ฝึกลูกรักให้รู้จักดูแลญาติที่ป่วยหนัก
คนเราเมื่อเกิดมาแล้ว ก็ต้องมีวันแตกดับไปจากโลกนี้ทั้งนั้น แต่ก่อนจะแตกดับไปโดยมากจะป่วยหนักอยู่บนเตียงคนไข้ที่โรงพยาบาล อวัยวะภายในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายบางแห่งเริ่มอ่อนแอลง จนเชื้อโรคต่าง ๆสามารถเข้าไปกัดกิน ทำให้ผู้ป่วยต้องทนทุกข์ทรมานอย่างมาก ขณะเดียวกันเซลล์ของเม็ดเลือด เซลล์ของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ก็ค่อย ๆ ตายลงไปอย่างช้า ๆ หมดความรู้สึกลงไปเรื่อย ๆ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องศึกษาวิธีดูแลญาติหรือคนรักป่วยหนักไว้บ้างเพื่อตัวของเราเอง
ข้อดีของการศึกษาวิธีดูแลผู้ป่วยหนักที่ใกล้จะละโลกไว้บ้างเช่นนี้ ย่อมทำให้เราปฏิบัติได้ถูกในการดูแลรักษาจิตใจญาติหรือผู้มีพระคุณ ที่กำลังต่อสู้กับความเจ็บปวดในยามใกล้ละโลก รวมทั้งถ้าหากวันนั้นมาถึงตัวเราบ้าง เราก็จะเตรียมตัวรับมือกับอาการต่าง ๆ ก่อนละโลกได้ถูกต้อง และต้องเตรียมฝึกลูกหลานให้รู้จักวิธีดูแลเราอย่างถูกวิธีด้วย
เมื่อญาติหรือคนรักป่วยหนัก ควรดูแลอย่างไร ?
สำหรับเรื่องการดูแลคนไข้ เราต้องแบ่งเป็น 2 เรื่องด้วยกัน คือ
1. การดูแลรักษาโรคทางกาย
การดูแลทางกายนี้ ต้องพยายามหาแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถดีที่สุดมาให้การดูแลรักษาให้เต็มที่ เท่าที่ฐานะและสภาพแวดล้อมจะอำนวยให้
2. การดูแลรักษาใจคนไข้
ในกรณีผู้ป่วยหนัก มีอาการเป็นตายเท่ากัน ข้อนี้สำคัญมาก เพราะเป็นการให้สติคนไข้ หากผู้ป่วยมีอาการหนักมาก การจะละโลกไปสุคติหรือทุคติ ก็ขึ้นอยู่กับสติก่อนตายนี้เอง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
"เมื่อจิตก่อนตายเศร้าหมอง ย่อมมีทุคติเป็นที่ไป แต่ถ้าจิตก่อนตายผ่องใสย่อมมีสุคติเป็นที่ไป"
สุคติเป็นที่ไปคืออะไร ก็คือ การลาโลกไปแล้วได้เกิดในมนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก
ทุคติเป็นที่ไปคืออะไร ก็คือ การลาโลกไปแล้วได้เกิดในนรกภูมิ เปรตภูมิ อสุรกายภูมิและสัตว์เดรัจฉานภูมิ
"สุคติ" และ "ทุคติ" นี้ คือ สถานที่ที่ผู้ตายจะต้องมารับผลแห่งกรรมที่ตนทำไว้เมื่อยังเป็นมนุษย์ โดยตัดสินด้วย ภาพของใจก่อนละโลกว่า "เศร้าหมอง" หรือ "ผ่องใส" ซึ่งพระท่านเรียกว่า "ศึกชิงภพ" คือช่วงชิงกันระหว่างสุคติภพกับทุคติภพ
ดังนั้น ไม่ว่าผลลัพธ์ของการรักษาคนไข้จะเป็นอย่างไรก็ตาม ผู้ที่ดูแลใกล้ชิดทุกคนก็มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยด้วยหลักการนี้ คือ
"คนใกล้ชิดจะต้องช่วยกันประคองรักษาใจของคนไข้ ให้ผ่องใสตลอดเวลา จะได้มีกำลังใจที่จะอยู่ผจญกับความร้ายแรงของโรค ไม่ท้อแท้ เบื่อหน่าย หรือสิ้นหวังในชีวิตเสียก่อน" สิ่งที่ผู้ดูแลต้องให้กำลังใจคนไข้ คือ
1) เรื่องร้อนใจใด ๆ ต้องป้องกัน อย่าให้คนไข้ได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเสียหายของทรัพย์สิน เรื่องเดือดร้อนของลูกหลาน หรือเรื่องแสลงใจใด ๆ ก็ตาม ต้องป้องกันให้เต็มที่
2) โน้มน้าวใจคนไข้ให้มีจิตใจแช่อิ่มอยู่ในบุญ ด้วยการเอ่ยถึงความดีที่คนไข้เคยทำไว้ เช่น พูดชวนให้นึกถึงบุญที่เคยบวชพระ เคยทอดกฐิน ทอดผ้าป่าสร้างสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ ตลอดจนบุญที่เคยให้ความช่วยเหลือผู้อื่น
3) ชักจูงคนไข้ให้สร้างบุญกุศลใหม่ให้เต็มตามความสามารถของเขา ตั้งแต่ชวนให้ทำทาน เช่น ให้ตักบาตรเป็นประจำทุกวัน แม้คนไข้ลุกขึ้นมาไม่ได้ ก็อาจนิมนต์พระให้ไปรับบาตรถึงในบ้าน ในห้องนอน หรือถ้าไม่สะดวก อาจนำข้าวปลาอาหารนั้นมาให้คนไข้จบอธิษฐานก่อน แล้วให้คนใดคนหนึ่งไปใส่บาตรแทนก็ได้ เมื่อตักบาตรเสร็จ ก็มาบอกให้คนไข้ทราบด้วย จะได้เพิ่มความปลื้มปีติขึ้นอีกส่วนหนึ่ง
4) ชักชวนคนไข้ให้รักษาศีล 5 อย่างเคร่งครัด แม้แต่การบี้มด ตบยุง ก็อย่าให้ทำ
5) ชักชวนคนไข้ให้กำหนดใจให้เป็นสมาธิ ซึ่งนับว่าเป็นประการสำคัญอย่างยิ่งอาจนำเทปสวดมนต์ หรือเทปธรรมะของพระสงฆ์ที่คนไข้เคารพบูชามาเปิดให้ฟัง หรืออ่านหนังสือธรรมะให้คนไข้ฟัง ถ้าทำได้อย่างนี้เป็นประจำแล้ว หากคนไข้ยังมีบุญอยู่ก็อาจหายได้ด้วยอำนาจบุญเก่ารวมกับบุญใหม่ที่ทำ แต่ถ้าคนไข้หมดบุญ ถึงคราวจะต้องตาย ก็จะไปดีไม่ตกนรกแน่นอน เพราะก่อนตายจิตใจผ่องใสอยู่ตลอดเวลา
การที่จะสามารถโน้มน้าวชักจูงคนไข้ให้ทำอย่างนี้ได้ ผู้ดูแลจะต้องอยู่ในบุญ และต้องใช้อำนาจใจอธิษฐานให้บุญที่เราทำมาดีแล้ว ช่วยคุ้มครองคนไข้ด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดผลดีแก่การรักษาคนไข้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
สรุป
เมื่อวินาทีสุดท้ายของคนเรามาถึง คนทุกคนจำเป็นต้องมีคนช่วยทำศึกชิงภพทั้งนั้นชัยชนะของการทำศึกชิงภพ ก็คือ การมีจิตใจผ่องใสก่อนจะจากโลกไป
ดังนั้นในยามที่ญาติของเราป่วย ไม่ว่าจะญาติใกล้ ๆ หรือญาติห่างก็ตาม ไม่ว่าจะป่วยมากหรือป่วยน้อยก็ตาม เมื่อลูกของเราโตพอรู้ความแล้ว ก็ควรฝึกให้เขารู้จักดูแลสุขภาพตนเอง และมีน้ำใจเผื่อแผ่ไปถึงญาติที่ป่วย ไปฝึกการดูแลจิตใจผู้ป่วยให้ผ่องใสเพื่อที่ว่าเขาจะได้เข้าใจความจริงของชีวิตว่า ทุกคนต้องตายทั้งนั้น และที่ยิ่งกว่านั้นก็คือ หากวันนั้นของเรามาถึง ลูกของเราก็จะได้ช่วยเราทำศึกชิงภพเป็น
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 001 หลักการสร้างความสุขในครอบครัว
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree