เศรษฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก
"ภาพรวมเศรษฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก"
เศรษฐศาสตร์ในพระไตรปิฎกนั้นเป็นเศรษฐศาสตร์แบบ "มีบุญเป็นศูนย์กลาง" กล่าวคือ มีหลักว่าระบบเศรษฐกิจที่ดีจะต้องเอื้อให้สมาชิกในสังคมได้มีโอกาสบำเพ็ญบุญ พัฒนาตนให้เจริญงอกงามในกุศลธรรม อยู่ร่วมกันด้วยความสุข มีความก้าวหน้าทั้งเศรษฐกิจและจิตใจไปคู่กัน เพราะ บุญเป็นปัจจัยหลักแห่งความสุขความสำเร็จของมนุษย์ทั้งในระดับบุคคลและระดับประเทศ หรือในระดับจุลภาคและมหภาค ต่างจากระบบเศรษฐศาสตร์ในระบบทุนนิยมที่ "มีทุนเป็นศูนย์กลาง" มุ่งเน้นการพัฒนาทางวัตถุ ดูอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตรารายได้ต่อหัวของประชากรเป็นหลัก
หลักการตั้งตัวสร้างฐานะในพระพุทธศาสนา คือ "หลักหัวใจเศรษฐี" ได้แก่
1. อุฏฐานสัมปทา หาทรัพย์เป็น
2. อารักขสัมปทา เก็บรักษาทรัพย์เป็น
3. กัลยาณมิตตตา สร้างเครือข่ายคนดีเป็น
4. สมชีวิตา ใช้ชีวิตเป็น
เมื่อบุคคลแต่ละคนได้สั่งสมบุญอันเป็นอริยทรัพย์ ได้แก่ การบริจาคทาน เป็นต้น ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามหลักหัวใจเศรษฐีนี้ก็จะส่งผลให้มีฐานะทางเศรษฐกิจดี
ส่วนเศรษฐกิจในระดับมหภาคหรือระดับประเทศนั้น รัฐบาลก็ต้องส่งเสริมประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องบุญ และสั่งสมบุญควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ประชาชนปฏิบัติตามหลักหัวใจเศรษฐีทั้ง 4 ประการนี้ หากทำได้เช่นนี้เศรษฐกิจของประเทศก็จะดีและเติบโตอย่างมั่นคง
เรื่องบุญหรืออริยทรัพย์นั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นเรื่องการพัฒนาจิตใจส่วนหัวใจเศรษฐีเป็นหลักการพันาเศรษฐกิจที่ปรากฎให้เห็นเป็นรูปธรรม ด้วยเหตุนี้หลักเศรษฐศาสตร์ในพระไตรปิฎกจึงอาจกล่าวได้ว่า "เป็นหลักที่ต้องพัฒนาเศรษฐกิจกับจิตใจไปด้วยกัน"
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา