สัมมาสัมพุทโธ
พระธรรมเทศนา
สัมมาสัมพุทโธ แปลตามศัพท์ว่า ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ หรือนัยหนึ่งว่า ตรัสรู้เองโดยถูกต้อง หรือพูดให้สั้นก็ว่า รู้ถูกเอง เพื่อให้ใกล้กับภาษาสามัญที่ใช้กันว่า รู้ผิด รู้ถูก ได้แก่ คำที่พูดติเตียนคนที่ทำอะไรผิดพลาดไปว่าเป็นคนไม่รู้ถูกรู้ผิด ทำไปอย่างโง่ ๆ ดังนี้ เป็นต้น
แต่แท้จริง "พุทโธ" คำนี้เมื่อพิเคราะห์ให้ลึกซึ้งลงไปตามรูปศัพท์แล้วมีความหมายลึกซึ้งมาก ต่างกันไกลกับคำว่า ชานะ หรือวิชานะ ซึ่งแปลว่ารู้แจ้งนั้น ดังนั้น พุทโธ จึงได้แปลกันว่า "ตรัสรู้" ไม่ใช่รู้เฉย ๆ เติมคำว่า "ตรัส" นำหน้า "รู้" ซึ่งสะกิดให้สนใจว่า "รู้" กับ "ตรัสรู้" 2 คำนี้ มีความหมายลึกตื้นกว่ากันแน่ โดยมิสงสัย
เมื่อระลึกถึงพระบาลีในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรที่ว่า "จกฺขุ อุทปาทิ ญาณํ อุทปาทิ ปฺญา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิฯ" จึงทำให้แลเห็นความว่า คุณวิเศษทั้ง 5 อย่างดังบาลีขึ้นกล่าวนี้ จะเป็นความหมายแห่งคำว่า "พุทโธ"
กล่าวคือ จกฺขุ ญาณํ ปฺญา วิชฺชา อาโลโก ทั้ง 5 อย่างนี้ ประมวลเข้าด้วยกัน รวมเป็นคำแปลของคำว่า "พุทโธ"
หรือจะแปลให้สั้นเข้าอีก คำว่า "พุทโธ" ก็ยังต้องแปลว่า ทั้งรู้ ทั้งเห็นไม่ใช่รู้เฉย ๆ อาศัยคำว่า จกฺขุ ญาณํ ในบาลีที่ยกขึ้นมากล่าว นั้นเป็นเครื่องประกอบ
ยิ่งกว่านั้นยังมีคำว่า ชานตา ปสฺสตาฯ ในมหาสติปัฏฐานสูตรอยู่อีกซึ่งเป็นเหตุสนับสนุนว่า ที่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้นไม่ใช่รู้เฉย ๆ เป็นทั้งรู้ ทั้งเห็น
บทขยายความ
พระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประการที่ 2 คือสัมมาสัมพุทโธ ซึ่งพระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านได้แปลคำว่า "สัมมาสัมพุทโธ" ไว้ชัดเจนมาก ทั้งในแง่ของภาคปริยัติและภาคปฏิบัติ
ในท่อนนี้เป็นการแปลคำศัพท์ของคำว่า "พุทโธ" โดยในขั้นต้น ท่านแปลให้เราหายข้องใจไว้ก่อนว่าสัมมาสัมพุทโธ แปลว่า ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ หรือว่าตรัสรู้เองโดยถูกต้อง นี่เป็นชั้นเชิงในการเทศน์การสอนของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำคืออย่างน้อยไขข้อข้องใจไว้ในระดับหนึ่งก่อนส่วนจะมีความลึกซึ้งอย่างไรก็แล้วแต่ ค่อยขยายความกันต่อไป
ต่อจากนั้นพระเดชพระคุณหลวงปู่ก็เจาะลึกลงไปว่า คำว่า "พุทโธ" ไม่ได้มีความหมายตื้น ๆ อย่างที่ผู้ที่เรียนภาคปริยัติ หรือภาคทฤษฎีเข้าใจกัน ท่านแปลชัดเจนลงไปเลยว่า พุทโธ แปลว่า ทั้งรู้ ทั้งเห็น เพราะได้รวมความหมายของคำไว้ถึง 5 คำ คือคำว่า จักขุง ญาณัง ปัญญา วิชชา และอาโลโก
คำ 5 คำนี้ปรากฏอยู่ที่ใด ปรากฏอยู่ใน ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งเป็นพระธรรมเทศนาครั้งแรกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ตรัสเทศน์กับปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรตอนที่กล่าวถึงคำ 5 คำ มีว่าอย่างนี้
"ภิกษุทั้งหลาย จากการปฏิบัติมรรคมีองค์แปดอย่างดีแล้วนี้ เป็นผลให้ธรรมะเหล่านี้เกิดขึ้นแก่เรา คือ 1. จักขุง 2. ญาณัง 3. ปัญญา 4. วิชชา 5. อาโลโก"
คุณวิเศษ 5 ประการนี้ ไม่ใช่อยู่เฉย ๆ แล้วเกิดขึ้นได้เอง แต่เกิดจากการที่ผู้หนึ่งผู้ใดก็ตามปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 ประการได้บริบูรณ์ดีแล้ว จึงเป็นผลให้คุณวิเศษเหล่านั้นเกิดขึ้น ได้แก่ คุณวิเศษประการที่ 1 จักขุง คือ ดวงตาเครื่องเห็นความจริงเป็นปกติและเพราะเหตุที่ได้เห็นความจริงเป็นปกติจึงทำให้เกิด คุณวิเศษประการที่ 2 ญาณัง คือ ญาณเครื่องรู้ความจริงเป็นปกติ
ทั้งนี้เท่ากับบอกว่าการที่คนจะรู้อะไรได้ตามความเป็นจริงนั้นจะต้อง เห็นจริง มาก่อนและการที่เราเรียนอะไรแม้ในทางโลกก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดาวพระศุกร์ ดาวพระเสาร์ เคมี ชีวะหรือศาสตร์สาขาใดก็ตาม ถ้าเราไม่เคยเห็นสิ่งนั้นมาก่อนก็ยากที่จะเข้าใจ เราจะเข้าใจดีก็ต่อเมื่อเราได้ไปเห็นสิ่งเหล่านั้นมาจริงๆ
มีนิทานโบราณเล่าขานกันว่า เต่าซึ่งลงน้ำก็ได้ขึ้นบกก็ได้ มันไปเห็นสิ่งต่างๆ บนบกมา แล้วก็มาเล่าให้ปลาที่อยู่ในน้ำฟังว่า ต้นไม้มีรูปร่างอย่างไร เต่าพยายามอธิบายพรรณนาป่าไม้ทั้งป่า ต้นไม้ทั้งต้นให้ปลาฟัง พอปลาฟังเสร็จก็ถามว่า "ต้นไม้ที่ว่านั้นเหมือนสาหร่ายมั้ย" เต่าก็ร้อง "ฮึ! ไม่เหมือน" ทำไมปลาจึงคิดว่า ต้นไม้เหมือนสาหร่ายเล่า ก็เพราะปลาไม่เคยเห็นต้นไม้มาก่อน จะไปรู้ ไปเข้าใจอย่างเต่าได้อย่างไร ก็ได้แต่เดาเท่านั้นเอง
เต่าพูดต่อไปอีก "บนบกน่ะ มีนก บินได้ พั่บ ๆ ๆ ไปได้ไกล" ปลาก็ถามว่า "นกที่ว่าบินได้น่ะ เหมือนกบโดดพุ่งหลาวมั้ย" เต่าก็ร้อง "ฮึ! ไม่เหมือน"
แต่เต่าก็ไม่ละความพยายาม พูดต่อไปอีกว่า "บนบกน่ะ มีช้างตัวเบ้อเริ่มทีเดียว มีทั้งงวง มีทั้งงา เดินไปไหนดัง ซวบ ๆ ๆ" ปลาก็ถามอีก "งวงช้าง งาช้างเหมือนหนวดกุ้ง เหมือนกรีกุ้งมั้ย" เต่าก็ได้แต่ร้อง "ฮึ!" นึกในใจว่า เลิกพูดดีกว่า พูดเท่าไรปลาก็ไม่รู้เรื่อง
ทำไมปลาจึงไม่รู้เรื่อง เพราะปลาไม่เคยเห็นของบนบก เคยเห็นแต่ของในน้ำ จึงได้แต่คิดเทียบกับของในน้ำ ถึงเต่าพูดอธิบายอย่างไร ก็ไม่รู้เรื่องหรอก
เพราะฉะนั้น การที่คนเราจะรู้ จะเข้าใจอะไรได้ ต้องได้เห็นมาก่อนแล้ว
เพราะได้เห็น เพราะได้รู้จึงเกิดคุณวิเศษประการที่ 3 คือ ปัญญา แปลว่า ความหยั่งรู้เหตุ รู้ผลได้ถูกต้องตามความเป็นจริง
ฤทธิ์ของสมาธิที่เกิดจากการปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 ก็คือทำให้เกิดการเห็นอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่ใช่เห็นอย่างผิด ๆ เพราะการเห็นถูกตามความเป็นจริง คือ จักขุง จึงเป็นผลให้รู้ถูกตามความเป็นจริง คือ ญาณัง เพราะรู้ถูกตามความเป็นจริงจึงเป็นผลให้เกิด ปัญญา คือ ความหยั่งรู้เหตุรู้ผล อย่างถูกต้องตามความเป็นจริงขึ้นมาได้ จึงทำให้อวิชชา คือ ความไม่รู้ถูกกำจัดออกไป
เมื่อปัญญาเกิดขึ้น ทำให้อวิชชาถูกกำจัดไปแล้ว คุณวิเศษประการที่ 4 วิชชา คือความรู้ที่เป็นเหตุให้กำจัดกิเลสได้เด็ดขาดจึงเกิดขึ้นมาอีก
ทำไมวิชชาจึงเกิดตามปัญญาขึ้นมาได้ นั่นก็เพราะว่าได้อาศัยอำนาจของปัญญาที่เกิดจากการเห็นและการรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 ไปหยั่งรู้เหตุผลแห่งการเกิดทุกข์ และการดับทุกข์ได้ถูกต้อง ตามความเป็นจริงว่า
1. เห็นและรู้ชัดตามความเป็นจริงว่ากิเลสทั้ง 3 ตระกูล ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะที่หลบซ่อนอยู่ในใจ มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร
2. เห็นและรู้ชัดตามความเป็นจริงว่ากิเลสทั้ง 3 ตระกูล คอยออกฤทธิ์ บีบคั้น บังคับกดดัน ครอบงำใจอย่างไร จึงทำให้ใจกระสับกระส่าย ทุรนทุรายจนย่ำแย่
ถ้ากิเลสชนิดที่พระองค์เรียกว่า โลภะ ออกฤทธิ์ ก็เห็นและรู้ชัดว่า โลภะบีบคั้น บังคับกัดกร่อน ครอบงำใจให้ตะเกียกตะกาย จะเอาของของคนอื่นได้อย่างไร
ถ้ากิเลสชนิดที่เรียกว่า โทสะ ออกฤทธิ์ ก็เห็นและรู้ชัดว่า โทสะบีบคั้น บังคับ กัดกร่อนครอบงำใจ ให้โกรธเคือง คิดจะทำลายทุกสิ่งทุกอย่างให้พินาศไปได้อย่างไร
ถ้ากิเลสชนิดที่เรียกว่า โมหะ ออกฤทธิ์ ก็เห็นและรู้ชัดว่า โมหะบีบคั้น บังคับ กัดกร่อนครอบงำใจ ให้เรามีอาการงง ๆ เซ่อ ๆ ทำอะไรไม่ถูกเลยได้อย่างไร
3. เห็นและรู้ชัดตามความเป็นจริงว่าเวลากิเลสทั้ง 3 ตระกูลทำงาน มีผลต่อความรู้สึกนึกคิด และประสาทสัมผัสทั้ง 5 อย่างไร
4. เห็นและรู้ชัดว่า เวลากิเลสทั้ง 3 ตระกูลทำงาน มีผลต่อขั้นตอนการทำงานของใจ คือ เห็น จำ คิด รู้ ได้อย่างไร
ถ้าเห็นผิด ๆ ก็จะจำผิด ๆ เมื่อจำผิด ๆ ก็จะคิดผิด ๆ เมื่อคิดผิด ๆ ก็จะรู้ผิด ๆ พอรู้ผิด ๆ ก็โง่กันยกใหญ่ แต่ว่า เมื่อเห็นถูก ก็จะจำถูก เมื่อจำถูก ก็จะคิดถูก เมื่อคิดถูกก็จะรู้ถูก
พอรู้เหตุรู้ผลได้ชัดเจนแล้ว วิชชาก็เกิดขึ้นมาตามอำนาจของปัญญา จึงสามารถนำวิชชาไปกำจัดกิเลสได้ ซุกซ่อนอยู่ในใจต่อไปไม่ได้อีกแล้ว
เพราะฉะนั้นคำว่า "วิชา" ที่เราเอามาใช้ทุกวันนี้ อย่าเอาไปปนกับคำว่า "วิชชา" ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึง เพราะความหมายเดิมนั้นสูงมาก คือ เป็นความรู้ที่เป็นเหตุให้กำจัดกิเลสได้เด็ดขาด แต่เดี๋ยวนี้ความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งแค่หางอึ่ง ก็ใช้คำว่า วิชา เป็นการดึงเอาของสูงลงมาต่ำ
วิชาฟิสิกส์ วิชาไฟฟ้า วิชาเคมี ถามว่า "กำจัดกิเลสได้ไหม" "ไม่ได้" แต่เอาคำว่า "วิชชา" มาใช้ นี่เป็นความเสื่อมอย่างหนึ่งของคนที่ไม่รู้จริง แล้วไปดึงของสูงลงมาต่ำ
เพราะฉะนั้น ตรงนี้คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องมาเรียนภาษาบาลีกัน
พระภิกษุสามเณร ถ้ามีโอกาสก็ต้องไปเรียน ชาวพุทธทั้งหลายถ้ามีโอกาสก็ต้องไปเรียนเรียนภาษาบาลีและค้นคว้าพระไตรปิฎกจึงจะพบความจริงที่แฝงอยู่อย่างลึกซึ้งนี้ว่าความหมายของแต่ละคำนั้นลึกซึ้งขนาดไหน
เมื่อวิชชาเกิดขึ้นแล้ว คุณวิเศษประการที่ 5 อาโลโก คือความ ว่างอย่างยิ่งยวดยิ่งกว่ารัศมีของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ตลอดแสนโกฏิจักรวาลมารวมกันจึงเกิดขึ้นมา
อาโลโก เกิดขึ้นด้วยอะไร ?
อาโลโก เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของฌานสมาบัติที่เกิดจากการปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 มาตามลำดับ ๆ จนกระทั่งเกิดวิชชาที่ใช้กำจัดกิเลสได้เด็ดขาด
เพราะฉะนั้นพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านจึงบอกว่า พุทโธ นี้มีความหมายลึกซึ้ง เพราะว่าเป็นการรวมเอาคุณวิเศษถึง 5 ประการมาไว้ด้วยกัน นั่นคือ
1) จักขุง คือ เห็นความจริงเป็นปกติ ตั้งแต่เห็นทุกข์ เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ เห็นการดับทุกข์ และเพราะเห็นวิธีที่จะดับทุกข์ได้
2) ญาณัง ทำให้รู้ความจริงเป็นปกติ
3) ปัญญา ทำให้หยั่งรู้เหตุ รู้ผลได้ถูกต้องเป็นปกติ
4) วิชชา ทำให้กำจัดกิเลสได้เด็ดขาด
5) อาโลโก คือ เกิดความสว่างขึ้นในใจ ที่มีความสว่างยิ่งกว่านำดวงอาทิตย์ ดวงตะวันมาเรียงกันจนเต็มท้องฟ้า
พระธรรมเทศนา
ที่ว่า "เห็น" นั้นมิใช่หมายความว่า เห็นอย่างตาเราเห็นอะไรจริง ๆแต่พระองค์เห็นด้วยตาธรรมกาย และการที่พระองค์เห็นนี้ โดยมิได้มีผู้ใดสอนให้รู้สอนให้เห็น รู้เห็นโดยลำพังพระองค์เอง และสิ่งทั้งหลายที่พระองค์รู้เห็นนั้น ตรงตามความเป็นจริงทั้งนั้น มิใช่คาดคะเนหรืออนุมานเอา จึงเป็นองค์สัมมาสัมพุทโธ พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ หรือนัยหนึ่งว่า โดยถูกต้องตามความจริงทุกประการ จึงได้ชื่อว่า "ตรัสรู้"
ยังมีคำว่า "สัม" นำหน้า "พุทธะ" เติมเข้ามาอีกคำหนึ่ง ซึ่งแปลว่าด้วยพระองค์เองคือไม่ต้องมีผู้สั่งสอน
พระองค์ทำอย่างไร จึงตรัสรู้ด้วยพระองค์เองเช่นนั้น ข้อนี้ตอบไม่ยากพระองค์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองได้ ก็เพราะความเป็น อรหํ ของพระองค์ดังกล่าวข้างต้นแล้วนั่นเอง
คือเมื่ออำนาจสมาธิทำให้จิตของพระองค์หลุดพ้นจากอาสวะแล้วจิตของพระองค์ก็ใสยิ่ง หยุด และบริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะหยุดนิ่งนั่นเองจึงมีสิ่งหนึ่งผุดขึ้นในนิ่ง ทำให้รู้ พระองค์ก็รู้ตามนั้นไป
น้ำขุ่นแม้อิฐสักก้อนหนึ่งอยู่ก้นโอ่งเราก็มองไม่เห็น แต่ถ้าน้ำนั้นนอนนิ่งใสบริสุทธิ์แล้ว แม้แต่เข็มอยู่ก้นโอ่งเราก็เห็น ฉันใดก็ฉันนั้น
บทขยายความ
พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านก็ขยายความคำว่า "เห็น" ต่อไปอีก ท่านพูดไว้ชัดเจนว่าเห็นในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า เห็นอย่างตาของเราเห็น แต่พระองค์เห็นด้วยตาธรรมกาย ประเด็นอยู่ตรงนี้ ตาของพวกเราเห็นอะไรไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง มันเห็นคลุม ๆ เครือ ๆ ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ เพราะการที่เราพูดกันว่า "ตาเห็น" แต่ว่าจริง ๆ แล้วการเห็นนั้นเป็นตาเห็นหรือว่าใจเห็น
อันที่จริงคือ ใจเห็นส่วนตาเป็นเพียงอุปกรณ์ในการช่วยให้ใจเห็นเท่านั้น
เวลามีภาพหรือรูปอะไรมากระทบตา ไม่ว่าจะเป็นรูปภูเขา รูปคนสัตว์สิ่งของ ตาของเราก็รับภาพไว้ เมื่อรับภาพแล้วตาเห็นหรือยัง ยังไม่เห็น ต้องเอาภาพที่รับมานั้นส่งไปที่ใจเวลาส่งก็ผ่านประสาทสัมผัสก่อนใจจึงจะเห็น
เพราะฉะนั้น การที่ใจจะเห็นอะไรได้ชัดเจน จึงต้องใช้ตาเป็นอุปกรณ์หรือเครื่องมือช่วยเก็บภาพส่งไปที่ใจ
แต่ว่าใจของมนุษย์นั้นมีกิเลสหุ้มอยู่ หากเปรียบกับกล้องถ่ายรูป ใจของมนุษย์ก็เหมือนกับเลนส์ของกล้องที่มีฝุ่นจับหนาเตอะเลย เพราะฉะนั้น เวลาภาพจากลูกนัยน์ตา ถูกส่งไปให้ใจ ใจก็เห็นไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะว่ากิเล มันอยู่ในใจ ทั้งห่อหุ้มใจ บีบคั้นใจ บังคับใจ กัดกร่อนใจ ทำให้ใจมืด ใจมัว ตามนุษย์ปกติจึงไม่เห็นตามความเป็นจริง
ยกตัวอย่างเช่น เรามองดูว่าคนใดคนหนึ่งผิวสวย แต่ว่าสวยไม่จริง ถ้าลองเอากล้องจุลทรรศน์ไปส่องดูจะพบว่า ผิวหนังมนุษย์ที่ว่าสวยนั้น เป็นรูพรุน ๆ อยู่ข้างใน เป็นตารางเล็ก ๆ เรียกว่า "เซลล์" แล้วในเซลล์ก็มีเลือดมีเนื้ออยู่ในนั้น ไม่ได้สวยสักนิดเลย นี่ตาของเรามันหลอกเราอย่างนี้
ต่อเมื่อเราตั้งใจทำสมาธิ ตามหลักมรรคมีองค์ 8 ให้ใจหยุด ใจนิ่งรวมกันได้เป็นหนึ่งเดียวในที่สุดก็เข้าถึงธรรมกาย ธรรมกายนั้นกิเลสหุ้มไม่ได้ เวลาตาธรรมกายเห็น จึงเห็นตรงตามความเป็นจริง ดังนั้นการที่พระองค์ทรงเห็นตามความเป็นจริง ก็เพราะเห็นด้วยตาของธรรมกายนั่นเอง
ส่วนที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านพูดว่า "อำนาจสมาธิทำให้จิตของพระองค์หลุดพ้นจากอาสวะ" ถ้าพูดให้เต็มความก็ต้องพูดว่า "เมื่อฝึกสมาธิต่อเนื่องดีแล้วก็ทำให้มรรคมีองค์ 8 สมบูรณ์ เลยทำจิตให้หลุดพ้นจากอาสวกิเลสพ้นทุกข์ไปได้" แต่ถ้าพูดอย่างพระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านพูด ก็ละไว้ในฐานที่เข้าใจว่ามรรคเจ็ดองค์แรกนั้นได้ทำกันอยู่บ้างแล้วในชีวิตประจำวัน แต่ที่จะขาดกันก็คือสัมมาสติสัมมาสมาธิ นั่นเอง
อันที่จริงแล้ว คนดี ๆ ทั่ว ๆ ไปก็มีมรรคมีองค์ 8 บ้างแล้ว แต่ไม่ครบ กล่าวคือ
มีสัมมาทิฏฐิ คือ ความเข้าใจถูก เชื่อบุญเชื่อบาปกันอยู่บ้างแล้ว
มีสัมมาสังกัปปะ คือ มีความคิดถูก มีความคิดดี ๆ อยู่บ้างแล้ว
มีสัมมาวาจา คือ พูดถูก พูดดี ก็มีอยู่บ้างแล้ว
มีสัมมากัมมันตา คือ การกระทำถูก ไม่เกะกะเกเร ก็มีอยู่บ้างแล้ว
มีสัมมาอาชีวะ คือ การประกอบอาชีพที่ถูกต้องก็มีอยู่บ้างแล้ว
มีสัมมาวายามะ คือ ความเพียรที่จะกำจัดกิเลสอยู่บ้างแล้ว
แต่การฝึกที่ค่อนข้างจะขาดกันเป็นปกติคือ การฝึกสติ (สัมมาสติ) และการฝึกสมาธิ (สัมมาสมาธิ) ครั้นพอลงมือฝึกสมาธิเมื่อไร เนื่องจากสมาธิกับสติเป็นองค์คุณคู่แฝดเกิดร่วมกันไปอยู่แล้ว ใครฝึกสมาธิก็ได้ชื่อว่าฝึกสติ ใครฝึก ติก็ได้ชื่อว่าฝึกสมาธิ
เพราะฉะนั้น เมื่อตั้งใจทำสมาธิให้ต่อเนื่องกันไป มรรคมีองค์ 8 ก็เกิดได้ครบ มบูรณ์
พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านเลยพูดรวบยอดให้เข้าใจง่ายว่า "เมื่อสมาธิจิตดีแล้วก็จะหลุดพ้นจากอาสวะ จิตของพระองค์ก็จะนิ่ง หยุด และบริสุทธิ์ผุดผ่อง"
ตรงนี้เท่ากับบอกว่า การที่จะวัดว่าการปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 ของเราดีแล้วหรือยัง ก็วัดตรงใจใสนี่เอง ถ้าใจหยุดเมื่อไร ใจก็จะใสบริสุทธิ์ผุดผ่อง
เพราะฉะนั้นขณะนั่งสมาธิ ถ้าไม่เห็นองค์พระ ไม่เห็นดวงแก้ว ไม่มีความ ว่างผุดขึ้นสักทีแสดงว่ามรรคมีองค์ 8 ยังไม่สมบูรณ์ ยังกระท่อนกระแท่นเต็มที
สำหรับพระพุทธองค์ เมื่อพระทัยหยุดนิ่งเป็นสมาธิแน่วแน่ พระทัยของพระองค์ย่อมใสบริสุทธิ์ผุดผ่อง จึงมีสิ่งหนึ่งผุดขึ้นเอง ในความสงบนิ่งนั้นสิ่งนี้จะเรียกว่า "ธรรมะ" ก็ได้ทำให้พระองค์ทรงเห็นและรู้ตามความเป็นจริงนั้น
พระเดชพระคุณหลวงปู่ได้อุปมาเรื่องนี้ให้เห็นภาพชัดเจนว่า ก้อนอิฐที่อยู่ก้นโอ่งน้ำขุ่นถึงจะมีขนาดใหญ่ เราก็จะมองไม่เห็น แต่ถ้าน้ำในโอ่งนั้นนอนนิ่งใสบริสุทธิ์ แม้แต่เข็มเล่มเล็กๆ ที่อยู่ก้นโอ่ง เราก็มองเห็น ท่านอุปมาได้ชัดเจนมาก
ตามธรรมดาใจมนุษย์โลกโดยทั่วไป แม้มีธรรมกายอยู่ในตัวก็ไม่เห็น เพราะใจไม่ใสใจไม่หยุด ใจไม่นิ่ง แต่เมื่อใดปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 ได้ถูกส่วน ใจก็จะหยุด จะนิ่ง จะใสแล้วก็จะเห็นธรรมกาย ครั้นแล้วก็สามารถอาศัยธรรมกายไปรู้ไปเห็นสิ่งที่ละเอียดยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก นี่คือชั้นเชิงการอธิบายเรื่องยากให้เข้าใจง่ายของพระเดชพระคุณหลวงปู่
ในย่อหน้าต่อมา พระเดชพระคุณหลวงปู่ก็ได้ขยายความต่อว่า
พระธรรมเทศนา
ยังมีคำว่า "สัมมา" นำหน้า "สัมพุทโธ" อีกคำหนึ่ง คำว่า "สัมมา" แปลว่า โดยชอบหรือถูกต้อง พระองค์ตรัสรู้อะไร มีเหตุผลยันกันได้เสมอ จึงได้ชื่อว่า ถูกต้อง เพราะการพูดอะไรไม่มีเหตุผลรับสมหรือยันกันได้แล้ว ตามหลัก
ธรรมดาเรียกว่า "ไม่ถูก" ต้องมีเหตุผลรับสมกันจึงจะนับว่า "ถูก" พระสัทธรรมคำสอนของพระองค์มีเหตุผลรับสมกันอยู่เสมอ ไม่คลาดเคลื่อน จึงสมควรแล้วที่ได้พระเนมิตกนามว่า สมฺมาสมฺพุทฺโธ
บทขยายความ
การตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีเหตุมีผลรองรับเริ่มตั้งแต่เมื่อพระทัยของพระองค์หยุดนิ่งเป็นสมาธิด้วยอำนาจของมรรคมีองค์ 8 แล้ว ใจของพระองค์จึงใสบริสุทธิ์ ธรรมกายจึงปรากฏขึ้นมา แล้วอาศัยตาของธรรมกายไปเห็นสรรพสิ่งทั้งหลายตรงตามความเป็นจริง นั่นคือจักขุได้เกิดขึ้นแล้ว
เมื่อธัมมจักขุมองเห็นตรงตามความเป็นจริง ก็เลยรู้ตามความเป็นจริง คือญาณได้เกิดขึ้นแล้ว จึงสามารถหยั่งรู้เหตุหยั่งรู้ผลสามารถสาวเหตุไปหาผลสาวผลไปหาเหตุได้ ปัญญาจึงได้เกิดขึ้นมาแล้ว วิชชาก็เกิดขึ้นตามมา ทำให้สามารถกำจัดกิเลสในพระทัยได้อย่างเด็ดขาด เมื่อพระองค์กำจัดกิเลสได้เด็ดขาดจึงไม่มีความมืดใด ๆ มาห่อหุ้มพระทัยอีก อาโลโก คือความสว่างจึงเกิดขึ้นโดยไม่มีประมาณ ทำให้สิ่งที่พระองค์รู้นั้นถูกต้อง ยืนยันกันได้ ทุกสิ่งทุกประการจึงมีเหตุผลรับสมกันดีเสมอ ไม่คลาดเคลื่อน จึงสมควรที่พระองค์จะได้เนมิตกนามว่าสัมมาสัมพุทโธ
พระธรรมเทศนา
พระพุทธวจนะที่ควรจะนำมาสาธกหรือขยายความในที่นี้ ว่าแต่โดยสั้น ๆ ก็ว่า พระองค์ตรัสรู้เหตุและตรัสรู้ผล ไม่ใช่รู้แต่เหตุหรือรู้แต่ผล พระองค์ตรัสรู้ ทั้งเหตุ ตรัสรู้ทั้งผล ที่ว่านี้คืออะไร เหตุสุข เหตุทุกข์ เหตุไม่สุข เหตุไม่ทุกข์ ที่เรียกว่า อัพยากฤต คือ ภาพเป็นกลาง
ทั้ง 3 อย่างนี้ เป็นรากฐานแห่งการตรัสรู้ของพระองค์ กล่าวคือสุขพระองค์ก็ไม่ทรงรู้แต่สุขเฉย ๆ ตรัสรู้ลึกซึ้งเข้าไปถึงว่า อะไรเป็นเหตุให้เกิดสุขด้วย แล้วอีก 2 ประการนั้นก็เช่นเดียวกัน รู้ทั้งเหตุ รู้ทั้งผลคู่กันไป เป็นต้นว่าสุขเป็นผลคือความสบายกายสบายใจ อะไรเล่าเป็นเหตุที่ให้เกิดผลคือสุขดังกล่าวนั้น พระองค์ตรัสไว้ว่า อโลภะ อโทสะ อโมหะ (ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง) 3 ประการนี้แหละเป็นเหตุ ดังมีบาลีเป็นที่ยืนยันว่า กุสลาธมฺมา อกุสลาธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา เป็นอาทิ
โลภ โกรธ หลง เป็นฝ่ายอกุศล ตรัสว่าเป็นเหตุแห่งทุกข์ เราปุถุชนมักรู้กันแต่ผลสาวหาเหตุไม่ใคร่ถึง เช่น คนทำโจรกรรมแล้ว ไปต้องโทษอย่างมากที่รู้กันทั่วไปมักอยู่ในขั้นหยาบ ๆ ว่าผลที่ต้องได้รับทุกข์ คือ การต้องโทษนั้น เนื่องมาจากโจรกรรม
แต่แท้จริงเหตุเท่านั้นยังไม่พอ ต้องสาวเข้าไปอีก ทำไมเขาจึงทำโจรกรรมก็จะได้ความว่าเพราะโลภะเป็นมูลเหตุ
แต่ก็ยังไม่พอ ต้องสาวเข้าไปอีกว่าทำไมโลภะจึงครอบงำเขาได้ ก็จะได้ความว่าจิตใจของเขา กปรก
ทำไมจิตใจของเขาจึงสกปรก จึงได้เหตุว่าเพราะเขาไม่ประพฤติตามโอวาทพระบรมศาสดา อย่างน้อยก็เป็นคนทุศีล อทินนาทานขาดไปเสียองค์หนึ่งแล้ว
เหตุใดเขาจึงเป็นคนทุศีล ก็จะได้ความว่าเขาไม่รู้เรื่องศีลหรือรู้แล้วไม่นำพา
ทำไมจึงไม่รู้เรื่องศีล ก็อาจเป็นเพราะเหตุที่เขาไม่เคยอ่านหนังสือทางพระพุทธศาสนา หรือสดับตรับฟังพระธรรมเทศนา ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น
พระองค์ทรงสอนไว้ละเอียดถี่ถ้วนว่า ให้รู้เท่าถึงเหตุผล รู้ว่าผลนี้เกิดจากเหตุใด พระองค์มีแนวสอนให้ปฏิบัติเพื่อละเหตุที่ให้เกิดทุกข์ บำเพ็ญเหตุที่ให้เกิดสุข ตลอดจนวิถีทางดับเหตุทั้งปวงซึ่งเรียกว่า นิโรธ
บทขยายความ
ตัวอย่างการสาวผลไปหาเหตุของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
ทำไมเขาจึงต้องโทษ ?
เพราะเขาทำโจรกรรม
ทำไมเขาจึงทำโจรกรรม ?
เพราะโลภะเป็นมูลเหตุ
ทำไมโลภะจึงครอบงำเขาได้ ?
เพราะจิตใจของเขาสกปรก
ทำไมจิตใจของเขาจึงสกปรก
เพราะเขาไม่ประพฤติตามโอวาทพระบรมศาสดา
อย่างน้อยก็เป็นคนทุศีล
เหตุใดเขาจึงเป็นคนทุศีล ?
เพราะเขาไม่รู้เรื่องศีลหรือรู้แล้วไม่นำพา
ทำไมจึงไม่รู้เรื่องศีล ?
เพราะเขาไม่เคยอ่านหนังสือทางพระพุทธศาสนา
หรือสดับตรับฟังพระธรรมเทศนา ฯลฯ
พระธรรมเทศนา
เพื่อรับสนองข้อความดังกล่าวมาก็มีถ้อยคำของพระอัสสชิเถระเป็นหลักฐาน นองรับรองพระพุทธวจนะดังกล่าวมา คือภายหลังแต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ ๆ พระอัสสชิเถระ ซึ่งเป็นพระสาวกไปประกาศพระพุทธศาสนา ไปพบกับอุปติสสปริพาชก
อุปติสสปริพาชกตั้งกระทู้ถามกันสั้น ๆ ถึงเรื่องพระศาสดาว่าทรงสั่งสอนอย่างไร พระอัสสชิได้ตอบว่า ทรงสอนถึงเหตุและวิถีทางที่จะดับเหตุเหล่านั้น ดังพระบาลีว่า เย ธมฺมา เหตุปพฺภวา เต เหตุ ตถาคโต ฯลฯ
หรือพูดอย่างสั้นอีกนัยหนึ่งว่าพระองค์สอนให้รู้ว่า อะไรชั่ว อะไรดี อะไรเป็นเหตุของความชั่ว อะไรเป็นเหตุของความดี
โลภะ โทสะ โมหะ เป็นเหตุแห่งความชั่ว หรือความเสื่อม
ทรงสอนว่า ก่อนจะพูด คิด หรือทำสิ่งใด จงมีสติหรือที่เรียกว่าใช้ความคิดให้รอบคอบเสียก่อน จึงพูด จึงคิด จึงทำการนั้น ๆ แลว่า โดยเฉพาะจงระวังเรื่องโลภะ โทสะ โมหะ นั้นไว้ อย่าให้เข้าครอบงำได้ ในเมื่อจะทำ พูด คิดการสิ่งใด
พระองค์ทรงสอนไว้ในทางปรมัตถ์ว่า ธรรมดาจิตนั้นใสบริสุทธิ์อยู่เสมอซึ่งหมายความว่า จิตที่ไม่มีกิเลสผสมส่วนพวกกิเลส เช่น โลภะฯ เรียกว่าเป็นของจรมา เมื่อมาพ้องพานจิต ก็ย้อมจิตให้เป็นไปตาม ภาพอันชั่วช้าของกิเลสนั้น ๆ
จิตระคนด้วยราคะหรือโลภะ มีสีแดง ระคนด้วยโทสะสีดำ ระคนด้วยโมหะ ขุ่นเหมือนตมหรือน้ำล้างเนื้อสิ่งเหล่านี้พระองค์ใช้ตาธรรมกายมองเห็นจริง ๆ
พวกเราเหล่าศาสนิกชน เมื่อเรียนภาวนาเพ่งถึงขนาด จะเห็นจริงด้วยตนเอง การปฏิบัติกิจทางภาวนานั้นก็คือพยายามกลั่นเอากิเลสออกเสียจากจิตให้จิตบริสุทธิ์ อันได้ชื่อว่ากิริยาจิต กิริยาจิตเช่นนี้เป็นอัพยากฤตแล้วต่อนั้นไปจะเป็นจิตที่ควรแก่การทุกอย่าง
บทขยายความ
สำหรับย่อหน้านี้ขอให้มองว่าสิ่งที่น่าสนใจตรงนี้คือ ที่พระเดชพระคุณหลวงปู่บอกว่าถ้าจิตระคนด้วยราคะ จิตก็จะมีสีแดง ถ้าระคนด้วยโทสะ จิตก็จะมี สีดำ ถ้าระคนด้วยโมหะ จิตก็จะมีสีขุ่นเหมือนโคลนตมหรือน้ำล้างเนื้อ
จิตกับกิเลสเป็นคนละอย่างกันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เหมือนร่างกายของเรากับเชื้อโรคเป็นคนละอย่างกัน ร่างกายของเรานั้นประกอบด้วยเลือดด้วยเนื้อก็อย่างหนึ่ง แล้วเชื้อโรคก็อีกอย่างหนึ่ง แต่โดยเหตุที่ว่าในทันทีที่เราเกิดมา ก็มีเชื้อโรคบางอย่างเข้าไปเกาะกินตัวเรา ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ แทรกอยู่ในร่างกายของเราแล้ว จึงทำให้บางคนหลงเข้าใจผิดว่าเชื้อโรคต่าง ๆ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวเรา แต่ความจริงไม่ใช่ แยกกัน
ในทำนองเดียวกัน กิเลสกับจิตใจของเราก็เป็นคนละอย่างกัน แต่ว่ากิเลสก็ได้ อดแทรกเข้ามาในใจตั้งแต่ตัวเรายังอยู่ในครรภ์มารดาแล้ว จึงทำให้มีผู้เข้าใจผิดคิดว่า กิเลสกับจิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แยกจากกันไม่ได้ จริง ๆ แล้วแยกกันได้ เพียงแต่ว่าจิตของคนเราถูกกิเลสห่อหุ้มตั้งแต่เกิด จิตก็เลยคุ้นกับกิเลสเหมือนกับปลาคุ้นน้ำ ปลากับน้ำนั้นคนละอย่างกันปลาก็ส่วนปลา น้ำก็ส่วนน้ำ แต่ปลาอาศัยอยู่ในน้ำตั้งแต่เกิด เพราะฉะนั้น พอโยนปลาขึ้นมาบนบกก็จะดิ้น พราด ๆ หาทางลงน้ำทันที ข้อนี้ฉันใดจิตกับกิเล ก็ฉันนั้น แต่กิเลสก็มีอยู่หลาย รูปแบบ ที่สำคัญมีอยู่ 3 ประการ คือ โลภะ โทสะ โมหะ
แล้วขอให้มองอย่างนี้ว่า เมื่อเชื้อโรคชนิดนี้เข้าไปทำลายร่างกายคนเรา เช่น เชื้ออหิวาต์เมื่อเข้าไปทำร้ายร่างกาย ก็ทำให้ร่างกายของคนเราแปรปรวนไป เช่น ท้องเสีย จึงถ่ายไม่ยอมหยุด เชื้อมาเลเรียก็เป็นเชื้อโรคอีกอย่างหนึ่ง เมื่อเข้าไปในร่างกายมนุษย์ได้ก็ทำลายร่างกาย ให้เป็นไข้จับสั่น เชื้อไข้เลือดออก พอเข้าไปในร่างกายมนุษย์ได้ ก็ทำให้เกิดอาการเลือดออกเป็นจ้ำ ๆ เชื้อโรคทั้ง 3 ชนิดนี้ เมื่อโจมตีร่างกายแล้วก็ทำให้เกิดอาการวิปริตแตกต่างกันได้ฉันใด กิเลสทั้ง 3 ชนิด คือ โลภะ โทสะ โมหะ ต่างก็เป็นกิเลสเป็นเชื้อโรคทางใจสามารถเข้าไปโจมตีใจให้มีรูปลักษณะที่วิปริตไปต่าง ๆ ได้ฉันนั้น
กิเลสที่มีชื่อว่า "โลภะ" เมื่อโจมตีแล้วทำให้น้ำเลี้ยงของใจกลายเป็สสีแดง กิเลสที่มีชื่อว่า "โทสะ" บ่อนทำลายใจด้วยการบีบคั้น แล้วก็หมักดองทำให้น้ำที่หล่อเลี้ยงใจซึ่งธรรมดาเคยใสกลายเป็นสีดำ หรือกิเลสที่มีชื่อว่า "โมหะ" เมื่อเข้าไปบ่อนทำลายทำร้ายจิตใจ ก็ทำให้น้ำเลี้ยงจิตมีสีเหมือนโคลนตมหรือน้ำล้างเนื้อสีจะออกคล้ำ ๆ เปื้อน ๆ
กิเลสเมื่อเข้าไปทำลายจิตใจแล้ว ย่อมทำให้น้ำเลี้ยงของใจมีสีผิดปกติไป เพราะฉะนั้นเมื่อเวลาตาของเรามองอะไร รับภาพอะไรมา ประสาทตาก็ส่งไปที่ใจ แต่เนื่องจากใจเป็นสีแดงบ้าง เป็นสีดำบ้าง เป็นสีเหมือนโคลนตมเหมือนน้ำล้างเนื้อบ้าง ด้วยอำนาจกิเลสก็เลยทำให้เห็นไม่ตรงไปตามความเป็นจริง คือ เห็นผิด ๆ เมื่อเห็นผิด ๆ ก็เลยทำให้จำผิด ๆ เมื่อจำผิด ๆ ก็ทำให้คิดผิด ๆ เมื่อคิดผิด ๆ ก็ทำให้รู้ผิด ๆ หรือเข้าใจผิด ๆ แล้วก็เลยทำให้ตัดสินใจที่จะทำสิ่งหนึ่งประการใดลงไปในทางที่ผิด ๆ ไปตลอดชีวิต
ทำนองเดียวกันกับการที่เอาแว่นสีมาสวม ถ้าเอาแว่นสีเขียวสวมแล้ว หญ้าแห้งก็จะเห็นเป็นหญ้าสีเขียว ๆ หากเอาแว่นสีดำมาใส่ดูดวงอาทิตย์สีแดงโร่ ก็จะเห็นเป็นสีดำ เอาแว่นสีอะไรมาใส่ก็จะเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่ตัวเข้าไปเกี่ยวข้องนั้นผิดไป ไม่ตรงไปตามความเป็นจริง
พระธรรมเทศนา
พระธรรมเทศนาของพระองค์เมื่อตอนตรัสรู้ใหม่ ๆ หนักไปในทางแสดงเหตุและการดับเหตุ หรือที่เรียกว่า สมุทัย กับ นิโรธ ดังเช่นในการให้พิจารณาเรื่องสังขาร ในด้าน สมุทัย ว่า อวิชฺชา ปจฺจยา สงฺขาราฯ และในด้านนิโรธ ว่า อวิชฺชา เตฺวว อเสส วิราคนิโรธา
ในด้านสมุทัยนั้น แปลความเป็น ยามภาษาว่า
อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ
วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ 6
อายตนะ 6 เป็นปัจจัยให้เกิดผัสะ ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา
เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน
อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ
ชาติเป็นปัจจัยให้มีความแก่ ความตาย และความเศร้าโศกต่าง ๆ
สิ่งเหล่านี้จะดับได้ก็เพราะดับชาติ ชาติดับได้ ก็เพราะดับภพ ภพจะดับได้ก็เพราะอุปาทานดับ อุปาทานจะดับได้เพราะตัณหาดับ ตัณหาจะดับได้ก็เพราะเวทนาดับ เวทนาจะดับได้เพราะผัสะดับ ผัสะจะดับได้ก็ต่อเมื่อ
อายตนะดับ อายตนะจะดับได้ต่อเมื่อนามรูปดับ นามรูปจะดับได้ต่อเมื่อวิญญาณดับ วิญญาณจะดับได้ต่อเมื่อสังขารดับสังขารจะดับลงได้ก็เพราะอวิชชาดับ เหตุผลเกิดดับเกี่ยวข้องกันเป็นลูกโซ่เช่นนี้ เรียกว่า "ปัจจยาการ" ที่พระองค์ได้รู้แจ้งแทงตลอดในวันตรัสรู้นั้นทั้งสิ้น พิจารณาตามลำดับ ดังที่ยกขึ้นกล่าวมาข้างต้น
เมื่อย่นให้ได้ความเข้าใจอันจะเป็นผลในทางปฏิบัติแล้ว ก็มีตัวสำคัญอันเดียวคือ อวิชชา เป็นมูลรากฝ่ายเกิด หรือที่เรียกว่า "สมุทัย" และในทางดับหรือที่เรียกว่า "นิโรธ" ก็ทำนองเดียวกัน อวิชชาเท่านั้นเป็นตัวการสำคัญ ถ้าดับอวิชชาได้อย่างเดียว อื่น ๆ ดับเรียบหมด เพราะอวิชชาเหมือนต้นไฟแต่ถ้ายังดับอวิชชาไม่ได้แล้ว ก็ไม่มีหวังว่าอย่างอื่นจะดับได้ ที่หมายสำคัญในคำสอนของพระองค์จึงอยู่ที่ว่า ให้ผู้ปฏิบัติเพียงหาทางกำจัดอวิชชาเสีย จึงจะพ้นจากห้วงลึกคือวัฏสงสารได้
บทขยายความ
เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร
จากประโยคที่ว่า "ที่หมายสำคัญของคำสอนของพระพุทธองค์อยู่ที่ว่า ให้ผู้ปฏิบัติเพียรหาหนทางกำจัดอวิชชาเสีย จึงจะพ้นจากห้วงลึกจากวัฏสงสาร" เราอ่านแล้วไม่มีทางเข้าใจได้แจ่มแจ้งหรอก เพราะเรายังไม่เห็นว่า อวิชชามีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร
พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำเคยอธิบายไว้ตอนหนึ่งว่า "อวิชชาขนาดเหมือนเมล็ดโพธิ์ เมล็ดไทร มันติดมาตั้งแต่เกิด อยู่ในนั้น พอโตขึ้น มันก็ขยาย มีรูปร่างให้เห็นชัดเจนเลยล่ะ"
จากคำอธิบายของพระเดชพระคุณหลวงปู่นี้เอง ทำให้เราเห็นภาพชัดว่า อวิชชา คือ รากเหง้าของกิเลสที่หยั่งรากลึกอยู่ในใจคน ก็ขอให้นึกว่า เหมือนเมล็ดพันธุ์ของหญ้าทั้งหลายซึ่งมีอยู่ในโลก หรือรากของวัชพืชทั้งหลายที่มีอยู่ในโลก ถ้างอกออกมาเมื่อไรก็กลายเป็นต้นโลภะ ต้นโทสะ ต้นโมหะ แล้วแตกกิ่งก้านกลายมาเป็นกิเลสสารพัดชนิด
เพราะฉะนั้นการที่จะให้เข้าใจกันทั้งหมดที่พูดมามีทางเดียวคือ ต้องเห็นว่าอวิชชามีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร จึงจะเข้าใจเรื่องปัจจัยการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร การที่เราจะเห็นได้จะต้องไปเห็นธรรมกายก่อน การจะเห็นธรรมกายได้ต้องปฏิบัติสมาธิให้มรรคมีองค์ 8 สมบูรณ์ ใจจึงจะหยุด ใจจึงจะนิ่ง ใจจึงจะใสจึงเห็นธรรมกาย แต่ว่าถึงธรรมกายแล้วไม่ใช่ปุบปับจะเห็นอวิชชาเลย ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ต้องเข้าถึงธรรมกายในธรรมกาย ธรรมกายเบื้องต้นก็ยังมองไม่เห็นอวิชชาหรอก ต้องธรรมกายที่ละเอียดประณีตเข้าไปเป็นชั้นๆ ธรรมกายโคตรภูก็ยังไม่เห็น ธรรมกายโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี ก็ยังไม่เห็น ต้องเข้าถึงพระธรรมกายอรหันต์ โน่นแน่ะ เห็นชัดเลย
พระธรรมเทศนา
อเนกชาติ สํสารํ ฯลฯ ในขณะเมื่อแสงทองเรื่อเรืองแข่งแสงเงินขึ้นมายังขอบฟ้าเบื้องบูรพา อันเป็นสัญญาณว่าดวงอาทิตย์เตรียมทำหน้าที่จะส่องโลกอยู่แล้ว เป็นเวลาที่อากาศยะเยือกเย็น ดชื่นส่งให้เราหวนไประลึกถึงเวลารุ่งอรุณแห่งวันเพ็ญ วิสาขมา อันเป็นวันที่พระบรมโลกนาถ อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้น เราจะแลเห็นโอภาสรัศมีอันรุ่งโรจน์ยิ่งกว่าแสงทองนั้นร้อยเท่าพันทวี ช่วงโชติอยู่ภายใต้โพธิ์พฤกษ์อันมหาศาล ใบเขียวชอุ่มรับกับรัศมีอันเหลืองอร่ามอยู่ภายใต้นั้น ในใจกลางแห่งรัศมีอันช่วงโชติชัชวาลอยู่นั้น มิใช่อื่นไกลคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ประทับพริ้มอยู่ด้วยพระอาการชื่นบานพระหฤทัยที่ได้เสวยวิมุตติสุข อันเป็นผลแห่งการที่พระองค์ได้ทรงประกอบพระมหาปธาน วิริยะมาเป็นเวลาช้านาน จึงได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณสมดังพระหฤทัยประสงค์ พระองค์จึงทรงเปล่งพระอุทานเย้ยตัณหาว่า อเนกชาติ สํสารํ ดังที่ได้ยกขึ้นกล่าวไว้ข้างต้นนั้น ซึ่งแปลใจความเป็น ยามภาษาว่า
"เราสืบเสาะหาตัวช่างไม้ผู้สร้างปราสาทมานานแล้ว เมื่อเรายังหาไม่พบเราต้องท่องเที่ยวอยู่ในสงสาร เวียนตายเวียนเกิดอยู่แทบจะนับชาติไม่ถ้วน การเกิดนำความทุกข์มาให้เราแล้วเล่า ไม่รู้จักจบจักสิ้นนี่แน่ะ ท่านนายช่างไม้ กล่าวคือ ตัณหา บัดนี้เราเจอะตัวท่านแล้วละท่านหมดโอกาสที่จะมาสร้างปราสาท คืออัตภาพร่างกายเราต่อไปได้อีกแล้วกระดูกซี่โครงท่าน กล่าวคือกิเล เราหักเสียกรอบหมดแล้ว มิหนำซ้ำยอดปราสาทกล่าวคืออวิชชา เราก็รื้อทำลายหมดสิ้นแล้ว จิตของเราปราศจากเครื่องปรุงแต่งแล้ว เราถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งตัณหาแล้ว"
พระอุทานนั้นมีข้อความเป็นบุคคลาธิษฐานสั้น ๆ แต่มีอรรถรสลึกซึ้งน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ที่แปล เคหกูฏ ว่ายอดปราสาท ก็เพื่อความเหมาะสมที่พระองค์เป็นกษัตริย์ เพราะบ้านเรือนของพระมหากษัตริย์เรียกกันว่า ปราสาทราชฐาน พระอุทานนั้น มีข้อความชัดเจนแล้ว มิจำต้องอธิบาย
บทขยายความ
ที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านกล่าวว่า มิจำต้องอธิบายเพราะชัดเจนอยู่ในตัวแล้วก็เพราะว่าท่านผู้ฟังในคราวนั้น ที่พระเดชพระคุณหลวงปู่เทศน์ท่านเหล่านั้นเข้าวัดปฏิบัติธรรมมานานแล้วก็คุ้นกับพระไตรปิฎก บทอุทานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้งเมื่อทรงตรัสรู้ใหม่ ๆ นี้เป็นที่ท่องได้คล่องปาก จำได้ขึ้นใจของประชาชนคนไทยในสมัยพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ แต่พอมาถึง มัยของพวกเรา พวกเราก็ไม่คุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า กิเลส คำว่า ตัณหา คำว่า อวิชชา
อวิชชาเป็นรากเหง้าของกิเล เรียกว่า "สมุทัย" เป็นต้นตระกูลของเชื้อโรคใจทั้งหลาย แล้วก็แตกลูกแตกหลาน แตกออกไปเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ พอเกิดขึ้นแล้วทำให้น้ำหล่อเลี้ยงใจแดง ทำให้เกิดลักษณะชอบกอบโกยเข้ามาหาตัว กลุ่มนี้คือ โลภะ เมื่อแตกกิ่งแตกก้านออกไปแล้วก็ทำให้น้ำหล่อเลี้ยงใจดำ มีอาการชอบทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า กลุ่มนี้คือโทสะส่วนกลุ่มที่ 3 โมหะ เข้าไปทำร้ายใจ ทำให้มีสีเหมือนน้ำล้างเนื้อ ทำให้โง่ ๆ เซ่อ ๆ
โลภะ โทสะ โมหะ เมื่อแตกกิ่งแตกก้านออกไปมากเข้า ๆ บ่อนทำลายใจไปมากเข้า ๆ ทำให้ใจเกิดความอยากอย่างที่สุดเลย เป็นความอยากที่เรียกว่า ตัณหา เหมือนเชื้อโรคมาเลเรียบ่อนทำลาย แล้วทำให้เป็นไข้จับสั่น
โลภะ โทสะ โมหะ บ่อนทำลายแล้ว ทำให้เกิดความอยาก ความอยากชนิด กามตัณหา คือ อยากจะได้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่ถูกใจ ความอยากชนิด ภวตัณหา ทำให้เกิดอยากในรูปภพ และ วิภวตัณหา ความอยากในอรูปภพ ก็ด้วยอำนาจของ โลภ โกรธ หลง นี่แหละ
เพราะฉะนั้น การที่จะกำจัดทุกข์ได้จะต้องปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 จนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกาย เข้าถึงพระธรรมกายได้ถึงจะไปเห็นอวิชชา เมื่อเห็นอวิชชา ก็จะกำจัดได้ทั้งเจ้ากิเลสทั้งเจ้าตัณหา เรียบหมด
โดยสรุป พระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประการที่ 2สัมมาสัมพุทโธ คือ พระองค์ทรงทั้งรู้ทั้งเห็น แทงตลอดในเหตุและผลของสรรพสิ่งทั้งหลายตรงตามความเป็นจริง ด้วยพระธรรมกายของพระองค์เอง โดยมิได้มีผู้หนึ่งผู้ใดสั่งสอนเลย
เพราะพระองค์ทรงถึงพร้อมด้วยพระคุณทั้ง 2 ประการแรกนี้ คือ อรหัง และสัมมาสัมพุทโธ จึงทรงได้เนมิตกนามว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนี้
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 003 พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree