อรหัง
พระธรรมเทศนา
อรหํ เป็นพระคุณข้อต้น มีนัยจะแสดงดังต่อไปนี้
อรหํ เป็นเนมิตกนาม เกิดขึ้นเองพร้อมกับที่พระองค์บรรลุพระโพธิญาณ ยกตัวอย่างเทียบเคียงคล้ายกับชื่อพระราชกุมารีของพระเจ้าปเสนทิโกศล ชื่อว่า "มัลลิกา" กล่าวคือว่า วันที่พระนางเธอประสูตินั้น มีดอกมะลิร่วงลงมาจากอากาศในเวลาเกิด พระราชบิดาและพระประยูรญาติ ถือเอานิมิตดอกมะลินั้นขนานนามธิดาองค์นั้นว่า "มัลลิกา" ซึ่งแปลว่า พระนางมะลิ
อรหํ เป็นคำที่พวกเรานักปฏิบัติธรรมเชิดชูกันนักหนา ถึงแก่ได้นำมาใช้เป็นบทบริกรรมภาวนาในเมื่อนั่งสมาธิ ฉะนั้นจึงขอนำมาแปลไว้ในที่นี้ เพื่อได้ซาบซึ้งพระคุณนามข้อนี้ไว้บ้าง แต่การจะพรรณนาให้สิ้นสุดได้ เมื่อคิดเทียบแล้วก็เท่ากับอากาศในปีกนก กล่าวคือ บรรดาอากาศทั้งหลายในสากลโลกมีมากสุดคณนา แต่คิดเฉพาะอากาศเท่าที่ปีกนกกระพือขณะที่บินหนหนึ่งจะมีอากาศอยู่ในระหว่างปีกนิดเดียว ในจำนวนอากาศทั้งหลาย นี่ฉันใดก็ฉันนั้น
อรหํ แปลสั้น ๆ ว่า "ไกล" ว่า "ควร" เป็นสองนัยอยู่ "ไกล" หมายความว่า ไกลจากกิเลสหรือพ้นจากกิเลสเสียแล้ว "ไกล" ตรงกันข้ามกับปุถุชนคนเรา ซึ่งยังอยู่ใกล้ชิดกิเลส พระองค์บริสุทธิ์ผุดผ่องดังแท่งทองชมพูนุท หรืออีกอย่างหนึ่งว่าใสเหมือนดวงแก้วอันหาค่ามิได้สมคำว่า "พุทธรัตนะ"
บทขยายความ
เราจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คำว่า "อรหัง" คำนี้ไม่ใช่คำภาษาไทย แต่เป็นคำที่มีมาก่อนพุทธกาล ใช้เรียกผู้ที่หมดกิเลสแล้ว เป็นคำที่ตกทอดกันมา ตั้งแต่ในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ๆ โน้น จากพระองค์หนึ่งมาถึงอีกพระองค์หนึ่ง
คนในสมัยก่อนพุทธกาล ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ เขาก็ไม่รู้ว่า อรหัง ที่แท้จริงหมายถึงอะไร พอได้ยินคำว่า "อรหัง" เขาก็หมายถึง ผู้วิเศษ ซึ่งไม่ตรงตามความจริงจนกระทั่งพระองค์ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์แล้ว หมดกิเลสแล้ว จึงได้มาอธิบายให้คนในยุคนั้นฟังว่า "อรหัง" จริงๆ แล้ว หมายถึง ผู้ที่หมดกิเลสแล้ว หรือไกลจากกิเล ไม่ใกล้หรือไม่จมอยูในกิเลสหรือว่าไม่แช่อิ่มอยู่กับกิเลสเมื่อเปิดคำว่า "อรหัง" ในพจนานุกรมก็สามารถแปลได้ 7 นัยยะ ด้วยกันคือ
1. เป็นผู้ไกลจากกิเลส คือ บาปธรรม ทรงความบริสุทธิ์
2. เป็นผู้กำจัดข้าศึก คือ กิเลสสิ้นแล้ว
3. เป็นผู้หักกรรมแห่งสังสารจักร อันได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม
4. เป็นผู้ควรแนะนำสั่งสอน
5. เป็นผู้ควรรับความเคารพ
6. เป็นผู้ควรแก่ทักษิณาและการบูชาพิเศษ
7. เป็นผู้ไม่มีข้อลับ คือ ไม่มีข้อเสียหายอันควรปกปิด
แต่ว่าในเชิงปฏิบัติแล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ท่านยกมาสองนัย คือเป็นผู้ไกลและผู้ควร
ความหมายของ อรหํ นัยแรก เป็นผู้ไกล
ตามธรรมดาใจของคนเรา มีลักษณะเป็นดวงกลม ๆ ดวงใจดวงนี้ของทุก ๆ คนไม่ได้บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนอย่างที่เราคิด ใจมีตำหนิอยู่ข้างใน คือมีตัวบ่อนทำลายให้ใจเราเสื่อมคุณภาพอยู่ข้างใน
ถ้าเปรียบกับร่างกาย ในร่างกายเราก็มีโรคร้ายคอยบีบคั้นให้ป่วย ให้ไข้ ให้แก่ ให้เฒ่ากระทั่งให้พิกลพิการ หรือถึงตายได้ฉันใด
ใจก็มีตัวบีบ ตัวคั้นอยู่ มีโรคร้ายอยู่ในใจ คอยบีบคอยคั้น ให้ทั้งขุ่นมัว เศร้าหมองและเสื่อมคุณภาพต่าง ๆ นานาฉันนั้น
สิ่งนั้นเรียกว่า "กิเลส" กิเลสไม่ได้อยู่นอกฟ้าป่าหิมพานต์ ไม่ได้อยู่ในอวกาศ ไม่ได้อยู่ในน้ำในดิน แต่กิเลสนั้นแทรกอยู่ในใจของทุก ๆ คน กิเลสที่อยู่ในใจนี้จะปฏิบัติการทั้งห่อ หุ้ม บีบ คั้น กัด กร่อน หมัก ดอง ทั้งบ่อนทำลายสารพัด
ที่ว่า "บีบ" ก็เหมือนกับเอาท่อนอ้อยใส่ลงไปในเครื่องบีบอ้อย ครั้นเมื่อเราหมุนเครื่องมันก็จะบีบเป็นน้ำอ้อยออกมา
ส่วน "คั้น" ก็ทำนองเดียวกับเราคั้นน้ำส้ม แต่กิเลสมันคั้นรุนแรงหนักหน่วงยิ่งกว่านั้นอีก
ที่ว่า "กิเลสกัดกร่อนใจ" นั้น อุปมาเหมือนกับเอาเหล็กแช่ไว้ในน้ำกรด ไม่ช้าไม่นานน้ำกรดก็กัดเหล็กเสียจนกร่อน
ที่ว่า "กิเลสหมักดองใจ" นั้นเป็นอย่างไร หมักดองก็เหมือนกับการเอาผักสดใส่ลงไปหมักในอ่างน้ำเกลือ ทิ้งไว้สักสองสามวัน เชื้อราก็จะทำหน้าที่เปลี่ยนผักสด ๆ นั้นให้กลายเป็นผักดอง ถ้าปล่อยทิ้งไว้หลายวันก็จะส่งกลิ่นเหม็นไปไกล
ที่ว่า "กิเลสฉาบทาใจ" ก็เหมือนอย่างกับจานที่ถูกเคลือบ หรือฉาบทาด้วยวัตถุบางอย่างจนติดแน่นทั่วผิวจานนั่นเอง
นอกจากนี้กิเลสยังสามารถที่จะ "ระเบิดใจ" ได้เหมือนกับลูกระเบิดทีเดียว
กิเลสสามารถทั้งบีบ ทั้งคั้น ทั้งกัด ทั้งกร่อน ทั้งหมัก ทั้งดอง ทั้งเคลือบ ทั้งฉาบทาทั้งระเบิด มันทำความเสียหายให้กับใจของเราได้ทุกรูปทุกแบบ เพราะฉะนั้น ผู้มีธรรมท่านจึงทั้งเกลียดทั้งกลัว ไม่ยอมให้กิเลสตกค้างอยู่ในใจท่านได้ แต่คนทั่วไปไม่รู้ เหตุที่ไม่รู้ก็เพราะว่าใจอยู่ใกล้กับกิเลสใกล้ขนาดไหน ใกล้ขนาดกิเลสเข้าไปครอบงำใจไว้ตลอดเวลานั่นเองแต่เนื่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณได้ด้วยธรรมกายทรงสามารถกำจัดกิเล ให้หมดสิ้นไปจากพระทัยโดยสิ้นเชิง จึงใช้คำว่า "ไกลจากกิเลส" ซึ่งมีคำศัพท์ว่า "อรหํ" แปลว่า พระอรหันต์
ส่วนวิธีการกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไป เป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญเพียงใด พวกเราที่เรียนพุทธประวัติคงได้ทราบแล้วว่า เมื่อพระองค์ทรงทราบว่ามนุษย์เป็นทุกข์เพราะกิเลสจึงทรงค้นคว้าแสวงหาวิธีพ้นทุกข์เรื่อยมา กว่าจะสัมฤทธิผลนั้นเป็นเวลานับอสงไขยภพอสงไขยชาติ คือนับไม่ถ้วนนั่นเอง
การแสวงหาวิธีพ้นทุกข์นั้น พระองค์ทรงเริ่มจากการค้นหาสาเหตุแห่งทุกข์ ลักษณะที่อยู่และวิธีกำจัดทุกข์มาตามลำดับ ในที่สุดก็ทรงพบว่า ทุกข์ทั้งหลายเกิดจากกิเลสซึ่งมีลักษณะหรือจะเรียกว่ามีหน้าตาหลายแบบก็คงจะได้ มีที่อิงอาศัยอยู่ในจิตใจของคนเราทุก ๆ คนครั้นแล้วก็ทรงพบวิธีกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไปด้วยการเจริญสมาธิภาวนา จนกระทั่งบรรลุธรรมกายซึ่งมีลักษณะมหาบุรุษ ใสเป็นแก้ว และมีชีวิต มีเกตุดอกบัวตูม นั่งขัดสมาธิอยู่ ณ ศูนย์กลางกายของพระองค์ ธรรมกายแก้วอันมีชีวิตนี้ เรียกว่า "พุทธรัตนะ"
คำว่า "พุทธ" แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
คำว่า "พุทธรัตนะ" ในที่นี้ จึงมีความหมายว่า ขณะนั้นพระองค์ทรงบรรลุภาวะที่เป็นรัตนะ ซึ่งเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อันเป็น ภาวะแห่งการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนกระทั่งบรรลุโพธิญาณ คือ ปัญญาแห่งการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น กินเวลานานถึง 20 อสงไขยกับแสนมหากัป
เพราะเหตุนี้ คำว่า "อรหํ" จึงกลายเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ เพราะศักดิ์สิทธิ์อย่างนี้จึงถูกนำมาใช้บริกรรมภาวนาในขณะทำสมาธิว่า "สัมมา อะระหัง"
การที่บุคคลใดสามารถทำให้ใจไกลจากกิเลส ซึ่งเคยอิงอาศัยครอบงำอยู่เป็นเวลาช้านานโดยที่กิเลสนั้นไม่สามารถย้อนกลับเข้ามาครอบงำอีกเลย ย่อมแน่นอนเหลือเกินว่าบุคคลนั้นจะต้องมีคุณสมบัติวิเศษอื่นอีกมากมายเกิดขึ้นในตัว
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เช่นเดียวกัน เมื่อพระทัยของพระองค์ไกลจากกิเลสแล้ว พระองค์จึงทรงคุณวิเศษเหนือปุถุชนทั้งปวง ทำให้พระองค์ทรงมีเนมิตกนาม คือชื่อที่เกิดขึ้นเองตามคุณวิเศษนั้นว่า "อรหํ"
นี่คือความหมายของ อรหํ ตามนัยที่ 1 ที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำท่านให้ไว้
พระธรรมเทศนา
ประกอบด้วยตาทิโน เป็นผู้คงที่ ไม่หวั่นไหว หากจะมีของหอมมาชโลมไล้พระวรกายซีกหนึ่ง และเอาของเหม็นมาชโลมซีกหนึ่ง พระหฤทัยของพระองค์ก็ไม่แปรผันหรือยินดียินร้ายประการใด และเปรียบได้อีกสถานหนึ่งว่า อินฺทขีลูปโม พระทัยมั่นคงดังเสาเขื่อน ถึงจะมีพายุมาแต่จตุรทิศก็ไม่คลอน เมื่อเช่นนี้จึงมีนัยแปลได้อีกอย่างว่า เป็นผู้ควร คือเป็นผู้ที่เราสมควรจะเทิดบูชาไว้เหนือสิ่งทั้งหมด อรหํ เป็นนามเหตุ พระคุณนาม นอกนั้นเป็นนามผล
บทขยายความ
ความหมายของ อรหัง ในนัยที่ 2 เป็นผู้ควรจากพระธรรมเทศนาของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ เราจะพบคำว่า "ประกอบด้วย ตาทิโน คือ เป็นผู้คงที่ ไม่หวั่นไหว" เพราะพระองค์ท่านไม่มีกิเล แล้ว กิเล หลุดห่างออกไปไกล เป็นพันโยชน์ หมื่นโยชน์ แสนโยชน์ ไม่มีทางกลับมาถึงพระองค์อีก เพราะฉะนั้นพระทัยของพระองค์จึงไม่ถูกกิเลสบังคับ จึงคงที่ไม่หวั่นไหวดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ไม่เคยโคจรมาพบกันเลย ก็เพราะอยู่ไกลกันมาก แต่กิเลสกับพระทัยของพระองค์ไกลกันยิ่งกว่านั้นอีก จึงไม่มีโอกาสได้พบกันอีกเลย กิเล จึงหมดโอกาสเข้ามาเจือปน บีบคั้นพระทัยของพระองค์สิ่งนี้เองเป็นเหตุให้พระองค์ทรงเป็นผู้คงที่ ไม่หวั่นไหว เป็นคุณสมบัติใหญ่ของพระองค์หากใครเอาน้ำหอมมาพรมพระวรกายข้างหนึ่งของพระองค์ อีกข้างหนึ่งชโลมด้วยของเหม็นพระองค์ย่อมทรงนิ่งเฉย ผิดกับปุถุชนทั้งหลายย่อมดีอกดีใจเมื่อได้น้ำหอม ที่เป็นเช่นนี้เพราะกิเลสในใจสอนว่า การใส่น้ำหอมให้ตัวหอมฟุ้งมีเสน่ห์เย้ายวนใจเป็นสิ่งดีเหลือเกิน ทั้งที่จริงแล้วหอมเดี๋ยวเดียว ไม่ช้ากลิ่นหอมนั้นก็จางไป กลายเป็นกลิ่นเหม็นสาบเข้ามาแทน
เมื่อกิเลสหลุดไปไกลจนไม่มีทางกลับเข้ามาในพระทัยของท่านอีกแล้ว พระทัยของท่านจึงมั่นคงเหมือนเสาเขื่อน ตามธรรมดาเสาที่กั้นเขื่อนย่อมมั่นคงไม่แพ้ภูเขา ลมหอบไปไม่ได้ แม้พายุพัดมา 4 ทิศ เสาเขื่อนก็ไม่คลอนแคลน ผิดกับไม้หลักปักเลน ไม้หลักปักโคลนความมั่นคงของเสาเขื่อนย่อมทำให้เขื่อนกั้นน้ำมั่นคงแข็งแรงมาก เสมือนหนึ่งจำลองภูเขามาขวางทางน้ำไว้ น้ำจึงไม่สามารถรั่วไหลออกมาได้
ดังนั้นใครก็ตามที่สามารถกำจัดกิเลสให้หมดจากใจได้ ก็จะเป็นเหตุให้ได้คุณสมบัติทั้ง 2 ประการ คือ
1) ไม่หวั่นไหวหรือไม่ยินดียินร้ายด้วยคำสรรเสริญ นินทา
2) มีจิตใจมั่นคงเมื่อต้องเผชิญปัญหา
เพราะเหตุที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงห่างไกลจากกิเลสพระองค์จึงทรงสมบูรณ์พร้อมด้วยคุณสมบัติทั้ง 2 ประการดังกล่าว
ดังนั้น เมื่อผู้ใดได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระองค์ ผู้นั้นก็สามารถรู้ได้ด้วยตนเองว่า พระองค์คือผู้ควรได้รับการเทิดทูนบูชาไว้เหนือสิ่งใดทั้งหมด ควรยึดมั่นพระองค์ท่านไว้เป็นแบบอย่างในการทำความดี แล้วตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามพระองค์
พระธรรมเทศนา
ว่าในด้านภาวนา กายนี้มีซ้อนกันเป็นชั้น ๆ มีกายทิพย์ซ้อนอยู่ในกายมนุษย์ กายรูปพรหมซ้อนอยู่ในกายทิพย์ กายอรูปพรหมซ้อนอยู่ในกายรูปพรหม กายธรรมซ้อนอยู่ในกายอรูปพรหม คนเราที่ว่าตายนั้น คือ กายทิพย์กับกายมนุษย์หลุดพรากออกจากกัน เหมือนมะขามกะเทาะล่อนจากเปลือกฉะนั้น กายทิพย์ก็หลุดจากกายมนุษย์ไป
บทขยายความ
มาถึงตรงนี้พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำท่านได้ยกใจของพวกเราให้ละเอียดขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง โดยท่านกล่าวถึงกายในกายซึ่งเป็นเรื่องลึกซึ้ง คนทั่วไปที่ไม่ได้ทำภาวนามามากพอ จะเข้าใจยาก ท่านได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า เมื่อได้ทำภาวนาอย่างถูกวิธีและเชี่ยวชาญแล้ว ย่อมพบว่าในร่างกายของเรานี้ ไม่ได้มีแต่เลือดเนื้อและกระดูกเท่านั้น แต่ยังมีกายที่ละเอียด ๆ ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ อยู่ภายในอีก เป็นกายที่มีชีวิตจริง ๆ มีรูปร่างลักษณะเหมือนกายเนื้อของเรานี่แหละ แต่ละเอียดประณีตกว่ามากสวยงามกว่ามาก ที่ว่าละเอียดประณีตกว่าพอจะอุปมาได้ดังนี้
คือละเอียดประณีตจนกระทั่งว่า แม้จะถ่ายเอกซเรย์ก็จับไม่ติด หาไม่เจอ จะใช้กล้องอิเล็กทรอนิกส์วิเศษเพียงใด ก็ไม่สามารถถ่ายเอาภาพกายละเอียดที่ซ้อนอยู่ข้างในมาดูได้เพราะละเอียด จนกระทั่งอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีจับไม่ได้นี่เอง ท่านจึงเรียกว่า "กายทิพย์"
กายทิพย์นี้ซ้อนอยู่ในกายมนุษย์ กายรูปพรหมซ้อนอยู่ในกายทิพย์อีกทีหนึ่งส่วนกายอรูปพรหมซ้อนอยู่ในกายรูปพรหม ยิ่งกว่านั้นยังมีกายธรรมหรือที่เราคุ้นเคยกันว่าธรรมกายซ้อนอยู่ในกายอรูปพรหมอีกทีหนึ่ง ในตัวของทุก ๆ คนมีกายซ้อน ๆ กันอยู่อย่างนี้
ถ้าจะอุปมาในเชิงวิทยาศาสตร์ก็พอจะเทียบเคียงได้ว่า ในแสงสว่างจากดวงอาทิตย์นั้นดูเหมือนเป็นเพียงพลังงานที่มีความละเอียดมากไม่มีอะไรแฝงปนอยู่เลย แต่เมื่อให้แสงสว่างผ่านเข้าไปในแท่งแก้วสามเหลี่ยมที่เรียกกันว่า "ปริซึม" แล้ว ก็เกิดการหักเหของแ ง ทำให้เห็นแสงสว่างนั้นประกอบด้วยแสงซึ่งมีสีต่าง ๆ ถึง 7 สี คือ สีม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจะเห็นเป็นสีรุ้ง
นอกจากนี้ ถ้าหากถ่ายภาพ ก็ยังพบว่ามีอีกสองรังสี คือรังสีอุลตร้าไวโอเลต หรือที่เรียกว่ารังสีเหนือม่วง กับ รังสีอินฟาเรด คือรัง สีใต้แดง ซึ่งไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าแต่เห็นได้จากการถ่ายภาพสำหรับในกายของเรามีกายที่ละเอียดยิ่งกว่าแสงสีรุ้ง ละเอียดยิ่งกว่ารังสีเหนือม่วง หรือรังสีใต้แดงดังกล่าวแล้วเสียอีก
ในร่างกายของเรา นอกจากประกอบด้วยเลือดและเนื้อแล้ว ยังมีสิ่งอื่นที่สลับซับซ้อนอยู่อีกมากมายนัก ควรแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรื่องความเป็นความตายของตัวเราเองแต่ว่าน่าเสียดายที่ความรู้อันแสนวิเศษลึกซึ้งในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาเป็นสมบัติของบรรพบุรุษไทยเป็นเวลาช้านาน และปู่ ย่า ตา ยายของเราได้ทุ่มเทศึกษาจนกลายเป็นความรู้สามัญของท่าน กลับไม่ได้รับความ นใจเท่าที่ควรจากลูกหลานไทยเข้าทำนองลิงได้แก้ว ไก่ได้พลอย ฉะนั้น
กระนั้นก็ตามในบรรดาประชากรไทยประมาณ 60 กว่าล้านคนขณะนี้ ก็ยังมีผู้ที่เข้าถึงธรรมกาย ได้รู้เห็นได้เข้าไปศึกษากายละเอียดเหล่านั้น เท่าที่สืบทราบ ก็มีจำนวนเป็นร้อยเป็นพันเหมือนกัน แต่ว่าจำนวนเป็นร้อยเป็นพันนั้น เมื่อเทียบสัดส่วนกับจำนวนประชากร 60 กว่าล้านคนของประเทศไทยแล้ว ก็ยังไม่ถึงครึ่งเปอร์เซ็นต์ ถ้าเทียบกับประชากรทั้งโลกจะได้สักเท่าไร ก็ขอให้ท่านลองตรองดูเองเถิด
กายในกายที่ซ่อนอยู่ข้างในจะเห็นได้จากอำนาจการเจริญสมาธิภาวนา นอกจากนั้นเห็นไม่ได้ กายในกายเหล่านี้เองที่มีบทบาทในการควบคุมความรู้สึกนึกคิด จิตในกายเนื้อของเรานี้ ซึ่งบางครั้งเราจะพบว่า ครั้งใดที่คิดจะทำสิ่งไม่ดี คิดจะพูดสิ่งไม่ดี ก็จะมีความคิดในทางที่ดีอดแทรกขึ้นมาเตือนหรือห้ามเราไว้ หรือบางครั้งเราคิดถึงเรื่องดี ๆ พูดในสิ่งที่ดีงาม ทำในสิ่งที่ดีงาม ก็ปรากฏเสมือนมีบุคคลภายในตัวเรา เชียร์ให้เราทำอย่างนั้นให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป แต่ว่าเราไม่เคยเห็นว่าผู้ที่อยู่ข้างในคือใคร หน้าตาเป็นอย่างไร
พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ท่านเรียกกายภายในว่า กายทิพย์บ้าง กายพรหมบ้างกายอรูปพรหมบ้าง รวมทั้งธรรมกายหรือกายธรรมที่ซ้อนอยู่ในกายของรูปพรหมด้วย
และเพื่อเป็นการสะกิดใจผู้ฟังเทศน์ของท่านในครั้งนั้น พระเดชพระคุณหลวงปู่จึงได้ขยายความเพิ่มเติมว่า คนเราที่ว่าตายนั้น คือ อาการที่กายทิพย์กับกายมนุษย์หลุดพรากออกจากกัน เหมือนอะไร เหมือนมะขามกะเทาะล่อนออกจากเปลือก
เราลองนึกถึงมะขามสด เนื้อกับเปลือกของมันจะติดกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว แยกไม่ออกเขย่าก็ไม่ดัง แต่เมื่อแก่จัดและแห้ง เนื้อมะขามข้างในจะล่อนออกจากเปลือก ถ้าเราเขย่าก็จะมีเสียงดังขลุกๆ เป็นเสียงของเนื้อมะขามที่หลุดล่อนออกจากเปลือกนั่นเอง ซึ่งอุปมาเหมือนกายทิพย์ส่วนเปลือกของมะขาม ก็อุปมาเหมือนกายมนุษย์ของเรา เวลากายมนุษย์กับกายทิพย์หลุดพรากออกจากกันก็เป็นอันว่า "ตาย"
นี่เป็นเครื่องยืนยันว่า พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านปฏิบัติจริง ได้เห็น ได้รู้จริง จึงกล้านำมาเล่าให้เราฟังว่า เวลาคนตายมีอาการอย่างนี้ นี่เป็นคุณวิเศษที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านบรรลุ
จากการอ่านตำราเกี่ยวกับภาคปฏิบัติมาหลายเล่ม ก็ไม่เคยพบเลยว่า มีพระอาจารย์ท่านใดสามารถอธิบายการตายได้ชัดเจนส่วนมากก็จะใช้ว่าวิญญาณหลุดออกจากร่าง ซึ่งแสดงว่าเป็นเพียงจินตนาการ คือไม่รู้ ไม่เห็นจริง แต่นี่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำท่านทั้งรู้ ทั้งเห็นจริง ท่านจึงได้นำมาเทศน์สอน ก็เหลือแต่พวกเราที่ได้อ่าน และที่ได้ฟังเทศน์ของท่านในยุคนั้นจะลงมือปฏิบัติให้รู้จริง เห็นจริงตามท่าน
ทั้งหมดนี้ก็ต้องขอยกย่องเทิดทูนว่า เป็นชั้นเชิงการเทศน์ที่ลึกล้ำของ พระเดชพระคุณหลวงปู่ เพราะเท่ากับยั่ว ยุ ท้า ทาย เชื้อ เชิญ ให้ผู้ฟังเร่งรีบตั้งใจปฏิบัติตามท่านด้วยความศรัทธามั่นว่า ท่านทำอย่างนี้ได้ ก็เพราะท่านมีความรู้จริง เห็นจริงอันเกิดจากการทำได้จริงนั่นเอง
พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านกล่าวต่อไปว่า
พระธรรมเทศนา
การละกิเลสของพระองค์หลุดไปเป็นชั้น ๆ ตั้งแต่กิเลสในกายมนุษย์กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหมเป็นลำดับไป กิเลสในกายมนุษย์ คือ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ กิเลสในกายทิพย์ คือ โลภะ โทสะ โมหะ กิเลสในกายรูปพรหม คือ ราคะ โทสะ โมหะ กิเล ในกายอรูปพรหม คือ กามราคานุสัยปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย ต่อแต่นี้จึงชักเข้าถึงกายหนึ่ง คือ กายธรรม หรือเรียกว่า ธรรมกาย เข้าชั้นโคตรภูจิต เรียกว่า "โคตรภูบุคคล"
บทขยายความ
จะขอตัดตอนตรงนี้ก่อนการรู้จริง เห็นจริง ของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำนี้เอง ทำให้เราได้ความกระจ่างต่อไปอีกว่า คนเรามีกายซ้อนเป็นชั้น ๆ เข้าไป ตั้งแต่กายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหมตามลำดับ
กายภายในไม่ว่าจะเป็นกายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหมก็ตาม กิเลสยังแทรกซึมเข้าไปอยู่ในจิตใจได้ทุก ๆ กาย โดยไม่มีการละเว้น นอกจากแทรกซึมเข้าไปอยู่ในใจแล้วถ้ามีปริมาณมาก ยังหมัก ดอง บีบ คั้นใจ ครอบคลุมใจจนกระทั่งมืดมิด เช่นเดียวกับกายมนุษย์
อาศัยที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านรู้จริง เห็นจริง ท่านจึงได้ชี้ให้เราดูว่า ใจของกายต่าง ๆ มีกิเลสอะไรบ้าง เช่น ในใจของกายมนุษย์นั้นมีกิเลสอยู่สามตัวใหญ่ ๆ คือ อภิชฌาพยาบาท และมิจฉาทิฏฐิ
ในกายทิพย์หรือกายเทวดาก็มีกิเล เหมือนกัน คือ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นกิเลสในตระกูลเดียวกับกิเลสในกายมนุษย์นี่แหละ แต่มีความเข้มข้นหย่อนกว่า เป็นกิเลสที่หยาบน้อยกว่า
กิเลสละเอียดที่แทรกซึมอยู่ในใจของกายรูปพรหมมีอะไรบ้าง มี ราคะ โทสะ โมหะ เป็นกิเลสที่หยาบน้อยกว่ากิเลสในใจของกายทิพย์
กิเลสในใจของกายอรูปพรหม ได้แก่ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย เป็นกิเลสที่ละเอียด คือหยาบน้อยกว่ากิเลสที่อยู่ในใจของกายรูปพรหมยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าปฏิบัติธรรมยังไม่ถึงขั้นสูงจริง ๆ เราจะมองไม่เห็นกิเลสเหล่านี้
การที่จะเห็นกายต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ก็ยากอยู่แล้ว แต่การที่จะเห็นกิเลสซึ่งอยู่ในกายเหล่านั้นยิ่งยากขึ้นไปอีก ดังนั้นเรื่องการเห็นกิเลส ที่อยู่ในใจของกายเหล่านั้น จะยากเย็นแสนเข็ญอีกเพียงใด ขอให้ท่านลองนึกดูเองก็แล้วกัน
เมื่อทะลุผ่านในกายเหล่านี้เข้าไปแล้ว จึงไปถึงกายหนึ่ง ชื่อว่า "กายธรรม" หรือ "ธรรมกาย" ซึ่งซ้อนอยู่ข้างในกายอรูปพรหม มีลักษณะเป็นพระปฏิมากรใสเป็นแก้ว ที่มีชีวิตจริง ๆ ไม่ใช่เป็นพระพุทธรูปที่หล่อด้วยแก้ว
พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำได้ขยายความต่อไปอีกว่า "เข้าขั้นโคตรภูจิต"
คำนี้หมายความว่าอย่างไร
"โคตรภูจิต คือ ใจของธรรมกายที่บรรลุในขั้นต้น ธรรมกายที่บรรลุในขั้นต้นนี้มีชื่อว่า ธรรมกายโคตรภู" ซึ่งก็พอจะอธิบายได้ว่า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแบ่งมนุษย์ หรือสัตวโลกออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับต้น คือ พวกจิตใจหมักหมมด้วยกิเลส
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเรียกมนุษย์ เทวดา พรหม อรูปพรหมทั้ง สี่กลุ่มนี้ว่า "ปุถุโคตร"
ปุถุ แปลว่า หนา
หนาด้วยอะไร หนาด้วยกิเล หรือพวกกิเลสหนานั่นเอง
ระดับที่สอง คือ พวกอริยโคตร
คือพวกที่ปราบกิเลสได้แล้ว หรือเที่ยงแท้แน่นอนว่า ไม่ช้าก็เร็ว จะต้องบรรลุมรรคผลนิพพานสามารถกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นเชิงได้
ถ้าเปรียบเทียบอริยโคตรกับปุถุโคตรก็พอจะอธิบายได้ว่า ถ้าชาวโลกทั้งหลายมีกิเลสอยู่ในใจ 100 กิเลสในกายทิพย์ ในกายรูปพรหม ในกายอรูปพรหมก็จะลดลงไปตามลำดับพูดง่าย ๆ ก็คือ พวกปุถุชนมีกิเลสตั้งแต่ 50 ขึ้นไปจนกระทั่ง 100
ส่วนอริยโคตรหรือกลุ่มที่ปราบกิเลสได้เกิน 50 คือเกินครึ่งแล้ว สอบผ่านแล้วกิเลสเบาบางใกล้จะหมดแล้ว แน่นอนว่าอย่างช้าก็ไม่เกิน 7 ชาติ จะสามารถปราบกิเลสได้เตียนแน่ ๆ
แต่ยังมีประเภทที่อยู่กึ่งกลาง คือ 50-50 ยังไว้ใจไม่ได้ ท่านเรียกว่า "โคตรภูบุคคล" คือ บุคคลที่เข้าถึงธรรมกายเบื้องต้น แต่ยังไม่แน่ว่าจะบรรลุมรรคผลนิพพานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเพียรในลำดับต่อไป เป็นบุคคลที่ยังก้ำกึ่ง ระหว่างปุถุโคตรกับอริยโคตร ยังไม่สามารถบรรลุอริยโคตร
ดังนั้น กล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า โคตรภูบุคคล คือ บุคคลที่กำลังจะเปลี่ยนโคตรจากปุถุชนไปเป็นอริยบุคคล อุปมาได้กับเท้าขวาเหยียบนิพพาน ก้าวขึ้นถึงนิพพาน แต่ว่าเท้าซ้ายยังเหยียบโลกอยู่ ถ้าขยันมีความเพียรก็จะก้าวขึ้นไปสู่พระนิพพานได้ แต่ถ้าท้อถอย อ่อนด้อยความเพียร ก็หงายหลังตกลงมาอยู่ในโลกอีกตามเดิม
พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านได้ขยายความต่อไปว่า
พระธรรมเทศนา
โคตรภูบุคคลนี้เดินสมาบัติ เพ่งอริยสัจสี่เป็นอนุโลม ปฏิโลม จนหลุดพ้นจากกิเลสพวกสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉาสีลัพพตปรามา แล้ว ตกศูนย์วับกลับเป็นพระโสดาบัน เป็นอันว่าพระโสดาบันละกิเลสได้ 3 คือสักกายทิฏฐิวิจิกิจฉาสีลัพพตปรามา
แล้วกายโสดาบันนี้เดินสมาบัติ เพ่งอริยสัจสี่เป็นอนุโลม ปฏิโลมต่อไปถึงขีดสุด ละกิเลสได้อีก 2 คือ กามราคะ พยาบาทขั้นหยาบ จึงเลื่อนชั้นขึ้นเป็นสกทาคามี กายพระสกทาคามีเดินสมาบัติ เพ่งอริยสัจสี่ ทำนองเดียวกันนั้นต่อไป ถึงขีดสุด ละกิเลสได้อีกสอง คือ กามราคะ พยาบาทขั้นละเอียดจึงเลื่อนชั้นเป็น พระอนาคามี แล้วกายพระอนาคามีเดินสมาบัติ เพ่งอริยสัจสี่ทำนองเดียวกันนั้นต่อไปถึงขีดสุด ละกิเลสได้อีกห้า คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะอุทธัจจะ อวิชชา จึงเลื่อนขึ้นจากพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ จิตของพระองค์บริสุทธิ์ผุดผ่อง ปราศจากกิเลสทั้งมวล จึงได้พระเนมิตกนามว่า "อรหํ"
บทขยายความ
เรื่องกิเลสในใจของกายต่าง ๆ อาจจะเข้าใจยากสักนิด แต่หากแสดงด้วยตารางต่อไปนี้ก็จะช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
กายมนุษย์มีกิเลสห่อหุ้มใจอยู่ 3 ชนิด คือ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิส่วนกายทิพย์และกายอื่น ๆ ก็มีกิเลสในตระกูลเดียวกันกับกายมนุษย์ แต่เป็นกิเลสที่ละเอียดกว่า
เมื่อทำภาวนาจนกระทั่งใจหยุด ใจนิ่ง ผ่านกายในกายมาเป็นชั้น ๆ ตามลำดับ กระทั่งเข้าถึงธรรมกายโคตรภูแล้ว ก็อาศัยธรรมกายโคตรภูนี้เดินสมาบัติ คือ ทำใจให้หยุดให้นิ่งยิ่ง ๆขึ้นไป จนกระทั่งใจกับฌาน (ความสงบใจที่ทำได้) เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กระทั่งเห็นเป็นแผ่นฌานมารองรับกายโคตรภู แล้วจึงอาศัยตาของธรรมกายโคตรภู ซึ่งกิเลสห่อหุ้มไม่ได้มาพิจารณาอริยสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค โดยเดินสมาบัติทั้งอนุโลมและปฏิโลมซ้ำแล้วซ้ำอีก ตั้งแต่ฌานที่ 1ไปฌานที่ 2, ฌานที่ 2 ไปฌานที่ 3, ฌานที่ 3 ไปฌานที่ 4, ฌานที่ 4 ไปอรูปฌานที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไปตามลำดับอย่างนี้ เรียกว่า อนุโลมส่วน ปฏิโลม ก็คือย้อนกลับ จากอรูปฌานที่ 4 มาอรูปฌานที่ 3 ที่ 2 ที่ 1 แล้วก้าวเข้าสู่รูปฌานที่ 4 ที่ 3 ที่ 2 และที่ 1 ไปตามลำดับ กระทั่งถูกส่วน ใจนิ่งสนิทสว่างไสวดีแล้ว ก็จะทำให้เห็นอริยสัจสี่ เห็นกิเลสที่มาห่อหุ้ม แทรกซึม ชำแรกอยู่ในเนื้อใจของกายมนุษย์ได้อย่างชัดเจน อาศัยความ ว่างที่ทับทวีมากขึ้นจากการเดินฌานสมาบัตินั้น ฆ่าหรือกำจัดกิเลส ทั้ง 3 อย่าง ได้แก่
อภิชฌา คือ ความเพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่น
พยาบาท คือ ความคิดจองล้างจองผลาญ
และมิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดเป็นชอบที่มีอยู่ในกายมนุษย์ให้หมดไป
อุปมาเหมือนกับดวงอาทิตย์ที่โผล่ขึ้นมาจากท้องฟ้า ย่อมฆ่าความมืดให้หมดไปได้ฉะนั้น
จากตรงนี้เอง เป็นผลสืบเนื่องให้สามารถละ
1.สักกายทิฏฐิ คือความถือตัวถือตนว่าขันธ์ 5 คือ รูป เวทนาสัญญาสังขาร วิญญาณนั้นเป็นตัวเป็นตนที่แท้จริงของตนเองให้หมดไป เพราะรู้แล้วว่าทั้งส่วนกายที่ประกอบด้วยเลือดเนื้อและใจนั้น ไม่เที่ยง ไม่แท้ ต้องแตกดับตายไป
2. วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัยในเรื่องกรรม, เรื่องการเวียนว่ายตายเกิดก็หมดไป
3. สีลัพพตปรามา คือการถือศีลพรตนอกพระพุทธศาสนา หรือความเชื่อที่งมงายอื่น ๆ ก็หมดไปเช่นกัน เพราะเห็นดวงศีลที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า กลมใสสว่าง ด้วยตาธรรมกายอย่างชัดเจน
เมื่อเห็นอย่างนั้นแล้ว ธรรมกายก็ตกศูนย์วับเข้าไปในศูนย์กลางกายฐานที่ 7 กลายเป็นพระโสดาบันทีเดียว
ดังนั้น พระโสดาบันจึงสามารถละกิเลสได้ 3 อย่าง คือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉาสีลัพพตปรามา
กายพระโสดาบันก็เดินสมาบัติ เข้าฌานจนกระทั่งตาของธรรมกายพระโสดาบันเห็นอริยสัจสี่ในกายทิพย์ ในทำนองเดียวกับข้างต้น จนละกิเลสที่ห่อหุ้มอยู่ในใจของกายทิพย์ คือ โลภะ โทสะ โมหะ ได้ เป็นผลสืบเนื่องให้กำจัดกามราคะ คือ ความพอใจติดใจในกามคุณและพยาบาทชั้นหยาบได้ แล้วธรรมกายพระโสดาบันก็ตกศูนย์วับเข้าไปข้างในศูนย์กลางกายฐานที่ 7 เข้าถึงธรรมกายพระสกทาคามี
ธรรมกายพระสกทาคามีเดินฌานสมาบัติเช่นเดียวกัน จนเห็นอริยสัจสี่ในกายรูปพรหมได้ชัดเจน ในที่สุดสามารถละกามราคะและพยาบาทขั้นละเอียดได้ แล้วตกศูนย์วับเข้าศูนย์กลางกาย เข้าถึงธรรมกายพระอนาคามีที่ซ้อนอยู่ข้างใน
ธรรมกายพระอนาคามีเดินฌานสมาบัติ ก็เห็นอริยสัจสี่ในกายอรูปพรหมได้ชัดเจนจนสามารถละ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ได้อย่างสิ้นเชิง แล้วตกศูนย์วับ เข้าถึงธรรมกายพระอรหัต เป็นพระอรหันต์ จิตบริสุทธิ์ ผุดผ่อง ปราศจากกิเลสทั้งมวล จึงได้ชื่อมาโดยอัตโนมัติตามคุณสมบัติว่า "อรหัง"
พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำกล่าวต่อไปว่า
พระธรรมเทศนา
เหตุที่ทำให้พระองค์เป็น อรหํ นั้นสรุปโดยย่อ ก็ได้แก่การที่พระองค์บำเพ็ญสมาธิเจริญวิปัสสนาด้วยพระมหาปธานวิริยะอันแรงกล้า ณ โคนไม้พระศรีมหาโพธิ์ในวันวิสาขปุรณมีนั้นโดยความเด็ดเดี่ยว ตั้งพระหฤทัยอธิษฐานว่า แม้เนื้อและเลือดในพระสรีระของพระองค์จะเหือดแห้ง เหลือแต่เส้นเอ็น หนัง และกระดูกก็ตามทีเถิด หากไม่ได้บรรลุพระสัมโพธิญาณตราบใดพระองค์จะไม่ยอมลุกจากที่นั้นเป็นอันขาด แล้วพระองค์ก็ทรงนั่งสมาธิรุดไปด้วยน้ำพระทัยอันเด็ดเดี่ยว ในที่สุดก็ได้บรรลุพระสัมโพธิญาณสมดังพระประสงค์ในราตรีกาลแห่งวันวิสาขปุรณมีนั่นเอง ยามต้นทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสติญาณ ความหยั่งรู้ระลึกชาติหนหลังได้ ยามที่ 2 ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ ความหยั่งรู้ถึงความจุติและความเกิด ยามที่ 3 ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ ความหยั่งรู้ที่กำจัดอาสวกิเลสที่หมักหมมอยู่ในจิตให้หมดสิ้นไปทรงรู้เห็นแจ่มแจ้งหมด เห็นจริง ๆ เห็นด้วยตาของธรรมกาย ไม่ใช่เห็นด้วยตามนุษย์ หรือคิดคาดคะเนเอา เห็นตลอดทั่วโลกมนุษย์ โลก สวรรค์ โลกนรก เพราะพระองค์ได้ผ่านพ้นโลก เสด็จออกสู่แดนพระนิพพานแล้ว จึงเห็นได้ทั่วถ้วนโดยมิสงสัย
บทขยายความ
โดยสรุป การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถกำจัดกิเลสให้หมดไปได้นั้น ท่านอาศัยการบำเพ็ญสมาธิแท้ ๆ ทีเดียว ดังนั้น แม้จะอ่านพระไตรปิฎกมามาก จนสามารถท่องหรือทำความเข้าใจได้ทะลุปรุโปร่ง ก็ยังไม่สามารถจะปราบกิเลสให้หมดไปได้ เว้นแต่ต้องทำสมาธิภาวนาจนกระทั่งใจหยุด ใจนิ่ง เห็นกายในกายไปตามลำดับจนถึงธรรมกาย อย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นนั้น แล้วอาศัยธรรมกายพิจารณาอริยสัจสี่ ในแต่ละกายที่เห็นก็จะปราบกิเลสที่มีอยู่ในจิตใจของแต่ละกายนั้นได้ บรรลุความบริสุทธิ์เป็นพระอรหันต์
ดังนั้นการเป็นพระอรหันต์ การหมดกิเลสจึงสำเร็จได้ด้วยการทุ่มเทความเพียรทำสมาธิด้วยประการฉะนี้เท่านั้น ผิดจากนี้ไปไม่ได้
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 003 พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree