โลกวิทู
พระธรรมเทศนา
โลกวิทู แปลว่า รู้แจ้งซึ่งโลก
โลก แบ่งออกเป็น 3 คือสังขารโลกสัตวโลก โอกาสโลก
โลกทั้ง 3 นี้สมเด็จพระบรมศาสดาทรงรู้แจ้งหมด รู้ถึงความเป็นไปของโลกเหล่านี้โดยละเอียดด้วย จึงได้พระนามว่า "โลกวิทู"
คำว่า "โลก" หมายความว่าเป็นที่ก่อแห่งสัตว์ หรือนัยหนึ่งว่าเป็นที่ก่อผลแห่งสัตว์ ซึ่งว่า เป็นที่ก่อแห่งสัตว์ก็คือ เป็นที่เกิดที่อยู่แห่งสัตว์ ที่ว่าเป็นที่ก่อผลแห่งสัตว์ ก็คือ เป็นที่ซึ่งสัตว์ได้อาศัยก่อกุศลและอกุศล ว่าโดยเฉพาะโลกมนุษย์เป็นที่มนุษย์อาศัยสร้างบุญ แล้วก็ได้ผลไปบังเกิดในสวรรค์หรือบำเพ็ญบารมีแล้วส่งผลไปสู่นิพพาน ดั่งเช่น องค์สมเด็จพระศาสดาในทางตรงข้ามถ้าสร้างบาปแล้วก็ได้ผลให้ได้ไปเกิดในนรก
สังขารโลก คือ โลกที่มีอาหารเป็นปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่คำว่าอาหารรัฏฐิติกาสัตว์อยู่ได้เพราะอาหารปรนปรือ
อาหาร แปลว่า ประมวลมาหรือเครื่องปรนปรือ และแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ
1) กวฬิงการาหาร
2) ผัสสาหาร
3) มโนสัญเจตนาหาร
4) วิญญาณาหาร
กวลิงการาหาร (กฬลิงการาหาร) หมายความว่า อาหารที่เป็นคำ ๆ เช่น คำข้าวส่วนละเอียดของอาหาร คือ โอชะ หรือที่เรียกกันใหม่ ๆ ว่าวิตามินนั้น เข้าไปปรนปรือร่างกาย จึงเป็นปัจจัยให้สัตว์ดำรงชีวิตอยู่ได้สัตว์ทั้งหลายมีอาหารหยาบมากและละเอียดต่างกันเป็นพวก ๆ เช่น จระเข้กินอาหารหยาบมากแม้ก้อนหินหรือสัตว์ตัวใหญ่ ๆ แต่แล้วก็มีโอชะไปหล่อเลี้ยงร่างกายมันได้ นกยูงกินแมลงต่าง ๆ ทั้งตัวสุนัขไนแทะกินกระดูกสัตว์ที่แข็ง ๆ ช้าง ม้า โค กระบือกินหญ้าและใบไม้ของหยาบ ๆ ก็มีโอชะไปหล่อเลี้ยงร่างกายมันได้ มนุษย์กินอาหารละเอียดกว่าสัตว์ที่กล่าวมาเป็นชั้น ๆ เช่น ราษฎรสามัญกินหยาบกว่าพระมหากษัตริย์ พวกเทวดากินอาหารละเอียดกว่ามนุษย์ อย่างที่เรียกว่าทิพย์ก็คือ โอชะส่วนละเอียดของอาหาร พวกพรหมละเอียดยิ่งกว่าเทวดาอีกมีจักรพรรดิคอยปรนปรือ แม้เลยชั้นรูปพรหม อรูปพรหมขึ้นไป คือถึงชั้นนิพพานก็มีอาหารส่วนละเอียดไปหล่อเลี้ยงเช่นเดียวกัน อาหารละเอียดเป็นที่สุดแต่อยู่นอกโลก นี่เป็นการสาวหาเหตุผลประกอบเป็นลำดับชั้นไป มิใช่ตำรับตำราโดยตรง แม้ในพวกเทวดากันเองก็มีอาหารละเอียดต่างกันเป็นชั้น ๆ ขึ้นไปภุมมเทวดามีอาหาร หยาบกว่าพวกเทวดาอื่น ถัดขึ้นไปชั้นยามาและอื่น ๆ ละเอียดยิ่งกว่ากันขึ้นไปทุกชั้น การกินอาหารของพวกเทวดามีอาการเหมือนเราฝันแล้วก็มีความอิ่มเอิบไปตามระยะเวลา แต่ระยะเวลานานกว่ามนุษย์ต่างกันเป็นลำดับขึ้นไป
อาหารเป็นปัจจัยให้เกิดรูป มีโอชะเป็นคำรบ 8 คือ ปฐวี อาโป เตโช วาโย วณฺโณ คนฺโธ รโ โอชา ซึ่งเรียกว่า "กลาปรูป" คือรูปเกิดจากอาหารเป็นคำ ๆ นี้จำพวกกวฬิงการาหาร
ผัสสาหาร ได้แก่ ผัสะทั้ง 6 คือ ผัสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผัสสะ แปลว่า ความกระทบ เช่น เมื่อรูปมากระทบตาก็เกิดขึ้นเรียกว่า "จักขุสัมผัส" อีก 5 อย่างก็เช่นกัน ผัสสะนี้เป็นอาหารเพราะประมวลให้เกิดเวทนาหรือปรนปรือให้เกิดเวทนา 3 ผัสสะที่เกิดจากกระทบอารมณ์ที่ดีก็ให้เกิดสุขเวทนา กระทบอารมณ์ชั่วก็ให้เกิดทุกขเวทนา อารมณ์ไม่ดีไม่ชั่วก็ให้เกิดอุเบกขาเวทนา ดังเช่นพระสารีบุตรยืนกั้นร่มให้พระศาสดาได้เป็นเวลา 7 วัน โดยไม่หิวโหย ก็เพราะผัสาหารอย่างนี้สัตว์นรกดำรงชีพรับเคราะห์กรรมอยู่ได้ก็เพราะผัสาหารทางชั่ว คนนอนหลับอยู่ได้ก็ด้วยผัสสะชนิดให้เกิดอุเบกขาเวทนา
มโนสัญเจตนาหาร ได้แก่ การคิดอ่านทางใจสมโนสัญเจตนาหารนี้เป็นอาหารประมวลมา ซึ่งภพ 3 คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ แล้วแต่เจตนา คือมุ่งไปเกาะภพใด เมื่อประกอบถูกส่วนก็ไปสู่ภพนั้น เจตนาเป็นตัวกรรมได้ในบาลีว่า "เจตนาห ภิกฺเว วทามิ" ซึ่งแปลความว่า "ดูกร ภิกษุทั้งหลายเรากล่าวว่าเจตนานั้นเองเป็นตัวกรรม คนที่ทำกรรมเป็นกุศลสุคติภพย่อมคอยท่ารับรองอยู่ และคนที่ทำกรรมเป็นอกุศล ทุคติภพก็ย่อมคอยท่ารับรองเขาอยู่เหมือนกัน"
วิญญาณาหาร วิญญาณ แปลว่า ความรู้แจ้ง ความรู้แจ้งเป็นอาหารชนิดหนึ่งเหมือนกัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหล่านี้เป็นที่รับรองของวิญญาณ วิญญาณย่อมมีรสในอารมณ์ 6 อย่าง ไม่ว่าอย่างใดอย่างหนึ่ง วิญญาณจึงเป็นอาหารประมวลให้เกิดนามรูปได้ ในคำว่า "วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ" ซึ่งแปลว่าวิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป
สัตวโลก ที่ว่าพระองค์ทรงรู้แจ้งซึ่งสัตวโลกนั้น คือพระองค์ทรงรู้แจ้งซึ่งธรรม เป็นที่มาแห่งจิตของสัตว์ทั้งหลาย
สัตว์ทั้งหลายมีอัชฌาสัย หรือความเห็นต่าง ๆ กัน เช่นจำพวกหนึ่งเห็นว่าโลกเที่ยง ไม่มียักเยื้องแปรผัน และเห็นว่า เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วเมื่อตายไปก็ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อย่างเดิม
อีกพวกหนึ่งเห็นว่า ตายแล้วขาดสูญ หมดสิ้นกันเท่านั้น ไม่มีอะไรในผู้นั้นจะมาเกิดอีก ทำดี ทำชั่ว ก็สิ้นสุดเพียงวันตาย ไม่มีบุญ ไม่มีบาปจะตามไป นองในภพหน้าที่ไหนอีก อย่างนี้เรียกว่า "ไม่รู้ซึ่งความเป็นจริงของโลก"
ส่วนพระองค์ทรงรู้จริงเห็นแจ้งซึ่งสัตวโลกว่า ไม่เป็นเช่นนั้น ที่จริงสัตวโลกทั้งหลายย่อมเป็นไปตามยถากรรม ทำดี ความดีย่อมติดตามไปสนองในภพหน้า ทำชั่ว ความชั่วย่อมติดตามไปสนองในภพหน้าเป็นเสมือนเงาตามตัวอันเรียกว่า "ยถาภูตญาณทั นะ" จึงได้ชื่อว่า "โลกวิทู" นัยหนึ่ง
"อนุสเย ชานาติ" ทรงรู้แจ้งซึ่งอนุสัย 7 ประการ คือ กามราคานุสัยภวราคานุสัย ปฏิฆานุสัย ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย มานานุสัย อวิชชานุสัย
"จริตํ ชานาติ" ทรงรู้แจ้งจริตแห่งสัตว์ทั้งหลาย 6 ประการ คือ ราคจริต โทสจริต โมหจริต วิตักกจริตสัทธาจริต พุทธิจริต
"อธิมุตฺตํ ชานาติ" ทรงรู้แจ้งนิสัยต่ำสูง และความเป็นผู้มีใจบุญความเป็นผู้มีใจบาปแห่งสัตว์ทั้งหลาย ทรงรู้แจ้งซึ่งความมีกิเลสหนาบางแห่งสัตว์ทั้งหลาย ทรงรู้แจ้งในอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลายว่า แก่อ่อนอย่างไรกล่าวคือสัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เรียกว่า "อินทรีย์ 5" คือ ความเชื่อ ความเพียร สติ สมาธิ และปัญญา แล้วก็ทรงหาอุบายโปรด ในเมื่อทรงเห็นว่าอินทรีย์แก่กล้าสมควรแล้ว
ดังเช่น วักกลิพราหมณ์เห็นพระองค์มีพระสิริโฉมอันงาม ชอบเนื้อชอบใจจนถึงขอบวชเป็นภิกษุ บวชแล้วก็เฝ้ามองดูพระสิริโฉมของพระองค์เป็นเนืองนิจพระองค์ก็ทรงรอไว้ ครั้นเมื่อเห็นว่าอินทรีย์แก่กล้าแล้วจึงทรงเริ่มหาอุบายโปรดโดยตรัสว่า "วักกลิ ท่านจะมัวมามองดูร่างกายอันเน่าเปอยนี้ไย ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นจึงจะเห็นเรา" พระวักกลิน้อยใจ ที่พระองค์ตรัสห้ามเช่นนั้น จึงอำลาจากพระองค์จะไปกระโดดภูเขาตาย ในเมื่อใกล้กระโดด พระองค์ได้เปล่งรัศมีให้เห็นประหนึ่งไปประทับอยู่เฉพาะหน้า พระวักกลิวิ่งโลดโผเข้าไปในรัศมีของพระองค์ด้วยความปีติเลื่อมใสอันแรงกล้า ก็ได้บรรลุมรรคผลในกาลบัดนั้นสมความปรารถนา แล้วก็มาเฝ้าพระบรมศาสดาโดยทางอากาศ
"สฺวกาเร ทฺวากาเร ชานาติ" อีกประการหนึ่ง พระองค์ทรงรู้แจ้งว่าสัตว์จำพวกใด มีอาการดี อาการชั่ว แก้ไหวหรือไม่ไหว มีสัทธา มีปัญญา หรือว่าหาสัทธา หาปัญญามิได้เลย
"ภัพเพ อภัพเพ ชานาติ" ประการหนึ่งทรงรู้ว่าสัตว์จำพวกใดทรงโปรดได้ จำพวกใดทรงโปรดไม่ได้ เช่นสัตว์พวกสัมมาทิฏฐิโปรดได้ จำพวกมิจฉาทิฏฐิโปรดไม่ได้
โอกาสโลก ภาพที่รับรองซึ่งกันและกัน คือ
อากาศ รับรอง ธาตุไฟ
ธาตุไฟ รับรอง ธาตุน้ำ
ธาตุน้ำ รับรอง ธาตุดิน
ธาตุดิน รับรอง ภูเขาตรีกูฏ
ภูเขาตรีกูฏ รับรอง ภูเขาสุเมรุราช
ภูเขาสุเมรุราช รับรอง ชั้นจาตุมหาราช
ชั้นจาตุมหาราช รับรอง ชั้นดาวดึงส์
ชั้นดาวดึงส์ รับรอง ชั้นยามา
ชั้นยามา รับรอง ดุสิต
ดุสิต รับรอง นิมมานรดี
นิมมานรดี รับรอง ปรนิมมิตว วัตตี
ปรนิมมิตว วัตตี รับรอง พรหมปริสัชชา
พรหมปริสัชชา รับรอง พรหมปุโรหิตา
พรหมปุโรหิตา รับรอง มหาพรหมา
มหาพรหมา รับรอง ปริตตาภา
ปริตตาภา รับรอง อัปปมาณาภา
อัปปมาณาภา รับรอง อาภัสสรา
อาภัสสรา รับรอง ปริตตสุภา
ปริตตสุภา รับรอง อัปปมาณสุภา
อัปปมาณสุภา รับรองสุภกิณหา
สุภกิณหา รับรอง เวหัปผลา
เวหัปผลา รับรอง อสัญญสัตตา
อสัญญสัตตา รับรอง อวิหา
อวิหา รับรอง อตัปปา
อตัปปา รับรองสุทัสสา
สุทัสสา รับรองสุทัสสี
สุทัสสี รับรอง อกนิฏฐา
อกนิฏฐา รับรอง อากาสานัญจายตนะ
อากาสานัญจายตนะ รับรอง วิญญาณัญจายตนะ
วิญญาณัญจายตนะ รับรอง อากิญจัญญายตนะ
อากิญจัญญายตนะ รับรอง เนวสัญญานาสัญญายตนะ
ส่วนสูง (มนุสสโลกโตปัฏฐาน) แต่มนุษย์โลกขึ้นไป ถึงชั้นจาตุมหาราชิกาได้ 42,000 โยชน์ (กายเทวดาสูง 100 เส้น ใหญ่พอสมควร อายุ 500 ปีทิพย์ นับปีของมนุษย์ได้เก้าล้านปี)
แต่จาตุมหาราชิกาขึ้นไป
ถึงดาวดึงส์ได้ 42,000 โยชน์
แต่ดาวดึงส์ขึ้นไป
ถึงยามาได้ 42,000 โยชน์
แต่ยามาขึ้นไป
ถึงดุสิตได้ 42,000 โยชน์
แต่ดุสิตขึ้นไป
ถึงนิมมานรดีได้42,000 โยชน์
แต่นิมมานรดีขึ้นไป
ถึงปรนิมมิตว วัตตีได้ 42,000 โยชน์
แต่ปรนิมมิตวสวัตตีขึ้นไป 5,508,000 โยชน์ ถึงพรหมปริสัชชาขึ้นไปอีกเท่านั้น
พรหมปุโรหิตาขึ้นไปเท่า ๆ กันดังนี้ จนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะมีระยะสูงเท่า ๆ กันดังนี้
ธาตุ 6 ขันธ์ 5 ธาตุส่วนหยาบที่มีอยู่ตามปกติ คือ
ดินหนา 240,000 โยชน์
น้ำหนา 480,000 โยชน์
ไฟหนา 960,000 โยชน์
ลมหนา 1,920,000 โยชน์
วิญญาณหนา 3,840,000 โยชน์
อากาศหนาลงไปไม่มีที่สุด
เช่น ภพ 3 นี้ อากาศที่อยู่รอบ ๆ ภพ ก็ไปจรดกับภพที่อยู่รอบ ๆ ออกไปข้างล่างจรดขอบบนของโลกันตร์ ข้างบนจรดขอบล่างของนิพพาน ทุก ๆ ระหว่างของภพเหล่านี้ มีพระพุทธเจ้ารักษาอยู่ทั้งนั้น
ธาตุเหล่านี้ ความจริงเป็นเพียงธาตุส่วนที่ เรียกว่า "โอกาสโลก"สำหรับธาตุที่เป็นส่วนขันธโลกนั้น ละเอียดลงไปยิ่งกว่านี้หลายเท่าพันทวี เพราะขันธ์นั้นเป็นธาตุที่กลั่นมาจากธาตุอีกทีหนึ่ง
เครื่องกลั่นธาตุนี้ ตั้งอยู่ในศูนย์กลางธาตุทั้ง 6 ปริมาณความใหญ่โตของเครื่องก็เต็มธาตุนั้น เมื่อเครื่องแรกกลั่นธาตุเหล่านี้แล้ว ก็เอาแต่ส่วนที่ละเอียดที่สุดไปเก็บเข้าเครื่องกลั่นที่ 2-3-4-5-6-7 ต่อไปเป็นลำดับ เมื่อเครื่องที่ 7 กลั่นเสร็จแล้ว ก็ทำการส่งธาตุที่ถูกกลั่นนั้นเข้ามาที่เครื่องศูนย์กลางของภพ 3 นี้ (การส่งธาตุนั้นส่งโดยทางอายตนะของเครื่องที่ 7 กับเครื่องในภพ 3) เมื่อเครื่องในภพ 3 นี้รับธาตุมาแล้วก็จะเอามาเข้าเครื่องสำเร็จเก็บไว้เป็นเซพทะเล เซพทะเลเวลาที่ได้ธาตุมาแล้ว เครื่องที่ศูนย์กลางภพ 3 ก็จะทำหน้าที่ประกอบเป็นขันธ์ 5 ขึ้น ประกอบได้สำเร็จพอกับปฐมวิญญาณ (กายที่จะต้องอาศัยขันธ์) ขันธ์ที่ประกอบไว้แล้วนั้นเป็นส่วนเฉพาะกายหนึ่ง ๆ ไม่มีปนเปกันส่วนดีส่วนชั่วส่วนไม่ดีไม่ชั่ว ก็มีผู้ควบคุมไว้เป็นส่วน ๆ
เวลาที่จะส่งมาเป็นกายนั้น อาศัยกายทิพย์ ที่มาถึงศูนย์กลางภพนั้นเข้าเครื่องประกอบพร้อมกับธาตุที่สำเร็จเป็นขันธ์ประจำภพแล้ว ก็จะส่งเข้ายังเครื่องที่ศูนย์กลางกายพ่อ ธาตุสำเร็จที่ส่งเข้าไปในศูนย์กลางกายของพ่อนั้นขนาดเล็กเพียงเท่า เมล็ดโพธิ์เมล็ดไทรเท่านั้น เป็นชายก็ส่งผ่านเข้าโดยทางจมูกขวา หญิงเข้าทางซ้าย เวลาที่จะออกจากศูนย์กลางกายพ่อ ไปอยู่ในศูนย์กลางกายแม่ก็อาศัยความดึงดูดของอายตนะของเครื่องที่มีอยู่ในศูนย์กลางกายแม่ รับเอามาจากศูนย์ของพ่อมาไว้ที่ขั้วมดลูกของแม่ ต่อจากนั้นก็อาศัยธาตุส่วนหยาบรักษาหล่อเลี้ยงกันต่อไป
เวลาที่กายดับ เครื่องในศูนย์กลางภพก็ดูดเอาธาตุเหล่านี้ไปเก็บไว้ตามเดิมสำหรับขันธ์ของทิพย์ก็กลั่นเอาไปจากขันธ์มนุษย์ ขันธ์ของทิพย์ก็กลั่นต่อไปเป็นของรูปพรหม, อรูปพรหม, ธรรมกาย, ต่อ ๆ กันขึ้นไปเป็นลำดับ
บทขยายความ
พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำได้อธิบายว่า โลกวิทู แปลว่า ความรู้แจ้งโลกโดยท่านยกเอา โลก 3 มีสังขารโลกสัตวโลก และโอกาสโลก มาอธิบายอย่างเป็นขั้นเป็นตอนละเอียดลออทีเดียว ซึ่งโดยสรุปก็คือ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้ ภาพความเป็นไปของสัตวโลกทั้งหมดเลย ตั้งแต่จะมีชีวิตอยู่อย่างไร กินอย่างไร อยู่อย่างไร จะตายจะเกิดอย่างไร จะคิดดีคิดชั่ว จะก่อกรรมทำเข็ญอย่างไรและต้องไปเวียนว่ายตายเกิดอย่างไร พระองค์ก็ทรงเห็นหมด และแม้แต่โลกซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสรรพสัตว์ทั้งหลาย พระองค์ก็เห็นแจ้งทะลุไปหมดเลย ว่ามันมีกี่ภพกี่ภูมิ มันเกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร เรียกว่าหมดทั้งสากลโลกนี้ไม่มีความลับอะไรจะมาปิดบังอำพรางพระองค์ได้เลย ผลที่สุดพระองค์จึงทรงสรุปได้ว่า โลกทั้งโลกนี้แท้ที่จริงก็คือคุกขังสรรพสัตว์นั่นเองขังให้สัตวโลกต้องทนทุกข์ทรมานเวียนว่ายตายเกิดกันนับภพนับชาติไม่ถ้วน
ทำไมพระองค์จึงทรงรู้แจ้งโลกได้อย่างนี้ ก็เพราะพระองค์ทรงเข้าถึงธรรมกายได้แล้วอวิชชาความมืดดำที่เคยครอบงำห่อหุ้มพระทัยของพระองค์ก็ถูกทำลายหมดสิ้นไปแล้วมันก็เลยสว่างไปหมด ไม่มีความมืดเจือแม้แต่นิดเดียวสว่างจนเห็นแจ้งหมดทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรจะมาซ่อนเร้นอำพรางพระองค์ได้อีกแล้ว
นี่เรียกว่า "รู้เพียงหนึ่งก็จะรู้ทั้งหมด" รู้อะไร ก็รู้วิธีทำใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายเท่านั้นแหละ รู้แค่นี้ แล้วก็ทำหยุดในหยุดเรื่อยไปจนกระทั่งเข้าถึงธรรมกาย พอเข้าถึงธรรมกายได้เท่านั้น ความรู้แจ้งทุกสรรพสิ่งในโลกก็เกิดขึ้นตามมาได้ในที่สุด
เพราะฉะนั้น ที่มาเบื้องต้นแห่งความเป็น โลกวิทู ผู้รู้แจ้งโลกของพระองค์ก็คือ การทำสมาธิให้พระทัยหยุดนิ่งสนิทอย่างถาวรมั่นคงที่ศูนย์กลางกายนั่นเอง
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 003 พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree