วิธีสร้างความสามัคคีในบ้าน

วันที่ 23 พค. พ.ศ.2560

วิธีสร้างความสามัคคีในบ้าน

หลักการสร้างความสุขในครอบครัว , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , วิธีสร้างความสามัคคีในบ้าน

    หลายสิบปีมานี้ เรามีคำหนึ่งที่ใช้เรียกคนที่มาจากสภาพบ้านแตกสาแหรกขาดว่า "เด็กการ์ท" หรือ "เฒ่าฮาร์ท" แน่นอนว่าไม่มีใครอยากตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ แต่ทำไมครอบครัวของเขาจึงแตกแยกไปคนละทิศคนละทาง หากไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง เราอาจทำความบาดหมางให้เกิดขึ้นในครอบครัวก็เป็นได้ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรรู้

     คนที่ถูกเรียกว่าเด็กการ์ทนั้น บางคนมาจากครอบครัวที่พ่อแม่แตกแยกมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งทุบตีกันเป็นประจำ ทำให้ตนเองและพี่น้องกลายเป็นเด็กมีปัญหา ดื้อด้านเกะกะเกเร ไม่เชื่อฟังใคร เพราะไม่มีใครสอนมาตั้งแต่แรกแล้ว

      แต่บางคนมาจากครอบครัวที่พ่อแม่ครองเรือนกันดี แต่สาเหตุที่เขาหนีออกจากบ้านก็เพราะพี่น้องไม่ถูกกัน บางครั้งคิดแย่งสมบัติกันตั้งแต่อายุเพียง 1213 ขวบเท่านั้น

    ปัญหาทำนองนี้ เมื่อพิจารณาดูลึก ๆ จะพบว่าสาเหตุที่แท้จริง คือ การขาดความสามัคคีในครอบครัว เริ่มจากความไม่พร้อมหน้าพร้อมตา กลายเป็นความห่างเหิน และนำมาซึ่งความแตกร้าวในที่สุด

 จุดเริ่มต้นของอันตรายที่นำไปสู่ความแตกแยกในครอบครัวได้เร็วที่สุดก็คือ บ้านนั้นกินข้าวไม่พร้อมกันครอบครัวที่มีลูกหลายคน แต่ถึงเวลากินข้าว พ่อแม่ลูกมากินข้าวไม่พร้อมหน้ากันจะยิ่งเห็นการกระทบกระทั่งกันระหว่างพี่น้องได้ชัดเจน

     สมมติว่าวันนี้แม่ทำกับข้าวอร่อยถูกปากทุกคน ต่างคนก็กินข้าวได้มากขึ้น ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นก็คือ ข้าวไม่พอกิน

    ถ้าครอบครัวนี้กินข้าวพร้อมหน้ากัน ข้าวก็อาจจะขาดไปสักครึ่งชาม เมื่อเฉลี่ยทุกคนแล้วก็ขาดไปเพียงคนละ 2-3 ช้อนเท่านั้น ไม่กระทบกระเทือนเท่าไร

    แต่ถ้าครอบครัวซึ่งพ่อแม่ลูกนี้กินข้าวไม่พร้อมกัน เกิดเรื่องแน่นอน ลูกคนที่มากินทีหลังจะได้กินไม่เต็มอิ่ม แค่ได้ข้าวขาดไปสักครึ่งชามก็จะเริ่มน้อยใจขึ้นมาแล้ว ยิ่งถ้าเขาเป็นลูกคนที่ขยันทำงานในบ้านมากที่สุดเท่าใด ความน้อยใจก็ยิ่งมากขึ้นตามลำดับเท่านั้น

     แล้วถ้าครอบครัวใด มีลูกช่างประจบ แต่ขี้เกียจทำงานอยู่สักคนสองคนเจ้าพวกนี้แหละจะมาคอยเคล้าเคลียรอเวลากิน แม่ยังไม่ทันตั้งสำรับ ลูกนักประจบพวกนี้ก็จะฉกของดี ๆ ไปกินก่อนแล้ว และก็กินจุด้วย อ้วนปีเลย แม่ก็จะรักมาก เพราะช่างพูดเอาใจ

    ส่วนลูกขยัน ๆ กว่าจะทำงานเสร็จก็เลยเวลากินข้าว พอมากินทีหลัง ตัวเองเหนื่อยมากที่สุดได้กินของเหลือ ๆ นิดเดียวทุกที แล้วบางทียังต้องล้างจานทั้งหมดด้วย โรคน้อยใจจะตามมา ถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้หลายครั้งเข้า ความน้อยใจก็ยิ่งพอกพูน คราวนี้พอมีอะไรนิดหน่อยไปกระทบเข้าระหว่างพี่น้อง ก็จะทะเลาะกันรุนแรงทันที

    เช่น ถ้าพี่หรือน้องมาทำแก้วส่วนตัวของเขาแตกไปใบเดียว จะโกรธพลุ่งพล่านขึ้นมาทันที และอาจเลยไปถึงขั้นทะเลาะทุบตีกันเลย

  พ่อแม่ที่ไม่เข้าใจต้นเหตุที่แท้จริงก็อาจไกล่เกลี่ยประนีประนอม ซึ่งเป็นการแก้กันที่ปลายเหตุ แต่ไม่หายหรอก ลูกก็ยังขุ่นเคืองกันอยู่ลึก ๆ ทว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้หลายหนบางทีก็จะมองลูกแบบเข้าใจผิดอีกด้วย เพราะเขาไม่ใช่คนช่างประจบ ก็ทำให้เขาเป็นโรคน้อยใจคนในบ้าน มีช่องทางก็จะหนีออกจากบ้านทันที

 จุดเริ่มต้นความแตกแยกที่อาจมองเป็นเรื่องเล็กในบ้าน ก็คือเรื่องกินข้าวไม่พร้อมกันเพราะเป็นความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นบาดตาบาดใจกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันสะสมเข้าไปในใจลูกโดยที่พ่อแม่ไม่ทันรู้ตัว และโดยมากเรื่องนี้จะเกิดกับครอบครัวที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว ต่างคนต่างยุ่ง พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลามาใส่ใจกัน เลยไม่ทันรู้ว่าคนอื่น ๆ ในบ้านผิดสังเกตอะไรบ้าง

      เพราะฉะนั้นถ้าบ้านใดกินข้าวไม่พร้อมกัน ก็เป็นการส่งสัญญาณให้รู้ว่า บ้านนั้นกำลังจะแตกแยกแล้ว

    ประโยชน์ของการกินอาหารพร้อมหน้ากันทุกวันคือ ถ้าใครในบ้านมีปัญหาอะไรจะได้พูดกัน ไม่ต้องติดค้างอยู่ในใจ มีอะไรจะแนะนำสั่งสอนกัน ก็ใช้เวลาว่างช่วงนี้แหละเหมาะที่สุด เพราะท้องอิ่ม อารมณ์ดี ยิ่งกว่านั้นยังเป็นโอกาสให้ลูก ๆ ได้ถ่ายทอดนิสัยที่ดีไปจากพ่อแม่โดยการเลียนแบบกิริยามารยาทในการกินอยู่ไปโดยอัตโนมัติ

   ในสมัยโบราณ ปู่ย่าตายายของเราถือกันมากว่า อย่างน้อยที่สุดใน 1 วัน พ่อแม่ลูกควรจะต้องมากินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากัน 1 มื้อ

      สำหรับมื้อเช้านั้น อาจทำได้ยาก เพราะต่างคนต่างต้องรีบไปทำงาน หรือรีบไปเรียน

      ส่วนตอนกลางวันต่างคนก็กินกันที่โรงเรียนหรือในที่ทำงาน

    แต่สำหรับมื้อเย็นนั้น ขอให้เป็นเวลานัดพร้อมหน้าพร้อมตากันให้ได้ เพราะถ้าพลาดจากเวลาอาหารเย็นแล้ว ต่างคนต่างก็มีเรื่องส่วนตัวจะต้องทำ

   บางคนจะทำการบ้าน บางคนจะดูทีวี ถ้าไม่มีเวลาอบรมพบปะ ทำความเข้าใจกันในช่วงกินข้าวมื้อเย็น ดีไม่ดีจะทะเลาะกันหน้าทีวีนั่นแหละ เพราะชอบรายการไม่เหมือนกัน

  บางบ้านแก้ปัญหาโดยซื้อโทรทัศน์แจกกันดูให้ครบคนละเครื่องเลย พอตกเย็นต่างคนต่างกิน ต่างคนปิดประตูเข้าห้อง ดูทีวีในห้องตนเอง ตกลงวันหนึ่ง ๆ เลยไม่ต้องได้คุยกันต่างคนต่างไป ไม่มีความอบอุ่น

    นอกจากเรื่องการกินข้าวไม่พร้อมหน้ากันแล้ว ยังมีอีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นบ่อย ๆ และมักจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ครอบครัวเกิดความระหองระแหงโดยไม่รู้ตัว นั่นก็คือ คู่สามีภรรยาสมัยนี้ มักมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งอยู่เรื่อย ๆ โดยเฉพาะเรื่องการเตรียมข้าวปลาอาหารถ้าเอาแต่ซื้อกับข้าวใส่ถุงพลาสติก ต่างคนต่างกิน ตาจ้องเป๋งอยู่กับละครทีวี แล้วก็เห็นพระเอกนางเอกดีกว่าสามีหรือภรรยาของเรา ก็เตรียมรับสถานการณ์บ้านแตกได้ในไม่ช้าก็เร็ว

    อีกตัวอย่างก็คือสามีและภรรยาก็ต้องสังเกตตนเองว่า ถึงคราวนัดพบประชุมญาติฝ่ายเขา เราไปร่วมด้วยหรือเปล่า ไม่ใช่ปล่อยเขาไปเยี่ยมพ่อเยี่ยมแม่ตามลำพัง ก็เตรียมรับสถานการณ์บ้านแตกได้อีกเช่นกัน

   เรื่องการทำอะไรพร้อมหน้าพร้อมตากันในครอบครัว เป็นเรื่องใหญ่ และเป็นสิ่งที่จะสร้างความอบอุ่นสามัคคีให้แก่ครอบครัว อย่าคิดว่าไม่มีอะไร เพราะหลายครอบครัวก็พังกันด้วยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้

    สรุป การสร้างความสามัคคีในครอบครัว ทำได้ง่าย ๆ คือ ในหนึ่งวันควรจะต้องมีกิจกรรมหนึ่งอย่าง ที่คนทั้งบ้านจะต้องมาทำพร้อมหน้าพร้อมตากัน และที่ดีที่สุดก็คือ การกินข้าวพร้อมกัน หรืออย่างน้อยที่สุด เมื่อใครในบ้านมีเรื่องอะไร ก็มาจับเข่าคุยกัน ปรึกษากันโดยเอาหลักธรรมเป็นตัวตั้ง แล้วก็ใช้เหตุใช้ผลพูดคุยกัน ถึงแง่มุมต่าง ๆ ที่เป็นคุณและเป็นโทษการพร้อมเพรียงกันเช่นนี้ ก็จะนำความอบอุ่นและความสามัคคีมาสู่ครอบครัวแบบง่าย ๆ โดยไม่ยากเย็น

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 001 หลักการสร้างความสุขในครอบครัว
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0016137520472209 Mins