บั้นปลายชีวิต " คุณค่าของชีวิต "

วันที่ 25 พค. พ.ศ.2560

บั้นปลายชีวิต
" คุณค่าของชีวิต "

 

หลักการสร้างความสุขในครอบครัว , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , บั้นปลายชีวิต , บวช , คุณค่าของชีวิต

    บางทีทั้งที่รู้ว่าชีวิตของเราไม่ได้ยืนยาวเป็นพันปี แต่บางครั้งก็ยังเผลอหลงใหลเพลิดเพลินไปกับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องจนได้ แล้วบางครั้งก็นำความทุกข์มาให้ตนเองด้วย แถมยังต้องกลับมานั่งเดือดร้อนเพราะตนเองทำตนเองแท้ ๆ ในภายหลัง บางท่านก็คงเคยรู้สึกอย่างนี้เหมือนกัน และอาจเคยตั้งคำถามกับตนเองว่า ชีวิตที่นับถอยหลังสู่ความตายเช่นนี้ เราจะมีวิธีใช้ชีวิตให้คุ้มค่า และมีสติอยู่เสมอได้อย่างไร

   หลวงพ่อรูปหนึ่งท่านอธิบายเรื่องนี้อย่างชัดเจน จึงนำมาถ่ายทอดสู่กันเพื่อความมีสติและดำเนินชีวิตอย่างรู้คุณค่าวันเวลาของชีวิตที่ลดน้อยถอยลงไปทุกวินาทีไว้ ณ โอกาสนี้

      หลวงพ่อท่านมักให้สติญาติโยมที่มาทำบุญที่วัดอยู่เสมอว่า

     "มนุษย์ทุกคนล้วนเกลียดทุกข์อยากได้สุขทั้งนั้น แต่ชีวิตมนุษย์กลับไม่สามารถปฏิเสธความทุกข์ได้ ชีวิตจึงมีสุขมีทุกข์คละเคล้ากันไป การรับมือกับความทุกข์อย่างมีสติต่างหากคือสิ่งที่เราควรเตรียมตัวให้พร้อม

    คนทุกคนมีความทุกข์ติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่ 3 ประการ คือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ทุกข์เหล่านี้คอยเล่นงานเราอยู่ทุกวัน หนักบ้างเบาบ้างเท่านั้น

     ความจริงเราน่าจะมองเห็นความทุกข์ประจำตัวนี้ได้ชัดเจน แต่ทว่าเรากลับบังตาของตนเองด้วยเรื่องอื่น จึงยังตะเกียกตะกายไขว่คว้าแสวงหาทุกข์เพิ่มขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นการหาคนรักสามี ภรรยา บุตร มาครอบครองเป็นของตน เพราะหวังว่าเราจะได้พบความสุขจากการมีเขาเหล่านั้น

    แต่เนื่องจากในตัวของเขาเอง ก็มีทุกข์ประจำตัวเหมือนกับเรา คือมีความแก่ ความเจ็บความตายอยู่ประจำตัวเช่นกัน เพราะฉะนั้นทันทีที่ได้เขามาครอบครอง แทนที่จะได้สุขอย่างที่หวังเรากลับต้องรับภาระทุกข์ประจำตัวเขา และทุกข์จากการพลัดพรากจากสิ่งที่รักเพิ่มขึ้นอีก

     ใครที่มีครอบครัวแล้ว มีลูกแล้ว คงจะเข้าใจความทุกข์เหล่านี้ดี ลำพังแค่หน้าที่ทำมาหากิน และหน้าที่ดูแลพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดตนเองก็หมดเวลาในแต่ละวันแล้ว แต่พอมีครอบครัวก็ต้องไปทำหน้าที่สามีภรรยา ทำหน้าที่พ่อแม่เลี้ยงลูกของตนเองอีก ซึ่งในแต่ละหน้าที่ก็มีงานมากมายรออยู่ในนั้น ชีวิตครอบครัวจึงมีอีกสารพัดความห่วง ความหวงได้ทุกวัน

   ถ้าประคองชีวิตครอบครัวเป็น ก็จะพอมีช่วงเวลาแห่งความสุขอยู่บ้าง แต่ว่าสุดท้ายแล้วก็ไม่มีใครหนีความทุกข์ได้อยู่ดี เพราะพอถึงเวลาก็ต้องตายจากกันไป รักแสนรัก ห่วงแสนห่วงหวงแสนหวง ก็ต้องพรากจากกันอยู่ดี นี่เป็นความจริงของชีวิตที่เราไม่อยากได้ แต่มันต้องมาถึงเราสักวัน การมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข จึงต้องรู้จักอดทนความทุกข์ให้ได้ และไม่ไปหาทุกข์ใหม่มาเพิ่มให้ตนเอง

    บางท่านอาจคิดว่าสอนอย่างนี้ เป็นการสอนให้มองโลกในแง่ร้าย แต่ที่ถูกต้อง คือการสอนให้มองโลกตามความเป็นจริง เราจะได้รับมือกับความจริงถูก

    พระพุทธองค์ทรงเป็นผู้ชนะทุกข์ จึงทรงชี้ให้เราเห็นว่า คนที่จะรับมือกับความทุกข์อย่างไม่คาดฝันได้อย่างมีสตินั้น เขาจะต้องรู้จักเตรียมตัวเตรียมใจพร้อมจะเผชิญกับความแก่ ความเจ็บ ความตายอยู่ทุกวันด้วยการหมั่นทบทวนเตือนตนเองด้วยเรื่อง 3 ประการ ดังนี้

    1) รู้จักเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต คือ รู้ว่าที่เราเกิดมานี้ ไม่ใช่เพื่อมาสนุกสนานเา แต่เกิดมาเพื่อสั่งสมบุญกุศล แสวงหาหนทางพ้นทุกข์ในวัฏสงสาร มุ่งไปพระนิพพานตามรอยบาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป

   2) รู้จักเตือนตนเอง คือ หมั่นเจริญมรณานุสติเป็นประจำว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ ยิ่งกว่านั้นระหว่างที่ยังไม่ตายก็ยังต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจอีกด้วย

    การนึกถึงความตายบ่อย ๆ ก็มี 2 กรณี

    กรณีที่ 1 นึกไม่เป็น นึกว่าไม่ช้าก็ตาย เลยไม่อยากทำอะไร อยู่ไปวัน ๆ นอนรอความตายอยู่เฉย ๆ ไม่อยากทำความดี

   กรณีที่ 2 นึกเป็น นึกว่าอย่างไรเสียก็ต้องตาย เพราะฉะนั้นก่อนตายจะต้องใช้ชีวิตใช้ร่างกายของเรานี้ให้คุ้มค่า จึงทุ่มชีวิตจิตใจทำความดี ให้มีความดีติดตัวไปมาก ๆ

   ทำดีก็ตาย ทำชั่วก็ตาย ขี้เกียจก็ตาย ขยันก็ตาย ฉลาดก็ตาย โง่ก็ตาย เศรษฐีก็ตายขอทานก็ตาย ทุกคนต้องตายหมด แต่ความตายไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของชีวิต ทุกชีวิตเกิดมามีเป้าหมายเพื่อสร้างบุญบารมี ฝึกตนเองให้หมดกิเลสมุ่งไปพระนิพพาน เพราะฉะนั้นเมื่อยังไม่หมดกิเลสก็ควรทำดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนกว่าจะถึงวันตาย คิดอย่างนี้และทำอย่างนี้ย่อมดีที่สุด

   การพิจารณาถึงความตาย และความพลัดพรากนี้ เมื่อทำบ่อยๆ เป็นประจำทุกคืนก่อนนอน จะทำให้เกิดสติและเจริญสมาธิภาวนาได้ดีเยี่ยม กลายเป็นคนไม่ประมาทรู้จักเตรียมตัวก่อนตาย ไม่สร้างภาระผูกพันทั้งต่อบุคคลและสิ่งของ ตั้งใจมุ่งมั่นเร่งรีบทำความดีไม่กลัวเกรงความเหนื่อยยาก เพราะรู้แน่แก่ใจแล้วว่าความตายนั้นได้ย่างกรายเข้ามาเป็นเงาตามตัว ตั้งแต่แรกเกิด และรอจังหวะจู่โจมอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก

     3) รู้จักรีบเร่งสั่งสมบุญอย่างเต็มที่

    ความคุ้มค่าของการใช้ชีวิตของคนเราอยู่ที่เราใช้เวลาไปกับอะไร ถ้าเราใช้เวลาไปในสิ่งที่เรานำติดตัวไปไม่ได้ในชีวิตสัมปรายภพสิ่งนั้นก็ไม่เรียกว่ามีประโยชน์อย่างแท้จริง

  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบดีว่าสิ่งที่คนเราจะนำติดตัวไปได้ คือ ผลแห่งการกระทำของตนเอง โดยพระองค์ตรัสว่า "เราทุกคนมีผลกรรมเป็นของตน เราทำดีย่อมได้ดีทำชั่วย่อมได้ชั่ว ใครจะมารับผลกรรมแทนเราไม่ได้"

     พระพุทธองค์จึงทรงสนับสนุนให้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าด้วยหลักการดำเนินชีวิต 3ประการ ดังนี้

    1. ละเว้นความชั่วทั้งปวง คือ ความชั่วใดที่เคยทำให้เลิกให้หมดส่วนความชั่วใดที่ยังไม่เคยทำก็เว้นให้หมด อย่าไปทำเพราะมันจะทำให้เราชั่วหนักเข้าไปอีก และมีผลร้ายแรงถึงขั้นตกนรก ปิดสวรรค์ ปิดพระนิพพาน

    2. ทำความดีให้ถึงพร้อม คือ ความดีใดที่ยังไม่เคยทำให้รีบทำให้มาก ๆ ส่วนความดีใดที่เคยทำแล้วก็ให้ทำอีก และทำให้มาก ๆ ทำให้ดียิ่งขึ้นไปกว่าเดิม เพื่อปิดนรกเปิดทางสวรรค์ เปิดทางพระนิพพานให้แก่ตนเอง

  3. กลั่นใจให้ผ่องใสคือ การรักษาใจของตนเองให้ผ่องใสทุกลมหายใจเข้าออกเพราะถ้าหายใจเข้าแล้วไม่ออก เราก็ตาย หายใจออกแล้วไม่เข้า เราก็ตาย ความตายไม่มีอะไรบอกให้เรารู้ล่วงหน้า เราจึงต้องเตรียมตัวตายให้พร้อมด้วยการหมั่นรักษาใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ

    ความใสและความหมองของใจ คือ ประตูที่เปิดไปสู่ทางไปสวรรค์หรือนรกที่เรากำหนดเอง

  ถ้าตายไปขณะที่ใจขุ่นมัว เพราะกำลังนึกถึงบาปที่เคยก่อเอาไว้ ใจย่อมถูกดึงดูดให้ไปเกิดในนรก ต้องรับทัณฑ์ทรมานตามผลกรรมชั่วที่ตนเคยทำไว้ขณะเป็นมนุษย์

   แต่ถ้าตายไปในขณะที่ใจผ่องใสกำลังนึกถึงความดีที่เคยทำไว้ในอดีต ใจย่อมถูกดึงดูดให้ไปเกิดบนสวรรค์ มีทิพยสมบัติอันประณีตตามกำลังแห่งผลกรรมดีที่ตนเคยทำไว้ขณะเป็นมนุษย

   พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้วิธีละเว้นความชั่ว ทำความดีให้ถึงพร้อม กลั่นใจให้ผ่องใสไว้ 10 ประการ เรียกว่า "บุญกิริยาวัตถุ 10" ดังนี้

1. ทาน คือ การบริจาคทรัพย์สิ่งของแก่ผู้ที่ควรให้
2. ศีล คือ การสำรวมกาย วาจาให้สงบเรียบร้อย ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น
3. ภาวนา คือ การฝึกใจให้มีความผ่องใสด้วยการทำสมาธิ
4. อปจายนะ คือ การมีความเคารพอ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรม
5. ไวยยาวัจจะ คือ การช่วยเหลือขวนขวายในกิจที่ชอบ ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดประเพณีและศีลธรรมอันดีงาม
6. ปัตติทานะ คือ การอุทิศส่วนบุญให้ผู้อื่น
7. ปัตตานุโมทนา คือ การอนุโมทนาบุญที่ผู้อื่นทำ
8. ธัมมัสสวนะ คือ การฟังธรรม
9. ธัมมเทสนา คือ การแสดงธรรม
10. ทิฏุชุกัมม์ คือ การปรับปรุงความเห็นของตนให้ถูกต้อง

    บุญกิริยาวัตถุทั้ง 10 ประการนี้สามารถสรุปได้เป็น บุญกิริยาวัตถุ 3 คือ ทาน ศีล ภาวนา

    บุคคลที่รู้จักเป้าหมายชีวิต หมั่นเจริญมรณานุสติ และรีบเร่งทำความดีอย่างเต็มกำลังย่อมมองโลกตามความเป็นจริง ความทุกข์ใด ๆ ที่เข้ามากล้ำกรายก็ไม่อาจทำให้ใจของเขาหวั่นไหวได้เลย ความสุขย่อมติดตามตัวเขาไปทุกย่างก้าวทั้งในชาตินี้และชาติต่อ ๆ ไปอย่างแน่นอน"

   ทั้งหมดนี้ก็คือคำสอนของหลวงพ่อที่คอยเตือนสติว่า อย่าประมาทในชีวิต ให้ตั้งใจทำความดี ละเว้นความชั่ว กลั่นใจให้ผ่องใสเป็นประจำทุกวัน เวลาชีวิตจึงจะผ่านไปอย่างมีคุณค่า

  ผู้เขียนหวังว่าการนำคำสอนของหลวงพ่อมาเล่าสู่กันฟังนี้ คงพอจะช่วยให้ผู้อ่านทราบถึงแนวทางการเตรียมตัวรับมือกับความทุกข์ประจำชีวิตได้อย่างมีสติ เพราะคุณค่าของชีวิตที่แท้จริงนั้นอยู่ที่การใช้วันเวลาในโลกใบนี้ ให้ผ่านไปกับการสร้างบุญบารมี ปิดทางนรกเปิดทางสวรรค์ เปิดหนทางพระนิพพานให้แก่ตนเองได้สำเร็จนั่นเอง

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 001 หลักการสร้างความสุขในครอบครัว
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.021255564689636 Mins