แก้ปัญหาข้างบ้านทะเลาะกัน
สิ่งแวดล้อมที่ดีย่อมส่งผลต่อลักษณะนิสัยใจคอที่ดีของลูก แต่ถ้าข้างบ้านของเราทะเลาะกันเสียงดังทุกวัน ชอบด่ากันด้วยถ้อยคำหยาบคายเป็นประจำ พ่อแม่ควรจะแก้ปัญหานี้อย่างไร เพราะหากลูกของเราได้ยินเสียงด่าบ่อย ๆ ก็ย่อมไม่เป็นผลดี อาจทำให้เขาเป็นคนพูดไม่เพราะ หยาบกระด้าง และไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมขึ้นมาได้ในอนาคต
หนทางแก้ไข
การแก้ไขผ่อนปรนสถานการณ์อย่างนี้ มีเรื่องที่อาจจะทำได้อยู่ 2 ประการ คือ
ทางแรก ย้ายบ้านหนี
ถ้ากำลังวังชาของคุณพ่อคุณแม่สามารถย้ายบ้านหนีได้ก็ควรย้าย แต่ถ้าย้ายไม่ได้ก็ต้องอดทนไปก่อน แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็มาเป็นต้นแบบการพูดเพราะ ๆ ให้ลูกดูเป็นตัวอย่างหากทำอะไรรุนแรงกับข้างบ้านลงไป ก็อาจจะทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท เจ็บตัวเพิ่มขึ้นมาอีกซึ่งไม่คุ้มค่า
ทางที่สอง เอาความดีเข้าสู้
ถ้าคุณพ่อคุณแม่เป็นเด็กกว่าเขา ก็คงทำตัวให้น่ารัก เขาอาจจะเกรงใจเราขึ้นมาบ้างโดยไม่กล้าทะเลาะเสียงดัง
แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ใหญ่ มีอาชีพ มีงานการเป็นหลักเป็นฐาน เป็นที่เคารพนับถือของคนในหมู่บ้าน กรณีของบ้านนี้จะต้องหาทางพูดคุยกันให้รู้เรื่อง แต่ว่าก่อนจะพูดจะคุยกับเขาให้รู้เรื่องนั้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำตนเองให้เป็นทั้งที่รักและที่เกรงใจให้ได้เสียก่อนมิฉะนั้นก็ยากที่จะไปพูดอะไรได้ ต่อเมื่อทำให้มีความน่ารักน่าเกรงอยู่ในตัวแล้วค่อยไปคุยกับเขา
ทำอย่างไรจึงจะเป็นคนน่ารักและน่าเกรงใจ
1) คนจะน่ารักได้ต้องเป็นนักให้ส่วนจะให้อะไรบ้างก็แล้วแต่กรณี ๆ ไป
เช่น อาจจะมีกำลังทรัพย์ มีข้าวของพอแบ่งปัน พอให้กันได้ ก็ปันก็ให้กันไป เขาก็จะเกรงใจเราเอง เพราะแม้เราเองพอใครเขาให้ของ เราก็เกรงใจเขาเหมือนกัน
หรือมีกำลังกาย พอจะให้ความช่วยเหลือในกิจอันควร ช่วยได้ก็ช่วยกันไป
แม้ที่สุดถ้าเราไม่รู้จะให้อะไร ก็ให้กำลังใจ คือให้คำพูดเพราะ ๆ พูดดี ๆ หรือให้รอยยิ้ม คือ แม้ไม่ได้พูด ยิ้มให้ก็ยังดี
ถ้าคุณพ่อคุณแม่เองก็วางตนให้เหมาะสมกับฐานะหน้าที่ของเรากับเพื่อนบ้านพอถึงจุดหนึ่งเราจะเป็นที่รัก ที่เกรงใจของเพื่อนบ้าน ก็จะถึงเวลาที่สามารถว่ากล่าวตักเตือนเขาได้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ธรรมะไว้หมวดหนึ่ง คือสังคหวัตถุ 4 ซึ่งอาจแปลง่าย ๆ ว่า หลักในการสงเคราะห์บุคคล หรือวิธีการสร้างความสามัคคีในหมู่ชน หมวดธรรมนี้เริ่มด้วย
1. ทาน คือ การให้ด้วยสิ่งของ
2. ปิยวาจา คือ ให้คำพูดที่ไพเราะ และพูดด้วยความจริงใจ
3. อัตถจริยา คือ ประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เช่น ให้ความช่วยเหลือในการงานที่เราพอจะแบ่งเบามาได้
4. สมานัตตตา คือ ให้ความเป็นกันเอง เสมอต้นเสมอปลาย
ถ้าคุณพ่อคุณแม่ทำ 4 อย่างนี้ได้ ก็จะมีแววเป็นบัณฑิต มีแววเป็นบุคคลที่ควรแก่การนับถือ ถึงไม่ยกย่องบูชา ก็ทำให้เขาเกรงใจ พอมีอะไรกระทบกระทั่งกัน เราค่อยไปเตือนไปแก้ไขส่วนจะแก้ไขอย่างไรนั้น เราก็ย่อมดูสถานการณ์ เป็นเรื่อง ๆ ไป บางทีอาจจะปรึกษาหารือร่วมกันแก้ไขได้
2) คนที่จะสามารถตักเตือนความประพฤติคนอื่นได้ ต้องรักษาศีลให้ดี อย่างน้อยศีลทั้ง 5 ข้อของเราต้องครบ เมื่อศีลดี กิริยามารยาท และวินัยเราดีแล้ว จึงจะมีสิทธิ์เข้าไปแก้ไขสถานการณ์ได้ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ยังไม่สามารถทำตนให้มีแววเป็นคนมีศีลธรรมได้อย่าเพิ่งไปเตือนใคร เดี๋ยวจะเจ็บตัวเจ็บใจกลับมา
น้ำใจต่อส่วนรวม
วิธีครองใจคน หรือวิธีทำให้คนเกรงใจมีหลายวิธีเหลือเกิน แต่วิธีที่ได้ผลมากที่สุดคือ การให้ เมื่อให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจแล้ว เขาจะทั้งรักทั้งเกรงใจทีเดียว
ขอยกตัวอย่างวิธีที่เคยใช้ได้ผลมาแล้ว เป็นวิธีให้อย่างง่าย ๆ คือ เช้าขึ้นมาก็คว้าไม้กวาดมาอันหนึ่ง เดินกวาดซอยเข้าบ้าน ตั้งแต่หัวซอยจรดท้ายซอยเลย วันไหนอยู่บ้านต้องกวาดทุกวัน ถ้าไม่อยู่ก็แล้วไป แต่อย่างน้อย 7 วัน ต้องกวาดที ด้วยวิธีนี้เอง ทำให้คนแถวนั้นรู้จักกันตลอดซอย ถึงจะยังไม่รัก แต่ก็ไม่เกลียด การให้แบบนี้เรียกว่า ให้กำลังกาย
โบราณมีวิธีให้มากมาย มีวิธีหนึ่งที่ทำกันเกือบทุกบ้าน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้เห็นแล้วคือคนโบราณตามหน้าบ้านท่านจะมีโอ่งน้ำตั้งไว้ แล้วมีขันน้ำ หรือมีถ้วยวางไว้ข้าง ๆ ใครกระหายน้ำ ผ่านมาก็ได้ดื่มกิน โอ่งธรรมดา ๆ ใบนั้น ก็กลายเป็นโอ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้สิ่งที่มีค่ามากกว่าน้ำธรรมดา คือน้ำใจไมตรี
ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่นำหน้าด้วยการให้ และประพฤติตนอยู่ในศีลและมารยาทเช่นนี้แล้ว ในที่สุดลูกของเราก็จะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และเราก็ไม่ต้องย้ายบ้านหนีไปไหนอีกด้วย
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 001 หลักการสร้างความสุขในครอบครัว
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree