ลมหายใจของคุณยาย
“...พอคุณยายลงนำนั่งสมาธิ บุคลิกผู้หญิงชาว บ้านธรรมดา ๆ ก็เปลี่ยนไปทันที ท่านั่งตัวตั้งตรงของท่านสง่างาม มั่นคงเฉียบขาด เหมือนทวนของขุนพลที่ปักผงาดอยู่บนรถรบ..."
ข้อความข้างบนนี้ เป็นข้อความตอนหนึ่งจากหนังสือ "เล่าเรื่องยาย" ที่หลวงพ่อทัตตชีโวเขียนบรรยายถึงความรู้สึก ประทับใจในครั้งแรกที่เห็นท่านั่งสมาธิของคุณยาย เมื่ออ่านข้อความตอนนี้แล้วทำให้ข้าพเจ้านึกถึงภาพยอดนักรบในสงคราม ผู้องอาจ ผึ่งผาย สง่างาม มีความฮึกเหิม และห้าวหาญ เตรียมพร้อมที่จะออกรบกับข้าศึก ไม่ว่าจะมาในรูปแบบไหน นี่กระมังคือท่านั่งสมาธิของคุณยาย ผู้มุ่งมั่นที่จะรบกับข้าศึก คือกิเลส กองน้อยใหญ่ทั้งหลายให้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ
แม้วันเวลาจะผ่านมานานจนคุณยายสูงอายุแล้วท่านั่งสมาธิของท่านก็ยังคงตั้งตรง มั่นคง สง่างามเช่นเดิม
ข้าพเจ้าได้มีโอกาสมานั่งสมาธิกับคุณยายครั้งแรกที่ ศาลาดุสิตช่วงนั้นทุกวันเสาร์ที่ ๓ ของเดือนในช่วงบ่าย คุณยายจะมารับแขก และคุมบุญปล่อยปลาให้กลุ่มบุญแก้ว ที่ศาลาดุสิต
คำพูดที่ท่านใช้ในการนำนั่งนั้น เป็นคำพูดที่สั้น ๆ กระชับได้ใจความ มีทั้งคำอธิษฐานและให้พรท่านจะพูดด้วย ความไพเราะ และมีหางเสียง ในแต่ละครั้งท่านจะนำนั่งไม่นาน ประมาณ ๑๕ - ๓๐ นาที
พอคุณยายนั่งสมาธิ หลับตาแล้วท่านมักจะพูดเริ่มต้น นำนั่งว่า
"นั่งเข้าที่กัน ยายจะคุมบุญให้ ตอนนี้ตั้งใจนั่งสมาธิกันนะคะ ให้เรานึกถึงบุญกุศลที่เราได้ทำมา นึกถึงบุญที่เราได้ปล่อยสัตว์ปล่อยปลา อธิษฐานให้ร่มเย็นทุกอย่าง ให้ร่างกายแข็งแรง อย่าเจ็บอย่าไข้ ให้หมดเคราะห์หมดโศก ให้ทำมาค้าขึ้นจะไปเหนือมาใต้ ขอให้ปลอดภัย อัคคีภัย โจรภัย ภัยทุกชนิด ขอให้พ่ายแพ้ไปหมด ให้ปราศจากคนพาล ให้เห็นธรรมะใสๆ กันทุกคนเลยนะคะ" ฯลฯ
แล้วท่านจะบอกให้ "นึกสัมมาอรหัง ๆ อยู่ในใจ" แล้วนิ่ง เงียบไปสักพักใหญ่ ก่อนที่จะพูดว่า
"พักกันได้แล้ว โมทนาสาธุ ขอให้ได้บุญเยอะ ๆ คิดปรารถนาสิ่งใดก็ขอให้สำเร็จ ด้วยอำนาจของบุญกุศล โชคดีนะคะ"
จบเสียงคุณยาย ก็มีเสียง "สาธุ" ดังพร้อมกันจากผู้ที่มากราบ
บางอาทิตย์คุณยายนำนั่งแล้วนิ่งเงียบไปนานกว่าปกติ ยังไม่ได้ยินเสียงท่านพูด "พักกันได้แล้ว..."สักที ด้วยความสงสัยว่า วันนี้คุณยายท่านทำไมนำนั่งนาน ข้าพเจ้าจึงค่อย ๆ ลืมตาขึ้นมาดู มองเห็นคนที่นั่งอยู่ข้างหน้าข้าพเจ้า บางคนตัวโงก โยกเอนไปมา บางคนเอียงซ้าย บางคนเอียงขวา บางคนมองไม่เห็นศีรษะ ข้าพเจ้ามองไปที่คุณยาย...ใบหน้าท่านดูสงบนิ่งท่านั่ง ของท่านยังมั่นคง ตั้งตรง สง่างาม ไม่โงกไปข้างหน้า หรือเอนเอียงไปทาง ซ้ายขวา ประหนึ่งจะบอกให้เรารู้ว่า นี่แหละ คือ ท่านั่งของคนจริง มั่นคง ไม่เหลาะแหละโอนเอน นี่แหละคือ ท่าทางของผู้ตื่น ตื่นจากกิเลส เครื่องผูกมัดรัดรึงทั้งหลาย
ข้าพเจ้าเคยได้ยินท่านพูดว่า
"เวลานั่งสมาธิ ยายไม่ชอบนั่งหลับ ถ้าง่วง ยายจะ ลุกไปเดิน ไปเข้าห้องน้ำ ล้างหน้าล้างตาให้หายง่วง แล้วถึงมานั่งต่อ ยายไปแอบเห็นเขานั่ง บางคนนั่ง เดี๋ยวก็โงก...งึก เดี๋ยวก็โงก...งึก นั่งแบบนี้มันจะไปเห็นอะไร" คุณยายท่านจะรักการนั่งสมาธิ และให้ความสำคัญกับ การทำสมาธิมากท่านรู้ ภาวะจิตใจของมนุษย์ปุถุชนคนทั่วไป เป็นอย่างดี แต่สิ่งที่ท่านมักสอนให้ทุกคนมีอยู่ในใจเสมอ คือ ความพากเพียร ความเอาจริงในการนั่ง
"การทำสมาธิ นึกสัมมาอรหัง ก็ได้บุญแล้ว การได้ธรรมกายนี้ ไม่ใช่ของง่าย ๆ ใจเรามันวิ่งไปทั่วรอบโลก ต้องดึงมันเข้ามา ให้หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย เหนือสะดือ ๒ นิ้วมือ เรื่องอื่นอย่าไปคิด ทิ้งมันให้หมด พอใจหยุดใจนิ่ง มันก็จะ ว่างอยู่ในท้อง ทำใจให้หยุดให้นิ่ง นึกถึงองค์พระให้ใส"
"การได้ธรรมกายนั้น ขึ้นอยู่กับบุญเก่าด้วย ให้เราขยันนั่งสมาธิ แม้ว่าชาตินี้จะไม่เห็น ถ้าเราเกิดใหม่ชาติต่อไปก็จะได้มานั่งอีก ต่อไปเรื่อย ๆ ใจมันคุ้นธรรมะต้องเอาจริงทำจริง ๆ จัง ๆ มีความเพียร"
คุณยายท่านเป็นสุดยอด "คนจริง"ท่านหนึ่ง ความเป็น คนจริงและความพากเพียรของท่านทำให้ท่านมีธรรมะอันละเอียดลึกซึ้ง จนได้รับคำชมจากหลวงพ่อวัดปากน้ำว่า "ลูกจันทร์นี่ หนึ่งไม่มีสอง"
คุณยายเคยเล่าให้ฟังว่า "เมื่อก่อนยายอยู่วัดปากน้ำ นั่งสมาธิ กลางวัน ๖ ชั่วโมง กลางคืน ๖ ชั่วโมง"
คุณยายนั่งสมาธิในสถานที่ที่เรียกว่า "โรงงานทำวิชชา"
"ยายเป็นหัวหน้าเวร ๒ ที่โรงงานทำวิชชา ระหว่างฝัง แม่ชีกับฝังพระจะมีผนังกั้นไว้ไม่ให้มองเห็นกัน มีทางเข้าออกกัน คนละทาง ยายจะคอยฟังเสียงเวลาหลวงพ่อวัดปากน้ำท่านสั่งงาน ยายได้นั่งเตียงขาดรู้"
พอได้ยินคำว่าขาดรู้ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าหูผึ่งและสนใจในคำว่า "ขาดรู้" ขึ้นมาในทันที คุณยายบอกว่าขาดรู้ คือทิ้งข้าง นอกหมดไม่เอาอะไรเลย ใจติดอยู่แต่กับธรรมะข้างใน (ใจหยุด นิ่งสนิทสมบูรณ์ ๑๐๐% )
คุณยายยังเล่าถึงบรรยากาศในระหว่างช่วงสงครามโลก ครั้งที่ ๒ ตอนเครื่องบินมาทิ้งลูกระเบิดให้ฟังว่า ที่โรงงานทำวิชชา ในช่วงนั้น ที่ประตูจะมีกุญแจคล้องไว้ ไม่ให้คนข้างในออกไปไหน พอเสียงหวอมา พวกผู้หญิงที่นั่งอยู่ด้วยกันบางคนก็ตกใจกลัววิ่งไปมา แต่คุณยายไม่นึกกลัวอะไร คิดว่ามันจะวิ่งหนีไปไหนก็ ออกไม่ได้อยู่ดีท่านก็เลยนั่งสมาธิ หลับตาเข้าที่ปัดลูกระเบิดให้ออกไป ผู้ที่มีจิตใจหนักแน่นมั่นคงย่อมไม่หวั่นไหว แม้ภัยจะมา
คุณยายท่านรักและมีความสม่ำเสมอในการนั่งสมาธิมาก แม้ตอนย้ายมาอยู่ที่วัดพระธรรมกายในช่วงแรก งานจะหนักและมากมายเพียงใดท่านก็ไม่เคยที่จะละเลยการนั่งสมาธิท่านเคยเล่าว่า
"ตอนเช้า ยายกินข้าวเสร็จแล้วนั่งสมาธิ ก่อนที่จะลงไปช่วยเขาปลูกต้นไม้ ปลูกเสร็จ ๕ โมงเย็น ขึ้นมาอาบน้ำ นั่งสมาธิต่อถึง ๔ ทุ่ม ถึงจะได้นอน"
เมื่อผ่านเข้ามาในวัย ๘๐ กว่าปีของท่าน หลังที่ตั้งตรงอยู่ ตลอดเวลาของท่านเริ่มจะปวด จะเมื่อย เมื่อนั่งนาน ๆ ขาที่เคย นั่งสมาธินั่งพับเพียบได้ทีละนาน ๆ ก็เริ่มตึง เหยียดงอไม่ค่อยสะดวกเช่นเดิม คุณยายมักพูดเกี่ยวกับเรื่องสังขาร และตักเตือนให้พวกเราไม่ประมาทในความเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่เสมอ ๆ ว่า
"เดี๋ยวนี้ยายแก่แล้ว นั่งเดี๋ยวเดียวก็เมื่อย เลยนอนดิ่งธรรมะไป ตอนนี้เรายังไม่รู้หรอก ถ้าเราแก่แล้ว เราก็จะรู้ว่าเป็นอย่างไร เมื่อยหลังปวดเอว ตอนนี้เป็นสาวเรายังไม่รู้หรอก เมื่อก่อนยายนั่งธรรมะ กลางวัน ๖ ชั่วโมง กลางคืน ๖ ชั่วโมง จะทำอะไรก็รีบ ๆทำ เดี๋ยวแก่มาจะทำไม่ไหว"
แม้สังขารจะมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา แต่คุณยายไม่ เคยให้ความเสื่อมไปของสังขารมาเป็นอุปสรรคต่อการทำใจหยุด ใจนิ่งของท่าน แม้ว่าจะนั่งนาน ๆ ไม่ได้ เวลาท่านเอนหลังพัก ท่านก็นอนดิ่งธรรมะ ตรึกระลึกถึงบุญกุศลอยู่ตลอดเวลา
"เดี๋ยวนี้ ยายนั่งธรรมะนาน ๆ ไม่ได้ เดี๋ยวนี้นอนดิ่งธรรมะ นึกถึงบุญกุศลไปเรื่อย"
หลังจากท่านนั่งรถสามล้อไปตรวจวัด หรือเดินไปตรวจที่ ครัวกลับมาแล้ว ถ้าเหนื่อยมาก คุณยายจะกลับมาเอนหลังพัก ที่ห้องเลขา การเอนหลังพักของท่านไม่ใช่การนอนหลับพัก ผ่อนเหมือนผู้สูงอายุทั่วไป ถึงแม้ว่าท่านจะนอนนิ่ง ๆ แต่ไม่ใช่นอนหลับ
เวลาคุณยายเอนหลังพักท่านจะชอบความสงบเงียบมาก ถ้ามีเสียงที่ดังผิดปกติขึ้นมาท่านมักจะถามว่าเสียงอะไร หรือ ไม่ก็ลืมตาขึ้นมาดู แม้ท่านไม่ได้พูดอะไร แต่ก็เป็นหน้าที่ของเรา ที่จะต้องทำให้ทุกอย่างในห้องเงียบที่สุด เวลาจะเดินจะนั่งในห้อง ก็ต้องสังเกต เลือกเดินเลือกนั่งตรงบริเวณที่แผ่นกระดานแน่น ๆ จะได้ไม่มีเสียงเอียดอ๊าด บางครั้งในห้องเงียบจนได้ยินเสียง นาฬิกาที่แขวนอยู่บนผนังเดินอยู่ เสียงดัง ติก ๆ ๆ ข้าพเจ้ามอง ดูลู่ทางแล้วคิดอยู่ในใจว่า ถ้าคุณยายถามว่าเสียงอะไร เราคง ต้องเอาเก้าอี้ปีนขึ้นไปปลดนาฬิกาที่แขวนอยู่ลงมาถอดถ่านออก เป็นแน่แท้
ข้าพเจ้ารู้สึกว่า การเอนหลังพักของท่านเป็นเพียงแต่การ เปลี่ยนจากท่านั่งสมาธิ มาเป็นการนอนทำสมาธิ ตามสภาพร่างกายสังขารของท่านซึ่งย่างเข้าสู่วัยชรา
แต่ไม่ว่าจะนั่งทำสมาธิ หรือนอนทำสมาธิ ญาณทัสสนะ ของคุณยายยังคงเที่ยงตรง
บ่อยครั้งหลังจากที่คุณยายเดินไปตรวจครัวแล้วกลับมาเอนหลังพัก ขณะที่คุณยายนอนหลับตานิ่ง ๆ เงียบ ๆ นิ้วชี้นิ้วกลางของมือข้างขวาที่ท่านมักชอบวางพาดไว้ที่ท้อง ขยับไปมาเป็นบางจังหวะ ข้าพเจ้านั่งอยู่ที่ปลายเตียง นวดที่ขาและที่เท้าให้ท่าน ด้วยใบหน้าที่เจือด้วยรอยยิ้มน้อย ๆ ที่ชักชวนคุณยาย กลับมาพักได้ ก่อนที่ท่านจะไปพบเห็นตรงจุดที่เลอะ ๆ เทอะ ๆ ซึ่งจะทำให้ท่านต้องเหนื่อย ในการทำหน้าที่อุปัฏฐาก คงไม่มีอะไร ที่ทำให้เรารู้สึกอิ่มใจในการทำหน้าที่ได้เท่าการดูแลรับใช้ท่าน ให้ท่านได้รับความสะดวก สบาย ปลอดภัย และให้ท่านได้พบแต่ สิ่งที่ทำให้ท่านมีแต่ความสบายกายสบายใจ
แต่ทันใดนั้นเอง ใบหน้าที่เจือด้วยรอยยิ้มของข้าพเจ้าเริ่มหุบลง เมื่อคุณยายพูดขึ้นมาว่า "เดี๋ยวยายจะลุกไปดูที่คอกขยะสักหน่อย" คุณยายพูดถึงคอกขยะที่ข้ามถนนไปฝังตรงกันข้ามครัว ซึ่งตอนนั้นไม่ค่อยเรียบร้อย ข้าง ๆ คอกขยะมีข้าวของเก่า ๆ ที่ผุพังมากองเต็มไปหมด ไม่มีอะไรมาปิดบังญาณทัสสนะของคุณยายได้เลย
ท่านบอกว่า "พอทำใจนิ่ง ๆ เงียบ ๆสักพัก มันเห็นในที่" ไม่ว่าข้าพเจ้าจะหาเหตุผลใด ๆ มาอ้าง เพื่อชักชวนให้ท่านเอน หลังพักให้หายเหนื่อยก่อนแล้วจึงไป แต่ท่านบอกว่า "ไม่ได้หรอกยายคิดอะไรแล้วต้องทำเลย"สุดปัญญาที่ข้าพเจ้าจะทัดทานท่านไว้
บางวันข้าพเจ้าเข้ามารับบุญอุปัฏฐากคุณยายด้วยใจที่ไม่ค่อยสดชื่น เบิกบาน เพราะมีเรื่องที่ครุ่นคิดกังวลอยู่ในใจ ตามประสาน้องใหม่ที่ยังมีอินทรีย์ไม่กล้าแกร่ง ในระหว่างที่อยู่กับท่าน คุณยายถามอะไรคำ ข้าพเจ้าก็ตอบคำ แล้วกลับมาคิดเรื่องของ ตัวเองที่กังวลอยู่ในใจต่อ แต่แล้วจู่ ๆ คุณยายก็ถามคำถามที่ไม่ เกี่ยวเนื่องกับเรื่องใด ๆ ที่ท่านถามมาก่อน แต่กลับถามคำถามที่ เกี่ยวเนื่องตรงกับเรื่องที่ข้าพเจ้าคิดอยู่ในใจ พร้อมทั้งให้ข้อคิด สอนเตือนใจข้าพเจ้าว่า "อย่าทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่" ความรู้สึกในตอนนั้นข้าพเจ้ารู้สึกมีความอบอุ่นใจมาก ใจของข้าพเจ้าสดชื่น เบิกบานสว่างไสวขึ้นมาทันที และนึกชื่นชมว่า คุณยายอาจารย์ของเรานี้เก่งที่สุด
ในขณะที่คุณยายเอนหลังหลับตา นอนนิ่ง ๆ พักอยู่ท่านมักจะพูดหรือมีคำถามขึ้นมาเป็นช่วง ๆ ในเรื่องทั่วไป คำถามของท่านมักหนีไม่พ้นเรื่องวัด เรื่องกฐิน ผ้าป่า เรื่องหลวงพ่อ ซึ่งช่วงนั้นหลวงพ่อท่านจะขึ้นไปปฏิบัติธรรมอยู่ที่เชียงใหม่บ่อย คุณยายก็มักจะถามว่า หลวงพ่อท่านไปเชียงใหม่ได้กี่วันแล้ววันไหนกลับ ฯลฯ
แต่คำถามที่คุณยายมักจะถามบ่อยกว่าคำถามไหน ๆ คือ ยายเป็นประธานกฐินกี่ครั้งแล้ว ประธานผ้าป่ากี่ครั้งแล้ว วันหนึ่งคุณยายไม่ได้ถามครั้งเดียว แต่เกือบทุกครั้งที่ท่านเอนหลังพัก พอเอนหลังหลับตาทำใจนิ่ง ๆ ไปได้สักพักแล้วท่านมักจะถามว่า "ยายเป็นประธานกฐินกี่ครั้งแล้ว ประธานผ้าป่ากี่ครั้ง แล้วช่วยนับไว้ให้ยายด้วย ยายไม่รู้หนังสือ" และท่านมัก อธิษฐานตามสมบัติอยู่เสมอ ๆ ว่า "ขอให้กองกฐิน กองผ้าป่า มีคนมาทำบุญเยอะ ๆ"
คุณยายเป็นประธานใหญ่ ทอดกฐินครั้งแรก เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๑ และเป็นประธานทอดผ้าป่าครั้งแรก ตอนฉลอง ๒๐ ปีวัดพระธรรมกาย ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ และต่อมาคุณยายก็ได้เป็นประธานใหญ่กองกฐิน กองผ้าป่าทุกงาน ถ้านับจนถึงวันที่ท่านละสังขารในวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๓ คุณยายได้เป็นประธานใหญ่ทอดกฐิน ๑๐ ครั้ง ทอดผ้าป่า ๒๐ ครั้ง
คุณยายท่านจะเล่าให้ฟังว่า "ยายคิดมาหลายปีแล้ว ตั้งใจอยากจะเป็นประธานทอดกฐินสักครั้ง ยายเลยไปขอหลวงพ่อว่า 'หลวงพ่อ ยายอยากเป็นประธานทอดกฐินสักครั้งหนึ่ง' พอหลวงพ่ออนุญาต ยายก็บอกบุญใหญ่ เจอหน้าใครก็บอกหมด อยากให้เขาได้บุญกับยาย ตอนนี้หลวงพ่อท่านก็เลยให้ยายเป็นประธานใหญ่ทุกงาน ๆทั้งกฐิน ผ้าป่า"
กฐินครั้งแรกของคุณยาย ข้าพเจ้ายังจำภาพคุณยายผู้ เป็นสุดยอดกัลยาณมิตรสุดยอดผู้นำบุญได้เป็นอย่างดี ตอนนั้นข้าพเจ้ายังไม่ได้มาอยู่วัด ก่อนงานกฐินหลายสัปดาห์ วัน อาทิตย์ตอนเช้า ๆ ข้าพเจ้าเดินเข้ามาในวัด พอรถสามล้อคุณ ยายกำลังจะเคลื่อนผ่านมา ข้าพเจ้าก็นั่งลงพนมมือไหว้อยู่ที่ข้างทาง ตามปกติรถสามล้อจะค่อย ๆ เคลื่อนผ่านข้าพเจ้าไป
แต่วันนี้รถมาหยุดจอดอยู่ตรงจุดที่ข้าพเจ้านั่งพนมมืออยู่มือที่คุณยายเคยพนมรับไหว้ทักทาย ก็กลายเป็นมือที่กวักเรียก และดึงข้าพเจ้าให้เข้ามายืนอยู่ใกล้ ๆ ตาของคุณยายเป็นประกาย สดใสยิ้มของคุณยายกว้างและเบิกบานกว่าปกติ แล้วท่านก็ พูดกับข้าพเจ้าว่า "หลวงพ่อให้ยายเป็นประธานทอดกฐิน วันที่เท่าไรนะ (หันไปถามพี่ประดิษฐ์) วันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๑ ให้ช่วยยายบอกบุญด้วยนะ ไอ้หลาน ไปบอกเพื่อน พ่อ แม่ พี่น้องเรา จะได้มาเอาบุญกับยาย"
คงเนื่องว่าอีกหลายวันกว่าจะถึงงานกฐิน หรือไม่ท่านก็ คงรู้จากข้างในว่าข้าพเจ้าเป็นคนขี้ลืมท่านจึงย้ำกับข้าพเจ้าอีกว่า "อย่าลืมนะช่วยยายบอกบุญ แล้วไปหาสมุดเขียนไว้ว่าวันที่... ยายจันทร์เป็นประธานทอดกฐิน ไปเขียนไว้จะได้ไม่ลืม เรารู้หนังสือนี่"
ข้าพเจ้าหยิบสมุดเล่มเล็ก ๆ ในกระเป๋าขึ้นมาเขียนไว้ตาม ที่คุณยายบอกทันที แล้วรถสามล้อของคุณยายค่อย ๆ เคลื่อนผ่านไป ข้าพเจ้าเดินจากมาด้วยความปีติดีใจอย่างที่สุดที่คุณยาย เมตตาจอดรถสามล้อบอกบุญกับข้าพเจ้า และตั้งใจว่าจะช่วย คุณยายบอกบุญอย่างเต็มที่
ความปีติของข้าพเจ้ายังไม่หยุดอยู่เท่านั้น ข้าพเจ้าเดินไปที่ครัวหลังเพื่อช่วยเตรียมอาหารเลี้ยงสาธุชนมื้อเพล ขณะที่ข้าพเจ้านั่งอยู่บนตั่งตัวเตี้ย ๆ ง่วนอยู่กับการหั่นผักช่วยกันอยู่กับพี่ต่าย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำดูแลอยู่ที่ครัวหลังในช่วงนั้น เงยหน้าขึ้นมาอีกที เห็นคุณยายยืนอยู่ แล้วท่านก็ค่อย ๆ นั่งลง บนเก้าอี้ตัวเตี้ย ๆ ที่อยู่ข้าง ๆ ข้าพเจ้านึกไม่ถึงว่าจะพบคุณยาย ในลักษณะง่าย ๆ เป็นกันเองเช่นนี้ และนึกไม่ถึงว่าวันนี้ข้าพเจ้า จะได้พบคุณยายในลักษณะใกล้ชิดอย่างนี้ถึง ๒ ครั้ง ในเวลา ห่างกันเพียงไม่กี่ชั่วโมง ข้าพเจ้าเริ่มนั่งไม่ติดตั่งตัวเตี้ย เพราะรู้สึกว่าตัวเราไปนั่งเสมอท่าน อยากจะลงจากตั่งมานั่งอยู่กับพื้น แต่ก็ไม่ได้ทำ เพราะพื้นบริเวณนั้นเฉอะแฉะไปหมด เห็นพี่ที่ครัวนั่งคุยกับคุณยายอย่างเป็นปกติ เหมือนกับคุ้นเคยกับการมา อย่างนี้ของคุณยาย ข้าพเจ้าก็เลยนั่งปกติตามไปด้วย ฟังคุณยายพูดคุย
คุณยายท่านยังคงเบิกบานอยู่กับการบอกบุญงานกฐิน อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยหรือเบื่อหน่าย จนข้าพเจ้าอดนึกไม่ได้ว่า ลมหายใจของคุณยายคงจดจ่อ มุ่งมั่นอยู่แต่กับงานกฐิน ซึ่งเป็นกฐินครั้งแรกของคุณยาย เป็นกฐินครั้งประวัติศาสตร์ ที่ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกัน ผู้คนหลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ
ไม่ใช่ครั้งนี้ครั้งเดียว แต่เป็นอีกหลาย ๆ ครั้งในเวลาต่อ ๆ มาทั้งงานกฐิน งานผ้าป่า คุณยายท่านจะทำหน้าที่ยอดกัลยาณมิตร ยอดผู้นำบุญได้อย่างเยี่ยมยอด หาผู้ใดเสมอเหมือนมิได้ ใจของท่านเกาะเกี่ยวอยู่กับบุญกุศลตลอดเวลา ไม่ว่าจะพบเจอใคร คุณยายก็อยากให้เขาได้บุญไปกับคุณยายทุก ๆ คนกับพระที่อยู่ในวัด คุณยายก็มักจะบอกกับท่านว่า
"ให้ท่านช่วยไปโปรดญาติโยมเกิดมาเป็นคน เราต้องทำบุญทำทาน
คนเราเกิดมาแล้วต้องตาย ตายไปก็เอาไปได้แต่บุญกับบาป ให้ช่วยยายช่วยไปโปรดญาติโยม"
ชีวิตของบุคคลท่านหนึ่ง ที่มีทุกลมหายใจเข้าออกเกาะเกี่ยวอยู่แต่กับบุญกุศลและความดีงาม ชีวิตของท่านผู้นั้นจะเป็น ชีวิตที่งดงามสักเพียงใด
"ใจยายมันไปไกล คิดแต่ทำอย่างไรจึงจะสร้างความดี ตายไปแล้ว เอาอะไรไปไม่ได้เพราะฉะนั้น ยายจึงสร้างแต่ความดี สร้างวัดให้เขาอยู่ ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า เก็บเอาแต่บุญไป"