ภควา
พระธรรมเทศนา
คำว่า "ภควา" แปลได้หลายนัย แปลว่า หักก็ได้ แจกก็ได้ที่ว่า หัก นั้น หมายความว่าพระองค์หักเสียได้ซึ่งสังสารจักร กล่าวคืออวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม อันเป็นเสมือนตัวจักรที่พัดผันส่งต่อไปยังกันและกัน เป็นกำลังดันให้หมุนเวียนวนว่ายอยู่ในวัฎสงสาร มิให้ออกจากภพ 3 พระองค์หักเสียได้แล้ว พระองค์จึงพ้นไปจากภพทั้ง 3 คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ เสด็จออกสู่นิพพานไป
ที่ว่า แจก นั้นมีความหมายว่า เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์เป็นสัพพัญู ทรงรู้แจ้งธาตุธรรมทั้งปวงหมด จึงทรงสามารถจำแนกแยกแยะธรรมส่วนที่ละเอียด ๆ ให้เห็น เช่น ทรงจำแนกขันธ์
ธาตุ อายตนะ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ดังนี้เป็นต้น ตลอดจนหลักธรรมอื่น ๆ ทั้งมวลให้สาวกได้รู้เห็นรับปฏิบัติสืบ ๆ กันมา
บทขยายความ
ภควา ในความหมายแรก แปลว่า หัก หมายถึง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงหักสังสารจักรได้แล้ว ดังที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำได้อธิบายเอาไว้ ทำให้ทรงพ้นจากสังสารวัฏ ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดเหมือนสรรพสัตว์ทั้งหลายอีก
ส่วนความหมายประการที่ 2 แปลว่า แจก คือ พระองค์ทรงพระปรีชาเป็นอย่างยิ่งทรงสามารถแจกธรรมะที่ยากแก่การเข้าใจ ให้เป็นหัวข้อย่อย ๆ เข้าใจได้ง่าย และง่ายต่อการนำไปปฏิบัติพอเหมาะพอสมกับสติปัญญาของสัตวโลกนั้น ๆ อย่างน่าอัศจรรย์
ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะพระองค์ทรงเห็นถูกต้องตรงตามความเป็นจริง คือทรงเห็นว่า กว่าที่พระองค์จะทรงสามารถตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้นั้น เพราะได้ทรงปฏิบัติธรรมะข้อใด ๆ บ้าง ทั้งหยาบ ทั้งละเอียด ทรงเห็นตลอดทั้งหมดว่าการที่ไม่เข้าพระทัยในธรรมะข้อใดเพราะเหตุใด ยิ่งกว่านั้นยังทรงทราบอีกด้วยว่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย จะมีข้อสงสัยอยู่ตรงไหนกันบ้าง เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงแยกย่อยธรรมะออกมาเป็นข้อเล็กข้อน้อย ให้เหมาะสมกับสติปัญญาของผู้ฟัง ในระดับที่พอจะตรองตามทันคำสอนของพระองค์ได้ เปรียบเหมือนการบิขนม หรือตักข้าวให้พอคำแก่คนกิน เด็กก็ต้องให้คำเล็ก ผู้ใหญ่ก็ตักให้คำโต หรือคนป่วยก็ตักเอาชนิดอาหารเปื่อย อาหารตุ๋นที่ย่อยง่าย ๆ มาให้ส่วนที่ปัญญาแก่กล้าแล้วก็ไม่ต้องย่อยให้มากนักสอนเพียง ย่อ ๆ เฉพาะแต่หัวข้อธรรมก็เข้าใจทันทีส่วนที่สติปัญญายังไม่ดีนัก ก็ต้องแยกย่อยให้ละเอียด เหมือนบดข้าวป้อนลูก แล้วลูกก็จะโตวันโตคืน
การที่พระองค์ทรงแจกธรรมะให้พอเหมาะพอสมอย่างนี้สัตวโลกก็สามารถรู้ธรรมตามพระองค์ไปได้โดยง่าย แม้ที่สุดเมื่อพระองค์ดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ธรรมะที่ทรงแยกย่อยแบ่งหมวดแบ่งหมู่เอาไว้อย่างดีแล้วนี้ ก็ยังมีอานิสงส์ให้สัตวโลกที่เกิดมาในภายหลังสามารถเลือกธรรมะที่พอเหมาะ เอาไปปฏิบัติ ถึงขั้นสามารถตะเกียกตะกายข้ามสังสารวัฏตามพระองค์ไปได้ นี่คือพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้พระองค์ทรงได้รับพระคุณนามว่า "ภควา"
จากพระธรรมเทศนาเรื่องพระพุทธคุณที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำได้เทศน์มาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า เรื่องของการฝึกสมาธิให้ใจหยุดนิ่งนี่สำคัญที่สุด และการที่จะทำใจให้หยุดนิ่งจนเข้าถึงธรรมกายได้ก็จำเป็นจะต้องรู้จักศูนย์กลางกายฐานที่ 7 เพราะนี่เป็นหนทางสายเอกสายเดียวที่ทำให้พระองค์ทรงได้พระพุทธคุณทั้ง 9 ประการ ดังที่กล่าวมาแล้ว และนี่ ก็เป็นหนทางสายเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เราเข้านิพพานตามพระองค์ไปได้ เมื่อเราได้ทราบความจริงอย่างนี้แล้ว จงเริ่มตั้งความเพียร หมั่นทำใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายเสียแต่บัดนี้ฝึกเข้าไปทุกวัน ๆ ไม่ช้าก็จะเข้าถึงธรรมกายได้โดยไม่ยากแล้วอย่าพอใจอยู่แค่นั้น ต้องหยุดในหยุดให้หนักเข้าไปตามลำดับ ๆ จนถึงธรรมกายในธรรมกายที่ละเอียด ๆ เข้าไปไม่สิ้นสุด เราก็จะมีโอกาสรู้ธรรมเห็นธรรมอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำได้ในที่สุด หยุดในหยุดนั้น มีความสำคัญอย่างนี้ เพราะฉะนั้น พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำจึงได้ย้ำนักย้ำหนาว่า
"หยุดเป็นตัวสำเร็จ ตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงพระนิพพาน"
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 003 พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree