รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก
"ธรรมาธิปไตยหัวใจของรัฐศาสตร์"
ธรรมาธิปไตย หมายถึง มีธรรมเป็นใหญ่ มีธรรมเป็นอธิบดี กระทำกิริยาคือราชกิจทุกอย่างด้วยอำนาจธรรมเท่านั้น กล่าวคือ การตัดสินใจในการปกครองทุกอย่าง จะต้องยึดหลักธรรมเป็นเกณฑ์เท่านั้น ธรรมาธิปไตยจึงถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการปกครอง หรือเป็นหัวใจสำคัญของหลักรัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก
ธรรม หมายถึง ความถูกต้อง ความดีงาม ซึ่งมีทั้งที่เป็นหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น มรรคมีองค์ 8, อปริหานิยธรรม เป็นต้น และหลักธรรมที่มีมาแต่เดิมก่อนการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ เช่น ศีล 5, ทศพิธราชธรรม, กุศลกรรมบถ 10 และ จักรวรรดิวัตรเป็นต้น
เรื่องธรรมาธิปไตยนี้ ปรากฏอยู่ในราชสูตร ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงการปกครองทวีปทั้ง 4 ของพระเจ้าจักรพรรดิ และตรัสถึงการปกครองพุทธบริษัทของพระองค์เองว่าใช้หลักเดียวกัน คือ ธรรมาธิปไตย
พระเจ้าจักรพรรดิ หมายถึง กษัตริย์ผู้มีบุญญาธิการมาก เป็นผู้ปกครองทวีปทั้ง 4 คือ ชมพูทวีป อุตตรกุรุทวีป ปุพพวิเทหทวีป และอมรโคยานทวีป พระเจ้าจักรพรรดิทุกพระองค์จะมีรัตนะ 7 คือ จักรแก้ว ขุนพลแก้ว ขุนคลังแก้ว นางแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว และแก้วมณี
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในราชสูตรมีใจความว่า พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงดำรงอยู่ในธรรม เป็นพระธรรมราชา... ทรงสักการะ เคารพนอบน้อมธรรม... มีธรรมเป็นใหญ่ ย่อมทรงจัดแจงการรักษา ป้องกัน คุ้มครองที่เป็นธรรมในชนภายในคือ พระมเหสี พระราชโอรสพระราชธิดา และย่อมทรงจัดแจง การรักษา ป้องกัน คุ้มครอง ที่เป็นธรรม ในพระราชวงศานุวงศ์ หมู่ทหาร พราหมณ์ คหบดี ชาวนิคม ชนบท มณพราหมณ์ เนื้อและนกทั้งหลาย ธรรมในที่นี้ คือ กุศลกรรมบถ 10 ประการ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนกัน ทรงดำรงอยู่ในธรรม เป็นพระธรรมราชา... ทรงสักการะ เคารพ นอบน้อมธรรม... มีธรรมเป็นใหญ่ ย่อมทรงจัดแจงการรักษา ป้องกัน คุ้มครองที่เป็นธรรมในพุทธบริษัทว่าสิ่งนี้ควรทำสิ่งนี้ควรพูดสิ่งนี้ควรคิด การเลี้ยงชีพอย่างนี้ควรทำสถานที่เช่นนี้ควรไป และส่วนสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ควรทำ พูด หรือคิด เป็นต้น
จากเนื้อหาในราชสูตรนี้จะเห็นว่า หัวใจของรัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎกนั้น คือธรรมาธิปไตย หมายถึง การมีธรรมเป็นใหญ่ ซึ่งใช้หลักเดียวกันทั้งการปกครองทางโลก และการปกครองในทางธรรม
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา