สิ่งนั้นมีมากดุจเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาและดุจน้ำในมหาสมุทร
บางสำนักถูกกล่าวหาว่าสอนพระนิพพานที่เป็นอัตตา เพราะสอนว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ปรินิพพานไปแล้วในอดีต ยังอยู่ในแดนนิพพาน มีจำนวนมากกว่าเม็ดทรายในมหาสมุทร เป็นการบิดเบือนพระไตรปิฎก เป็นการจ้วงจาบพระธรรมวินัย
แต่ปรากฏว่า ในพระไตรปิฎก มีพระพุทธพจน์ที่มีลักษณะเปรียบเทียบพระตถาคตที่ปรินิพพานไปแล้ว กับเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา และกับปริมาตรของน้ำในมหาสมุทรดังนี้
วันหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลได้สนทนาธรรมกับนางเขมาภิกษุณี และได้ตรัสถามปัญหาสำคัญที่คนมักจะถามกันอยู่ เสมอว่า "โหติ ตถาคโต ปรํ มรณาฯ" เป็นต้น
แปลว่า เบื้องหน้าแต่ตาย พระตถาคตยังมีอยู่หรือ ไม่มีอยู่หรือ มีอยู่ด้วย ไม่มีอยู่ด้วยหรือ มีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่ หรือ
นางเขมาภิกษุณีทูลตอบว่า "พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงตอบปัญหาเหล่านี้" พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามว่า "เพราะเหตุใด" นางเขมาภิกษุณียังไม่ตอบคำถามนั้นโดยตรง แต่ย้อนถาม พระเจ้าปเสนทิโกศลก่อน เพื่อเป็นการปูทางเดินไปสู่คำตอบในขั้นสุดท้าย นางถามว่า
อตฺถิ เต โกจิ คณโก วา มุทฺทิโก วา สงฺขายโก วา โย ปโหติ คงฺคาย วาลิกํ คเณตุํ เอตฺตกา วาลิกา อิติ วา ฯเปฯ เอตฺตกานิ วาลิกสตสหสฺสานิ อิติ วาติฯ
แปลว่า พระองค์มีนักคำนวณ หรือนักประเมิน หรือนักประมาณอยู่หรือไม่ ที่จะคำนวณเม็ดทรายแห่งแม่น้ำคงคาได้ว่า
เม็ดทรายมีเท่านี้ หรือว่า
เม็ดทรายมีเท่านี้ร้อย หรือว่า
เม็ดทรายมีเท่านี้พัน หรือว่า
เม็ดทรายมีเท่านี้แสน ?
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสตอบว่า ไม่มีนักคำนวณที่สามารถนับเม็ดทรายแห่งแม่คงคาได้
เท่านั้นยังไม่พอ นางเขมาภิกษุณียังถามย้ำต่อไปอีกว่า พระองค์มีนักคำนวณ หรือนักประเมิน หรือนักประมาณ ที่สามารถคำนวณน้ำในมหาสมุทรได้ว่า
มีเท่านี้ขัน (อาฬหกะ) ?
มีเท่านี้ร้อยขัน หรือว่า
มีเท่านี้พันขัน หรือว่า
มีเท่านี้แสนขัน ?
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสตอบว่า "ไม่มีนักคำนวณคนใด ที่จะคำนวณน้ำในมหาสมุทรออกมาเป็นขัน ๆ ได้" นางเขมาภิกษุณี ทูลถามว่า "เพราะเหตุใดจึงคำนวณไม่ได้" พระเจ้าปเสนทิโกศล ตรัสตอบว่า "เพราะมหา มุทรล้ำลึกประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้ยากยิ่ง" พระนางเขมาภิกษุณีได้ทูลตอบ ในลักษณะสรุปประเด็นสำคัญว่า
เอวเมว โข มหาราช เยน รูเปน ตถาคตํ ปฺาปยมาโน ปฺเยถฯ ตํ รูปํ ตถาคตสฺส ปหินํ อุจฺฉินฺนมูลํ ตาลาวตฺถุกตํ อนภาวงฺคตํ อายตึ อนุปฺปาทธมฺมํฯ รูปสงฺขยาวิมุตฺโต โข มหาราช ตถาคโต คมฺภีโร อปฺปเมยฺโย ทุปฺปริโยคาฬฺโหฯ เสยฺยถาปิ มหาราช มหาสมุทฺโทฯ
แปลว่า "ข้าแต่มหาราชเจ้า เช่นเดียวกันนั้นแล บุคคล เมื่อจะบัญญัติว่า ตถาคตพึงบัญญัติด้วยรูปใด รูปนั้น พระตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากตัดขาดแล้ว ทำให้เป็นดุจตอต้นตาลถึงความเป็นสภาพ ไม่มีอยู่ มีความไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา
ข้าแต่มหาราชเจ้า ตถาคตพ้นแล้วจากการนับว่าเป็นรูป เป็น ภาพล้ำลึกประมาณไม่ได้เข้าใจได้ยากเปรียบเหมือนมหาสมุทรนั้นแหละ มหาราชเจ้า"
ต่อจากนั้น นางเขมาภิกษุณีก็ได้กล่าวถึงการที่พระตถาคตละขันธ์ที่เหลืออีก 4 อย่างคือ เวทนาสัญญาสังขาร วิญญาณ พ้นจากการนับว่าเป็น เวทนาสัญญาสังขาร วิญญาณเป็น ภาพล้ำลึก แบบเดียวกับกรณีของการละรูป
ต่อมาภายหลัง พระเจ้าปเสนทิโกศล คล้าย ๆ กับจะยังไม่แน่พระทัยว่า คำตอบที่พระองค์ได้ฟังจากเขมาภิกษุณีนั้น จะถูกต้องหรือไม่ เมื่อได้โอกาสจึงได้ทูลถามปัญหาเดียวกันนั้นกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรากฏว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทานคำตอบแบบเดียวกับคำตอบของนางเขมาภิกษุณีแบบคำต่อคำทีเดียว จนกระทั่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล ต้องทรงเปล่งพระอุทาน ออกมาว่า
"อจฺฉริยํ ภนฺเต อพฺภูตํ ภนฺเต ยตฺรหิ นาม สตฺถุ เจว สาวิกาย จ อตฺเถน อตฺโถ พยฺชเนน พยฺชนํ สงฺสนฺทิสฺสติ สเมสฺสติ น วิหายิสฺสติฯ"
"อัศจรรย์จริง พระเจ้าข้า ไม่น่าเป็นได้ พระเจ้าข้า คือข้อที่คำพูดของพระศาสดา (ครู) และของพระสาวิกา (ศิษย์) จะปรากฏสอดคล้องกัน เข้ากันได้ ไม่ขัดแย้งกันเลย แบบใจความต่อใจความ แบบตัวอักษรต่อตัวอักษรเช่นนี้"
ในพระพุทธพจน์บทนี้ ก็เช่นเดียวกับบทอื่น ที่ยืนยันว่า เมื่อพระอรหันต์หรือพระตถาคตสิ้นชีพดับขันธ์ลง ขันธ์ 5 เท่านั้นดับไปอย่างสิ้นเชิง แต่มิใช่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างสิ้นสุดลงแค่นั้น ถ้าสิ้นสุดลงแค่นั้น พระองค์ก็น่าจะยืนยันแบบนั้น ให้ชัดเจนลงไปเลย แต่พระองค์หาได้ทำเช่นนั้นไม่ ยังตรัสคล้ายกันว่า ยังมีอะไรบางอย่างเหลืออยู่ แต่สิ่งนั้นลึกซึ้ง ประมาณมิได้ยากที่จะรู้ ยากที่จะเห็นสงบ ระงับ ประณีต เป็นต้น ยิ่งกว่านั้นยังทรงนำเอาลักษณะที่ประมาณไม่ได้ของสิ่งนั้น ไปเปรียบเทียบกับ เม็ดทรายแห่งแม่คงคา และน้ำในมหาสมุทรอีกด้วย
แต่ถึงจะเป็นสิ่งที่ประณีตล้ำลึกหยั่งถึงได้ยากเพียงใด พระพุทธองค์ก็ตรัสยืนยันว่า คนบางพวกยังอาจรู้ได้ บางพวกก็ไม่สามารถรู้ได้ ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า
"ธรรมนี้ เป็นธรรมลุ่มลึก ยากที่จะเห็น ยากที่จะรู้ งบ ระงับ ประณีต ไม่ใช่ธรรมที่จะหยั่งถึงได้ด้วยตรรกะ ผู้เป็นบัณฑิตเท่านั้น จึงจะรู้
ธรรมนั้น อันท่านผู้มีความเห็นเป็นอย่างอื่น มีความชอบใจเป็นอย่างอื่น มีความพอใจเป็นอย่างอื่น มีความเพียรในทางอื่น อยู่ในสำนักของอาจารย์อื่น รู้ได้โดยยาก"
ตอนสุดท้าย พระพุทธองค์ทรงเตือนไว้อย่างชัดเจนว่า เราไม่เห็น คนอื่นเขาอาจจะเห็นอย่าเพิ่งไปประณามเขาว่า งมงาย
ชื่อต่าง ๆ ของนิพพานในฐานะเป็นอายตนะอันหนึ่งในพระไตรปิฎกมีการเรียกนิพพานด้วยชื่อต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 30 ชื่อ บางชื่อ ก็แสดงว่า นิพพานมีลักษณะเป็นอายตนะอันหนึ่ง เช่น
ปารํ เป็นฝัง หมายความว่า เวลานี้สัตว์ทั้งหลายยังลอยคออยู่ในทะเลทุกข์ แต่เมื่อใดบรรลุถึงนิพพาน เมื่อนั้นก็พ้นทุกข์ถึงฝังอันปลอดภัย พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
ปารํ จ โว ภิกฺขเว เทเสฺสามิ ปารคามิญฺจ มคฺคํ ตํ สุณาถฯ แปลว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแ ดงฝัง (ข้างโน้น) และหนทางไปสู่ฝังแก่เธอทั้งหลาย ขอเธอทั้งหลายจงฟังข้อนั้น"
ทีปํ เป็นเกาะ ธรรมดาเกาะในทะเล เมื่อเรืออับปางคนว่ายน้ำเข้าถึงเกาะแล้วย่อมปลอดภัย ดุจบรรลุถึงนิพพานแล้ว ย่อมปลอดภัยจากทุกข์ทั้งปวง
เสณํ เป็นถ้ำ คือเป็นที่หลบภัยอันมั่นคง
ตาณํ เป็นเครื่องป้องกัน เป็นเขื่อนป้องกันภัยคือ ทุกข์
อนฺตํ เป็นที่สุดแห่งทุกข์ทั้งปวง
สรณํ เป็นที่พึ่ง เมื่อถึงนิพพานแล้ว ก็ถึงที่พึ่งอันปลอดภัยจากทุกข์ทั้งปวง
ปรายนํ เป็นที่ไปในเบื้องหน้า นามนี้น่าสนใจมาก เพราะแสดงให้เห็นว่า อนุปาทิเสสนิพพานนั้น จะต้องสิ้นชีพดับขันธ์ก่อน จึงจะบรรลุถึงได้ เป็นธรรมชาติที่แยกอยู่ต่างหากจากชีวิตนี้ เพราะถ้ามีอยู่ในชีวิตนี้ ก็ต้องเป็นนิพพานแบบจิตวิทยา พระพุทธองค์คงจะต้องใช้ศัพท์ว่า ทิฏฐธมฺมํ แต่กลับใช้คำว่า ปรายนํ เป็นที่ไปในเบื้องหน้า ซึ่งเป็นศัพท์ตรงกันข้ามกับทิฏฐธมฺม
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 004 คู่มือพุทธมามกะ
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree