พระจุนทเถระผู้ปรารถนาดี
พระจุนทะเป็นพระเถระรูปหนึ่งที่มีความปรารถนาดีต่อวงการพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ท่านเป็นน้องชายของพระสารีบุตร ข้อความในสามคามสูตร ในมัชฌิมนิกายอุปริปัณณาสก์ (145/149) แสดงว่า ครั้งหนึ่ง เมื่อนิครนถนาฏบุตรสิ้นบุญไปใหม่ ๆ ที่เมืองปาวา พระจุนทะได้เห็นความแตกแยก ความขัดแย้ง และระส่ำระสายในหมู่สาวกของนิครนถนาฏบุตรที่ขัดแย้งกันในคำสอนของศาสดาของตนเอง จึงได้เข้าไปเล่าเหตุการณ์ให้พระอานนท์ฟังแสดงความเป็นห่วงความมั่นคงแห่งพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์ พระอานนท์ฟังเรื่องแล้วเห็นด้วย จึงได้พาไปเฝ้าพระศาสดาทูลเรื่องให้ทรงทราบ และแสดงความเป็นห่วงว่า ขอการทะเลาะวิวาทอย่างนั้นอย่าเกิดมีในหมู่พระสาวกของพวกเรา เพราะไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของพหูชน เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
พระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า มีการขัดแย้งในธรรมที่พระองค์ตรัสรู้แล้วแสดงให้ฟังหรือไม่ เช่น ในหลักธรรมเกี่ยวกับสติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 มรรค 8
พระอานนท์ก็ทูลว่าไม่มี แล้วจึงทรงแนะว่าสาเหตุแห่งการวิวาทมี 6 อย่าง
1) โกรธ - ผูกโกรธ
2) ดูถูกผู้อื่น - ตีเสมอ
3) อิจฉา - ตระหนี่
4) โอ้อวด - เจ้ามายา
5) ปรารถนาลามก - เห็นผิด
6) ถือแต่ความเห็นของตนอย่างแน่น - ไม่สละคืน
เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมไม่เคารพในพระรัตนตรัย ไม่เคารพในการศึกษา ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท ก่ออธิกรณ์ทั้ง 4 ขึ้น จะระงับได้ก็โดยวิธีการ 7 อย่างที่เรียกกว่า วิธีระงับอธิกรณ์คือ
1. ระงับต่อหน้า 5. เอาเสียงข้างมาก
2. ให้สติ 6. ลงโทษคนกลับกลอก
3. ให้แก่คนบ้า 7. แบบประนีประนอม
4. ปรับตามรับสารภาพ
แล้วทรงแสดงหลักที่จะทำให้สามัคคีกัน 6 ประการ (สาราณียธรรม) คือ
1) ทำอะไรในระหว่างเพื่อนนักบวชก็ทำด้วยเมตตา
2) พูดอะไรในระหว่างเพื่อนนักบวชก็พูดด้วยเมตตา
3) คิดอะไรในระหว่างเพื่อนนักบวชก็คิดด้วยเมตตา
4) มีลาภอะไรเกิดขึ้นก็แบ่งปัน ไม่บริโภคคนเดียว
5) มีศีลและระเบียบเสมอกัน
6) มีทิฏฐิถือความเห็นเสมอกันตรงกัน
นี่คือความหวังดีของพระจุนทะ จนทำให้พระพุทธองค์แสดงแนวทางแห่งการระงับความขัดแย้ง และให้เกิดสามัคคีไว้
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 005 พระไตรปิฎกเบื้องต้น
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree