฎก 42,000 ข้อ
พระไตรปิฎกหากนำมาเชื่อมโยงกับไตรสิกขาจะได้ดังนี้ คือ
พระวินัยปิฎก คือ ศีลสิกขา
สุตตันตปิฎก คือ จิตสิกขา
พระอภิธรรมปิฎก คือ ปัญญาสิกขา
สำหรับรายละเอียดเรื่องพระไตรปิฎกนั้นมีกล่าวไว้แล้วในวิชา "ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา" จะไม่กล่าวถึงรายละเอียดในวิชานี้อีก
8. นิยาม 5
นอกจากหลักธรรมทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีธรรมอีกหมวดหนึ่งซึ่งมีความสำคัญ แต่ปรากฏอยู่ในอรรถกถาคือเรื่องนิยาม 5 ซึ่งจะใช้เป็นหัวข้อสำคัญในการเปรียบเทียบกับวิทยาศาสตร์ ในบทวิทยาศาสตร์ในพระไตรปิฎก
นิยาม หมายถึง ความแน่นอน หรือหากใช้ในภาษาร่วม มัยที่เข้าใจได้ง่ายๆ นิยามก็อาจแปลว่า "กฎ" พระอรรถกถาจารย์ได้จำแนกนิยามไว้ 5 ประการคือ พีชนิยาม อุตุนิยาม จิตตนิยาม กรรมนิยาม และ ธรรมนิยาม2 กฎทั้ง 5 ประการนี้ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างในโลกและในอนันตจักรวาล ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปตามกฎทั้ง 5 ประการนี้ทั้งสิ้น
1) พีชนิยาม (Biological Laws) หมายถึง กฎของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ในทางวิทยาศาสตร์ใช้คำว่า กฎทางชีววิทยา กล่าวคือ เป็นกฎธรรมชาติที่ควบคุมความเป็นไปของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ เช่น เมื่อเรานำเมล็ดข้าวเปลือกไปปลูก ต้นไม้ที่งอกออกมาจะต้องเป็นต้นข้าวเสมอหรือเมื่อช้างคลอดลูกออกมา ก็ย่อมเป็นลูกช้างเสมอ หรือถ้าเป็นมนุษย์เมื่อคลอดลูกออกมา ก็ย่อมเป็นมนุษย์เสมอ ความเป็นระเบียบหรือความแน่นอนนี้ ในทางพุทธศาสนา กล่าวว่า เป็นผลมาจากการควบคุมของพีชนิยาม
2) อุตุนิยาม (Physical and Chemical Laws) หมายถึง กฎที่ควบคุมสิ่งไม่มีชีวิตทุกชนิด เช่น ดิน ฟ้า อากาศสาร วัตถุ ภพภูมิต่างๆ ตลอดอนันตจักรวาล ในทางวิทยาศาสตร์ใช้คำว่า กฎทางฟิสิกส์ ครอบคลุมตั้งแต่ที่เล็กที่สุด ได้แก่ อนุภาค อะตอม ไปจนถึงสิ่งที่ใหญ่โต เช่น โลก กาแล็กซี่ และ เอกภพ ปรากฏการณ์ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ฤดูกาล แม้กระทั่งการเกิดและการดับสลายของโลกก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติคือ อุตุนิยามนี
3) กรรมนิยาม (The law of Karma) หมายถึง กฎแห่งกรรม กรรมคือการกระทำแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ กรรมดีและกรรมชั่ว กรรมดีย่อมตอบ นองในทางดี กรรมชั่วย่อมตอบสนองในทางชั่ว
4) จิตตนิยาม (Psychic law) หมายถึง กฎการทำงานของจิตใจ พระพุทธศาสนาสอนว่า คนเราประกอบด้วยส่วนที่สำคัญ 2 ส่วน คือ ร่างกายและจิตใจ ในส่วนของจิตใจนั้นมีความสำคัญในฐานะเป็นผู้สั่งการทุกอย่างให้ร่างกายปฏิบัติตาม หากเปรียบร่างกายเหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ จิตใจก็เปรียบเหมือนผู้ใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ (User)
5) ธรรมนิยาม (The law of cause and effect) มีความหมาย 2 นัย คือ นัยที่ 1 หมายถึง กฎแห่งเหตุและผลของสรรพสิ่ง ดังคำกล่าวที่ว่า เพราะมีสิ่งนี้ จึงมีสิ่งนี้ขึ้น หลักธรรมต่างๆส่วนใหญ่ก็จัดอยู่ในหลักธรรมนิยาม เช่น ปฏิจจสมุปบาท (อวิชชาทำให้เกิดสังขารสังขารทำให้เกิดวิญญาณ วิญญาณทำให้เกิดนามรูป นามรูปทำให้เกิดสฬายตนะ สฬายตนะ ทำให้เกิดผัสสะ ผัสสะทำให้เกิดเวทนา เวทนาทำให้เกิดตัณหา ตัณหาทำให้เกิดอุปาทาน อุปาทานทำให้เกิดภพ ภพทำให้เกิดชาติ ชาติทำให้เกิดชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและ อุปายา) อริยสัจ 4 (สมุทัย คือตัณหา ทำให้เกิดทุกข์ มรรคนำไปสู่นิโรธ คือความดับทุกข์) เป็นต้น
ส่วนนัยที่ 2 หมายถึง ความสัมพันธ์กันของนิยามทั้ง 4 ประการข้างต้น เช่น การประสูติของพระโพธิสัตว์ เป็นเหตุให้แผ่นดินไหว หรือเมื่อมนุษย์ไม่ควบคุมกิเลสในใจ ก็จะเป็นเหตุให้ทำผิดศีลธรรมและจะทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อม เป็นต้น
ธรรมนิยามนี้ มีขอบเขตครอบคลุมกว้างขวางที่สุด กฎทั้ง 4 ข้อข้างต้น รุปรวมลงในข้อสุดท้ายนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบนิยาม หรือกฎธรรมชาติทั้ง 5 เหล่านี้แต่พระองค์ตรัสอนโดยเน้นเรื่องจิตตนิยาม กรรมนิยาม และธรรมนิยาม เพราะมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการดับทุกข์ส่วนเรื่องอุตุนิยามและพีชนิยามนั้น พระองค์ตรัสไว้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นคือเฉพาะที่จำเป็นเพื่อให้เข้าใจแนวปฏิบัติสู่ทางพ้นทุกข์ได้ชัดเจนขึ้น หรือพระพุทธองค์จะตรัสในกรณีมีผู้กราบทูลถาม
นิยาม 4 ข้อแรก นักศึกษาคงได้เรียนรู้กันมาพอสมควรแล้วในวิชาต่างๆ ในที่นี้จะขยายความในส่วนของธรรมนิยามเพิ่มเติม ในความหมายนัยที่สองคือ ความสัมพันธ์กันของนิยามทั้ง 4 ประการคือ พีชนิยาม อุตุนิยาม จิตตนิยาม และกรรมนิยาม เช่น ความหวั่นไหวในหมื่นโลกธาตุ ในเวลาเสด็จลงสู่พระครรภ์พระมารดาของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย
จะเห็นว่า การจุติลงมาประสูติของพระโพธิสัตว์นั้นเป็นเรื่องของ พีชนิยามส่วนการไหวของภพต่างๆ ในหมื่นโลกธาตุเป็นเรื่องของ อุตุนิยาม ซึ่งตามปกติแล้วไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ด้วยบุญบารมีของพระโพธิสัตว์ ทำให้พีชนิยามส่งผลต่ออุตุนิยามได้ และในเวลาที่พระโพธิสัตว์ทรงออกจากครรภ์พระมารดา ในเวลาที่ตรัสรู้อภิสัมโพธิญาณ ในเวลาที่พระตถาคตทรงประกาศพระธรรมจักร ในเวลาที่ทรงปลงอายุสังขาร ในเวลาที่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ตลอดหมื่นโลกธาตุก็หวั่นไหวเช่นกัน นี้ก็ชื่อว่า ธรรมนิยาม
นอกจากนี้ยังมีกรณีอื่นๆ อีกที่แสดงให้เห็นว่านิยามแต่ละอย่างมีความสัมพันธ์กัน เช่น เมื่อมนุษย์ไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม จะเป็นเหตุให้สิ่งแวดล้อมเสื่อม แต่เมื่อมนุษย์ตั้งอยู่ในศีลธรรมจะเป็นเหตุสิ่งแวดล้อมเจริญขึ้น กิเลสในจิตใจมนุษย์เป็นเหตุให้กัปทำลาย กล่าวคือ กิเลสตระกูลโทสะ ทำให้ไฟบรรลัยกัลปทำลายกัป กิเลส ตระกูลราคะ ทำให้น้ำบรรลัยกัลปทำลายกัปกิเลสตระกูลโมหะ ทำให้ลมบรรลัยกัลปทำลายกัป ผู้ฝึกจิตจนได้อภิญญาสามารถแสดงปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้ เช่น เดินบนน้ำได้ ดำดินได้ เหาะได้ เนรมิตวัตถุสิ่งของขึ้นจากที่ว่างๆ ได้เป็นต้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงความประพฤติของมนุษย์ ว่ามีผลต่อสิ่งแวดล้อมไว้อย่างชัดเจนในธรรมิกสูตร ความว่า
สมัยใด พระราชาเป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรมสมัยนั้น แม้พวกข้าราชการ ก็เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพวกข้าราชการไม่ตั้งอยู่ในธรรม แม้พราหมณ์และคฤหบดี ก็เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรมเมื่อพราหมณ์และคฤหบดีไม่ตั้งอยู่ในธรรม แม้ชาวนิคมและชาวชนบท ก็เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรมพระจันทร์และพระอาทิตย์ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เมื่อพระจันทร์และพระอาทิตย์หมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ หมู่ดาวนักษัตรก็ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เมื่อคืนและวันหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็หมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ
เมื่อเดือนหนึ่งและกึ่งเดือนหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ ฤดูและปีก็ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอเมื่อฤดูและปีหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ ลมย่อมพัดไม่สม่ำเสมอ เมื่อลมพัดไม่ สม่ำเสมอลมก็เดินผิดทางไม่สม่ำเสมอย่อมพัดเวียนไป เมื่อลมเดินผิดทางไม่สม่ำเสมอพัดเวียนไป เทวดาย่อมกำเริบ เมื่อเทวดากำเริบฝนย่อมไม่ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าทั้งหลายก็สุกไม่เสมอกัน มนุษย์ผู้บริโภคข้าวที่สุกไม่เสมอกัน ย่อมเป็นผู้มีอายุน้อย มีผิวพรรณเศร้าหมองมีกำลังน้อย มีอาพาธมาก
สมัยใด พระราชาเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้ข้าราชการก็ย่อมเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรมเมื่อข้าราชการตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้พราหมณ์และคฤหบดีก็เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพราหมณ์และคฤหบดีตั้งอยู่ในธรรม แม้ชาวนิคมและชาวชนบท ก็ย่อมเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อชาวนิคมและชาวชนบทเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม พระจันทร์และพระอาทิตย์ก็ย่อมหมุนเวียนสม่ำเสมอเมื่อพระจันทร์และพระอาทิตย์หมุนเวียนสม่ำเสมอกัน หมู่ดาวนักษัตรก็ย่อมหมุนเวียนสม่ำเสมอเมื่อหมู่ดาวนักษัตรหมุนเวียนสม่ำเสมอ คืนและวันก็ย่อมหมุนเวียนสม่ำเสมอ เมื่อคืนและวันย่อมหมุนเวียนสม่ำเสมอ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็ย่อมหมุนเวียนสม่ำเสมอกัน
เมื่อเดือนหนึ่งและกึ่งเดือนหมุนเวียนสม่ำเสมอ ฤดูและปีก็ย่อมหมุนเวียนไป ม่ำเสมอเมื่อฤดูและปีหมุนเวียนไปสม่ำเสมอกัน ลมย่อมพัดสม่ำเสมอ เมื่อลมพัดสม่ำเสมอ ลมย่อมพัดไปถูกทาง เมื่อลมพัดไปถูกทาง เทวดาย่อมไม่กำเริบ ฝนย่อมตกต้องตามฤดูกาล เมื่อฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าก็สุกเสมอกัน มนุษย์ผู้บริโภคข้าวกล้าที่สุกเสมอกันย่อมมีอายุยืน มีผิวพรรณดี มีกำลัง และมีอาพาธน้อยฯ
จากพระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระสูตรนี้ ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พฤติกรรมของมนุษย์ซึ่งจัดอยู่ในพีชนิยามส่งผลต่อ ภาพดินฟ้าอากาศอันเป็นส่วนของอุตุนิยามด้วย และเมื่อ ภาพดินฟ้าอากาศเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อม ก็จะส่งผลมาถึงมนุษย์ด้วยคือเป็นให้สุขภาพของมนุษย์เสื่อมถอยลง
ความหมายของธรรมนิยามในนัยที่ 2 นี้ หากพิจารณาดูให้ดีจะพบว่า มีความหมายสอดคล้องกับความหมายนัยที่ 1 คือเป็นเรื่องของเหตุและผลนั่นเอง เพียงแต่ในบางเรื่องเราไม่อาจทำความเข้าใจโดยวิธีการคิด เช่น การประสูติของพระบรมโพธิสัตว์กับการเกิดแผ่นดินไหวแต่จะรู้ได้ด้วยการปฏิบัติธรรมจนบังเกิดญาณทัสสนะ ก็จะพบว่าสิ่งนี้เป็นแบบแผนอย่างหนึ่งของพระบรมโพธิสัตว์ทุกพระองค์
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา