กรรมลิขิตชีวิตมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย
มนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดมาพร้อมกับความไม่รู้ เช่น ไม่รู้ว่าทำไมตนต้องเกิดมา และมีชีวิตเป็นอย่างนี้ ทำไมบางคนจึงเกิดมายากจน บางคนเกิดมาร่ำรวย ทำไมจึงเกิดมาพิการขณะที่บางคนแข็งแรง เป็นต้น เมื่อไม่รู้จึงด้นเดาเอาว่าเป็นเพราะพรหมลิขิตบ้างหรือฟ้าลิขิตบ้าง
มนุษย์โดยมากมีความเชื่ออย่างนี้เพราะว่าไม่มีทิพยจักษุเหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ถ้าหากว่ามีทิพยจักษุก็จะรู้ว่าจริงๆ แล้วชีวิตของมนุษย์ขึ้นอยู่กับกรรมดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า "กมฺมุนา วตฺตตี โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม" กรรมเป็นตัวลิขิตวิถีชีวิตของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ทั้งกรรมในอดีตชาติและกรรมในปัจจุบันชาติ โดยกรรมในอดีตชาติจะเป็นหลักส่วนกรรมในปัจจุบันชาติจะเป็นส่วนเสริม
กรรมในอดีตเป็นเสมือนต้นไม้ใหญ่ซึ่งปลูกไว้นานแล้วจึงส่งผลแก่วิถีชีวิตของเราอย่างเต็มที่ส่วนกรรมในปัจจุบันเปรียบเสมือนต้นไม้ที่เพิ่งปลูกจึงยังให้ผลได้ไม่มากนัก ชาวโลกที่ไม่มีความเข้าใจเรื่องการให้ผลของกรรมจึงมักคิดไปว่า "ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป" เนื่องจากในชาตินี้ตนเองตั้งใจทำความดี แต่ดูเหมือนว่าผลแห่งกรรมดีนั้นยังไม่ปรากฏผลเท่าที่ควร ในขณะที่บางคนทำแต่ความชั่ว แต่ชีวิตเขาจึงยังเจริญรุ่งเรืองอยู่ได้ เพราะอาศัยกรรมดีที่เขาได้ทำไว้ในอดีตมาส่งผลส่วนกรรมชั่วที่เขาทำในชาตินี้ยังไม่ส่งผลอย่างเต็มที่แต่จะไปส่งผลในชาติหน้าเป็นหลักสำหรับคนที่ทำดีแล้วดูเหมือนว่าตนเองไม่ได้ดีนั้น เพราะในอดีตชาติทำกรรมดีในด้านนั้นๆ มาน้อย และกรรมดีที่ทำในชาตินี้ก็ยังส่งผลไม่เต็มที่เพราะเป็นต้นกล้าแห่งความดีที่เพิ่งปลูกอยู่ ยังเก็บเกี่ยวผลอะไรได้ไม่มากนัก จำเป็นต้องรอคอยเวลาต่อไป
หลวงพ่อทัตตชีโวเคยกล่าวถึงเรื่องการให้ผลของกรรมไว้ว่า คนเราเมื่อทำความดีอะไรนิดๆ หน่อยๆ แล้วอยากจะให้ได้รับผลทันตาเห็นทันทีซึ่งเป็นไปได้ยาก เมื่อความดียังไม่ผลิดอกออกผลก็ท้อแท้ใจ ไม่อยากทำความดีอีกต่อไป หลวงพ่อบอกว่าอยากจะให้เราลองนึกในทางกลับกันบ้างคือ หากเราทำความชั่วแล้วได้รับผลทันตาเห็นทันทีแล้วจะเป็นอย่างไร เช่น ทันทีที่พูดโกหกฟันก็ร่วงในขณะนั้น ซึ่งคงไม่มีใครต้องการให้เป็น เช่นนี้ และถ้าเป็นอย่างนี้จริงชาวโลกจำนวนมากในปัจจุบันคงไม่มีฟันเหลืออยู่ในปากแล้ว
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา