บวชให้พ่อแม่ได้บุญ
ท่ามกลางสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยสิ่งเย้ายวนใจ และต่างคนก็รีบเร่งทำมาหากินอย่างปัจจุบันนี้ ครอบครัวใดที่มีลูกชายอายุครบบวชแล้ว และลูกชายได้บวชทดแทนพระคุณให้พ่อแม่ได้อย่างน้อย 1 พรรษา ต้องนับว่าพ่อแม่ของครอบครัวนั้น มีบุญอย่างมหาศาลเพราะการที่ลูกชายบ้านใดจะบวชให้พ่อแม่ได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่สำคัญคือ เรื่องนี้จะต้องเกิดจากความสมัครใจของเขาเองเป็นสำคัญ และต้องไม่ใช่การบวชที่ลูกตั้งเงื่อนไขกับพ่อแม่ เช่นบวชแลกรถยนต์ บวชแลกสินบนจากพ่อแม่ด้วย
1. พ่อแม่อยากเห็นผ้าเหลืองของลูก
ผู้เขียนยืนดูโปสเตอร์แผ่นหนึ่งของชมรมพุทธศาสตร์ฯ ที่ติดบนบอร์ดข้างฝาเพื่อประชาสัมพันธ์เชิญชวนนิสิตนักศึกษาชายทั่วมหาวิทยาลัยไปบวชช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน
ในโปสเตอร์เป็นภาพของคุณแม่ท่านหนึ่งอายุอยู่ในวัยประมาณหกสิบปี ในมือถือพวงมาลัยน้อย ๆ ใบหน้าของท่านเปียมสุข ที่แทบเท้าของท่าน มีลูกชายหัวแก้วหัวแหวนนุ่งห่มอยู่ในชุดนาค กำลังบรรจงก้มลงกราบแทบเท้าด้วยความเคารพรัก เพื่อขออนุญาตลาไปอุปสมบท
ข้อความบนโป เตอร์เขียนว่า "บวชขณะที่แม่ยังมีชีวิตสักครั้งในชีวิตเพื่ออุทิศทดแทนคุณ"
ถ้าคุณแม่คนใดได้มีโอกาสเห็นภาพและอ่านข้อความเดียวกันนี้ ก็คงอยากจะให้ลูกชายได้บวชสักครั้ง
และถ้าเป็นฝ่ายลูกชาย หากยังไม่เคยบวชให้แม่สักครั้ง ก็คงจะอยากบวชให้แม่เช่นกัน
ผู้เขียนเองได้บวชให้คุณแม่หลายพรรษาแล้ว ความสุขจากการบวชนั้นไม่มีประมาณ เพราะได้เรียนรู้ว่า ชีวิตของเราสามารถมีความสุขได้ด้วยการไม่มีสมบัติพัสถาน ลำพังการมีที่นั่งที่ยืน ที่เดิน เพียง 1 ตารางเมตร และที่นอนเพียง 2 ตารางเมตร เราก็สามารถพบความสุขได้มากมายกว่าตอนที่เรามีเงินเป็นแสนเป็นล้านเสียอีก ความสุขชนิดนี้ เงินซื้อไม่ได้
ยิ่งกว่านั้นก็คือ จากเดิมที่คิดจะบวชเพื่อตอบแทนพระคุณพ่อแม่ แต่กลับให้ผลยิ่งใหญ่กับชีวิตตนเอง นั่นคือ การบวชทำให้เรารู้ว่า เราเกิดมาทำไม และอะไรคือเป้าหมายชีวิต
สิ่งเหล่านี้ ถ้าเล่าให้ฟัง ก็คงไม่แจ่มแจ้งเท่ากับการได้มาบวชด้วยตนเอง
2. เกือบตายก่อนได้บวช
การได้บวชในร่มเงาบวรพระพุทธศาสนา และการให้พ่อกับแม่ได้มีโอกาสอนุโมทนาบุญจากการบวชพระลูกชาย ก็ไม่ใช่ของง่าย การที่ใครคิดว่าจะบวชก็บวชได้ ก็ต้องบอกว่าคิดผิด เพราะคนจะบวชได้ก็ต้องมีบุญเก่าติดตัวมาแต่ปางก่อนด้วย และที่สำคัญคือเขาต้องมีคุณสมบัติของผู้ขอบวชได้ตามพระวินัยบัญญัติ ถึงจะมีสิทธิ์ได้บวช
พ่อของผู้เขียนเอง ท่านจากไปตั้งแต่ยังเล็ก ท่านจึงไม่มีโอกาสได้เห็นผ้าเหลืองของพระลูกชาย
ขณะที่ตนเองกว่าจะได้บวชก็เกือบตายก่อนผู้ให้กำเนิดเสียอีกเป็นการรอดตายมาได้สองครั้งสองหนอย่างไม่ถึงฆาต
ครั้งแรก ตอนสิบกว่าขวบ เดินข้ามถนนไปซื้อน้ำปลาให้แม่ ตอนนั้นฝนกำลังลงเม็ดด้วยความซนที่เห็นจอมยุทธ์ในภาพยนตร์จีนชอบใส่หมวกปีกกว้างปิดหน้าตาเวลาสู้กับโจรก็เลยใส่หมวกปีกกว้างข้ามถนนบ้าง แต่ปีกหมวกบังตา ทำให้มองไม่เห็นรถที่กำลังแล่นมาจึงถูกรถมอเตอร์ไซค์ที่แล่นมาช้าๆ ชนเข้าพอดี ตัวก็ล้มลงไปกับพื้น ขวดน้ำปลาหลุดจากมือตกลงพื้นแตกกระจาย เศษขวดกระเด็นเกลื่อนไปทั่วถนน แต่เดชะบุญที่รถไม่ได้วิ่งมาเร็วเท่าไรเลยลุกขึ้นเดินต่อไปได้ เป็นอันว่ารอดตายมาได้ครั้งแรก
อีกครั้ง เป็นตอนที่เจ็บหนักถึงกับเข้าโรงพยาบาล เพราะไส้ติ่งแตกกลางดึกตอนนั้นก็มีแค่แม่กับยายอยู่ที่บ้าน ท่านพาผู้เขียนไปโรงพยาบาลตอนตีหนึ่ง ขณะนั้นคุณหมอและคุณพยาบาลก็ยังตรวจไม่พบว่า ไส้ติ่งแตก
ที่สำคัญก็คือ ถ้าในระหว่างที่ไส้ติ่งแตกนี้ มีการติดเชื้อโรคในช่องท้องในขณะนั้นที่บ้านก็เตรียมจัดงานศพได้ทันที
แต่ชะตาชีวิตยังไม่หมดอายุขัย แม้จะต้องไปนอนทุกข์ทรมานในโรงพยาบาลอยู่นานถึง 15 ชั่วโมง และคุณหมอได้ทดลองรักษาตามอาการปวดท้องทั่วไปหมดแล้ว ในที่สุด คุณหมอจึงตรวจพบว่า ไส้ติ่งได้แตกแล้ว คุณหมอจึงนัดเข้าห้องผ่าตัดเวลาสองทุ่ม เป็นอันว่ารอดตายเป็นครั้งที่สอง
หลังจากยา ลบหมดฤทธิ์ พอลืมตาขึ้นมาอีกทีก็เป็นเช้าตรู่ของวันใหม่แล้ว แม้ยังรู้สึกมึนงงด้วยตัวยาและพิษไข้อยู่บ้าง แต่ก็อดมองสำรวจไปยังเตียงข้าง ๆ ไม่ได้ ก็เห็นผู้ป่วยอีกคนที่ผ่าตัดไส้ติ่งเหมือนกัน แต่ท่าทางอาการของเขาหนักกว่ามาก เพราะต้องนอนใส่เครื่องดูดของเสียออกจากตัว ก็รู้สึกว่าตนเองโชคดีที่ไม่เป็นอะไรมากขนาดนั้น
พอสำรวจเตียงข้าง ๆ เสร็จ ก็หันมาอีกข้าง จึงได้พบเห็นใบหน้าของผู้เฒ่า องคนที่มีสีหน้าหมดห่วง ในใจคิดว่า 'นี่แม่กับยายคงผลัดกันเฝ้าดูอาการของเรามาทั้งคืน'
ความรู้สึกตอนนั้นก็คือ ผู้หญิงสองท่านนี้เท่านั้น ที่รักเราที่สุดในโลก
สิ่งที่ทำให้รู้สึกอย่างนั้นขึ้นมา ก็คือ "ถ้าถามว่าคนที่รักเราอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่เคยเรียกร้องอะไรจากเราเลยและพร้อมจะตายแทนเราได้ในโลกนี้ ท่านนั้นเป็นใคร "
คำตอบก็คือ "ผู้หญิงสองคนที่เฝ้าไข้เราทั้งคืนนี้แหละ คือคนที่รักเรามากที่สุดในโลกยอมทิ้งงานการ ทิ้งบ้านเรือน มาเฝ้าไข้เรา"
คำถามที่ต้องถามตัวเองย้อนกลับก็คือ "ท่านรักเราจนสามารถตายแทนเราได้เช่นนี้ตลอดชีวิตที่ผ่านมา เราเคยทำอะไรตอบแทนท่านกลับคืนไปบ้างหรือยัง "
พอถามตนเองอย่างนี้ ก็ตอบได้โดยไม่ลังเลว่า "น้อยมาก เมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้รับมาจากท่าน"
และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราต้องระมัดระวังอย่างมากที่จะไม่ทำให้ท่านกระทบกระเทือนใจอะไรอีกเลย
การผ่านความตายมาสองครั้ง มีส่วนอย่างมากที่ทำให้ความคิดบวชเกิดขึ้นอย่างแรงกล้า อยากบวชให้ท่านได้เห็นผ้าเหลือง จะได้เป็นแรงจูงใจให้ท่านสั่ง มบุญให้แก่ตัวท่านเองท่านจะได้หมดห่วงในตัวเราเพราะได้บวชเรียนศึกษาธรรมะแล้ว
3. เดินเข้าใกล้ความตายไปทุกวัน
การตัดสินใจบวชของผู้เขียน เริ่มต้นหลังจากเรียนจบปีสุดท้าย
เหตุเพราะว่า เมื่อมาทบทวนชีวิตตนเองแล้ว ก็เห็นว่า ชีวิตของคนเราไม่แน่นอน บางครั้งเห็นหน้ากันตอนเช้า แต่ตอนเย็นก็กลับไม่ได้เห็นกันอีกตลอดชีวิต
หลายครั้งที่เวลาไปร่วมงานศพ ได้เห็นพ่อแม่ต้องมาจัดงานศพให้ลูก เห็นตากับยายต้องมาจัดงานศพหลาน ซึ่งไม่น่าจะเป็นอย่างนี้ เราเองก็ไม่อยากมีวันอย่างนี้หรอก แต่เพราะชีวิตไม่แน่นอน การได้บวชเสียก่อน ย่อมเป็นการดีกว่า
ต่อมา แม่ก็เริ่มสุขภาพไม่แข็งแรง ยายก็ชราภาพลงไปมาก มีความกลัวว่าถ้าบวชช้าไปกว่านี้ ท่านอาจจะจำพระลูกหลานตัวเองไม่ได้ ควรจะบวชเสียตอนที่เพิ่งเรียนจบนี้แหละ
แต่แล้ว ทั้งที่ตั้งใจมาอย่างดี การตัดสินใจก็ถูกแทรกแซง เพราะเมื่อเรียนจบใหม่ ๆ ก็ได้งานดี เมื่อโอกาสเปิดอย่างนี้แล้ว ใจก็มีเรื่องงานมาก่อนเรื่องของแม่ ความคิดที่จะบวชให้แม่กับยายก็ทำท่าจะเลื่อนออกไปอีก
แต่ก็นับเป็นบุญของผู้เขียนอยู่เหมือนกัน ที่วันหนึ่ง หลวงพ่อที่เคารพรัก ท่านทราบข่าวว่าจะบวช ท่านก็กรุณามาโปรดถึงที่บ้าน
พอท่านเห็นหน้า คำแรกที่พูดกัน ท่านออกปากชวนว่า "พรรษานี้ไปบวชนะ"
ขณะนั้นก็สองจิตสองใจอยู่สุดท้ายก็ตอบท่านกลับไปว่า "ตอนนี้ ผมรับผิดชอบงานของบริษัทอยู่ ผมเกรงใจเขาครับ"
เหมือนกับว่าหลวงพ่อท่านรู้ทันความคิด ท่านก็เตือนสติว่า "เวลาเอ็งตาย เขาก็คงไม่มากรวดน้ำให้เอ็งหรอก"
คำสอนของท่านเหมือนฟ้าผ่าลงมากลางความมืด ทำให้ได้คิดขึ้นมาทันทีว่า "ถ้าเราตายไปตอนนี้ คนที่จะกรวดน้ำให้เรา ก็คือแม่กับยายนั่นแหละ"
พอได้คิดอย่างนี้ จึงรีบรับปากกับหลวงพ่อท่านว่า "ครับ พรรษานี้ ผมจะไปบวช" แล้วก็ได้บวช เพราะคำเตือนสติของหลวงพ่อแท้ ๆ แม่กับยายจึงได้มีโอกาสเห็นผ้าเหลืองของพระลูกชายสมใจสักที
4. บุญที่ได้จากการบวชพระลูกชาย
เมื่อผู้เขียนบวชเป็นพระภิกษุแล้ว ก็ได้พบว่าคนไทยเชื่อกันว่าการบวชพระลูกชายเป็นการทดแทนบุญคุณพ่อแม่ แต่หลายคนก็ยังนึกไม่ออกว่า ลูกชายบวชแล้วจะทดแทนบุญคุณพ่อแม่ได้อย่างไร ในเมื่อก็เห็น ๆ กันอยู่ว่าบวชแล้ว ก็ไปบิณฑบาต ไปทำความดีตามลำพังทิ้งพ่อทิ้งแม่ทิ้งครอบครัวเสียด้วยซ้ำ
ครั้งหนึ่งก็มีคนไปถามหลวงพ่อที่ผู้เขียนไปบวชอยู่วัดของท่าน ด้วยคำถามทำนองนี้เหมือนกัน ท่านก็เมตตาอธิบายให้เกิดแสงสว่างในใจขึ้นมา จึงขอน้อมนำคำสอนของท่านมาอธิบายไว้ดังนี้
"เรื่องความเชื่อ ใครจะเชื่ออย่างไรก็เรื่องของเขาส่วนเราซึ่งเป็นชาวพุทธ และเป็นคนรุ่นใหม่ จะตัดสินใจเชื่ออย่างไรควรพิจารณาดูเหตุดูผล เหตุผลตามหลักของพระพุทธศาสนาบอกไว้ว่า 'ใครทำดีคนนั้นก็ได้ดี ใครทำชั่วคนนั้นก็ได้ชั่ว ใครทำใครได้'
ลูกบวชลูกก็ต้องได้บุญ ในฐานะที่ได้ฝึกหัดขัดเกลาตนเองตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ส่วนคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ไปฝึกหัดขัดเกลาตนเองตามลูก บุญส่วนนี้จึงไม่ได้ แต่จะได้บุญส่วนอื่นคือ
1) ได้บุญในฐานะที่สนับสนุนให้ลูกบวช
2) ในฐานะที่ลูกบวชแล้ว ก็เลยตามไปตักบาตรให้ด้วยความเป็นห่วงพระลูกชายครั้นเมื่อไปตักบาตรแล้ว ก็ไม่ได้ตักให้เฉพาะพระลูกชายของตนเองหรอก ตักบาตรให้พระองค์อื่น ๆ ด้วย ท่านก็เลยได้บุญจากการให้ทานอีกด้วย
3) คุณพ่อคุณแม่บางคนด้วยความเป็นห่วงลูกมาก จึงตามพระลูกชายไปอยู่ที่วัดตั้งครึ่งค่อนวันเกือบทุกวัน ก็เลยได้โอกาสฟังเทศน์ ได้ความรู้เรื่องบุญเรื่องบาป ทำให้รักบุญกลัวบาปมากยิ่งขึ้น ท่านจึงได้บุญตรงนี้อีกส่วนหนึ่ง
4) หรือไหน ๆ ก็มาถึงวัดแล้วเห็นญาติโยมคนอื่น ๆ ที่มาวัดเขาถือศีล ภาวนาเขานั่งสมาธิกัน ก็เลยทำตามเขาไปด้วย ได้เข้าพวกเข้าหมู่เป็นนักปฏิบัติธรรมไป เพราะฉะนั้นนอกจากท่านจะได้บุญจากการตักบาตรทำทานแล้ว ท่านยังได้บุญจากการรักษาศีล และเจริญภาวนาอีกด้วย
บุญที่เกิดขึ้นคนละลักษณะ คนละส่วนกัน แต่ว่าได้บุญแน่นอน ยกเว้นคุณพ่อคุณแม่บางคน พอลูกบวชแล้วท่านก็อยู่เฉย ๆ คิดว่าจะได้รับบุญจากพระลูกชาย ทำแบบนี้ไม่ได้บุญหรอกนะ ก็ไม่ได้ตักบาตร ไม่ได้ตามไปฟังเทศน์ที่วัด จะได้บุญมาจากไหน แต่ก็มีเหมือนกันที่พ่อแม่ไม่ไปวัด แต่พระลูกชายมาเทศน์ให้ฟังถึงบ้านก็เลยชื่นใจ ยอมทำตามที่พระลูกชายสอนไปตักบาตร ไปถือศีล นั่นแหละคุณพ่อคุณแม่จะได้บุญตรงนั้น
ผู้เขียนรู้สึกประทับใจมากกับคำตอบของหลวงพ่อในเรื่องนี้ เพราะเป็นการให้ความกระจ่างในเรื่องการบวชของลูกชายที่จะทำให้พ่อแม่ได้บุญด้วย ซึ่งนอกจากเป็นการชักนำพ่อแม่เข้าวัดปฏิบัติธรรมแล้ว ยังเป็นการเตือน ติพระลูกชายให้พยายามชักชวนโยมพ่อโยมแม่หมั่นสั่งสมบุญเป็นประจำ ซึ่งก็จะทำให้การบวชของพระลูกชายครั้งนี้ทรงคุณค่าต่อตนเองและโยมพ่อโยมแม่มากยิ่งขึ้น
5. บวชให้คนที่รักเราที่สุดในโลก
ในชีวิตของคนเรานั้น โดยเฉพาะผู้ชายด้วยแล้ว มีแต่จะต้องจากไกลจากพ่อแม่ออกไปทุกขณะ เพื่อเดินไปตามเส้นทางที่ตนเองตั้งใจไว้ ยิ่งเดินไปมากเท่าใด ก็ยิ่งไกลต่อการบวชให้แม่มากเท่านั้น ดังนั้นก่อนที่จะไกลออกไปมากกว่านี้ เราจึงควรบวชให้พ่อแม่ก่อนอย่างไม่มีเงื่อนไข เหมือนกับที่ท่านไม่เคยมีเงื่อนไขในความรักที่มีต่อเรา
ถ้าหากลองคิดดู ย่อมพบว่า ในชีวิตของคนเรานั้น เราทำประโยชน์เพื่อคนอื่นมามากมาย ซึ่งบางคนนั้นเราทุ่มเทให้เขามากยิ่งกว่าแม่บังเกิดเกล้าของเราเองเสียอีก
เมื่อคิดมุมกลับ ก็ในเมื่อคนอื่นเรายังทุ่มเทให้แก่เขาโดยไม่มีเงื่อนไขได้ขนาดนั้น แล้วทำไมจะไม่ทุ่มเทตอบแทนพระคุณของพ่อแม่เราให้ยิ่งกว่านั้นบ้างล่ะ
ที่สำคัญก็คือ ในชีวิตของคนเรา การบวชไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้บ่อย ๆ และคนที่จะบวชได้ก็ไม่ใช่ว่าบวชได้ง่าย ๆ ถ้าปล่อยให้ชีวิตไกลจากพ่อแม่ออกไปเรื่อย ๆ ในที่สุดแล้วพ่อแม่ อาจจะไม่มีวันได้เห็นผ้าเหลืองของเราเลยก็เป็นได้
เพราะฉะนั้นช่วงฤดูร้อนนี้ ผู้เขียนจึงคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด ที่ลูกผู้ชายควรจะบวชให้พ่อแม่ได้เห็นผ้าเหลืองของเราบ้าง จึงจะไม่เสียทีที่ได้เกิดเป็นลูกผู้ชายสมดังคำที่นักปราชญ์ในพระพุทธศา นากล่าวไว้ว่า "เกิดเป็นลูกผู้ชายต้องเป็นบัณฑิตในทางโลกและนักปราชญ์ในทางธรรม จึงจะไม่เสียชาติเกิด"
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 001 หลักการสร้างความสุขในครอบครัว
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree