เรือข้างกระดาน
จากหนังสือประวัติ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายของ มูลนิธิธรรมกายธันวาคม ๒๕๓๖ หน้าที่ ๑๕ กล่าวว่า
"เมื่อท่านอายุได้ ๑๔ ปี โยมบิดาได้ถึงแก่กรรมลงท่านจึงควบคุมดูแลการ ค้าแทนกิจการในขณะนั้น มีเรือบรรทุกข้าวข้างกระดานใหญ่ ๒ ลำ พร้อมทั้งลูกเรือหลายคน ล่องเรือค้าข้าวระหว่างสองพี่น้องกับกรุงเทพ เดือนละ ๑-๓ ครั้ง เรื่อยมา......"
ตามรอยหลวงพ่อวัดปากน้ำตอนนี้ จึงขอเสนอให้ทำความรู้จักกับเรือข้างกระดาน ที่ท่านใช้สำหรับบรรทุกข้าวในครั้งนั้น
สมัยก่อนเรือที่ใช้สำหรับบรรทุกข้าว ก็มีเรือกระแซงและเรือข้างกระดานนี้แหละ เรามารู้จักกับเรือกระแซงกันก่อน
เรือกระแซงเป็นเรือต่อ ไม่ใช่เรือขุด
เรือต่อ คือ เรือที่เอาไม้แผ่นมาต่อประกอบกันเป็นเรือ
เรือขุด คือ เรือที่ขุดจากไม้ทั้งต้นเป็นรูปเรือ
เรือกระแซงเป็นเรือต่อขนาดใหญ่ส่วนใหญ่จะทำด้วยไม้สัก หัวและซ้ายเรือมีขนาดเล็ก ตรงกลางป่อง ท้องเรือกลม มีหลายขนาด ใช้ถ่อก็ได้ แจวก็ได้สมัยนี้มีเรือยนต์ก็ใช้เรือยนต์ผูกเรือกระแซงได้ทีเดียวหลายลำ
ที่เรียกว่าเรือกระแซง ก็เพราะเดิมใช้ใบเตย หรือใบจากนำมาเย็บเป็นแผงใช้เป็นประทุนสำหรับบังแดดบังฝน เดี๋ยวนี้เปลี่ยนมาเป็นใช้สังกะสีแทน
เรือประเภทนี้ใช้บรรทุกข้าวสาร ข้าวเปลือก จึงเรียก กันว่า "เรือข้าว" อีกชื่อหนึ่ง บางครั้งก็ใช้บรรทุกหิน ทราย ไม้ฟืน เพราะมีความจุมาก
ส่วนเรือข้างกระดาน ที่หลวงพ่อวัดปากน้ำเคยใช้สมัย เป็นฆราวาสก็เป็นเรือต่อจำพวกเดียวกับเรือกระแซง หรือเรือข้าวนั่นแหละ แต่เสริมข้างให้สูงขึ้น เพื่อให้ภายในโปร่ง ถ้ามองดูจากกาบเรือขึ้นไป จะเห็นเป็นเหมือนฝากั้น ตีไว้ด้วยกระดานแผ่นใหญ่ จึงเรียกว่าเรือข้างกระดาน คือด้านข้างของเรือมีกระดานตีไว้เหมือนฝาเรือน ซึ่งเรือของหลวงพ่อคงจะมีขนาดใหญ่ จึงเรียกว่า เรือข้างกระดานใหญ่