พระสังฆคุณ

วันที่ 13 มิย. พ.ศ.2560

พระสังฆคุณ

พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , หลวงพ่อธัมมชโย , พระสังฆคุณ , ประเภทของสาวก , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , อิทธิบาท 4  , อิติปิโส ภควา , สุปฏิปันโน

พระธรรมเทศนา
      สุปฏิปนฺโน ท่านปฏิบัติดีแล้ว คือปฏิบัติไปตามแนวมัชฌิมาปฏิปทาเป็นทางสายกลาง   ตามที่สมเด็จพระบรมศาสดาดำเนินมาแล้ว ไม่หย่อนเกินไปไม่ตึงเกินไป จึงได้ชื่อว่าปฏิบัติดี ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่ตรัสไว้ดีแล้วตามทางสายกลาง

    อุชุปฏิปนฺโน ปฏิบัติแล้วตรงคือปฏิบัติมุ่งตรงต่อพระนิพพานไม่วอกแวกไปทางอื่น ปฏิบัติเพื่อละโทษคดโกงทางกาย วาจา ใจ

          ญายปฏิปนฺโน ปฏิบัติมุ่งเพื่อรู้ธรรมที่จะออกจากภพ 3 โดยแท้

        สามีจิปฏิปนฺโน ปฏิบัติอย่างดีเลิศ เพราะท่านปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงพระนิพพานจริงๆไม่ใช่เพื่อเหตุอื่น จึงสมควรนับว่าเป็นการปฏิบัติอย่างดีเลิศ


บทขยายความ
     1.สุปฏิปันโน แปลว่า ท่านตั้งใจปฏิบัติดี คือปฏิบัติตาม พระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด ซึ่งข้อปฏิบัติทั้งหลายเหล่านั้นก็เป็นไปตามแนวมัชฌิมาปฏิปทา คือข้อปฏิบัติที่เป็นกลาง ไม่ถึงกับตึงและหย่อนจนเกินไป

       2. อุชุปฏิปันโน แปลว่า ท่านตั้งใจปฏิบัติตรง คือขั้นต้นก็ปฏิบัติเพื่อกำจัดความ คดโกงนอกลู่นอกทางทั้งทางกาย วาจา และใจ จากนั้นก็มุ่งตรงต่อพระนิพพาน แม้จะล่วงเลยข้ามไปกี่ภพกี่ชาติท่านก็ไม่เปลี่ยนใจ ยังมุ่งตรงต่อพระนิพพานอยู่นั่นเอง

       3. ญายปฏิปันโน แปลว่า ท่านตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้รู้เห็นธรรมสำหรับจะนำพาตัวท่าน  ออกพ้นไปให้ได้จากภพ 3 คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ ซึ่งเปรียบเสมือนคุกใหญ่ใช้กักขังสัตว์โลก

     4.สามีจิปฏิปันโน แปลว่า ท่านตั้งใจปฏิบัติอย่างเหมาะสมดีเลิศ ในธรรมวินัยทั้งน้อยใหญ่ คือไม่หละหลวม ดูเบาแม้ในธรรมเล็กน้อย และยอมทุ่มเทเอาชีวิตเป็นเดิมพันในธรรมที่ปฏิบัติได้โดยยาก เช่น การเข้าฌาน เป็นต้น


พระธรรมเทศนา

อาหุเนยฺโย จึงเป็นผู้ควรเคารพสักการะ ควรรับจตุปัจจัยของที่เขานำมาสักการะถวายแม้จากแดนไกล

ปาหุเนยฺโย จึงเป็นผู้ควรต้อนรับ แม้ด้วยของประณีตที่เตรียมไว้รับแขก

ทกฺขิเนยฺโย จึงเป็นผู้ควรรับของที่เขาทำบุญ

อฺชลีกรณีโย จึงสมควรกราบไหว้

อนุตฺตร ปฺุญกฺเขตฺตํ โลกสฺสะ เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศไม่มีอื่นจะดีกว่าอีกแล้ว ใครทำบุญกับท่านย่อมได้บุญเยอะ


บทขยายความ
       ด้วยความทุ่มเทประกอบเหตุ คือ มรรคมีองค์ 8 เป็นอย่างดี โดยมีชีวิตของท่าน เป็นเดิมพันครั้งแล้วครั้งเล่า ปีแล้วปีเล่า ชาติแล้วชาติเล่า จนกระทั่งสามารถทำใจให้หยุดให้นิ่ง ณ ศูนย์กลางกาย เข้าถึงธรรมกายแล้วตรัสรู้อริยสัจทั้ง 4 ประการ และประหารกิเล ได้เด็ดขาดมาตามลำดับ ๆ จึงเป็นผลส่งให้ท่านนอกจากจะบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างยิ่งตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทั้งกายทั้งใจของท่านยังเป็นเสมือนโรงงานผลิตบุญเคลื่อนที่อย่างใหญ่หลวงหากใครได้บุญจากท่านแล้วย่อมเป็นเหตุให้เกิดความสุขอย่างยิ่งทั้งในชาตินี้ และชาติต่อ ๆ ไปรวมทั้งยังจะเป็นปัจจัยให้บรรลุธรรมกายตามท่านได้โดยง่ายอีกด้วย

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงสอนให้ชาวโลกทั้งหลาย รู้จักตักตวงบุญจากท่านให้ได้เต็มที่ ด้วยการประพฤติปฏิบัติอย่างเหมาะสม 5 ประการ คือ

       1. อาหุเนยโย ต้องรู้ว่าท่านเป็นผู้ควรเคารพสักการะอย่างยิ่งหากได้พบท่าน ณ ที่ใดๆ ให้รีบนำจตุปัจจัยที่ประณีตเหมาะสมมาสักการะ คือถวายบำรุงท่าน เป็นการช่วยหล่อเลี้ยงกายเนื้อของท่านให้ได้รับความสุข ความสะดวกพอสมควรแล้ว ท่านจะได้เมตตาชี้แนะอบรมสั่งสอนให้

     2. ปาหุเนยโย ต้องรู้ว่าท่านเป็นผู้ควรต้อนรับยิ่งกว่าแขกผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ที่นั่ง ข้าว น้ำ อาหาร และความสะดวกสบายใด ๆ ที่ควรแก่ท่านต้องรีบจัดหามาต้อนรับ เพราะนี่เป็นโอกาสทอง ของเราแล้วที่จะได้ทำบุญใหญ่และได้ฟังธรรมจากท่านโดยไม่ต้องไปไกลถึงวัดของท่าน

       3. ทักขิเนยโย ต้องรู้ว่าท่านคือผู้ควรอย่างยิ่งที่จะรับของที่เราเตรียมไว้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เพราะท่านคือผู้ที่สามารถรู้เห็น อย่างทะลุปรุโปร่งว่า ผู้ที่เราต้องการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้นั้น บัดนี้ตายแล้วไปบังเกิดใหม่ ณ ภพภูมิใด ๆ เมื่อเราทำบุญกับท่านแล้ว ท่านจะได้แจ้งข่าวการบุญการกุศลของเราให้แก่ผู้ที่ล่วงลับทราบโดยตรงเขาเหล่านั้น เมื่อทราบชัดเจนย่อมอนุโมทนาถูกต้อง และได้รับผลบุญใหญ่ทันทีตามเจตนารมณ์ของเรา

       4. อัญชลีกรณีโย ต้องรู้ว่าท่านเป็นผู้ควรกราบไหว้อย่างยิ่ง เพราะเมื่อเรากราบไหว้ท่านด้วยความเต็มใจ ย่อมเป็นการเปิดใจตนเองให้พร้อมที่จะน้อมรับคำสั่งสอนที่อุดมไปด้วยอมตธรรมสามารถน้อมนำใจให้หยุดนิ่ง เข้าถึงธรรมกายและบรรลุอริยธรรมตามท่านไปได้โดยง่าย แม้นิสัยบารมียังอ่อนอยู่ไม่สามารถจะบรรลุธรรมในขณะนั้น ก็สามารถน้อมนำให้บังเกิดศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย เป็นการปิดอบายให้กับตนเองอย่างชาญฉลาดและมั่นคง

      5. อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ ต้องรู้ว่าท่านผู้นี้แหละเป็นเนื้อนาบุญอันเลิศไม่มีศาสดาใด ๆ ในโลกจะยิ่งใหญ่กว่าท่านอีกแล้ว เพราะท่านสามารถปราบกิเลสได้เด็ดขาดด้วยธรรมกายของท่าน ทำให้ทั้งกายทั้งใจของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง และสามารถผลิตกระแสบุญได้อย่างมากมายมหาศาล ไม่มีที่สิ้นสุด ดวงอาทิตย์สามารถผลิตแสงสว่างและความร้อนอย่างต่อเนื่องและมากมายมหาศาลไม่มีประมาณฉันใด พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมสามารถผลิตบุญและความดีทั้งหลายอย่างมากมายมหาศาลและต่อเนื่องไม่มีประมาณยิ่งกว่าฉันนั้นดวงอาทิตย์แม้จะให้ความร้อนและแสงสว่างได้มากมายมหาศาลก็เฉพาะในเวลากลางวันแต่พระอริยเจ้าท่านให้บุญและความดีแก่ชาวโลกได้ทั้งกลางวันกลางคืนไม่มีว่างเว้น

      หากบุญเปรียบเหมือนกระแสไฟฟ้า ใครทำบุญกับพระอริยเจ้า ก็เหมือนเอาปลักบุญขนาดยักษ์ไปต่อกระแสบุญจากท่านเข้ามาในตัว ย่อมได้บุญมาก

      หากบุญเปรียบเหมือนน้ำในมหาสมุทร ใครทำบุญกับพระอริยเจ้าก็เหมือนเอาท่อบุญขนาดยักษ์ไปสูบเอากระแสบุญมาจากท่าน ย่อมได้บุญมาก

      หากบุญเปรียบเหมือนพืชพันธุ์ธัญญาหาร ซึ่งต้องหว่าน ต้องปลูก จึงจะบังเกิดขึ้นได้ใครทำบุญกับพระอริยเจ้าก็เหมือนกับหว่านหรือปลูกพืชพันธุ์บุญลงไปในเนื้อนาบุญชั้นเลิศย่อมได้บุญไม่มีที่สุดประมาณ


บทสรุปพระสังฆคุณ

พระธรรมเทศนา
        นี่เป็นเรื่องสังฆคุณเมื่อเรารู้แนวปฏิบัติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสาวกดังกล่าวมาข้างต้นนี้แล้ว เรามีหน้าที่จะต้องพิจารณาไตร่ตรองดูว่าเราจะทำอย่างไร  เราเพียงท่องจำ "อิติปิโส ภควา" ไว้กระนั้นหรือ หรือจะพยายามนึกคำแปลไว้ให้เข้าใจด้วย และระลึกถึงพระคุณเหล่านี้เนือง ๆ ดังนี้หรือเราไม่พึงกระทำอะไรยิ่งไปกว่านี้หรือ ในปัญหาเหล่านี้ขอให้เราส่งใจไประลึกถึงพระโอวาทในเรื่องบูชา บูชามี 2 อย่าง อามิ บูชา คือ บูชาด้วยเครื่องสักการะอย่างหนึ่ง ปฏิบัติบูชา คือ บูชาด้วยการปฏิบัติอย่างหนึ่ง ในการบูชาทั้ง 2 อย่างนี้ พระองค์ทรงสรรเสริญว่าปฏิบัติบูชาดีกว่าอามิสบูชา เมื่อคิดทบทวนดูเหตุผลในพระโอวาทข้อนี้แล้ว เราจะเห็นได้ชัดทีเดียวว่าพระองค์มีพระประสงค์จะให้พวกเรามีความเพียรพยายามปฏิบัติเจริญรอยตามพระองค์มากกว่าที่จะมามัวบูชาพระองค์อยู่ หาไม่พระองค์จะตรัสเช่นนั้นทำไม และโดยนัยอันนี้เองจึงเป็นที่เห็นได้ว่า แม้เวลานี้จะเป็นกาลล่วงมาช้านานจากที่พระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ก็ไม่มีอะไรเป็นข้อห้ามว่า ผู้ที่ปฏิบัติตามจะไม่ได้รับผลอย่างที่ท่านได้รับ นอกจากคำกล่าวอ้างของคนเกียจคร้าน ข้อนี้มีคำว่า "อกาลิโก" ในบทธรรมคุณนี้เอง เป็นหลักฐานยันอยู่ว่าธรรมของพระองค์ผู้ใดปฏิบัติตามย่อมจะเกิดผลทุกเมื่อ ไม่มีขีดคั่น พระอริยสาวกทั้งหลายนั้นฐานะเดิมก็เป็นมนุษย์ปุถุชนนี้เอง แม้องค์ มเด็จพระบรมศา ดาก็เช่นกัน มิใช่เทวดา อินทร์ พรหม ที่ไหน แต่ที่เลื่อนขึ้นสู่ฐานะเป็นพระอริยะได้ก็เพราะ

       การปฏิบัติเท่านั้น แนวปฏิบัติอย่างไหนถูกพระองค์สอนไว้ละเอียดหมดแล้วปัญหาจึงเหลือแต่ว่าพวกเราจะปฏิบัติกันจริงหรือไม่เท่านั้น

       ดังที่พรรณนามานี้ ก็จะเห็นคำตอบในปัญหาข้างต้นได้แล้วว่า เพียงแต่จะท่องจำ อิติปิโส ภควาฯ ไว้ หรือเพียงแต่ระลึกถึงพระคุณเหล่านั้นไว้ จะยังไม่พอแก่พระประสงค์ของพระองค์ กิจที่เราควรทำอย่างยิ่งจึงอยู่ที่การปฏิบัติของท่านตามแนวปฏิบัติของท่าน

       ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา นี้ เรียกว่า "อิทธิบาท 4" เป็นหัวใจแห่งความสำเร็จทั้งมวล แปลอย่างจำได้ง่ายว่า ปักใจ บากบั่น วิจารณ์ ทดลอง ไม่ว่าจะทำกิจการใด ถ้าประกอบด้วย 4 อย่างนี้ เป็นสำเร็จทั้งสิ้น ว่าโดยเฉพาะในการบำเพ็ญภาวนา

1) ต้องปักใจรักการนี้จริง ๆ ประหนึ่งชายหนุ่มรักหญิงสาว ใจจดจ่อต่อหญิงคู่รักฉะนั้น

2) ต้องบากบั่นพากเพียรเอาจริงเอาจัง

3) วิจารณ์ตรวจดูการปฏิบัติให้ถูกต้องตามแนวสอนของอาจารย์ให้ดีที่สุด

4) ทดลองในที่นี้ได้แก่หมั่นใครครวญสอดส่องดูว่า วิธีการที่ทำไปนั้นมีอะไรขาดตกบกพร่องบ้าง รีบแก้ไข อย่างนั้นไม่ดีเปลี่ยนอย่างนี้ ลองดูใหม่ เช่น นั่งภาวนาในที่นอนมักจะง่วง ก็เปลี่ยนมานั่งเสียที่อื่น เป็นต้น

      ข้อสำคัญให้ยึดแนวสอนเป็นหลักไว้ อย่าออกนอกทาง 4 อย่างนี้เรียกว่า "อิทธิบาท เป็นเครื่องที่จะช่วยให้เกิดความสำเร็จในกิจทั้งปวง"


บทขยายความ
 จากการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เท่ากับเป็นการยืนยันว่าการที่เราได้กราบไหว้บูชาพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ด้วยใจที่ซาบซึ้งตระหนักในพระคุณของท่าน และเคารพในตัวท่านเป็นนักหนา หรือกระทั่งการที่เราเอาทองคำหนักตั้ง 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัมมาแกะสลักมาหล่อเป็นรูปเหมือนเพื่อบูชาคุณท่านนั้น ก็ดูเหมือนว่ายังเป็นการประกาศคุณของท่านได้น้อยเกินไป เมื่อเทียบกับสิ่งที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำได้ทำไว้ให้กับพวกเรา

      เพียงพระคุณที่ท่านได้ทุ่มเทชีวิตย้อนกลับไปค้นเอาวิธีการปฏิบัติธรรม เพื่อเข้าถึงธรรมกายกลับมา เป็นผลให้ชาวโลกสามารถปราบกิเลสที่ทั้งหมักดอง ห่อหุ้ม ครอบงำ กัดกร่อนบีบคั้น บังคับใจจนสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ พ้นจากความทุกข์ในการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารได้เราก็ยากที่จะหาสิ่งใดที่มีคุณค่าเพียงพอที่จะตอบแทนพระคุณของท่านได้ตรงตามความรู้สึกตรงตามจิตสำนึกที่เราซาบซึ้ง

       แต่ด้วยกำลังสติปัญญาที่เราพอมีอยู่ ก็พอจะทำให้เรามองออกว่า การจะบูชาคุณของท่านในยามที่ท่านได้ล่วงลับไปแล้วได้อย่างดีที่สุดก็คือ การที่ตัวเราเอง ผู้อยู่ในฐานะที่เป็นลูกศิษย์หลานศิษย์ของท่าน ตั้งใจฝึกฝน พากเพียร ทุ่มเท จนสามารถปฏิบัติธรรมได้เข้าถึงธรรมกายภายใน และอาศัยธรรมกายที่เข้าถึงไปปราบกิเลสที่หมักดอง ห่อหุ้ม ครอบงำ กัดกร่อน บีบคั้นใจของเราได้หมดสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ

       เพราะสิ่งเหล่านี้ในสมัยที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำท่านมีชีวิตอยู่นั้น ท่านให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ยิ่งกว่าชีวิตของท่านเองเสียอีก จนปรากฏเป็นประวัติศาสตร์ชีวิตของท่านว่า แม้ว่าบางครั้งท่านต้องได้รับทุกขเวทนาเพราะอาพาธ ล้มป่วยลง ท่านก็ยังไม่ยอมที่จะหยุดพร่ำ อนบรรดาลูกศิษย์ลูกหาของท่านแม้แต่น้อย ด้วยปรารถนาที่จะเห็นลูกศิษย์ได้เข้าถึงความละเอียดที่ทับทวีเข้าไปตามลำดับ ๆ ของธรรมกายภายใน

      เพราะฉะนั้น การบูชาคุณของท่านที่ประเสริฐและทรงคุณค่าที่สุดในโลกก็คือเราทุกคนต้องพากเพียรปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงธรรมกายให้ได้ส่วนใครที่ปฏิบัติจนได้เข้าถึงธรรมกายภายในแล้ว ก็จงเพียรพยายามฝึกให้ละเอียดลุ่มลึกยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนกว่าจะไปถึงที่สุดของความรู้ภายในนั้น ขณะเดียวกัน ก็ช่วยกันแผ่ขยายคำสอนของท่านให้กว้างไกลขจรขจายออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ให้วิธีการปฏิบัติธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านย้อนไปค้นไปคว้ากลับคืนมาด้วยชีวิต ได้เป็นที่รู้จักและปฏิบัติตามกันไปถ้วนทั่วทุกคนในโลกเช่นนั้นแหละ จึงจะเป็นการบูชาพระคุณของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำอย่างสูงสุด

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 003 พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.03735595146815 Mins