ปูชนียบุคคลประจำบ้าน

วันที่ 25 พค. พ.ศ.2560

ปูชนียบุคคลประจำบ้าน
 

หลักการสร้างความสุขในครอบครัว , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , ปูชนียบุคคลประจำบ้าน , ปูชนียบุคคล , พ่อแม่

       ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา มีรายงานว่า ในประเทศไทย มีสถิติผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าสามแสนคนต่อปี ขณะที่บ้านพักคนชรารองรับได้เฉลี่ยเพียง องร้อยคนต่อปีสาเหตุมาจากลูกหลานเกิดความเบื่อหน่ายผู้เฒ่าและไม่ต้องการเป็นภาระเลี้ยงดู แนวโน้มผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งเพิ่มขึ้นเช่นนี้สร้างความ ลดหดหู่ใจต่อผู้พบเห็นยิ่งนัก

         ปัญหาการทอดทิ้งพ่อแม่ผู้มีพระคุณให้ตกระกำลำบากในยามแก่ชรา ถือเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยที่มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เพราะพระพุทธศาสนาสอนว่าพ่อแม่มีความสำคัญเหมือนเป็นพระอรหันต์ของบ้าน แทบเท้าของท่าน เป็นเหมือนต้นทางสวรรค์ของลูกทุกคน

       ปู่ย่าตาทวดท่านให้ข้อคิดว่าคนเราจะทำอะไรเจริญก้าวหน้าได้ขนาดไหน ก็ดูที่เขาตอบแทนพระคุณพ่อแม่อย่างไร เพราะในโลกนี้ไม่มีใครมีพระคุณมากกว่าพ่อแม่ของเขาแล้ว แต่ถ้าขนาดพ่อแม่ของเขาเองยังทำไม่ดี ก็ไม่มีทางที่เขาจะกตัญูกตเวทีกับใครได้ หนทางเจริญย่อมไม่มีในคนที่ทอดทิ้งพ่อแม่

   จากคำพูดของปู่ย่าตาทวด ถ้าลูกหลานมองย้อนกลับไปเมื่อตอนที่ตนเองยังเป็นเด็กยังเป็นทารกนอนแบเบาะช่วยเหลือตนเองไม่ได้ แล้วพ่อแม่เกิดเบื่อหน่ายเราขึ้นมาบ้าง อุ้มเราไปทิ้งไว้ในถังขยะหรือข้างถนน ป่านนี้เราอาจเสียชีวิตไปแล้ว หรือถ้ารอดมาได้ก็คงไม่พ้นเป็นเด็กเร่ร่อน อดมื้อกินมื้อ ไม่มีอนาคตเหมือนทุกวันนี้ เพราะฉะนั้น ลำพังเพียงพระคุณที่ท่านยอมรับเราไว้เป็นลูก ไม่ทอดทิ้งเราให้ตายในวัยเด็ก พระคุณของท่านก็มากล้นเกินกว่าจะทดแทนท่านได้หมดสิ้นแล้ว

       ดังนั้นสิ่งที่ถูกต้อง คือ การตอบแทนพระคุณท่านให้สมกับที่ท่านยอมรับเราเป็นลูกเลี้ยงดูเรา ไม่ทอดทิ้งเรา แม้บางครั้งลำบากต้องอดมื้อกินมื้อ ท่านก็ยอมอดเพื่อให้เราอิ่มก่อนอดทนสารพัดเพื่อหาทางเลี้ยงให้เราเติบใหญ่ได้ทุกวันนี้

       จากปัญหาดังกล่าวที่นำมาเล่าให้ฟังในตอนต้นเรื่องนี้ ก็ทำให้อดย้อนมาคิดถึงตนเองในยามบั้นปลายชีวิตไม่ได้ว่า เมื่อความชราครอบงำเต็มที่ เรี่ยวแรงก็หดหาย ร่างกายก็เลิกฟังคำสั่งเราแล้ว ความรำคาญตนเองที่ทำอะไรไม่ได้ดังใจเหมือนก่อนก็มีมากขึ้น จะทำอะไรแต่ละอย่าง ต้องเรียกหาลูกหลานมาช่วยเหลือ แม้แต่การขับถ่ายก็ต้องอาศัยลูกหลานคอยช่วยเหลือดูแลทุกขั้นตอน อาการสังขารหมด ภาพเช่นนี้ อย่าว่าแต่ตนเองรำคาญ แม้แต่ลูกหลานก็

      รำคาญ ถ้าไม่ได้รักปู่ย่าตาทวดจริง ๆ เขาก็ไม่อยากดูแล บางคนที่ทนดูแลอยู่เพราะหวังได้มรดกของผู้เฒ่าก็มีอยู่มาก เราจะมีวิธีป้องกันไม่ให้ปัญหาลืมพระคุณปู่ย่าตาทวดนี้เกิดขึ้นในครอบครัวของเราอย่างไร

       ปู่ย่าตาทวดท่านให้หลักการเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า การป้องกันลูกหลานลืมพระคุณปู่ย่าตาทวดที่ดีที่สุด คือพ่อแม่ต้องจูงมือลูกตั้งแต่เล็กไปเป็นลูกมือช่วยอุปัฏฐากดูแลปู่ย่าตาทวดของลูกหลานอยู่เสมอ พ่อแม่ดูแลปู่ย่าตาทวดได้ดีอย่างไร ต่อไปเขาก็จะดูแลพ่อแม่อย่างนั้น ตามที่เขาได้รับการฝึกฝนมา

      และที่สำคัญก็คือ การจะปลูกฝังความกตัญูให้ได้ผลเร็ว เมื่อพ่อแม่ให้ลูกมีส่วนร่วมในการปรนนิบัติดูแลปู่ย่าตายาย จะต้องพรรณนาพระคุณของท่านให้ลูกฟังทั้งต่อหน้าและลับหลังด้วย การทำอย่างนี้จะทำให้เขาเห็นภาพบุคคลที่มีความกตัญูกตเวทีได้ชัดเจนจากพ่อแม่ของเขาเอง เขาก็จะรู้ว่าการเป็นคนมีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ต้องปฏิบัติตนอย่างไรจึงถูกต้อง

       แต่ว่าถ้าพ่อแม่ปรนนิบัติปู่ย่าตายายไป ก็บ่นไป ด่าไป หรือบางทีตวาดทุบตีลงไม้ลงมือกับท่านด้วยความเกรี้ยวกราด ทั้งต่อหน้าและลับหลังลูกด้วยแล้ว ลูกได้เห็นได้ยินก็จะจำเป็นแบบอย่าง แล้วก็จะทำกับปู่ย่าตายายอย่างที่พ่อแม่ทำบ้าง กงเกวียนกำเกวียนนี้ก็จะย้อนมาถึงพ่อแม่เองในยามแก่ชรา ความช้ำใจที่ปู่ย่าตาทวดเคยรู้สึกว่าลูกหลานไม่รัก ความช้ำใจที่เหมือนเป็นส่วนเกินของบ้าน ความช้ำใจเพราะไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน ความช้ำใจที่รู้สึกว่ามีฐานะแย่กว่าคนรับใช้ ก็จะย้อนคืนมาทำลายจิตใจของพ่อแม่บ้าง ในยามบั้นปลายชีวิตของพ่อแม่เองเพราะไปทำตัวอย่างที่ไม่ถูกต้องให้เขาดู

      พ่อแม่อยากให้ลูกดูแลตนเองในยามแก่ชราให้ดีที่สุดอย่างไร ก็ต้องดูแลพ่อแม่ของตนเองให้ดีที่สุดควบคู่ไปกับฝึกให้เขาช่วยเป็นลูกมืออย่างนั้นด้วย วันหนึ่งเมื่อเขาโตขึ้นแล้วเขาจะต้องดูแลพ่อแม่ให้ดีที่สุด ไม่ให้มีสิ่งใดมากระทบกระเทือนใจแม้แต่น้อยเลย มีแต่ตั้งใจเอาบุญดูแลพ่อแม่อย่างเดียว

      อย่างไรก็ตาม ในขณะที่พ่อแม่ปลูกฝังความกตัญูกตเวทีให้แก่ลูกแล้ว ปู่ย่าตาทวดท่านก็เตือนอีกว่าพ่อแม่เองก็ต้องเตรียมตัวแก่ก่อนแก่ด้วย นั่นก็คือ การเตรียมตัวเป็นปูชนียบุคคลประจำบ้านนั่นเอง

  ถ้าไม่ฝึกฝนตนเองเอาไว้ล่วงหน้า พอสังขารร่วงโรยลงมากแล้ว ก็จะปรับใจไม่ทัน และนั่นก็จะเกิดความเครียดหลายอย่างตามมาอีก กลายเป็นบั้นปลายชีวิตที่มีความทุกข์เพราะไม่เคยเตรียมตัวมาก่อนนั่นเอง

        การเตรียมตัวเป็นปูชนียบุคคลประจำบ้านมีข้อควรปฏิบัติอย่างไรบ้าง

        ก่อนอื่น เราจำเป็นต้องทราบก่อนว่า คนแก่นั้น มีอยู่ 2 ประเภท

ประเภทที่ 1 เรียกว่า "แก่แดด แก่ลม"

      คือ เป็นคนแก่ประเภทที่ตลอดชีวิตที่ผ่านมาไม่เคยสร้างความดีให้เป็นชิ้นเป็นอันทานไม่ค่อยให้ ศีลไม่ค่อยรักษา การสวดมนต์เจริญภาวนา ค้นคว้าศึกษาความรู้ทางธรรมก็ไม่สนใจ มีชีวิตผ่านไปวันหนึ่ง ๆ อย่างไร้คุณค่า

      คนแก่ประเภทนี้ เป็นคนแก่ที่น่ารำคาญ เพราะเป็นคนขาดเหตุขาดผล ไม่มีหลักคิดหลักตัดสินใจ ลูกหลานไม่อยากเข้าใกล้ และคนแก่ประเภทนี้อีกนั่นแหละ ที่ก่อให้เกิดปัญหาในครอบครัวขึ้นมาก เช่น ปัญหาแตกร้าวระหว่างแม่สามีกับลูกสะใภ้ เป็นต้น และคนแก่ประเภทนี้แหละ ที่ลูกหลานไม่ค่อยได้รับความรู้ความดีอะไรเท่าไร ก็เลยทำให้ลูกหลานนึกความดีไม่ออกจึงถูกนำมาทอดทิ้ง

ประเภทที่ 2 เรียกว่า "แก่บุญ แก่บารมี"

      คือ เป็นคนแก่ประเภทที่ตลอดชีวิตที่ผ่านมา นอกจากจะตั้งใจทำมาหากิน และสะสมทรัพย์สมบัติ เตรียมไว้ใช้จ่ายในบั้นปลายชีวิตเพื่อจะได้ไม่รบกวนคนอื่นแล้ว ในด้านความประพฤติ กิริยามารยาทก็ปรับปรุงตนเองตลอดมา โดยคิดว่าวันหนึ่งข้างหน้าเมื่อเราแก่จะได้ไม่เป็นที่น่ารำคาญของลูกหลาน

     ในทางธรรม ท่านก็หมั่นศึกษาหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ตั้งใจให้ทาน รักษาศีลเจริญภาวนา มาตามลำดับ นอกจากนี้ยังคอยให้โอวาท อบรมสั่งสอนลูกหลานอยู่เป็นประจำ

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรียกบุคคลประเภทนี้ว่า ปูชนียบุคคลของลูกหลานคือเป็นที่น่าเคารพน่ากราบไหว้ คนแก่ประเภทนี้มีอยู่ในครอบครัวใด ครอบครัวนั้นก็จะเป็นสุขเสมือนมี "พระอยู่ในบ้าน"

         คนแก่ประเภทนี้ ท่านถือหลักในการดำเนินชีวิตง่าย ๆ คือ

      1. พยายามตักบาตร คือท่านทำบุญให้ทานมาตลอด ตักบาตรเป็นประจำทุกเช้าเป็นการสะสมเสบียงข้ามภพข้ามชาติไปเบื้องหน้า

       2. พยายามรักษาศีล 5 อย่างเคร่งครัดทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านจะระวังศีลข้อ 4 ของท่านอย่างที่สุด คือไม่พูดเท็จ ทั้งไม่จู้จี้ขี้บ่น ทั้งทำตนเป็นคนอยู่ง่ายกินง่าย วันโกนวันพระ ก็พยายามรักษาอุโบสถศีล

      3. พยายามหาเวลานั่งสมาธิให้มากที่สุด ท่านตั้งใจนั่งทั้งเช้ามืด กลางวันและก่อนนอนตอนกลางคืน เพื่อทำใจให้ผ่องใส

     ท่านประพฤติตนเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกหลานดู ยามว่างก็อบรมศีลธรรมให้เด็กเล็กในบ้าน เล่านิทานบ้าง เล่าประสบการณ์ชีวิตที่เป็นประโยชน์บ้าง เพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนใจให้ลูกหลานตั้งตนอยู่ในศีลธรรม

     ท่านจะไม่ยอมเข้าไปก้าวก่ายในเรื่องเขย เรื่องสะใภ้เป็นอันขาด เพราะถือว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว จะต้องรู้จักแบกรับเรื่องต่าง ๆ ในครอบครัวและแก้ปัญหาด้วยตนเองเป็น โดยที่ไม่มีท่านเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือคอยเข้าไปเป็นคนกลางคอยไกล่เกลี่ยทุกเรื่องไป ในที่สุดแล้ว จะได้เป็นเสาหลักต้นต่อไปของครอบครัวมาทดแทนท่านได้สำเร็จ

     ทรัพย์สมบัติใดที่มีอยู่ก็เริ่มมอบให้เป็นภาระของบุตรหลานดูแลรักษาต่อไป เพราะถือว่า เวลาของท่านเหลือน้อยแล้ว ต้องวางมือจากภาระในการดูแลมรดกตกทอดของบรรพบุรุษและมอบให้เป็นภาระหน้าที่ของลูก ๆ ต่อไปส่วนทรัพย์สมบัติที่งอกเงยมาจากความพากเพียรของท่าน ในส่วนที่ต้องเก็บไว้เป็นเงินค่าจัดงานศพและทำบุญก้อนสุดท้าย ท่านก็จะแบ่งเอาไว้ต่างหากเรียบร้อย ไม่ปล่อยให้ลูกหลานเป็นภาระเรื่องเงินค่าทำศพของท่านส่วนที่เหลือจากนี้ท่านก็มอบเป็นต้นทุนในการดูแลครอบครัวของลูกหลานต่อไป ท่านแบ่งทรัพย์สินมรดกไว้เรียบร้อย พร้อมทั้งเตรียมตัวตายอยู่ตลอดเวลา หากวันใดต้องลาโลกนี้ไป ท่านก็ถือว่าได้ทำหน้าที่ปูชนียบุคคลของบ้านสมบูรณ์แบบแล้ว

        ท่านผู้อ่านที่เคารพ ท่านคงเห็นแล้วว่า ผู้สูงอายุในประเภทที่ 2 นี้ จะไม่มีทางเหงาหงอยในบั้นปลายชีวิต เพราะลูกหลานอยากใกล้ชิด อยากเข้าใกล้ เนื่องจากยิ่งเข้าใกล้ ก็จะได้ทั้งความรู้ ความดี ความทันโลก ทันชีวิต และความเย็นกายเย็นใจเป็นปกติ ดังนั้น เมื่อเรามองเห็นอนาคตผู้เฒ่าของตัวเองแล้ว เราก็ควรเตรียมตัวแก่ก่อนแก่ คือ เตรียมตัวเป็นพระในบ้านตั้งแต่วันนี้กันเถิด

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 001 หลักการสร้างความสุขในครอบครัว
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0017131010691325 Mins