มนุษยศาสตร์ในพระไตรปิฎก
คำสอนในพระไตรปิฎกเน้นเรื่องมนุษยศาสตร์เป็นหลัก จะเห็นว่า โดยสรุปแล้วคำสอนทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามี 3 ประการ คือ ศีลสมาธิ ปัญญา เรียกว่า ไตรสิกขา อันเป็นหลักการดำเนินชีวิตในวัฏสงสารของมนุษย์ โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ พระนิพพาน วิชาต่างๆ ของ ที่นักศึกษาได้เรียนกันมาแล้วนั้น ก็มุ่งทิศทางไปในเรื่องมนุษยศาสตร์ทั้งสิ้นสำหรับมนุษยศาสตร์ในพระไตรปิฎกที่จะกล่าวถึงในที่นี้ จะกล่าวในประเด็นที่สำคัญๆ ดังนี้
1. ภาพรวมมนุษยศาสตร์ในพระไตรปิฎก
เนื้อหาในบทนี้มีอยู่ 8 ประเด็นด้วยกัน ประเด็นแรก คือ ประวัติศาสตร์โลกและมนุษยชาติ จะกล่าวถึงภาพรวมความเป็นมาของโลกและมนุษย์ โดยอ้างอิงข้อมูลจากอัคคัญญสูตรและจักกวัตติสูตร ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเจริญและความเสื่อม ตั้งแต่ยุคแรกที่โลกและมนุษย์มีความเจริญสูงสุดแล้วค่อยๆ เสื่อมลงเรื่อยๆ ไปจนถึงจุดต่ำสุด จากนั้นโลกและมนุษย์ก็จะค่อยๆ เจริญกลับขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งจนถึงจุดสูงสุด แล้วจะค่อยๆ เสื่อมลงอีก เป็นวัฏจักรหมุนเวียนอยู่อย่างนี้มาอย่างยาวนานแล้วสาเหตุแห่งความเสื่อมเกิดจากมนุษย์ประพฤติอกุศลธรรมส่วนความเจริญเป็นผลมาจากมนุษย์ละเว้นอกุศลธรรม ประพฤติเฉพาะกุศลธรรม เมื่อนักศึกษาได้ทราบภาพรวมความเป็นมาของโลกและมนุษย์ดังกล่าวนี้อย่างดีแล้ว จะส่งผลให้มีความเข้าใจเรื่องมนุษยศาสตร์และ รรพศาสตร์ในพระไตรปิฎกได้ง่ายขึ้น
ส่วน 7 ประเด็นที่เหลือจะกล่าวถึงตัวมนุษย์ว่าประกอบขึ้นจาก 2 ส่วน คือ ร่างกายกับจิตใจ โดยจิตใจมีความสำคัญในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาให้ร่างกายทำสิ่งต่างๆ ปกติจิตใจของมนุษย์จะประภัสสร คือ สว่างไสว แต่เพราะมีกิเลสมาบดบังแสงสว่างของจิตใจ จึงทำให้จิตใจเศร้าหมอง มองโลกผิดไปจากความเป็นจริง ทำให้มีโอกาสคิดผิดพูดผิดและทำผิด เกิดเป็นวิบาก คือ บาปขึ้นในใจ และบาปนี้ก็จะรอเวลาส่งผลให้มนุษย์ผู้นั้นได้รับความทุกข์ทรมานต่างๆ วิธีการแก้ไขให้จิตใจสว่างไสว คือสร้างบุญหรือกุศลธรรมมากๆ บุญนี้จะชำระล้างกิเลสและบาปในใจให้เบาบางลงจนหมดไปในที่สุด
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์ทำกรรมดีหรือชั่วอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลให้เกิดบุญหรือบาปสั่งสมอยู่ในใจในปริมาณมากๆ คือ "นิสัย" อันเป็นความประพฤติที่เคยชิน หากมีนิสัยที่ดีก็เป็นเหตุให้ทำกรรมดีอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดบุญอย่างต่อเนื่อง หากมีนิสัยชั่วก็เป็นเหตุให้ทำกรรมชั่วอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดบาปอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยนิสัยนั้นถูกบ่มเพาะขึ้นจาก 5 ห้องที่เราใช้เป็นประจำในชีวิตประจำวัน คือ ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องแต่งตัว และห้องทำงานด้วยเหตุนี้หากเราต้องการบ่มเพาะนิสัยที่ดีให้เกิดขึ้นก็ต้องมีวิธีการใช้ห้องและวิธีบริหารจัดการห้องทั้ง 5 ที่ถูกต้องเพื่อให้เป็นไปเพื่อการบ่มเพาะนิสัยที่ดีล้วนๆ
วิถีชีวิตของมนุษย์ทุกคนนั้นขึ้นอยู่กับกรรมที่ทำ กล่าวคือ หากทำความชั่ว ทำสิ่งที่เป็นอกุศล ก็จะทำให้ชีวิตตกต่ำทั้งในชาตินี้และชาติหน้า คือ เมื่อละโลกแล้วก็จะไปสู่อบายภูมิ ได้แก่ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์ดิรัจฉาน ถ้าทำกรรมดี คือสร้างบุญกุศลมากๆ ชีวิตก็จะเจริญรุ่งเรือง จะประสบความสำเร็จทั้งในชาตินี้ ละโลกไปแล้วก็จะไปสู่สุคติ และเมื่อสั่งสมบุญมากเข้าจนบุญในตัวกลั่นเป็นบารมีที่เต็มเปียมแล้ว ก็จะขจัดกิเลสในตัวได้หมดสิ้นบรรลุพระนิพพานอันเป็นเป้าหมายชีวิตสูงสุดของมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย
การได้เกิดเป็นมนุษย์มีความสำคัญมากในฐานะที่สร้างบุญบารมีได้มากและสะดวกที่สุด แม้เกิดเป็นเทวดาก็สร้างบุญบารมีได้ไม่สะดวกเหมือนมนุษย์ เพราะเทวดาเป็นกายละเอียดเป็นช่วงการเสวยผลบุญสามารถสร้างความดีได้เหมือนกัน แต่ผลจะไม่แรงเหมือนมนุษย์ซึ่งเป็นกายหยาบ ดังจะเห็นได้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์จะตรัสรู้ธรรมในสภาวะเป็นกายมนุษย์เท่านั้น
ชาวสวรรค์อยู่ได้ด้วยอำนาจบุญของตัวเอง ทิพยสมบัติเกิดขึ้นด้วยบุญที่ตนทำใน สมัยเป็นมนุษย์ เทวดาทั้งหลายจึงไม่อาจจะแบ่งทิพยสมบัติของตนเพื่อให้ทานแก่เทวดาท่านอื่นได้เพราะเป็นของเฉพาะตนสำหรับสัตว์ดิรัจฉาน และสัตว์นรก ยิ่งสร้างบุญบารมียากเข้าไปอีกเพราะกำลังเสวยวิบากกรรมชั่วที่เคยทำไว้สมัยเป็นมนุษย์ แม้แต่คำว่าบุญยังแทบไม่รู้จักด้วย ซ้ำไป
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา