รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก "ธรรมาธิปไตยไม่ใช่ระบอบการปกครอง"

วันที่ 09 พค. พ.ศ.2560

รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก
"ธรรมาธิปไตยไม่ใช่ระบอบการปกครอง"

GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก , รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก , รัฐศาสตร์ , ระบอบการปกครอง , ธรรมาธิปไตย

    ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ธรรมาธิปไตยไม่ถือว่าเป็น "ระบอบการปกครอง" ระบอบหนึ่งเหมือนอย่าง ระบอบประชาธิปไตย หรือ ระบอบคอมมิวนิ ต์ แต่ทุกระบอบการปกครองที่มีอยู่สามารถนำธรรมาธิปไตยไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งนั้น เพราะธรรมาธิปไตยเป็นเรื่องของหลักการที่ถือเอาความถูกต้องชอบธรรมเป็นใหญ่ ซึ่งจะรักษาป้องกันให้ผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้ปกครองดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขไม่มีการเบียดเบียนกัน

     ระบอบการปกครองในสมัยพุทธกาลและในอดีต ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกมีอยู่ 2 ระบอบใหญ่ๆ คือ การปกครองโดยคนๆ เดียว และการปกครองโดยคณะบุคคล การปกครองโดยคนๆ เดียว หมายถึง การปกครองโดยกษัตริย์ เช่น แคว้นมคธปกครองโดยพระเจ้าพิมพิสารแคว้นโกศลปกครองโดยพระเจ้าปเสนทิโกศล แคว้นวังสะปกครองโดยพระเจ้าอุเทน หรือ หากเป็นการปกครองโดยคนๆ เดียวในอดีตก็ได้แก่ การปกครองของพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นต้น ส่วนการปกครองโดยคณะบุคคล เป็นการปกครองโดยคณะของเจ้าต่างๆ ในยุคนั้น เช่น แคว้นวัชชี ปกครองโดยคณะเจ้าลิจฉวี และแคว้นมัลละปกครองโดยคณะเจ้ามัลละ

      ระบอบการปกครองทั้ง 2 ระบอบนี้ มีอยู่แล้วในสมัยพุทธกาล ซึ่งสืบทอดมาจากในอดีต เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้น พระองค์ไม่ได้ตรัสให้มีการเปลี่ยนแปลงตัวระบอบใดๆ ทั้งสิ้น แคว้นใดเคยปกครองแบบใดก็ปกครองไปเหมือนเดิม แต่สิ่งที่พระองค์สอนคือ "ธรรม"สำหรับนำไปใช้ในการปกครองแต่ละระบอบ เช่น อปริหานิยธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่เหมาะกับการปกครองโดยคณะบุคคล เช่น แคว้นวัชชีและแคว้นมัลละ ฯลฯ ส่วนธรรมที่เหมาะกับสำหรับการปกครองโดยกษัตริย์ ได้แก่ ทศพิธราชธรรม, จักรวรรดิวัตร ฯลฯ แต่ทั้งนี้อปริหานิยธรรม ทศพิธราชธรรม และจักรวรรดิวัตร ฯลฯ ก็สามารถประยุกต์ใช้ในการปกครองได้ทุกระบอบ

      นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะสอนหลักธรรมสำหรับการปกครองแล้ว พระองค์ยังทรงสอนให้กษัตริย์และผู้ปกครองแคว้นต่างๆ บรรลุธรรมด้วย เช่น พระองค์เสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธ ในครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสารและประชาชน 110,000 คน ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน เมื่อพระราชาเป็นพระโสดาบันแล้ว จึงทำให้มีศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย มีใจตั้งมั่นในธรรม เป็นเหตุให้ปกครองประชาราษฎร์โดยธรรมไปโดยปริยาย

      สำหรับการปกครองของคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนานั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ ไม่เคยมีมาก่อน แต่ถึงกระนั้น ในสมัยพุทธกาลระบอบที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้ปกครองพุทธบริษัทก็คล้ายๆ กับทางโลก โดยฐานะทางการปกครองของพระพุทธองค์ คือ "ธรรมราชา" คล้ายๆกับการเป็นกษัตริย์ผู้ทรงธรรมในทางโลก

      ก่อนพระองค์จะปรินิพพานก็ไม่ได้แต่งตั้งภิกษุรูปใดเป็นศาสดาแทน แต่ทรงใช้หลักการธรรมาธิปไตยในการปกครองคณะสงฆ์ โดยมอบอำนาจให้คณะสงฆ์ในแต่ละพื้นที่ แต่ละวัดทุกรูปปกครองบริหารการคณะสงฆ์ในพื้นที่นั้นๆ ร่วมกัน โดยยึด "พระธรรมวินัย" ที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้วเป็นศา ดาแทนพระองค์ และที่สำคัญพระองค์ได้ตรัสถึงหลัก "อปริหานิยธรรม" ให้พระภิกษุและภิกษุณีปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ซึ่งหลักนี้พระองค์เคยสอนให้เจ้าลิจฉวีใช้ปกครองแคว้นวัชชีมาก่อน แต่มีความแตกต่างกันบางข้อ ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับเพศภาวะของบรรพชิต

      การปกครองคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนานั้นแตกต่างกับทางโลกตรงที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดกฎระเบียบสำหรับพระภิกษุและภิกษุณีอย่างเคร่งครัด ดังที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดในบทนิติศาสตร์ในพระไตรปิฎกต่อไปส่วนทางโลกพระองค์เพียงตรัสสอนหลักธรรมให้บรรดากษัตริย์และผู้ปกครองแคว้นต่างๆ นำไปประยุกต์ใช้กันเอง พระองค์ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับกฎระเบียบ และกระบวนการปกครองภายในรัฐแต่อย่างใด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสิ่งเหล่านี้มีมาแต่เดิมแล้ว เพียงแต่บางรัฐบางแคว้นหรือโดยส่วนใหญ่ยังขาด "หลักธรรม" ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญสำหรับเป็นเครื่องนำทางการปกครองเท่านั้น

     ส่วนคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนานั้นเกิดขึ้นใหม่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงต้องวางระบบระเบียบต่างๆ ให้ชัดเจน จะอาศัยเพียงหลักธรรม เช่น อปริหานิยธรรม เป็นต้น ซึ่งเป็นหลักการกว้างๆ นั้นไม่พอ เพราะผู้เข้ามาบวชมีอุปนิสัยและการอบรมหล่อหลอมต่างกัน หากไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจน ก็มีโอกาสปฏิบัติไม่เหมาะสมสร้างความเสื่อมเสียให้แก่พระพุทธศาสนาได้ ซึ่งต้นบัญญัติสิกขาบทแต่ละข้อในพระวินัยปิฎก ล้วนมาจากสาเหตุเหล่านี้ทั้งสิ้น ดังนั้น พระวินัยจึงเปรียบเสมือนด้ายที่ช่วยร้อยดอกไม้คือภิกษุและภิกษุณี ให้เป็นระเบียบสวยงามสร้างความศรัทธาให้เกิดแก่ผู้พบเห็น และเป็นเหตุให้ภิกษุและภิกษุณีอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขสามารถสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาไปได้ยาวนาน

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.024687119325002 Mins