พุทโธ

วันที่ 12 มิย. พ.ศ.2560

พุทโธ

พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , สร้างบารมี , หลวงพ่อธัมมชโย , พุทโธ , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระธรรมเทศนา
       คำว่า "พุทฺโธ" แปลได้หลายนัย แต่ในที่นี้จะขอแปลไปในทางที่ว่าเป็นผู้บานแล้วหรือเบิกบานแล้ว

    ที่ว่าบานนั้นเปรียบด้วยดอกปทุมชาติ คือบานเหมือนดอกบัวที่บานแล้วเต็มที่ การที่พระองค์ทรงประกอบความเพียรอยู่ด้วยประการต่าง ๆ เมื่อยังไม่ได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณเปรียบเหมือนดอกบัวที่ยังตูมอยู่ ต่อรุ่งอรุณแห่งวันวิสาขปุรณมี พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว จึงเปรียบเสมือนดอกบัวที่บานแล้วในเวลารุ่งอรุณแห่งวันวิสาขปุรณมีนั้นเอง

     นัยที่ว่าเบิกบานนั้น หมายความว่า เมื่อพระองค์ได้ทรงตรากตรำเป็นเวลาล่วงถึง 6 พรรษาแล้ว จึงได้มาตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณได้รับผลเป็นองค์อรหัง และสัมมาสัมพุทโธฯ ดังบรรยายมาข้างต้นแล้วพระกมลหฤทัยของพระองค์ก็ย่อมผ่องแผ้วเบิกบานเต็มที่ เหตุว่า ได้ผลสมปรารถนาที่พระองค์ทรงตั้งปณิธานเพียรบำเพ็ญมา ฉะนี้จึงได้พระนามว่า "พุทโธ"

      ขอย้ำอีกหน่อยว่า การที่นำเอาดอกบัวบานมาเทียบความหมายแห่งคำว่าพุทโธนั้น ก็เพราะเหตุว่าเมื่อปฐมกัลปเริ่มตั้งศีรษะแผ่นดินขึ้นใหม่ ๆ มีกอบัวเกิดขึ้นพร้อมทั้งมีดอก 5 ดอก ท้าวสุธาวา หยั่งรู้ว่านี้เป็นนิมิตว่าในกัลปจะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสโปรดเวไนยสัตว์ 5 พระองค์ จึงปกาสิตคำว่า นะ, โม, พุท, ธา, ยะ ไว้ ซึ่งมีความหมายว่า

นะ คือ พระกกุสันโธ
โม คือ พระโกนาคมนะ
พุท คือ พระพุทธกัสสปะ
ธา คือ พระสมณโคดม
ยะ คือ พระศรีอาริยเมตไตรย์

     ซึ่งได้ปรากฏเป็นที่นับถือกันมาจนบัดนี้


บทขยายความ
     คำว่า "พุทโธ" พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำได้กล่าวไว้ 2 นัยด้วยกัน

    นัยแรกแปลว่า ผู้บานแล้ว บานตั้งแต่วันตรัสรู้เลย บานได้ด้วยการทำสมาธิในใจหยุดในหยุด หยุดตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงธรรมกายอรหัต จนจบพระนิพพานเลย นี้บานเพราะหยุดในหยุดอย่างเดียวเท่านั้น พระสัพพัญุตญาณของพระองค์ก็สมบูรณ์เต็มเปี่ยม เหมือนดอกบัวที่โผล่พ้นน้ำออกมา แล้วก็คลี่กลีบบานอย่างสมบูรณ์

     อีกนัยหนึ่ง หมายถึง พระทัยของพระองค์ที่เบิกบานแล้ว เพราะทรงสมปรารถนาตามที่เคยตั้งพระทัยว่า

1) ได้ตรัสรู้แล้ว
2) ได้โปรดสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ตามแล้ว

    พระองค์ทรงสมพระทัยที่ได้ตั้งปณิธานมานานนับได้ 20 อสงไขย แสนมหากัปทีเดียวจึงทำให้พระองค์ทรงเบิกบาน

   แต่ไม่ว่าจะแปลว่า บานแล้วหรือเบิกบานแล้วก็ตาม ทั้งหมดนี้ล้วนอาศัยเหตุจากการทำสมาธิให้ใจหยุดในหยุดที่ศูนย์กลางกายทั้งนั้น หยุดนิ่งจนเข้าถึงธรรมกาย แล้วก็หยุดในหยุดต่อไปอีก จนเข้าถึงธรรมกายในธรรมกาย จนถึงพระนิพพานในที่สุด นี้จะเห็นได้ว่า การทำสมาธิให้ใจหยุดในหยุดที่ศูนย์กลางกายให้ได้นี้สำคัญที่สุด

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 003 พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.108192050457 Mins