สรุปวิชาสรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก

วันที่ 12 พค. พ.ศ.2560

สรุปวิชาสรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
 

GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก

       จากสรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎกที่นักศึกษาได้เรียนกันมาแล้วนี้ จะเห็นว่าคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น กว้างขวางครอบคลุมหลายศาสตร์ โดยศาสตร์ทั้งปวงในทางโลกนั้นสรุปได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งพุทธธรรมในพระไตรปิฎกนั้นมีขอบข่ายครอบคลุมทั้ง 3 ศาสตร์นี้ แต่มีความลึกซึ้งและกว้างไกลกว่าศาสตร์ในทางโลกมาก เพราะเป็นคำสอนที่เกิดจากการรู้แจ้งเพราะการเห็นแจ้ง ด้วยพระปัญญาตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นความรู้อันเกิดจากภาวนามยปัญญา ไม่ได้เกิดจากการฟังการอ่าน หรือการคิดและตั้งสมมติฐานเอาด้วยหลักเหตุผลธรรมดา

     จากวิชาสรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎกนี้ มีข้อคิดที่สำคัญเพื่อให้นักศึกษานำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน 3 ประการ คือ ให้ศึกษาพุทธธรรมในพระไตรปิฎกให้แตกฉาน ศึกษาด้วยการเปรียบเทียบกับศาสตร์ทางโลก และให้นำพุทธธรรมมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

1.ให้ศึกษาพุทธธรรมในพระไตรปิฎกให้แตกฉาน
     เมื่อเรารู้แล้วว่าคำสอนในพระไตรปิฎกนั้น เป็นความรู้ที่ลึกซึ้งและกว้างไกลยิ่งกว่าความรู้ในทางโลกมากอย่างนี้ นักศึกษาทุกท่านจึงควรศึกษาพระไตรปิฎกให้แตกฉาน อย่างน้อยก็ควรอ่านพระไตรปิฎกให้จบ โดยเฉพาะในส่วนของพระวินัยและพระสูตร ซึ่งมีเนื้อหาไม่ยากจนเกินไปสามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดีส่วนพระอภิธรรมนั้นมีเนื้อหาค่อนข้างยาก กล่าวถึงเรื่องจิตและนิพพานเป็นต้น ผู้ศึกษาจะต้องมีความเชี่ยวชาญทั้งปริยัติและปฏิบัติ จึงจะเข้าใจความรู้ในพระอภิธรรมได้อย่างถ่องแท้

       พระวินัยและพระสูตรนั้นมีทั้งหมด 33 เล่ม หากเป็นฉบับของมหามกุฏราชวิทยาลัยซึ่งมีอรรถกถาอธิบายอยู่ด้วยก็มี 74 เล่ม เนื้อหาดังกล่าวไม่ถือว่าเยอะจนเกินไป เพราะในทางโลกกว่านักวิทยาศาสตร์แต่ละคน จะตั้งกฎหรือทฤษฎีแต่ละทฤษฎีขึ้นมาได้นั้น จะต้องใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตทีเดียว จะต้องศึกษาค้นคว้าจากหนังสือจำนวนมาก และทดลองปฏิบัติอีกนับครั้งไม่ถ้วน ศึกษากันโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน กว่าจะได้ความรู้มาแต่ละอย่าง แต่ความรู้ที่ได้มานั้นก็มักเป็นความรู้ที่ไม่สมบูรณ์ ต้องมีการพัฒนาและแก้ไขปรับปรุงกันเรื่อยไป ต่างกับพุทธธรรมในพระไตรปิฎกซึ่งเป็นความรู้ที่ถูกต้อง มบูรณ์แล้ว นักศึกษาต้องการรู้เรื่องอะไรก็ให้อ่านเรื่องนั้นๆ ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที ก็จะได้ความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องนั้นๆ แล้ว ไม่ต้องเสียเวลาคิดค้นและลองผิดลองถูกกันยาวนาน หากท่านใดตั้งใจจะอ่านพระไตรปิฎกให้หมดทุกเล่ม ก็จะใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนก็อ่านจบแล้ว ซึ่งจะทำให้ได้รู้เรื่องความเป็นจริงของชีวิตกว้างขวางมาก จะเป็นประโยชน์ต่อตนเอง และสามารถนำความรู้นั้นไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรได้อีกด้วย

       ความรู้ในพระไตรปิฎกนั้น เป็นประดุจเข็มทิศนำทางชีวิตของเรา เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจได้เป็นอย่างดี เราจะรู้ว่าอะไรควรทำและอะไรไม่ควรทำ และตราบใดที่เรายังนั่งสมาธิค้นคว้าหลักธรรมภายในตัวด้วยตนเองไม่ได้ เราก็ต้องอาศัยการอ่านจากพระไตรปิฎกไปก่อน เพราะเป็นสัจธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอนเอาไว้ เพื่อให้ชาวโลกใช้เป็นแสงสว่างนำทางชีวิต และเพื่อเป็นหนทางให้เข้าไปสู่ความรู้ในตัวต่อไป

      หลวงพ่อธัมมชโย และหลวงพ่อทัตตชีโว เป็นต้นแบบให้แก่พวกเราได้เป็นอย่างดี หลวงพ่อทั้งสองอ่านพระไตรปิฎกจบตั้งแต่ก่อนบวช เมื่อมาบวชแล้วก็ได้ศึกษาค้นคว้าควบคู่กับการปฏิบัติธรรมอยู่เป็นประจำ และนำความรู้จากพระไตรปิฎกและธรรมปฏิบัติ มาใช้สร้างวัดและเผยแผ่พระพุทธศาสนา จึงทำให้การทำงานของวัดพระธรรมกายก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว


2. ศึกษาด้วยการเปรียบเทียบกับศาสตร์ทางโลก
       โดยหลักการแล้ว ต้องศึกษาความรู้จากในพระไตรปิฎกเป็นหลัก แต่ในบางเรื่องหากได้ศึกษาเปรียบเทียบกับความรู้ทางโลกด้วย จะทำให้เข้าใจคำสอนในพระไตรปิฎกได้ชัดเจนและเห็นคุณค่าของพุทธธรรมมากขึ้น เพราะการที่คนเราจะเข้าใจและเห็นคุณค่าของสิ่งใดอย่างชัดเจน ก็ต่อเมื่อนำสิ่งนั้นไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่ใกล้เคียงกันหรือตรงข้ามกับสิ่งนั้นๆ เช่น เราจะเข้าใจและเห็นคุณค่าของสันติภาพมากขึ้น เมื่อได้เห็นความทุกข์ยากจากสงคราม เราจะเข้าใจและเห็นคุณค่าของข้าวสารแต่ละเมล็ดมากขึ้น ก็ต่อเมื่ออยู่ในภาวะข้าวยากหมากแพง เป็นต้น

   จากเนื้อหาวิชาสรรพศาสตร์ที่นักศึกษาได้เรียนมาแล้วนั้นจะเห็นว่า เมื่อได้นำคำสอนในพระไตรปิฎกไปเปรียบเทียบกับศาสตร์ต่างๆ ในทางโลกแล้ว ทำให้เราเข้าใจและเห็นคุณค่าของคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากขึ้น เช่น ทำให้เข้าใจโลกธาตุในพระไตรปิฎกก็คือเอกภพอันกว้างใหญ่ไพศาลที่เราได้ศึกษากันมาตั้งแต่เด็กๆ ทำให้เข้าใจและเชื่อมั่นว่าเวลาในแต่ละภพภูมิไม่เท่ากันจริงๆ เพราะผลการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ก็ยืนยันเช่นนั้น ทำให้เข้าใจว่าเรือนไฟของพระภิกษุในสมัยพุทธกาล ก็คือห้องอบซาวน่าในปัจจุบันนั่นเอง

      เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็จะเห็นคุณค่าของคำสอนในพระไตรปิฎกมากขึ้นจะตระหนักว่าความรู้ในทางโลก ไม่ว่าจะมาจากนักวิทยาศาสตร์ที่อัจฉริยะเพียงใดก็ตาม แต่ความรู้นั้นก็ไม่ก้าวไกลเกินไปกว่าคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้พระองค์จะตรัสถึงเรื่องทางโลกไว้ไม่มากนัก แต่ก็เป็นความรู้ที่ถูกต้องและลึกซึ้ง ยิ่งกว่าวงการวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันมากมายนัก

3. ให้นำพุทธธรรมมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
      เมื่อนักศึกษาได้อ่านพระไตรปิฎกแล้ว ก็ให้น้อมนำคำสอนต่างๆ มาปฏิบัติในชีวิตประจำวันด้วย จึงจะได้ประโยชน์จากพุทธธรรมอย่างแท้จริง หากเพียงแค่ศึกษาแต่ไม่ได้ปฏิบัติพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าเป็น "ใบลานเปล่า" กล่าวคือ แม้จะเป็นคนมีความรู้มากมายแต่ก็เหมือนไม่มีความรู้อะไรเลย เพราะความรู้นั้นไม่ได้เกิดประโยชน์แก่ตนเองเลย เราไม่อาจจะพ้นทุกข์ได้เพราะการอ่านและการฟัง แต่เราจะต้องนำธรรมะที่อ่านและฟังนั้นมาปฏิบัติ จึงจะพ้นทุกข์บรรลุถึงพระนิพพานได

     ครั้งหนึ่ง คณกโมคคัลลานพราหมณ์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าสาวกผู้รับฟังคำสอนของพระองค์อยู่ ย่อมสำเร็จนิพพานทุกรูปหรือไม่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า "ดูก่อนพราหมณ์สาวกของเราอันเราสั่งสอนอยู่ บางพวกก็สำเร็จนิพพาน แต่บางพวกก็ไม่สำเร็จ" เหตุที่บางพวกไม่สำเร็จนิพพานนั้น เพราะปฏิบัติผิดวิธีบ้าง หรือได้แต่เพียงฟังธรรมแต่ไม่ได้ปฏิบัติตามธรรมเหล่านั้นบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้พระผู้มีพระภาคเองก็ไม่อาจจะช่วยอะไรได้ พระองค์ตรัสว่า "ดูก่อนพราหมณ์ ในเรื่องนี้เราจะทำอย่างไรได้ ตถาคตเป็นเพียงผู้บอกหนทาง"

      นักศึกษาทุกท่าน จึงควรศึกษาพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เข้าใจ และนำมาปฏิบัติจริง เราก็จะเป็นผู้หนึ่งที่เข้าใจในสรรพศาสตร์ทั้งทางโลกและทางธรรม ได้ลึกซึ้งกว่าบุคคลทั่วไป และจะเป็นผู้หนึ่งที่ประสบความสุขความสำเร็จในชีวิตสมกับที่มีบุญได้เป็นชาวพุทธ และยังจะสามารถเป็นกัลยาณมิตรนำความรู้นี้แนะนำแก่ชาวโลกทั้งหลาย นำความร่มเย็นเป็นสุขและความเจริญก้าวหน้า มาสู่โลกทั้งมวลในที่สุด

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.018981683254242 Mins