พระธรรมคุณ
สวากขาโต ภควตา ธัมโมฯ
ต่อไปนี้เป็นเรื่องธรรมคุณ ธรรมในที่นี้จะกล่าวเฉพาะพระสัทธรรม คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า วากฺขาโต แปลว่า พระองค์กล่าวแล้วดีนั้นหมายความว่า ธรรมที่พระองค์ตรัสสอนนั้น ล้วนแต่จะเป็นผลส่งให้ผู้ประพฤติปฏิบัติตามได้รับความร่มเย็นเป็นสุขทั้งสิ้น จึงได้ชื่อว่าเป็นธรรมที่พระองค์กล่าวแล้วดี ดีก็คือไม่มีเสีย คือคำสอนของพระองค์ไม่ให้ทุกข์แก่ผู้ปฏิบัติเลยมีแต่จะนำไปสู่สุขอย่างเดียว มีอริยมรรคเป็นข้อสาธกที่ทรงสอนไว้ว่า
ความเห็นชอบ 1 ความดำริชอบ 1 กล่าววาจาชอบ 1 ประกอบการงานชอบ 1 หาเลี้ยงชีพชอบ 1 ทำความเพียรชอบ 1 ตั้งสติไว้ชอบ 1 สมาธิชอบ 1 พิจารณาดูให้ดีจะเห็นธรรมเหล่านี้ ผู้ใดประพฤติได้จะให้ผลไม่เฉพาะแต่ทางธรรม แม้ในทางโลกก็อำนวยผลดีให้แก่ผู้ปฏิบัติเหมือนกัน ดังนี้ ธรรมที่พระองค์ตรัสั่งสอนไว้ได้ชื่อว่า "สวากขาตธรรม"
พระสัทธรรมของพระองค์ แบ่งเป็นหมวดใหญ่ ๆ ได้ 3 หมวด คือ ปริยัติธรรม 1 ปฏิบัติธรรม 1 ปฏิเวธธรรม 1
ปริยัติธรรมนั้น ได้แก่ คำสั่งสอนอันเป็นแนวนำไปสู่ปฏิบัติธรรม
ส่วนปฏิบัติธรรมนั้น เป็นคำสอนที่บ่งวิธีการปฏิบัติโดยตรง ซึ่งจะมีผลส่งให้ถึงปฏิเวธธรรม
ปฏิเวธธรรม คือ การรู้แจ้งแทงตลอด ภาวะความเป็นจริงทั้งมวล
สันทิฏฐิโก แปลว่า ธรรมดาคำสอนของพระองค์นั้นไม่เหมือนสิ่งของอื่น ๆ ซึ่งคนหนึ่งแลเห็นแล้วชี้ไป อีกคนหนึ่งจะแลเห็นได้ด้วยกันอย่างนั้น หามิได้ผู้ใดปฏิบัติตามผู้นั้นจะเห็นผลได้ด้วยตนเองว่าเป็นอย่างไร
อกาลิโก ผู้ใดปฏิบัติ ผู้นั้นย่อมได้รับผลเสมอโดยไม่มีจำกัดเวลาว่ามีเขตเพียงนั้นเพียงนี้
เอหิปัสิโก เพราะเหตุว่าเป็นของดี ของจริง เมื่อผู้ใดปฏิบัติได้แล้ว จึงเป็นเสมือนสิ่งของที่น่าจะเรียกบอกคนอื่นมาดูว่า นี่ดีจริง อย่างนี้
โอปนยิโก เพราะเหตุว่าการปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ พบของดีของจริงดังกล่าวมาแล้วนั้น ควรจะน้อมนำเอาของดีจริงที่พบแล้วนั้นเข้ามาไว้ในตน คือยิ่งถือปฏิบัติเรื่อยไป ไม่ละวางเสีย
ปัตจัตตัง เวทิตัพโพ วิญูหิ แปลว่า ธรรมของพระองค์นั้น วิญญูชนจะพึงรู้ได้เฉพาะด้วยตนเอง ข้อนี้คล้ายกับ สนฺทิฏฐิโก ที่กล่าวข้างต้น ต่างแต่ว่าข้อนั้นกล่าวถึง อาการเห็นส่วนข้อนี้กล่าวถึง อาการรู้ กล่าวคือผู้ปฏิบัติตามธรรมของพระองค์ จะรู้ว่าธรรมของพระองค์ดีจริงอย่างไร และเมื่อปฏิบัติตามแล้วได้ผลเป็นอย่างไร ดังนี้ย่อมเกิดจากการปฏิบัติของตนเอง ด้วยใจของตนเองผู้อื่นจึงพลอยรู้ด้วยไม่ได้ เป็นรสทางใจ หากใจผู้ปฏิบัติ เขาเยือกเย็นเป็นสุขสักปานใด แม้เขาจะเอามาเล่าให้เราฟัง ใจเราก็จะไม่เย็นอย่างเขา ตามคำที่เขาเล่าบอกนั้นได้ จะไม่ผิดอะไรกับคนหนึ่งได้กินแกงชนิดหนึ่ง มาเล่าให้เราฟังว่า อร่อยอย่างนั้นอย่างนี้ ก็จะไม่ทำให้เราเปิบข้าวเปล่า ๆ โดยนึกเอารสแกงที่เขาว่านั้นมาประสมให้ได้รสอร่อยอย่างเขาว่านั้นได้
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 003 พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree