นิติศาสตร์ในพระไตรปิฎก
"พระวินัยธรนักกฎหมายในพระธรรมวินัย"
พระวินัยธร หมายถึง พระผู้ชำนาญวินัย ถ้าเป็นทางโลกก็คือผู้ชำนาญด้านกฎหมาย หรือนักกฎหมายนั่นเอง ในบรรดาผู้ชำนาญวินัยในพระพุทธศาสนานั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายกย่องพระอุบาลีว่าเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งปวง การจะเป็นพระวินัยธรได้นั้นพระพุทธองค์ทรงกำหนดคุณสมบัติที่สำคัญไว้ในปฐมวินยธรสูตร 7 ประการ ดังนี้
(1) รู้จักอาบัติ หมายถึง รู้อาบัติทั้ง 7 กอง ได้แก่ ปาราชิกสังฆาทิเสส เป็นต้น
(2) รู้จักอนาบัติ หมายถึงสามารถวินิจฉัยเรื่องเกี่ยวกับอาบัติแต่ไม่ถึงกับต้องอาบัติ เช่น นางภิกษุณีอุบลวรรณาถูกข่มขืน ท่านไม่ยินดีจึงไม่ต้องอาบัติ เป็นต้น
(3) รู้จักลหุกาบัติ หมายถึง รู้ว่าอาบัติเบา 5 อย่าง คือ ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ และทุพภาสิต จะพ้นได้ด้วยการแสดงอาบัติ หรือ ปลงอาบัติ
(4) รู้จักครุกาบัติ หมายถึง รู้จักอาบัติหนัก คือ รู้ว่าสังฆาทิเสสจะพ้นได้ด้วยการอยู่
กรรม และรู้ว่าอาบัติปาราชิกไม่อาจจะแก้ไขได้ ต้องให้ลาสิกขาอย่างเดียว
(5) มีศีลสำรวมระวังในปาฏิโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระคือมารยาทและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย หมั่นศึกษาและตั้งใจรักษาสิกขาบททุกข้อคำว่า "โคจร" หมายถึง สถานที่ซึ่งภิกษุควรเที่ยวไป และต้องไม่ไปในสถานที่ที่ไม่ควรไป เช่น สถานที่ของหญิงโสเภณี หญิงหม้ายสาวแก่ ร้านสุรา เป็นต้น
(6) ได้ฌาน 4 อันเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
(7) เป็นพระอรหันต์
คุณสมบัติของพระวินัยธร 7 ประการดังที่กล่าวมาข้างต้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 มีความรู้เรื่องพระวินัยเป็นอย่างดี ประกอบด้วย ข้อ 1, 2, 3 และ 4 กลุ่มที่ 2 คือ มีศีลธรรม ประกอบด้วย ข้อ 5 คือ มีศีล, ข้อ 6 คือ ได้ฌาน 4 และ ข้อ 7 เป็นพระอรหันต์ผู้หมดกิเลสแล้ว จึงกล่าวโดยย่อได้ว่า พระวินัยธรจะต้องมีความรู้คู่ศีลธรรมนั่นเอง
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา